“หากคุณขัดขวางระบบ คุณจะต้องมองดูสิ่งที่คุณร้องขอ เพราะมันจะทำให้ตลาดเกิดความสับสนอลหม่าน ราคาน้ำมันอาจจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 200% หรือ 300% ซึ่งโลกไม่อาจรับมือได้อย่างแน่นอน”

นายซูเฮล อัล มัสรู (Suhail Al Mazouei) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออกมาแสดงท่าทีหลังคณะกรรมาธิการยุติธรรมวุฒิสภาของสหรัฐฯ (Senate Judiciary Committee) ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการไม่มีเครือข่ายผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน (No Oil Producing and Exporting Cartels ct) หรือ NOPEC ด้วยคะแนนเสียง 17 : 4 และเตรียมส่งเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาและสภาคองเกรสในลำดับต่อไป

อะไรคือ NOPEC :

ร่างกฎหมายที่จะนำไปสู่การถอดถอนการปกป้องกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือ “โอเปก” ต่อกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ และเป็นผลให้สามารถฟ้องร้อง โอเปก หรือแม้กระทั่งชาติสมาชิกโอเปกพลัส ในกรณีที่มีการจำกัดจำนวนโควตาการผลิต หรือระงับการส่งออก เพื่อทำให้ราคาน้ำมันในตลาดพุ่งสูงขึ้นได้

...

ทั้งนี้ แม้ร่างกฎหมาย NOPEC จะเคยถูกผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาคองเกรส หลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา แต่ความพยายามดังกล่าวไม่เคยประสบความสำเร็จ เนื่องจากกลุ่มโอเปก ที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย รวมถึง หอการค้าสหรัฐฯ และสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (American Petroleum Institute) หรือ API ได้ใช้ความพยายาม "ล็อบบี้อย่างหนัก" จนกระทั่งทำให้ ร่างกฎหมาย NOPEC ก่อนหน้านี้ ทั้งถูกคว่ำในสภาหรือแม้กระทั่งถูกประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องใช้อำนาจเข้ายับยั้งมาแล้ว

แต่แล้วเมื่อกลุ่มโอเปก “ไม่ยินยอม” ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ให้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันเพื่อมาทดแทนการผลิตน้ำมันของรัสเซียที่หายไป อันเกิดจากถูกมาตรการคว่ำบาตรของบรรดาชาติตะวันตก จนเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่กำลังบอบช้ำจากวิกฤติห่วงโซ่อุปทาน และปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ร่างกฎหมาย NOPEC จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นกดดันเข้าใส่ กลุ่มโอเปก อีกครั้งหนึ่ง!

ถึงแม้ว่าล่าสุด...ทำเนียบขาวจะยังคงทำเป็น “เฉยเมย” ไม่พยายามส่งสัญญาณใดๆ ว่าจะ “สนับสนุน” หรือ “คัดค้าน” ร่างกฎหมาย NOPEC นี้ก็ตาม

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ

สถานการณ์ตลาดน้ำมันโลก :

รายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมันโลกเดือนเมษายน ของ ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) หรือ IEA ระบุว่า อุปทานน้ำมันทั่วโลกในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 99.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดีในเดือนเมษายน คาดว่า อุปทานน้ำมันจากรัสเซียน่าจะลดลง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป อุปทานน้ำมันจากรัสเซียอาจจะลดลงถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อันเป็นผลมาจากมาตรการคว่ำบาตรด้านพลังงานของชาติตะวันตก

ขณะที่ การเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันจากกลุ่มโอเปกพลัส เพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปของรัสเซียกลับยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยข้อตกลงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม มีการเพิ่มโควตาการผลิตน้ำมันในเดือนพฤษภาคมเพียง 40,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าที่วางแผนเอาไว้ว่าควรจะอยู่ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน และยิ่งห่างไกลจากเป้าหมาย 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (อุปทานที่หายไปของรัสเซีย) อีกด้วย ขณะเดียวกันปริมาณการผลิตน้ำมันจากนอกกลุ่มโอเปกพลัสรวมสหรัฐอเมริกาเอง ก็ยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 100,000 บาร์เรลต่อวันเช่นกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

...

ความเสี่ยงจากการถูกตอบโต้ ร่างกฎหมาย NOPEC :

ปี 2019 ซาอุดีอาระเบียผู้นำของกลุ่มโอเปก เคยขู่ว่า จะขายน้ำมันด้วยเงินสกุลอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ (ปัจจุบัน การทำธุรกรรมซื้อขายน้ำมันใช้สกุลเงินดอลลาร์มากกว่า 80%) หากวอชิงตันผ่านร่างกฎหมาย NOPEC ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ คือ สถานะของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสกุลเงินสำรองหลักของโลกย่อมต้องถูกลดทอนลง ซึ่งนั่นย่อมเท่ากับอิทธิพลของสหรัฐฯ บนเวทีการค้าโลก รวมถึง ความหนักแน่นสำหรับการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อ “คู่อริ” ต่างๆ อ่อนแอลง

ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย ยังอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาวุธสงครามอีกหนึ่งรายได้หลักและมีอิทธิพลอย่างสูงต่อแวดวงการเมืองในสหรัฐฯ ด้วย เนื่องจาก ซาอุดีอาระเบีย ถือเป็น ประเทศผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ของสหรัฐฯเสมอมา

นอกจากนี้ ยังอาจมีความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ ซาอุดีอาระเบียและพันธมิตรโอเปก เลือกที่จะใช้ตอบโต้ เช่น การจำกัดการลงทุนของสหรัฐฯในประเทศของตัวเอง, การขึ้นราคาน้ำมันที่ขายในสหรัฐฯ, การเทขายพันธบัตร (ซาอุดีอาระเบียถือครองพันธบัตรสหรัฐฯมากกว่า 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) , ถอนตัวจากการลงทุนในสหรัฐฯ (ซาอุดีอาระเบียมีเม็ดเงินลงทุนในสหรัฐอเมริกามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งแต่ละวิธีที่ว่าไปนี้ ย่อมสามารถสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่กำลังกะปลกกะเปลี้ยในเวลานี้ได้อย่างแน่นอน

เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย
เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย

...

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานในสหรัฐฯ :

ประเด็นแรกที่นักวิเคราะห์มองตรงกันคือ NOPEC อาจนำไปสู่การผลิตน้ำมันเกินกว่าความต้องการ จนทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง และนั่นย่อมส่งผลต่อบริษัทพลังงานของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ บริษัทพลังงานในสหรัฐฯ ยังมีต้นทุนในการกลั่นน้ำมันที่สูงกว่าซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศโอเปกอีกด้วย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิกโดย Chonticha Pinijrob

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

...