ปี 2019 (ก่อนการแพร่ระบาดโรคโควิด-19) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นรวมกันถึง 31.88 ล้านคน โดยในจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนมากที่สุด 9.59 ล้านคน (30.1%) ส่วนนักท่องเที่ยวไทยอยู่ที่ 1.32 ล้านคน (4.1%) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวสร้างเม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยในประเทศญี่ปุ่นรวมกันมากถึง 4.81 ล้านล้านเยน โดยในจำนวนนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้เงินจับจ่ายใช้สอยบนดินแดนปลาดิบมากถึง 1.77 ล้านล้านเยน (36.8%) ส่วนนักท่องเที่ยวไทยใช้จ่ายเงินในประเทศญี่ปุ่นรวมกันประมาณ 1.73 แสนล้านเยน (3.6%)

*** หมายเหตุ อ้างอิงข้อมูลจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Tourism Agency) หรือ JNTO ***

...

ตัดภาพกลับมาในปี 2022 หลังประเทศญี่ปุ่น ค่อยๆ ทยอยเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศอีกครั้ง ภายใต้มาตรการที่รัดกุม ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2022 และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศอย่างน้อย 6,000 คนต่อวันนั้น บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อย่างน้อยที่สุดจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวมีแนวโน้มจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศญี่ปุ่นในปีนี้ได้อย่างน้อย 3.2 แสนล้านเยน หรือคิดเป็น 14% ของเม็ดเงินที่ญี่ปุ่นเคยได้จากการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2019 และจะช่วยเพิ่ม GDP ให้กับประเทศในปีหน้าได้อย่างน้อย 3%

หากแต่...การค่อยๆ แย้มประตูเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้กฎระเบียบที่ยังค่อนข้างเข้มงวด ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ซึ่งมองว่า รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ อาจกำลังทิ้ง “โอกาสสำคัญ” ในการใช้ “การท่องเที่ยว” กระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาเงินเยนอ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมากที่สุดในรอบ 20 ปี และต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นสำหรับทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ จากทั้งปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤติห่วงโซ่อุปทานโลก

*** หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 14 มิ.ย. 65 ค่าเงินเยนอยู่ที่ 100 เยน เท่ากับ 25.95 บาท ***

อะไรคือการท่องเที่ยวที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่เข้มงวด :

1.นักท่องเที่ยวต้องมาเป็นกรุ๊ปทัวร์เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีหัวหน้าทัวร์ (Tour Leader) แต่ไม่มีการจำกัดจำนวนกรุ๊ปทัวร์ว่าต้องมีจำนวนกี่คน

2.แม้จะไม่มีการจำกัดพื้นที่การเดินทาง แต่กรุ๊ปทัวร์จะต้องเดินทางตามเส้นทางการเดินทาง (Itinerary) ที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และต้องมีหัวหน้าทัวร์เดินทางไปด้วยตลอดทริป นับตั้งแต่เดินทางเข้าสู่ประเทศญี่ปุ่นจนกระทั่งเดินทางออกจากประเทศ (เริ่มและจบทริปที่สนามบินในประเทศญี่ปุ่น)

3.หัวหน้าทัวร์ จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้รับรองฝ่ายญี่ปุ่น (เช่น แลนด์โอเปอเรเตอร์) และต้องคอยดูแลให้ลูกทัวร์ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคติดต่อของญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด (เช่น การสวมหน้ากากอนามัย, การควบคุมให้ลูกทัวร์ต้องเว้นระยะห่างจากกัน กรณีอยู่กลางแจ้งอย่างน้อย 2 เมตรขึ้นไป) รวมถึงคอยช่วยติดต่อดูแลเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน (กรณีลูกทัวร์ติดเชื้อต้องสามารถติดต่อสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์ของญี่ปุ่น รวมถึง องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ ซึ่งนั่นแปลว่า ต้องสามารถสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้

4.ลูกทัวร์ทุกคนต้องพกโทรศัพท์มือถือและติดตั้งแอปพลิเคชัน MySos โดยโทรศัพท์มือถือของทุกคนต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา (ยกเว้นเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ที่ให้ผู้ปกครองติดตั้งแทนได้)

5.ลูกทัวร์ต้องยื่นขอวีซ่า (หากมีหนังสือมอบอำนาจ บริษัทท่องเที่ยวสามารถดำเนินการยื่นวีซ่าแทนผู้เดินทางได้)

6.ลูกทัวร์ต้องมีใบรับรองผลตรวจโควิดเป็นลบ ทดสอบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง

...

7.มีใบรับรองการฉีดวัคซีน แต่สำหรับประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ (กลุ่มสีฟ้า) ผู้เดินทางชาวไทยจึงไม่จำเป็นต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีน ณ เวลาที่เข้าประเทศญี่ปุ่น รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีวัคซีนพาสปอร์ต ที่แสดงว่าฉีดวัคซีนมาแล้วกี่เข็มและยี่ห้ออะไรบ้าง อย่างไรก็ตามก่อนออกเดินทางออกจากประเทศไทย สายการบินอาจขอใบรับรองการฉีดวัคซีนจากผู้เดินทางก็เป็นได้ จึงขอแนะนำให้ติดต่อสอบถามสายการบินที่คุณใช้บริการ

8.ลูกทัวร์ต้องซื้อประกันสุขภาพ

9.ผู้เดินทางต้องกรอกข้อมูลลงบนเว็บไซต์ Visit Japan ล่วงหน้า เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการกักกัน (Quarantine) ข้อมูลสำหรับการตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) และข้อมูลสำหรับพิธีศุลกากร (Customs Procedures) โดยหลังจากลงทะเบียนเสร็จแล้วจะมี QR code แสดงขึ้นมา เมื่อเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่นให้แสดง QR code ดังกล่าวกับเครื่องตรวจ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองและพิธีทางศุลกากร

สำหรับกรณีผู้เดินทางติดโควิด-19 ระหว่างท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นต้องทำอย่างไร :

...

1.ผู้ติดเชื้อต้องกักตัวประมาณ 10 วัน ส่วนผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดต้องกักตัวประมาณ 7 วัน ตามระเบียบการกักตัวของประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี ต้องมีการปรึกษารายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนวันที่ต้องกักตัว รวมถึงสถานที่กักตัวกับองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่นจังหวัดนั้นๆ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อหาข้อสรุป

2.หากลูกทัวร์เกิดติดเชื้อ บริษัทนำเที่ยว หรือแลนด์โอเปอเรเตอร์ ที่จดทะเบียนในญี่ปุ่น ที่เป็นผู้รับรองจะคอยซัพพอร์ตผู้ติดเชื้อตามความจำเป็น และอนุญาตให้หัวหน้าทัวร์พาผู้ร่วมทัวร์ที่เหลือ (บุคคลที่ไม่ใช่บุคคลที่ติดโควิด-19 และผู้สัมผัสใกล้ชิด) เที่ยวต่อตามแผนการที่เหลือได้

*** หมายเหตุ อ้างอิงข้อมูลจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) สำนักงานกรุงเทพฯ ***

จำนวนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยเกินไป :

นอกจากกฎระเบียบในการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะค่อนข้างเข้มงวดแล้ว จำนวนการเปิดรับจำนวนนักท่องเที่ยว ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอีกด้วย โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมา ญี่ปุ่นเพิ่งเพิ่มจำนวนการเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศ จาก 10,000 คน เป็น 20,000 คนต่อวัน ซึ่งรวม นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ และผู้มีถิ่นพำนักในประเทศญี่ปุ่นด้วย (ทำให้ในจำนวนนี้คาดว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียงประมาณ 6,000 คนต่อวันเท่านั้น)

...

ซึ่งถึงแม้ว่าสื่อในประเทศหลายสำนักจะรายงานตรงกันว่า ในเดือนกรกฎาคมน่าจะมีการขยายตัวเลขดังกล่าวเป็น 30,000 คนต่อวัน แต่บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่า “น้อยเกินไป” เนื่องจากในช่วงปี 2019 นั้นญี่ปุ่นเคยเปิดรับนักท่องเที่ยวถึงวันละ 140,000 คน

อีกทั้งในจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6,000 คนต่อวัน นี้ยังคง “ไม่มี” นักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุด และใช้จ่ายเงินมากที่สุดในญี่ปุ่นตามสถิติของ JNTO เมื่อปี 2019 อีกด้วย เนื่องจากประเทศจีนยังไม่เปิดกว้างให้ชาวจีนออกมาท่องเที่ยวยังต่างแดน ตามนโยบาย Zero Covid

ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่กระท่อนกระแท่นกับเกาหลีใต้ในระยะหลังๆ ยังอาจมีผลต่อการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย ทั้งๆ ที่ในปี 2019 ตามรายงานของ JNTO มีนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นมากถึง 5.58 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 17.5% และถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุดอันดับที่ 2 ต่อจากชาวจีน และมีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศญี่ปุ่นรวมกันมากถึง 4.24 แสนล้านเยน (อันดับที่ 3 ต่อจากจีน และไต้หวัน) ก็ตาม

และหากตั้งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งตามรายงานของ JNTO ในปี 2019 ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.72 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5.4% ส่วนยุโรป อยู่ที่ 1.29 ล้านคน หรือเป็นสัดส่วนประมาณ 4% นั้น ปัญหาของเรื่องนี้ คือ กฎระเบียบที่เข้มงวด และการท่องเที่ยวในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ในแบบญี่ปุ่น ณ ปัจจุบันจะสามารถ “เย้ายวนใจ” นักท่องเที่ยวที่มักนิยมความเป็นอิสระแบบแบ็กแพ็กกลุ่มนี้ได้มากน้อยเพียงใด?

เหตุใดญี่ปุ่นจึงไม่รีบร้อนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ :

ทาดาชิ ชิมูระ (Tadashi Shimura) ประธานสมาคมตัวแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Association of Travel Agents) เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพราะแม้ก่อนการแพร่ระบาด การท่องเที่ยวภายในประเทศมีส่วนสำคัญต่อ GDP ของญี่ปุ่นมากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเสียอีก โดยจากรายงานของ JNTO ในปี 2019 ภาคการท่องเที่ยวโดยรวมที่สร้างรายได้สูงถึง 28 ล้านล้านเยนนั้น มากถึงเกือบ 80% หรือ 22 ล้านล้านเยน มาจากการท่องเที่ยวในประเทศ นอกจากนี้แม้จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 2021 แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศยังคงสามารถสร้างเม็ดเงินได้สูงถึง 9.2 ล้านล้านเยน

ขณะเดียวกันกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางสำหรับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 และมีจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่น ยังแสดงความพึงพอใจและสนับสนุนรัฐบาลญี่ปุ่นเรื่องการใช้ความเข้มงวดเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดอีกด้วย ด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์จึงมองว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจึงยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และจะดำเนินนโยบายเรื่องนี้ในลักษณะแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” อยู่ต่อไป.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :