มหากาพย์การเข้าซื้อกิจการ "ทวิตเตอร์" ของ "อีลอน มัสก์" อันแสนวุ่นวายและสับสนอลหม่าน เดินทางมาถึง "จุดเปลี่ยน" สำคัญอีกครั้ง หลังอภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งที่สุดในโลกรายนี้ ได้ประกาศต่อชาวโลกว่า เขากำลังจะขอล้มดีลมูลค่า 44,000 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ (54.20 ดอลลาร์ต่อหุ้น) นี้ลง โดยอ้างว่าผู้บริหารทวิตเตอร์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆ ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการไล่ผู้บริหารระดับสูงในแผนกจัดหาผู้มีความสามารถในการบริหารออก ถึง 2 ใน 3 ซึ่งถือเป็นการทำผิดข้อตกลงเรื่องการรักษาองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันเอาไว้อย่างครบถ้วน และที่สำคัญที่สุดคือ การเกี่ยงงอนที่จะเปิดเผยข้อมูลตัวเลขผู้ใช้งานแบบประจำทุกวันที่สร้างรายได้ (Monetizable Daily Active Users) หรือ mDAUs ซึ่งจะนับเฉพาะผู้ล็อกอินทวิตเตอร์ผ่านเว็บหรือแอปพลิเคชันทางการที่ทวิตเตอร์สามารถแสดงผลโฆษณาได้
*** หมายเหตุ จากรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกในปีนี้ของทวิตเตอร์ ระบุว่า ตัวเลข mDAUs อยู่ที่ 229 ล้านบัญชี ซึ่งสูงกว่าที่มีการคาดการณ์เอาไว้ว่าจะอยู่ที่ 226.9 ล้านบัญชี ***
...
อ่านเพิ่มเติม :
ประเด็นข้อพิพาทสำคัญ :
"เจ้าพ่อเทสลา" อ้างว่าผู้บริหารทวิตเตอร์เพิกเฉยและปฏิเสธการให้ข้อมูลที่กล่าวอ้างว่าในจำนวน mDAUs 229 ล้านบัญชี นี้ มีบัญชีปลอมแฝงตัวอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 5% (11,450,000 บัญชี) ของฐานผู้ใช้งานในแต่ละไตรมาส ตามที่เขาร้องขอเพื่อใช้สำหรับประเมินการเข้าซื้อกิจการ
ข้อโต้แย้งเรื่องข้อมูลบัญชีปลอมและสแปม 5% :
อีลอน มัสก์ : อ้างการตรวจสอบของทีมงานผู้เชี่ยวชาญพบว่า มีสัดส่วนของบัญชีปลอมแฝงตัวอยู่บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ มากกว่า 5% รวมถึงทวิตเตอร์ยังคงมีการรวมบัญชีที่ถูกระงับการใช้งาน เข้าไปรวมกับ mDAUs ในรายงานผลประกอบการที่ผ่านมาด้วย ทั้งๆ ที่ทวิตเตอร์ อ้างว่าได้หยุดการนับรวมบัญชีปลอมใน mDAUs แล้ว
ทวิตเตอร์ : การคาดคำนวณของอีลอน มัสก์ ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการคำนวณบัญชีปลอมจากข้อมูลสาธารณะเพียงอย่างเดียว
ทวิตเตอร์มีวิธีการจัดการบัญชีปลอมอย่างไร :
"ทวิตเตอร์" อ้างว่า จะมีการไล่ลบบัญชีปลอมมากกว่า 1 ล้านบัญชีในแต่ละวัน "ผ่านวิธีการแบบสุ่มบัญชี" โดยจะใช้ฐานข้อมูลสาธารณะและข้อมูลส่วนบุคคล เช่น IP Addresses, หมายเลขโทรศัพท์, พิกัด และลักษณะการทำงานของบัญชีเมื่อเปิดใช้งาน ในการตรวจสอบว่าเป็น “บัญชีปลอมหรือไม่”
ผลลัพธ์จากการทำผิดข้อตกลง :
ทั้งทวิตเตอร์ และ อีลอน มัสก์ สามารถละทิ้งข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ได้ หากข้อตกลงครั้งนี้ไม่บรรลุความสำเร็จภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2022 โดยในกรณีที่ อีลอน มัสก์ ล้มเหลวเรื่องการจัดหาเงินทุนเพื่อซื้อกิจการครั้งนี้ไม่สำเร็จ จะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมสำหรับการยกเลิกการซื้อกิจการในครั้งนี้ สูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ และกลับกัน ฝ่ายทวิตเตอร์ เองก็จะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมสำหรับการยกเลิกการซื้อกิจการ 1,000 ล้านดอลลาร์ ให้กับ ฝ่าย อีลอน มัสก์ เช่นกัน หากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เกิดมีมติ "ปฏิเสธ" ข้อตกลงนี้
...
อะไรคือสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการล้มดีลทวิตเตอร์ :
กรณีล้มดีลเกิดขึ้นจริง :
1. “หุ้นเทสลา” : ปรับตัวลงมากกว่า 24% นับตั้งแต่มีการประกาศข้อเสนอซื้อกิจการทวิตเตอร์ นั่นเป็นเพราะนักลงทุนหวาดวิตกว่า อีลอน มัสก์ จะสูญเสียเวลาให้กับ ทวิตเตอร์ มากไปกว่าการผลักดันยอดขายรถยนต์เทสลา ในขณะที่ “หุ้นทวิตเตอร์” ปรับตัวลดลงเกือบ 29% หลังทวิตเตอร์ตอบรับข้อเสนอซื้อกิจการในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่าในท้ายที่สุดแล้ว มิสเตอร์ไอรอนแมนผู้นี้ จะถอนตัวจากดีลนี้ในที่สุด
2. 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ :
นอกจากมีคำถามว่า อีลอน มักส์ จะสามารถหาเงินทุนมาได้ครบถ้วนก่อนถึงกำหนดในวันที่ 24 ตุลาคม 2022 หรือไม่แล้ว “ภาระดอกเบี้ย” จากเงินกู้ในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด แสดงท่าทีชัดเจนว่าพร้อมเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบายเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังเป็น “โจทย์ใหญ่” ที่ต้องใคร่ครวญให้จงหนัก และอีกหนึ่งตัวแปรที่ต้องไม่ลืมคือ “ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ” ที่กำลังที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในอนาคตอันใกล้นี้
...
กรณีดีลยังเดินหน้าต่อไป :
เกมปั่นหวังบีบลดราคา :
ราคาหุ้นทวิตเตอร์อยู่ที่ 39.31 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ณ วันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนที่ อีลอน มัสก์ จะเปิดเผยสัดส่วนการถือหุ้น 9% ในทวิตเตอร์ แต่เมื่อวันที่ 9 ก.ค. หุ้นทวิตเตอร์ ปิดตลาดที่ 35.04 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ซึ่งต่ำกว่าราคา 54.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ที่บุรุษที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ทำข้อตกลงซื้อถึง 35%! อันเป็นผลมาจากการประกาศล้มดีล
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งที่เชื่อว่าดีลนี้ยังคงเดินหน้าต่อไป เชื่อว่า นี่คือ “กลยุทธ์ทุบ” เพื่อหวังบีบให้ทวิตเตอร์ยอมลดราคาขาย นั่นเป็นเพราะ “การตีประเด็นข่าวฉาว” ต่อสาธารณะเรื่องความพยายามปิดบังบัญชีปลอมออกมาเรื่อยๆ ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อมูลค่าหุ้นของทวิตเตอร์โดยตรง และแม้ทวิตเตอร์จะพยายามแก้เกมด้วยการฟ้องร้องเพื่อให้ศาลบังคับให้ อีลอน มัสก์ ปฏิบัติตามข้อตกลงการซื้อขายกิจการต่อไป ซึ่งโดยมากศาลสหรัฐฯ มักเข้าข้างผู้ขายในการต่อสู้ทางกฎหมายเมื่อผู้ซื้อพยายามยุติข้อตกลงเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อสามารถยกเลิกการซื้อโดยไร้เหตุผลอันสมควร
แต่คำถามคือ “ระยะเวลาที่ต้องจ่าย” ในขณะที่ เจ้าพ่อเทสลา ยังคงสามารถปล่อยข่าวทุบซ้ำๆ ได้แบบนี้ต่อไปนั้นมันจะสิ้นสุดลงเมื่อไร? และเมื่อถึงเวลานั้น ราคาหุ้นและมูลค่าบริษัทจะอยู่ที่เท่าไร?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
...