หลังสารพัดมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ โดยเฉพาะการเน้นไปที่ “การแบนพลังงาน” ยังคงไม่สามารถทำให้ "รัสเซีย" ยอมแพ้ในสงครามยูเครน หนำซ้ำยังส่งผลสะท้อนกลับต่อเศรษฐกิจของโลกตะวันตกเองอีกด้วย ล่าสุดกลุ่มประเทศ "G7" จึงได้กระชับวงล้อมที่มีต่อรัสเซียให้มากขึ้น ด้วยข้อเสนอที่จะนำไปสู่การ "จำกัดราคาขายน้ำมันของรัสเซีย" ให้ถูกลงให้ได้มากที่สุด

ที่ประชุม G7 กระชับวงล้อมรัสเซียให้หนาแน่นขึ้น
ที่ประชุม G7 กระชับวงล้อมรัสเซียให้หนาแน่นขึ้น

วิธีการดังกล่าวจะดำเนินการผ่านวิธีปฏิบัติเช่นไร และจะมีความเป็นไปได้รวมถึงประสบความสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน วันนี้ “เรา” ไปร่วมสังเคราะห์กันทีละประเด็น

ใครคือผู้เสนอจำกัดราคาขายน้ำมันรัสเซีย :

เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ เป็นผู้ผลักดันข้อเสนอดังกล่าว ภายหลังจากประเทศที่ร่วมกับสหรัฐฯ คว่ำบาตรรัสเซียหลายประเทศ ไม่เห็นด้วยกับมาตรการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย เนื่องจากที่ผ่านมาต้องพึ่งพาพลังงานจากเครมลินเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งการแบนน้ำมันจากรัสเซีย ยังทำให้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จนกระทั่งกระทบต่อการครองชีพของประชาชน ด้วยเหตุนี้ “ข้อเสนอจำกัดราคาขายน้ำมันรัสเซีย” ซึ่งอนุญาตให้ประเทศต่างๆ ที่ร่วมคว่ำบาตรยังคงสามารถซื้อน้ำมันจากรัสเซียได้ต่อไป เพียงแต่ผลของมาตรการดังกล่าว (ในกรณีที่ประสบความสำเร็จ) จะเท่ากับเป็นการเฉือนกำไรที่มอสโกควรได้ เพื่อนำไปใช้เป็นต้นทุนสงครามในยูเครนต่อไป

...

เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ผู้เสนอไอเดีย จำกัดราคาขายน้ำมันรัสเซีย
เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ผู้เสนอไอเดีย จำกัดราคาขายน้ำมันรัสเซีย

มาตรการจำกัดราคาขายน้ำมันทำอย่างไร :

มาตรการดังกล่าว จะดำเนินการผ่าน International Group of Protection & Indemnity Club หรือ P&I Club สมาคมผู้รับประกันภัยซึ่งมาจากการรวมตัวของเจ้าของเรือทั่วโลก และมีเรือบรรทุกน้ำมันทั่วโลกมากกว่า 95% อยู่ภายใต้การคุ้มครอง และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

โดยวิธีการปฏิบัติ คือ โลกตะวันตกจะเป็นผู้กำหนดราคาขายน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกให้ได้มากที่สุด และผู้ซื้อจะต้องซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้วเท่านั้น เพราะหากซื้อในราคาที่สูงกว่า P&I Club จะไม่รับทำประกันให้กับบริษัทเดินเรือที่ขนน้ำมันจากรัสเซียไปขายให้

ผลกระทบจากมาตรการจำกัดราคาน้ำมันรัสเซีย :

โลกตะวันตกมั่นใจว่า มาตรการนี้จะสามารถตรึงราคาน้ำมันเอาไว้ได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิตซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการคลังของมอสโกอย่างแน่นอน อีกทั้งราคาน้ำมันที่ถูกแสนถูกจากรัสเซียนี้ จะสามารถช่วยบรรเทาแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่กำลังสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับหลายๆ ประเทศในโลกตะวันตกได้อีกด้วย

อุปสรรค :

มาตรการจำกัดราคาน้ำมันรัสเซีย จะไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสหภาพยุโรป อีกทั้งการดำเนินการผ่าน P&I Club จะต้องครอบคลุมกองเรือบรรทุกน้ำมันสัญชาติรัสเซียด้วย นอกจากนี้อาจยังต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายสัปดาห์ หรืออาจจะเป็นอีกหลายเดือนกว่าที่ การเจรจากับบรรดาชาติสมาชิกเพื่อให้ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อให้ความเห็นชอบมาตรการดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ในท้ายที่สุดที่ประชุมอียูอาจผ่านความเห็นชอบ...แต่คำถามที่ตามมาคือ? ในท่ามกลางความจำเป็นเรื่องพลังงานที่แตกต่างกันในชาติสมาชิกอียู หากเกิดมีบางประเทศจำยอมซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาสูง นั่นจะเท่ากับเป็น ชัยชนะครั้งใหญ่ของเครมลินไปในทันที

...

ขณะเดียวกัน "ไม่มีหลักประกันใดๆ" ว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถบีบบังคับให้รัสเซียต้องจำยอมขายน้ำมันในราคาถูกได้จริง นอกจากนี้ หากราคาขายน้ำมันของรัสเซียถูกบีบให้มีราคาถูกลงใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต "ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน" อาจตัดสินใจระงับการส่งออกน้ำมันชั่วคราว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของยุโรป และอเมริกาเหนือ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จีนและอินเดียจะเข้าร่วมหรือไม่ :

แม้ว่ามาตรการนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของทั้งจีน และอินเดีย ซึ่งขณะที่ถือเป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซียหลังถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก หากแต่ในโลกของความจริงแล้วเป็นไปได้ยากมากที่ในเวลานี้ทั้งจีน และอินเดีย จะไม่มองถึงความสัมพันธ์ในระยะยาวกับเครมลิน

นอกจากนี้ ยังมีข่าวอีกด้วยว่ารัสเซีย ได้เสนอทางเลือกแก่ P&I Club ด้วยการรับทำประกันภัย ผ่าน บริษัทประกันภัยแห่งชาติรัสเซีย (Russian National Reinsurance Company) หรือ RNRC ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลรัสเซียแล้ว

...

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย จะแก้เกมนี้อย่างไร
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย จะแก้เกมนี้อย่างไร

ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ "รัสเซีย" ยังพร้อมที่จะตอบโต้หากถูกกดดันจากมาตรการดังกล่าวมากเกินไป ด้วยการปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ส่งให้กับยุโรป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ฤดูหนาวที่กำลังมาเยือนอาจทำให้ยุโรปต้องหนาวยะเยือกมากกว่าทุกๆ ปีแน่นอน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

...