เหตุช็อกโลก ขณะ ”ชินโสะ อาเบะ” อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จากพรรคเสรีประชาธิปไตย วัย 67 ปี กำลังกล่าวสุนทรพจน์ในเมืองนาราทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น ได้ถูกชายวัย 41 ปี ลอบยิงจากด้านหลังอาการสาหัส และหมดสติไม่พบสัญญาณชีพ ระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาล ล่าสุดมีรายงานว่าเสียชีวิตแล้ว

ชินโสะ อาเบะ ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก ขณะอายุ 52 ปี ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น แต่ทำหน้าที่ได้เพียง 1 ปี ตั้งแต่ 26 ก.ย. 2549 จนถึง 26 ก.ย. 2550 เนื่องจากป่วยโรคลำไส้อักเสบ

จากนั้นได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 2555 จนถึง 16 ก.ย. 2563 เพราะกลับมาป่วยโรคลำไส้อักเสบ จึงประกาศลาออกไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 แต่ด้วยขณะนั้นกำลังเกิดวิกฤติโควิด ทำให้ชินโสะ อาเบะ ต้องทำงานต่อไปอีก กระทั่งสถานการณ์ดีขึ้น และได้ผู้นำคนใหม่

...


เหตุการณ์ยิงเพื่อปลิดชีพบุคคลสำคัญ และนักการเมืองของญี่ปุ่น เคยเกิดขึ้นหลายครั้ง อย่างในปี 2533 ฮิโตชิโมโตชิมะ ขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองนางาซากิ ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมาปี 2535 มีการพยายามลอบยิงชิน คาเนมารู รองประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในจังหวัดโทชิกิ ทางเหนือของกรุงโตเกียว แต่โชคดีไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ

จนมาปี 2537 โมริฮิโระ โฮโซกาวะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนที่ 50 ถูกยิงภายในโรงแรมโตเกียว เมื่อปี 2537 รอดจากคมกระสุนทำให้ไม่ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาในปี 2550 กลุ่มอาชญากรได้ยิงสังหาร อิตโช อิโตะ นายกเทศมนตรีเมืองนางาซากิ จนเสียชีวิต

โมริฮิโระ โฮโซกาวะ
โมริฮิโระ โฮโซกาวะ

หากย้อนไปเมื่อ 90 ปีก่อน ในปี 2475 ยุคต้นรัชสมัยจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ หรือยุคโชวะ เคยเกิดเหตุสันนิบาตเลือด หรือ ”คัตสึเมอิดัน จิเก็น” ลอบสังหารนักธุรกิจ และนักการเมืองสายเสรีนิยม จำนวนหลายราย เพราะฝักใฝ่กับต่างชาติ เพื่อพยายามลดอำนาจจักรพรรดิ

นำไปสู่การสังหารนายกรัฐมนตรี อย่างเลือดเย็น เมื่อกลุ่มทหารเรือและทหารบกวัยฉกรรจ์ จากการสนับสนุนของกองทัพ และนักการเมืองฝ่ายขวา บุกเข้าไปบ้านพักเพื่อสังหารอินุไค สึโยชิ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น วัย 76 ปี เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2475 เนื่องจากเป็นนักการเมืองสายเสรีนิยม ไม่พยายามขยายอำนาจทางทหารในจีน และยังตัดงบทางการทหารในแมนจูเรีย ทำให้กองทัพไม่พอใจมองว่าไม่รักชาติ

อินุไค สึโยชิ
อินุไค สึโยชิ

แม้ความพยายามรัฐประหารของทหารในครั้งนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ และกลุ่มทหารที่สังหารอินุไค สึโยชิ ยอมมอบตัวขึ้นศาลทหาร แต่กลายเป็นว่าแผนสังหารกลับได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวญี่ปุ่นที่มีแนวคิดชาตินิยมขวาจัด และเรียกร้องให้ลงโทษสถานเบากับทหารเหล่านั้น เพราะมองว่าทำเพื่อชาติบ้านเมือง เป็นการจงรักภักดีต่อจักรพรรดิ ก่อนญี่ปุ่นกระโดดเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนพ่ายแพ้ สูญเสียชีวิตทหารและพลเรือนกว่า 3 ล้านคน.