ตามบันทึกประวัติศาสตร์ ฮิตเลอร์ ฆ่าตัวตายในปี พ.ศ. 2488...
แต่ในความเป็นจริง ฮิตเลอร์ แอบหลบหนีไปซุ่มสร้างกองทัพนาซีใหม่ และอาวุธมหาประลัยใหม่ คือ ระเบิดโปรตอน
เมื่อจวนตัวจะถูกจับได้อีก ฮิตเลอร์ กับกองทัพนาซีใหม่ ก็เดินทางด้วยยานเวลาเพื่อไปตั้งหลักใหม่ในอนาคต แต่เกิดเหตุไม่ปกติกับระบบขับเคลื่อน ทำให้ยานเวลาเดินทางด้วยความเร็วมากกว่าแสง และย้อนกลับสู่อดีต
ในวันที่ฮิตเลอร์กำลังเริ่มต้นเดินทางไปสู่อนาคต ก็พบกับวัตถุคล้ายขีปนาวุธพุ่งตรงเข้ามาหา ฮิตเลอร์ จึงสั่งยิงทำลายด้วย ระเบิดโปรตอน
แต่เมื่อยานเวลาเดินทางต่อไป ก็พบกับจุดหวนกลับสู่อดีต และเดินทางย้อนกลับถึงจุดเริ่มต้นการเดินทางสู่อนาคต
แล้วยานเวลาของฮิตเลอร์ ก็ถูกยิงทำลายด้วย ระเบิดโปรตอน
ที่ท่านผู้อ่านได้อ่านไปนั้น เป็นสรุปย่อเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ "ศัตรู ...จากอนาคต" โดย "ชัยคุปต์"
...
แก่น หรือแนวเรื่องของ "ศัตรู... จากอนาคต" คือ "การท่องเวลา" หรือ "time travel"
นวนิยายวิทยาศาสตร์ The Time Machine โดย เอช.จี.เวลส์ (H.G.Wells) ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2438 ทำให้เรื่องราวการท่องเวลา ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งในเชิงปรัชญา สังคม และวิทยาศาสตร์
ก่อน The Time Machine ก็มีนิยายวิทยาศาสตร์ หรือนิยายแฟนตาซีหลายเรื่อง ที่เกี่ยวกับการท่องเวลา ดังเช่น Rip Van Winkle โดยวอชิงตัน เออร์วิง (Washington Irwing) ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2362 A Chrismas Carol โดยชาร์ลส์ ดิกเลอร์ (Charles Dickens) ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2386 และ A Connecticut Yankee In King Arthur ‘s Court โดย มาร์ก ทเวน (Mark Twain) ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2432
ในโลกภาพยนตร์ The Time Machine ออกฉายครั้งแรก พ.ศ. 2503 นำแสดงโดย รอด เทย์เลอร์ (Rod Taylor) นับเป็นภาพยนตร์คลาสสิกเกี่ยวกับการท่องเวลา
ก่อน The Time Machine ก็มีเรื่อง A Connecticut Yankee In King Arthur’s Court ถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ถึงสามครั้ง เริ่มจากครั้งแรกเป็นภาพยนตร์เงียบ (ปี พ.ศ. 2454) ครั้งที่สองเป็นภาพยนตร์เสียง ( ปี พ.ศ. 2474 ) และครั้งที่สาม เป็นภาพยนตร์เพลง (ปี พ.ศ. 2492)
หลัง The Time Machine ก็มีภาพยนตร์เกี่ยวกับการท่องเวลาออกฉายอย่างไม่ขาดยุค ที่เด่น ๆ และที่ผู้เขียนชอบมากเป็นพิเศษ แต่ขอนำมากล่าวถึงเพียงไม่กี่เรื่อง คือ : .......
• Somewhere In Time (ออกฉาย พ.ศ. 2523)
• The Terminator (ออกฉาย พ.ศ. 2527)
• Back To The Future (ออกฉาย พ.ศ. 2528)
• Star Trek 4: The Voyage Home (ออกฉาย พ.ศ. 2529)
• Interstellar (ออกฉาย พ.ศ. 2557)
จุดเริ่มต้นทำให้เรื่องของการท่องเวลา กลายเป็นเรื่องมีสาระทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมาจริงๆ คือ การตั้งทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ (Special Theory of Ralativity) ของไอน์สไตน์ ในปี พ.ศ. 2448
...
ตามมาด้วยทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป (General Theory of Relativity) ของไอน์สไตน์ใน ปี พ.ศ. 2458
จากทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ ทำให้การท่องเวลามีความเป็นไปได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ขึ้นมา แต่จะเป็นการท่องเวลาไปได้ในทิศทางเดียวเท่านั้น คือ สู่อนาคต เพราะตามทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษนี้ เมื่อวัตถุเคลื่อนที่เร็วขึ้น เวลาของวัตถุจะช้าลง
ดังนั้น โดยการทำให้คนที่ต้องการการท่องเวลาสู่อนาคต เคลื่อนที่ (เช่น ด้วยยานอวกาศ) ไปจากโลกด้วยความเร็วสูง (แต่ต้องไม่ถึงความเร็วของแสง คือ ต้องต่ำกว่าความเร็วแสงเสมอ) จนกระทั่งเวลาบนโลกผ่านไปเช่น 50 ปี เวลาของผู้เดินทางจะผ่านไป เช่น เพียง 5 ปี
เมื่อนักเดินทางกลับมายังโลก ก็จะเป็นโลกในอนาคต 50 ปี จากวันที่เขาเริ่มต้นเดินทาง ในขณะที่ตัวเขาจะแก่ลงเพียง 5 ปี จากวันเริ่มเดินทาง
นี่คือ "Twin Paradox" หรือ ปริศนาแฝดคู่ชวนพิศวง "ที่กล่าวถึงกันบ่อย ๆ ว่า เป็นปัญหาแปลกๆ จากสัมพัทธภาพภาคพิเศษ
แต่เป็นปริศนาชวนพิศวง ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นจริง จากการเดินทางของมนุษย์ชุดอะพอลโลสู่ดวงจันทร์ และมนุษย์อวกาศที่อยู่ในสถานีอวกาศเป็นเวลายาวนาน เพราะคนเดินทาง (สู่ดวงจันทร์ และอยู่ในสถานีอวกาศ) เวลา (อายุ) ของพวกเขา จะผ่านไปช้าหรือน้อยกว่า เวลาบนโลก
...
ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ ทำให้การเดินทางไปกับเวลาเกิดขึ้นได้ แต่จะเป็นการเดินทางไปได้ในทิศทางเดียวเสมอ คือ สู่อนาคต
ขีดจำกัดนี้ ไม่เกิดขึ้นกับ ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป เพราะการท่องเวลา ถ้าเกิดขึ้นได้จริง ก็จะเป็นการท่องเวลาได้ทั้งสู่อนาคต และย้อนกลับคืนสู่อดีต
ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป จริง ๆ และอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ทฤษฎีความโน้มถ่วงของไอน์สไตน์ ซึ่งละเอียด...พิสดาร ... กว่าทฤษฎีความโน้มถ่วงของนิวตัน
ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป เวลาที่ตำแหน่งมีความโน้มถ่วงสูง จะช้ากว่า เวลาที่ตำแหน่งมีความโน้มถ่วงต่ำกว่า
ตัวอย่างง่าย ๆ คือ เวลาที่พื้นผิวโลก เช่นที่ ชั้นแรกของ อาคารใบหยกสกาย จะช้ากว่าเวลาที่ชั้น 88 (ชั้นบนสุด)
ดังนั้น คนที่ชอบไปรับประทานอาหารบุฟเฟต์อร่อย ที่ชั้นเกือบบนสุดของใบหยกสกาย ก็เป็นการเดินทางไปรับประทานอาหารในอนาคต แล้วก็กลับคืนสู่อดีตเกือบจะที่เวลาเริ่มต้น
ในปัจจุบัน มีอาคารสูงเกือบ และมากกว่าหนึ่งร้อยชั้น เกิดขึ้นมากมายทั่วโลก ดังนั้น ในทุกวัน จึงมีคนกำลังเดินทางท่องเวลาอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไม่รู้ตัว
จริง ๆ แล้ว แม้แต่การขึ้นลงระหว่างไม่กี่ชั้นของอาคารหลายชั้น การท่องเวลาก็ได้เกิดขึ้น
แต่คนท่องเวลาเช่นที่ใบหยกสกาย จะไม่รู้สึกตัว เพราะเวลาจะแตกต่างกันน้อยมาก จับไม่ได้โดยนาฬิกาข้อมือ
แล้วจะพิสูจน์ได้อย่างไร?
ง่าย ๆ (แต่ทำกันเองไม่ได้ง่ายๆ) ก็ใช้นาฬิกาอะตอม
...
ถึงแม้การท่องเวลาระหว่างชั้นของอาคารสูง จะไม่ทำให้คนท่องเวลารู้สึกถึงความแตกต่าง แต่สำหรับคนที่รู้ ก็จะรู้สึกตื่นเต้นได้
ทุกครั้งที่ผู้เขียนไปชั้นอาหารบุฟเฟต์ของใบหยกสกาย นอกเหนือไปจากการลิ้มรสอาหารอร่อยแล้ว ก็จึงรู้สึกตื่นเต้นกับการท่องเวลาอย่างสั้นๆ ด้วย
ความรู้สึกที่ผู้เขียนเชื่อว่า ก็จะเกิดกับท่านผู้อ่านได้ด้วยเช่นกัน สำหรับครั้งต่อไปที่ท่านผู้อ่านไปอร่อยกับอาหารบุฟเฟต์ที่ใบหยกสกาย
การท่องเวลาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไประดับใหญ่ เช่น การเดินทางไปสู่อนาคต หรือกลับคืนสู่อดีต เป็นเวลานับสิบ หรือร้อยปี จะเกิดขึ้นได้อย่างไร?
คำตอบตรง ๆ คือ ก็ต้องอาศัย มวลมหาศาล และมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของมวล อย่างรวดเร็ว ดังเช่นใน หลุมดำ หรือ รูหนอนอวกาศ (space wormhole) แล้วก็อาศัยผลของความโน้มถ่วง ทำให้ อวกาศเวลา (spacetime) โค้ง (curved) หรือ บิดงอ (warped)
ยานอวกาศที่เข้าไปในหลุมดำ และออกมาจากหลุมดำได้ โดยไม่ถูกทำลาย ก็จะสามารถเดินทางออกจากหลุมดำไปสู่อนาคต หรืออดีตได้
สำหรับรูหนอนอวกาศ ซึ่งทำให้อวกาศเวลาโดยรอบ บิดงออย่างมาก ดังนั้น ก็จึงทำให้เกิด “ ทางลัด “ ระหว่าง (เช่น) ปลายเปิดทั้งสองด้านของรูหนอน ที่เข้ามาอยู่ใกล้กันได้
เหมือนแผ่นกระดาษที่ขอบด้านตรงข้ามกัน ถูกจับให้งอโค้งเข้าหากัน จึงเกิดเป็นทางลัด ระหว่างขอบปลายกระดาษทั้งสอง ที่สั้นกว่าทางยาวตามแผ่นกระดาษ ระหว่างขอบทั้งสอง
แต่การท่องเวลาผ่านทางหลุมดำ และรูหนอนอวกาศดังกล่าวนี้ ถึงแม้จะเป็นไปได้ในเชิงทฤษฎี ในทางปฏิบัติ จริงๆ ยังไม่มีวี่แววที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้
แล้วการท่องเวลาโดยการเดินทางเร็วกว่าแสง และโดยอาศัยทฤษฎีสตริง (string theory) ล่ะ?
เมื่อกล่าวถึงการท่องเวลาโดยอาศัยทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ ที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง จะหมายถึง ทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคพิเศษ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางช้ากว่าแสงเท่านั้น
เพราะถ้าใครก็ตาม สามารถเดินทางได้เร็วกว่าแสง ซึ่งก็เป็นไปได้ในเชิงทฤษฎีของสัมพัทธภาพภาคพิเศษ เวลาก็จะย้อนกลับได้จริง
แต่ในเชิงปฏิบัติ ยังไม่มีวี่แววจะเกิดขึ้นได้เลย
การเดินทางกลับคืนสู่อดีตโดยการเดินทางเร็วกว่าแสง จึงยังเป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในจินตนาการ ดังเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ "ศัตรู....จากอนาคต"
สำหรับทฤษฎีสตริง ซึ่งเป็นผลงานความพยายามของนักฟิสิกส์ ในการรวมทฤษฎีสัมพัทธภาพภาคทั่วไป กับทฤษฎีควอนตัม แต่แรกเริ่ม (เมื่อทศวรรษที่ หกสิบ ของศตวรรษที่ยี่สิบ) ไม่ได้รับความสนใจในประเด็นเกี่ยวกับการท่องเวลา
แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ก็เริ่มมีการถกกันมากขึ้น ถึงความเกี่ยวพันของทฤษฎีสตริง กับการท่องเวลา
สตีเฟน ฮอว์คิง ก็กล่าว (ในหนังสือ คำตอบย่อของคำถามใหญ่, สตีเฟน ฮอว์คิง. แปลโดย ชัยวัฒน์ คุประตกุล. สนพ. Bear Publishing.ค.ศ.2019) สรุปอย่างสั้น ๆ ได้ว่า ทฤษฎีสตริงแบบเอ็ม (M – Theory) ซึ่งเกี่ยวกับจักรวาล 11 มิติ และการบิดงอของอวกาศเวลาอย่างสูง ถึงแม้จะยังมีปัญหาต้องถกกันอีกมาก แต่ก็นับเป็นความเป็นไปได้ (ของการท่องเวลา) ที่น่าตื่นเต้น
ถึงวันนี้ ยังไม่มีวี่แววของ "ยานเวลา" หรือ "นักท่องเวลา" จากอนาคต มาเยือนเราเลย
แต่ในอนาคตล่ะ?
ในเมื่อไม่มีกฎข้อห้ามอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางกลับคืนสู่อดีต ก็ไม่น่าจะพ้นความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต ทำให้การเดินทางกลับคืนสู่อดีตเกิดขึ้นได้
แล้วทำไมจึงยังไม่มีนักท่องเวลา จากอนาคตกลับมาเยือนเราเลย?
หรือว่า พวกเขาเคยมากันแล้ว แต่เราไม่ทราบ?
หรือมีกฎกติกาพิเศษ ที่ห้ามการเดินทางกลับคืนสู่อดีต ที่จะทำให้เรารับรู้ได้?
หรือ เรื่องการท่องเวลากลับคืนสู่อดีต เป็นเรื่องเกินความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นอนาคตไกลแค่ไหน?
แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดเรื่องนี้ อย่างไร?