“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ราคาอาหาร ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องการให้สงครามในยูเครนยุติลง และหาทางแก้ไขด้วยวิธีการเจรจา เพื่อที่เราจะได้มีสมาธิกับเรื่องเศรษฐกิจ เพราะถ้าสงครามไม่ยุติ มันจะเป็นอันตรายต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา” โจโก วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าว

โจโก วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
โจโก วิโดโด (Joko Widodo) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

ถ้อยคำของผู้นำอินโดนีเซีย ที่นอกจากจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนชาวอินโดนีเซียเป็นหลักแล้ว ยังถือเป็นการ “เลี้ยงตัวอยู่ท่ามกลางหุบเหว” ที่ด้านหนึ่งคือ สหรัฐอเมริกาและโลกตะวันตก ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ รัสเซียที่ผนึกกำลังกับจีนได้อย่างสวยงามอีกด้วย

แล้วนอกจากประโยคด้านบน ผู้นำอินโดนีเซียคนปัจจุบันมีอะไรที่น่าศึกษาเรื่องการดำเนินกลยุทธ์การเมืองระหว่างประเทศอีกบ้าง วันนี้ “เรา” ค่อยๆ ไปสังเคราะห์กันทีละประเด็น

...

ยุทธศาสตร์ชาติเล็ก ท่ามกลางความขัดแย้งของมหาอำนาจ :

สหรัฐฯ VS รัสเซีย และอินโดนีเซีย

ด้านหนึ่ง ผู้นำอินโดนีเซีย ในฐานะประธาน G20 ยืนยันว่าจะยังคงเชิญ "ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย" ให้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ซึ่งประเทศอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ในขณะที่อีกด้านหนึ่งเพื่อเป็นการ “เอาอกเอาใจโลกตะวันตก” ซึ่งพยายามกดดันให้อินโดนีเซียเพิกถอนคำเชิญผู้นำรัสเซียให้เข้าร่วมวงไพบูลย์ จึงได้มีการเชิญ "ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี" ผู้นำยูเครน มาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่า ยูเครน จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ G20 ก็ตาม

บทบาทประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กับ โลกตะวันตก
บทบาทประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กับ โลกตะวันตก

ซึ่งนักวิเคราะห์มองการเล่นบทบาทของผู้นำอินโดนีเซียในครั้งนี้ว่า เป็นความชาญฉลาดอย่างยิ่ง เนื่องจากเท่ากับเป็นการ “โยนแรงกดดันทั้งหมด” คืนกลับไปให้กับมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายในการตัดสินใจ นอกจากนี้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง “ปฏิเสธคำเชิญ” ก็เท่ากับเป็นการทำให้ฝ่ายอินโดนีเซียอ้างได้ว่า “อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้พยายามเชิญทั้งสองฝ่ายเข้ามาพูดคุยเพื่อหาทางยุติความขัดแย้งแล้ว”

นอกจากนี้ อีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงออกถึงความชาญฉลาดของผู้นำอินโดนีเซีย ที่ไม่พยายามเอาตัวเองเข้าไปพัวพัน “ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ” คือ เมื่อประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ร้องขอความช่วยเหลือด้านอาวุธ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด “ตอบปฏิเสธ” แต่ยื่นเสนอเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแทน นอกจากนี้ ผู้นำอินโดนีเซีย ยังได้แสดงความ “พลิ้วไหว” เมื่อถูกยิงคำถามเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ว่า การกระทำของรัสเซีย “ไม่เป็นที่ยอมรับ” แต่ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงที่จะระบุว่ามอสโก คือ “ผู้รุกราน”

...

สหรัฐฯ VS จีน และอินโดนีเซีย

ส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพื่อชิงนำความเป็นหนึ่งในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกนั้น ผู้นำอินโดนีเซีย ก็ยังคงสามารถ Balance of Power หรือที่อินโดนีเซียเรียกว่า “การปฏิบัติที่เท่าเทียม” (Pragmatic Equidistance) เอาไว้ได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน โดย ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เรียกทั้งสหรัฐฯ และจีนว่า “เพื่อนสนิท” เพราะทั้งวอชิงตันและปักกิ่งต่างเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ภูมิภาคอาเซียนยังไม่ควรเป็นเวทีสำหรับการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจด้วย เพราะสงครามไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศใดแม้แต่น้อย

เหตุใดอินโดนีเซีย จึงต้องยึดยุทธศาสตร์การปฏิบัติที่เท่าเทียม?

หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ :

การค้าแบบทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และอินโดนีเซีย ในปี 2021 มีมูลค่ารวมมากกว่า 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การค้าแบบทวิภาคีด้านบริการ มีมูลค่ารวมมากกว่า 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าการค้าแบบทวิภาคีในปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมมากกว่า 124,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!

ส่วนรัสเซียนั้น การค้าแบบทวิภาคีกับอินโดนีเซีย เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมกันประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (ปี 2020) ถึง 42% และภายในปีนี้ (2022) มีแนวโน้มสูงว่าอาจจะมีมูลค่ารวมถึง 4,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันรัสเซียยังถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ขายอาวุธสงครามรายใหญ่ให้แก่อินโดนีเซียในช่วงปลายปีที่ผ่านมาด้วย

...

บทบาทประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กับ รัสเซีย
บทบาทประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กับ รัสเซีย

ทัศนคติของชาวอินโดนีเซียต่อความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย :

Dudy Rudianto ผู้ก่อตั้ง Eveello แพลตฟอร์มตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลในโลกโซเชียลมีเดียของอินโดนีเซีย เปิดเผยผลการสำรวจในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยพบว่า ชาวเน็ตอินโดนีเซีย บนแพลตฟอร์ม TikTok มากกว่า 95% และอีกมากกว่า 73% บนแพลตฟอร์ม Instagram แสดงความสนับสนุนรัสเซียในสงครามยูเครน รวมทั้งตำหนิ นาโต (NATO) และโลกตะวันตก ว่าเป็นต้นเหตุของสงครามยูเครน

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจของสำนักวิจัย Saiful Mujani Research Consulting หรือ SMRC ซึ่งใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า มากกว่า 20% สนับสนุนการบุกยูเครนของรัสเซีย ในขณะที่มากกว่า 51% ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี มากกว่า 23% ตำหนินาโต (NATO) และโลกตะวันตกในประเด็นเรื่องสงคราม ในขณะที่มากกว่า 17% กล่าวโทษฝ่ายรัสเซีย

...

จะเห็นได้ว่าแม้ทัศนคติส่วนใหญ่ของชาวอินโดนีเซียจะโน้มเอียงไปทางรัสเซียมากกว่านาโตและโลกตะวันตก หากแต่ในความเป็นจริงทั้งความเห็นที่ “สนับสนุนและคัดค้าน” ต่างยังคงไม่แสดงความเกรี้ยวกราดจนถึงขนาดออกมาแสดงพลังตามท้องถนนเพื่อแสดงพลังในจุดยืนของฝ่ายตัวเอง ด้วยเหตุนี้ผู้นำอินโดนีเซียจึงยังคงสามารถยึด “ยุทธศาสตร์การปฏิบัติที่เท่าเทียม” เอาไว้ได้ต่อไป

อินโดนีเซียกับบทบาทประธาน G20 :

ผลสำรวจความเห็นของ สำนักวิจัยเชิงกลยุทธ์ Indikator ของอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ชาวอินโดนีเซียมากกว่า 76.6% สนับสนุน ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เรื่องการเชิญประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ให้เข้าร่วมการประชุม G20 ต่อไป โดยให้เหตุผลว่า การยกเลิกคำเชิญเท่ากับเป็นการยอมจำนนต่อแรงกดดันของนาโตและโลกตะวันตก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย จึงต้องดำเนินกลยุทธ์เชื้อเชิญ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ให้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อรักษาน้ำใจชาติตะวันตก

อย่างไรก็ดีแม้กลยุทธ์ของผู้นำอินโดนีเซียจะถูกมองว่าเป็นความชาญฉลาดในเชิงการทูต หากแต่ในอีกด้านหนึ่งนักวิเคราะห์บางส่วนได้มองผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจาก กลยุทธ์ Balance of Power ของผู้นำอินโดนีเซียในครั้งนี้ ออกเป็น 3 ฉากทัศน์ คือ...

บทบาทประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กับ จีน
บทบาทประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กับ จีน

1.ในกรณีที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการประชุม G20

ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น : ผู้นำชาติตะวันตกบางชาติอาจคว่ำบาตรการประชุม และอาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างอินโดนีเซียและชาติตะวันตก

2.ในกรณีที่ผู้นำยูเครน เข้าร่วมการประชุม

ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น : ผู้นำรัสเซียอาจถอนตัวที่จะเข้าร่วมการประชุม นอกจากนี้อาจทำให้ฝ่ายอินโดนีเซียจะต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี รวมถึงความไม่พอใจในหมู่ชาวอินโดนีเซียด้วย

3.ทั้งผู้นำรัสเซียและยูเครน ตอบรับคำเชิญมาเข้าร่วมการประชุม

ผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น : อินโดนีเซียอาจต้องเผชิญงานที่ยากลำบากในการค้นหาวิธีการสำหรับการทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง เพื่อไม่ให้เกิดความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายมากเกินไปในระหว่างการประชุม

อย่างไรก็ดีสำหรับฉากทัศน์ที่ 3 ซึ่งถือเป็นการพิสูจน์ฝีมือทางการทูตในระดับสูงนั้น หากประธานาธิบดีโจโก วิโดโด สามารถทำได้สำเร็จ อาจเรียกเสียงชื่นชมจากทั้งชาวโลกและชาวอินโดนีเซียได้อย่างล้นหลาม รวมถึง “ความสง่างาม” ในฐานะประธาน G20 อีกด้วย.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :