รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations) หรือ FAO ระบุว่า เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา รัสเซียและยูเครน ส่งออกข้าวสาลี (วัตถุดิบสำคัญในการผลิตขนมปัง) รวมกันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงเกือบ 30% ของตลาดโลก ซึ่งปริมาณการส่งออกข้าวสาลีจำนวนมหาศาลนี้ ทำให้มีมากกว่า 50 ประเทศ ต้องพึ่งพาการส่งออกจากทั้งสองประเทศนี้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 30% และในจำนวนนี้ยังมีถึง 26 ประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจน) ต้องนำเข้าข้าวสาลีจากทั้งสองประเทศนี้คิดเป็นสัดส่วนถึงมากกว่า 50% ด้วย

นอกจากนี้ การส่งออกน้ำมันดอกทานตะวัน (นำไปใช้ในการทำน้ำมันพืช และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง) ที่ทั้งสองประเทศส่งออกรวมกันยังคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 55% ของอุปทานโลกด้วย

ขณะเดียวกัน "ยูเครน" ยังส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงระหว่างปี 2020-2021 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 15% ของตลาดโลก (ผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก)

...

ส่วน "รัสเซีย" ถือเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก โดยเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนอันดับหนึ่งของโลก ปุ๋ยโพแทสเซียมอันดับสองของโลก และปุ๋ยฟอสฟอรัสอันดับสามของโลก เมื่อปี 2020

จากระหว่างบรรทัดด้านบน “เรา” คงได้เห็นความสำคัญของทั้งรัสเซียและยูเครนในแง่การส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรกันแล้ว อย่างไรก็ดี คำถามที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ คือ นับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงการประกาศสารพัดมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ จากชาติตะวันตก ซึ่งดำเนินมาเป็นระยะยาวนานมากกว่า 80 วันเข้าให้แล้ว ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมา จะส่งผลกระทบต่อ “ความมั่นคงทางอาหารโลก” ในอนาคตอันใกล้นี้อย่างไร?

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ผลการทำลายล้างจากสงคราม :

นักวิเคราะห์ จากศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (Center for Strategic International Studies) หรือ CSIS ระบุว่า กองทัพรัสเซียได้ใช้กำลังทหารมุ่งโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรในประเทศยูเครนอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เพาะปลูก, โรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการเกษตร, โกดังบรรจุผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร, ถนนและสะพาน รวมถึง ท่าเรือ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ย่อมจะส่งผลกระทบต่อ “แหล่งรายได้หลัก” ของยูเครนที่จะได้จาก “ภาคการเกษตร” ซึ่งคิดเป็น 9% ของ GDP ยูเครนเมื่อปี 2020 ในอนาคตนับจากนี้ต่อไป อีกทั้งผลลัพธ์จากการทำลายล้างนี้ ยังจะสร้างผลกระทบต่อเนื่องต่อความมั่นคงทางอาหารโลกอีกด้วย

สาเหตุวิกฤติความมั่นคงทางอาหารโลก 2022 :

ความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ, ความขัดแย้งในภูมิภาค, ผลกระทบทางเศรษฐกิจและวิกฤติห่วงโซ่อุปทานอันเกิดจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 คือ ปัญญาที่ทำให้เกิด “ภาวะชะงักงัน” ในตลาดสินค้าเกษตรเดิมอยู่แล้ว แต่แล้วเมื่อเกิดสงครามขึ้นทุกอย่างก็ยิ่งเลวร้ายลงมากกว่าเก่า

โดยนักวิเคราะห์จาก CSIS คาดว่า ตลาดสินค้าเกษตร อาจต้องเผชิญหน้ากับภาวะอุปทานตกต่ำและมีราคาพุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับในช่วงระหว่างปี 2007-2008 ซึ่งเกิดภัยแล้งขึ้นในหลายประเทศที่เรียกว่า “วิกฤติอาหารครั้งสำคัญของโลก" (Global Food Crisis) จนถึงขั้นต้องมีการประกาศห้ามส่งออกสินค้าเกษตรบางชนิด และผลักดันให้ ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่า ในช่วงระหว่างปี 2002 - 2008 ตามรายงานของ FAO

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ยังจะยิ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรที่สูงอยู่เดิมแล้วจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น มีราคาแพงมากยิ่งขึ้นเข้าไปอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวม “ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” จากการที่บริษัทประกันต่างพร้อมใจกันเพิ่มเบี้ยประกันเรือขนส่งสินค้าที่แล่นผ่านทะเลดำจากพิษภัยของสงครามที่เกิดขึ้นด้วย

...

ขณะเดียวกัน มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย ซึ่งเป็นผลทำให้ ราคาปุ๋ยมีราคาแพงขึ้นนั้น กลับยังทำให้เกษตรกรในกลุ่มประเทศร่ำรวยโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา หันไปเลือกลงทุนปลูกพืชที่ใช้ปุ๋ยน้อย มากกว่าการที่จะเลือกปลูกข้าวสาลีเพื่อชดเชยอุปทานส่วนที่ขาดหายไปจากรัสเซียและยูเครน ถึงแม้ว่าข้าวสาลีจะมีราคาสูงกว่าก็ตาม

โดยรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า ในปี 2022 นี้ มีเกษตรกรชาวสหรัฐฯ ตั้งใจจะปลูกถั่วเหลือง ซึ่งใช้ปุ๋ยสำหรับการเพาะปลูกค่อนข้างน้อย มีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ โดยมีจำนวนมากเป็น 2 เท่าของจำนวนเกษตรกรที่ตั้งใจจะปลูกข้าวสาลี จนกระทั่งอาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวสาลีต่อเอคอร์ มีตัวเลขต่ำที่สุดเป็นลำดับที่ 5 ในรอบเกือบศตวรรษ

อย่างไรก็ดี สำหรับเกษตรกรในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งมีทางเลือกจำกัดกว่า อาจเดินหน้าเพาะปลูกโดยยอมแบกต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ต่อไป พร้อมกับให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับภาระสินค้าทางการเกษตรที่มีราคาแพงขึ้น ขณะเดียวกัน ยังอาจมีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรเหล่านี้ อาจเลือกใช้ปริมาณปุ๋ยที่น้อยลงในการเพาะปลูก ถึงแม้ว่าจะแลกมาด้วยผลผลิตที่ได้ “ลดลง” ก็ตาม

...

แนวโน้มราคาอาหารโลก :

จากรายงานของล่าสุด ของ FAO ระบุว่า ดัชนีราคาอาหารโลก ซึ่งเป็นดัชนีวัดการเปลี่ยนแปลงรายเดือนของสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดทั่วโลก ณ เดือนเมษายน อยู่ที่ 158.5 จุด ลดลงเพียง 1.2 จุด (0.8%) จากเดือนมีนาคมซึ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ยังคงสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปีถึง 36.4 จุด (29.8%)

แนวทางแก้ไขปัญหาข้าวยากหมากแพง :

ผู้เชี่ยวชาญจาก สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ (International Food Policy Research Institute) หรือ IFPRI แสดงความมั่นใจว่า ปริมาณข้าวสาลีในตลาดโลกจะไม่ประสบภาวะขาดแคลนแม้ว่าจะขาดอุปทานจากรัสเซียและยูเครนก็ตาม เนื่องจากส่วนที่ขาดหายไปจะได้รับเติมเต็มจากประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง โดยเฉพาะ "อินเดีย" ที่เมื่อเดือนมีนาคมผ่านมา สามารถส่งออกข้าวสาลีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญของ IFPRI ยังได้แนะนำให้ประเทศต่างๆ ยกเว้น การคว่ำบาตรอาหารและปุ๋ย รวมถึงละเว้นการห้ามส่งออก เพื่อหลีกเลี่ยงการกักตุนและการไล่ซื้อด้วยความตื่นตระหนก เพื่อระงับผลกระทบจากสงครามที่จะนำไปสู่การหยุดชะงักด้านความมั่นคงทางอาหาร

อย่างไรก็ดี "ข่าวร้าย" คือ...ล่าสุด "อินเดีย" หนึ่งในประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลีแล้ว เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2022 หลังอินเดียต้องเผชิญหน้ากับภาวะภัยแล้งจนทำให้ผลผลิตในประเทศตกต่ำจนกระทั่งทำให้ข้าวสาลีในประเทศมีราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

...

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นอกจากอินเดีย ยังมีอีกหลายประเทศที่เริ่มมีคำสั่งห้ามส่งออกอาหารแล้ว

ปัจจุบันมีประเทศใดห้ามส่งออกอาหารแล้วบ้าง :

อาร์เจนตินา : น้ำมันถั่วเหลือง, กากถั่วเหลือง สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2023
แอลจีเรีย : พาสต้า, เมล็ดข้าวสาลี, น้ำมันพืช, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2022
อียิปต์ : น้ำมันพืช, ข้าวโพด สิ้นสุดวันที่ 12 มิ.ย. 2022 : ข้าวสาลี, แป้งสาลี, น้ำมันพืช, ถั่วเลนทิล, พาสต้า, ถั่ว สิ้นสุดวันที่ 10 มิ.ย. 2022

อินโดนีเซีย : น้ำมันปาล์ม, น้ำมันปาล์มจากเมล็ดปาล์ม สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2022
อิหร่าน : มันฝรั่ง, มะเขือม่วง, มะเขือเทศ, หัวหอม สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2022
คาซัคสถาน : ข้าวสาลี, แป้งสาลี สิ้นสุดวันที่ 15 มิ.ย. 2022
โคโซโว : ข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้งสาลี, น้ำมันพืช, เกลือ, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2022
ตุรกี : เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนย, น้ำมันประกอบอาหาร สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2022
ยูเครน : ข้าวสาลี, ข้าวโอ๊ต, ข้างฟ่าง, น้ำตาล สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2022
รัสเซีย : น้ำตาล, เมล็ดทานตะวัน สิ้นสุดวันที่ 31 ส.ค. 2022: ข้าวสาลี, แป้งเมสลิน, ข้าวไรย์, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโพด สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2022

เซอร์เบีย : ข้าวสาลี, ข้าวโพด, แป้งสาลี, น้ำมันพืช สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2022
ตูนิเซีย : ผัก, ผลไม้ สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2022
คูเวต : ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่, ธัญพืช, น้ำมันพืช สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2022

*** หมายเหตุ อ้างอิงข้อมูลจากสถาบัน Peterson Institute for International Economics หรือ PIIE ประเทศสหรัฐอเมริกา ***

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :