รายงานวิจัยของ Everytownresearch.org ซึ่งจัดทำขึ้นมาจากรายงานของสื่อและบันทึกของตำรวจและศาลอย่างเป็นทางการ ระบุว่า ระหว่างปี 2009-2020 มีผู้เสียชีวิตสะสมรวมถึง 1,363 ศพ และได้รับบาดเจ็บสะสมรวม 947 คน จากเหตุกราดยิงรวม 240 ครั้ง หรือ เฉลี่ยถึงปีละ 20 ครั้งในสหรัฐอเมริกา โดยในจำนวนผู้เสียชีวิต 1,363 ศพ นั้น เป็นกลุ่มเด็กและวัยรุ่นถึง 362 ศพ หรือเกือบ 1 ใน 4 ของจำนวนผู้เสียชีวิต
*** อัปเดตตัวเลขล่าสุดถึงปี 2022 (สิ้นสุดวันที่ 3 มิถุนายน 2022) เกิดเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ รวมแล้ว 277 ครั้ง ผู้เสียชีวิตสะสมรวม 1,565 ศพ และได้รับบาดเจ็บสะสมเกินกว่า 1,000 คนแล้ว ***
...
“คุณสามารถสัมผัสได้ถึงความช็อกของชาวเมือง คุณสามารถสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวด การไม่ยอมรับ ความท้อแท้ โกรธแค้น โศกเศร้า สูญเสีย และความฝันที่ต้องสิ้นสุดลง และเนื่องจากปืนไรเฟิล AR-15 มีอานุภาพร้ายแรงจนสามารถสร้างรอยบาดแผลขนาดใหญ่ ศพจำนวนมากจึงถูกทำลายจนกระทั่งมีเพียงการตรวจหา DNA หรือรองเท้าคอนเวิร์สสีเขียวคู่นี้เท่านั้น ที่สามารถระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตได้ เด็กๆหลายคนไม่เพียงแต่จะเสียชีวิตแต่ร่างของพวกเขายังเต็มไปด้วยบาดแผลอันน่าหวาดกลัว
พอกันทีกับการโต้เถียงกันไปมา และไม่รับฟังฝ่ายตรงกันข้าม มาพูดคุยกันบนโต๊ะผ่านผู้แทนของชาวอเมริกันเพื่อหาจุดกึ่งกลางโดยเฉพาะในประเด็นนี้ เพราะเราไม่ได้แบ่งแยกกันเช่นที่เราถูกบอกว่าเราเป็น”
แมทธิว แม็คคอนาเฮย์ (Matthew McConaughey) นักแสดงมากฝีมือเจ้าของรางวัลออสการ์ กล่าวสุนทรพจน์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์และความร้อนแรงที่ทำเนียบขาว เพื่อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกฎหมายควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐอเมริกา หลังเกิดเหตุซีรีส์กราดยิงบนดินแดนแห่งเสรีภาพมากขึ้น และมากขึ้นทุกที ท่ามกลางข้อถกเถียงในประเด็นดังกล่าวที่ยังคงไม่จบสิ้น (สักที)
เพราะเหตุใดการครอบครองอาวุธปืน จึงกลายเป็นข้อถกเถียงในสหรัฐฯ :
ความพยายามออกกฎหมายควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุกราดยิงหลายต่อหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลายเป็นเพียงความพยายามที่ “ล้มเหลว” เมื่อร่างกฎหมายต่างๆ ถูกตีตกในสภาคองเกรส ภายใต้การคัดค้านอย่างแข็งแรงจากฟากฝั่งพรรครีพับลิกัน เนื่องจากผู้สนับสนุนส่วนใหญ่คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?
1. รัฐธรรมนูญมาตรา 2 (Second Amendment) ของสหรัฐฯ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ ปี 1791 ระบุว่า กองทหารอาสาสมัครที่ได้รับการควบคุมอย่างดี มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของรัฐอิสระ สิทธิของประชาชนในการเก็บรักษาและถือครองอาวุธปืนไม่ควรถูกละเมิด
2. อิทธิพลของสมาคมปืนยาวแห่งชาติสหรัฐฯ (National Rifle Association of America) หรือ NRA
“แทนที่จะสนับสนุนการประนีประนอม แต่กลุ่มล็อบบี้อาวุธปืนและพันธมิตรกลับจงใจโกหกเรื่องร่างกฎหมายฉบับนี้” อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวอย่างเหลืออดหลังความพยายามผลักดันร่างกฎหมายห้ามจำหน่ายปืนบางประเภทและเพิ่มมาตรการตรวจสอบประวัติผู้ซื้อซึ่งใกล้เคียงจะประสบความสำเร็จมากที่สุดครั้งหนึ่ง ถูก NRA คัดค้านอย่างหนักหน่วง จนกระทั่งถูกตีตกจากสภาคองเกรส เมื่อปี 2013
...
เป็นที่ทราบกันดีว่านอกจากจะ “คัดค้าน” อย่างเต็มที่ต่อมาตรการใดๆ ก็ตามที่จะทำให้เกิดการควบคุมอาวุธปืนที่เข้มงวดมากขึ้นแล้ว NRA ยังพยายามผลักดันให้ทั้งรัฐต่างๆ ในสหรัฐฯ และรัฐบาลกลางลดข้อจำกัดเรื่องการครอบครองอาวุธปืนลงอีกด้วย โดยตามรายงานเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา พบว่า NRA และพันธมิตรใช้จ่ายเงินในการล็อบบี้เพื่อหาเสียงสนับสนุนทางการเมืองในสภาครองเกรส มากถึง 15.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านใช้เงินในส่วนนี้ไปเพียง 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแตกต่างกันมากถึง 6 ต่อ 1!
3. พรรครีพับลิกัน ผลสำรวจคิดความเห็นของ Pew Research Center เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน พักอาศัยอยู่ในบ้านที่มีอาวุธปืนสูงถึง 54% ในขณะที่ฝ่ายผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต มีเพียง 31% (อย่างไรก็ดีในภาพรวมแล้ว ผลสำรวจดังกล่าว พบว่า กลุ่มผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ มากถึง 4 ใน 10 คน อาศัยอยู่ในบ้านพักที่มีอาวุธปืน)
...
นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของ Rand Corporation เมื่อปี 2020 ยังพบว่า 20 รัฐที่มีอัตราการผู้ถือครองอาวุธปืนสูงสุด เลือกสมาชิกวุฒิสภา (ซึ่งตามระบบการปกครองของสหรัฐฯ มีอำนาจสูง เนื่องจากถูกออกแบบมาให้เป็นกลไกสำหรับการถ่วงดุลอำนาจประธานาธิบดีและสภาผู้แทนราษฎร) จากพรรครีพับลิกัน ในสัดส่วนที่มากถึง 2 ใน 3 (32 จาก 50 คน) ซึ่งสัดส่วนตัวเลขที่ว่านี้ แทบไม่ต่างอะไรกับสัดส่วน 2 ใน 3 รัฐ (17 จาก 25 รัฐ) ที่โหวตเลือกอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ในขณะที่ 20 รัฐที่มีอัตราการผู้ถือครองอาวุธปืนต่ำที่สุด เลือกสมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเดโมแครต ในสัดส่วนที่มากถึง 2 ใน 3 (32 จาก 50 คน) และอีกเช่นกัน สัดส่วน 2 ใน 3 รัฐ 16 ใน 25 รัฐ โหวตเลือกประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
และถึงแม้ว่า 20 รัฐที่มีอัตราการผู้ถือครองอาวุธปืนต่ำ ที่สุดนี้ จะมีจำนวนประชากรรวมกันสูงถึง ประมาณ 192 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 20 รัฐที่มีอัตราการผู้ถือครองอาวุธปืน ถึง 2 เท่าครึ่ง (ประมาณ 69 ล้านคน) แต่เนื่องจาก จำนวนสมาชิกวุฒิสภาในสภาสูงจากทั้งฝ่ายมีค่าเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกัน จึงทำให้การผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐฯ ซึ่งต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาอย่างน้อย 60 เสียง จึงไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้โดยง่าย
...
ก้าวย่างความพยายามปฏิรูปที่น่าจับตา :
รวมข้อเสนอปฏิรูปกฎหมายครอบครองอาวุธปืนล่าสุด :
1. ร่างพระราชบัญญัติคำสั่งคุ้มครองความเสี่ยงสูงสุดโดยรัฐบาลกลาง (Federal Extreme Risk Protection Order Act) หรือ ร่าง พ.ร.บ.ธงแดง (Red Flag) โดยผู้นำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ อนุญาตให้สมาชิกในครอบครัวและผู้บังคับใช้กฎหมาย ได้รับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อดำเนินการยกเลิกหรือการเข้าถึงอาวุธปืนชั่วคราวสำหรับผู้ที่ถือเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นโดยคำสั่งจากศาลรัฐบาลกลาง (Federal Court) เข้าสู่การพิจารณาของสภาคองเกรส
2. แก้ไขกฎหมายของรัฐบาลกลาง จากเดิมสามารถขายปืนไรเฟิลแก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปี เป็น 21 ปี
3. ขยายการตรวจสอบประวัติการซื้อปืนทั้งหมด รวมถึงตรวจสอบผู้ขายที่ไม่มีใบอนุญาตทางออนไลน์ หรือตามงานแสดงอาวุธปืนต่างๆ
4. ขยายข้อจำกัดสำหรับผู้ที่สามารถมีอาวุธปืนได้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ห้ามผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับความเกลียดชัง, ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต หรือมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้อื่นไม่ปลอดภัย
5. ยกเลิกการคุ้มครองความรับผิดชอบสำหรับผู้ผลิตอาวุธปืน
6. เพิ่มการลงทุนด้านการให้บริการสุขภาพจิต
“เหตุใดเราจึงเต็มใจที่จะอยู่กับการสังหารหมู่ผู้คนเช่นนี้ เหตุใดเราจึงปล่อยให้เรื่องแบบนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่ต่อไป ถึงเวลาแล้วที่เราจะเปลี่ยนความเจ็บปวดเป็นการกระทำ เพื่อทุกๆ ครอบครัวของผู้สูญเสีย สำหรับพลเมืองทุกคนในประเทศนี้ เราต้องทำให้เกิดความชัดเจน ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนทุกคนในประเทศนี้ ถึงเวลาต้องลงมือทำแล้ว” ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ กล่าวภายหลังจากเกิดเหตุกราดยิงสังหารหมู่ครั้งล่าสุด
“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ใช้ได้จริงสำหรับประเทศ รัฐ ชุมชน โรงเรียนและบ้านของเรา ผู้ครอบครองอาวุธปืนที่มีความรับผิดชอบต่างรู้สึกผิดหวังกับการตีความ รัฐธรรมนูญมาตรา 2 สำหรับใช้ไปในทางที่ผิดและถูกไฮแจ็กโดยบุคคลที่วิกลจริตบางคน กฎระเบียบเหล่านี้ไม่ใช่การก้าวถอยหลัง แต่มันคือ การก้าวไปข้างหน้าของภาคประชาสังคม รวมถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ด้วยเช่นกัน” แมทธิว แม็คคอนาเฮย์ สรุปสุนทรพจน์อันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังบนโพเดียม ณ ทำเนียบขาว
หากแต่...ทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่ว่าไปนี้ จะเป็นจริงได้หรือไม่ ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับเสียงในสภาคองเกรส จะเป็นผู้ตัดสินในขั้นสุดท้ายต่อไป
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :