รายงานผลงานวิจัยอาการลองโควิดหลังฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อไวรัส SAR-CoV-2 (Long COVID after breakthrough SARS-CoV-2 infection) ของ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ (Washington University in St. Louis) ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงบนวารสารทางการแพทย์ Nature medicine เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2022 ที่ผ่านมา

โดยเป็นการศึกษาข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพของกระทรวงทหารผ่านศึกสหรัฐฯ (U.S. Department of Veterans Affairs) หรือ VA รวมถึงเวชระเบียนของผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร (ไฟเซอร์ 2 เข็ม, โมเดอร์นา 2 เข็ม และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 1 เข็ม) มากกว่า 34,000 คน ที่ติดเชื้อโควิด-19 ขั้นรุนแรง รวมถึงอีกมากกว่า 113,000 คน ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเกิดติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม ปี 2021 จนถึงเดือนตุลาคม 2021 ระบุว่า จากการที่ได้ติดตามผลหลังการติดเชื้อในห้วงระยะเวลา 6 เดือน เพื่อศึกษาว่าผู้ป่วยมีอาการเรื้อรังจากการติดเชื้อหรือไม่

...

พบว่า แม้วัคซีนจะสามารถช่วยป้องกันอาการลองโควิดโดยทั่วไปได้ค่อนข้างน้อย (ความเสี่ยงจากอาการลองโควิดหลังติดเชื้อ แม้ได้รับวัคซีนครบสูตรเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 15%)

แต่วัคซีนต้านโควิด-19 ยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการลองโควิด ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ดี เนื่องจากการฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อปอด (Lung disorders) ได้เกือบ 50%, ลดความเสี่ยงจากความผิดปกติการแข็งตัวของเลือด (Blood-Clotting Disorders) ได้ 56% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

โดย Dr.Ziyad Al-Aly หนึ่งในทีมนักวิจัยให้ความเห็นถึง ผลลัพธ์ ที่เกิดจากการงานวิจัยนี้ว่า แม้ว่าวัคซีนจะสามารถช่วยป้องกันการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ แต่เสนอทางเลือกการป้องกันที่ “พอประมาณ” ต่อการป้องกันอาการลองโควิด ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะวัคซีนต้านโควิด-19 ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการแพร่ระบาดใหญ่ ซึ่ง ณ เวลานั้น ยังไม่มีข้อมูลเรื่องผู้ป่วยอาการลองโควิดมากพอ ซึ่งทำให้อาจต้องมีการทบทวนในประเด็นนี้อีกครั้ง เพราะในเวลานี้มีข้อมูลแน่ชัดเรื่องอาการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ในระยะยาวแม้ว่าจะหายป่วยจากการติดเชื้อแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดี Dr.Ziyad Al-Aly ตั้งข้อสังเกตว่า สำหรับกรณีบุคคลที่ติดเชื้อแม้ได้รับวัคซีนครบสูตร (Breakthrough) ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีอาการลองโควิดเสมอไป เนื่องจากคนกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 10% เท่านั้น แต่เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากจึงทำให้ ผู้ป่วยลองโควิดที่ได้รับวัคซีนครบสูตรจึงมีจำนวนมากด้วยเช่นกัน

การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นกับอาการลองโควิด :

แม้ว่ารายงานวิจัยดังกล่าวไม่ได้มีข้อมูลเรื่องผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น แต่ Dr.Ziyad Al-Aly ได้แสดงทัศนะว่า ในความเห็นส่วนตัวเขาไม่ได้คาดหวังว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะสามารถช่วยสร้างความแตกต่างกันอย่างมากในแง่การป้องกันอาการลองโควิด หรือการติดเชื้อจากไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนได้ เนื่องจากผลการศึกษาเห็นได้ชัดเจนว่า มีผู้ป่วยจำนวนมากที่มีอาการเจ็บป่วยแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด แต่ก็ไม่พบความแตกต่างเรื่องอาการลองโควิดแต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้น วัคซีนต้านโควิด-19 ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้อยู่ต่อไป

...

แนวทางในการต่อสู้กับอาการลองโควิด :

รายงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ลงบนวารสารทางวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง CELL ก่อนหน้านี้ ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงหลักที่จะนำไปสู่การเกิดภาวะลองโควิด คือ ระดับไวรัสในร่างกายในช่วงระหว่างการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน (Acute Infection) นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า หากมีการเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการบำบัดรวมถึงการให้ยาต้านไวรัส เพื่อทำให้ระดับของไวรัสอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งปัจจุบันมีการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอแล้ว อาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะลองโควิดได้

แต่แม้กระนั้นผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังคงยืนยันว่า ยังคงมีความจำเป็นต้องทำการศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อมูลเรื่องอาการลองโควิดอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการรักษาแบบเฉพาะด้านในอนาคต

ทำให้วิธีการหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะลองโควิดที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ ยังคงเป็นการ “ไม่ควรติดเชื้อโควิด-19” อยู่ต่อไป

...

การนอนหลับคือวิธีการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด :

และหนึ่งในวิธีการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของ “คุณ” ให้แข็งแกร่งเพียงพอสำหรับการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.12.1 ที่กำลังระบาดหนักอยู่ในหลายประเทศเวลานี้ ซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดายหากทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ก็คือ “การนอนหลับให้สนิท”

เพราะการนอนหลับอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากจะเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายแล้วยังเพิ่มพลังให้กับระบบภูมิคุ้มกันด้วย เพราะการอดนอนไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในวันรุ่งขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอาการอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน ภาวะซึมเศร้า และโรคมะเร็งอีกด้วย

และนี่คือ 6 วิธีการที่แนะนำสำหรับทำให้ร่างกายของคุณ “หลับสนิท” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งสำหรับการต่อสู้กับ ...

1. ลดการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มเวลาสำหรับนอน

2. สร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการนอน ห้องมืดสนิท อุณหภูมิควรอยู่ที่ประมาณ 18 องศาเซลเซียส และปราศจากเสียงรบกวนจากภายนอก

...

3. ทิ้งความเครียดทำจิตใจให้สงบก่อนนอน

4. รับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียม เช่น ผักขม เมล็ดฟักทอง อัลมอนด์ อะโวคาโด กล้วย มันฝรั่ง ถั่วดำ ถั่วเขียว บรอกโคลี มะม่วงหิมพานต์ และกะหล่ำ ซึ่งช่วยการทำงานของระบบประสาท และช่วยทำให้จิตใจเกิดความสงบผ่อนคลายได้

5. สวมแว่นป้องกันแสงสีฟ้า (Blue Light) เวลาใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เนื่องจากแสงสีฟ้ารบกวนความสามารถของร่างกายในการเตรียมตัวสำหรับการนอนหลับ เพราะมันปิดกั้นฮอร์โมนที่เรียกว่า เมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งสมองของเราสร้างขึ้นมาตามธรรมชาติเพื่อควบคุมการนอน

6. การทำโยคะ เพื่อยืดเส้นยืดสายก่อนนอน สามารถช่วยลดอาการปวดต่างๆ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะความเครียดและวิตกกังวลต่างๆ ได้ รวมถึงยังสามารถช่วยกระตุ้นระบบประสาทเพื่อช่วยให้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้นอีกด้วย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :