สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ย่างเข้าสู่เดือนที่ 3 ท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่าง เครมลิน และ ชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ยังคงไร้รี่แววที่จะมีการลดราวาศอกให้แก่กันและกัน เริ่มทำให้ “ชาวโลก” รู้สึก “หวาดวิตก” มากขึ้นทุกทีๆ แล้วว่าจุดตั้งต้นใน "ยูเครน" จะลุกลามจนกระทั่งนำไปสู่อะไรที่ “ร้ายแรง” กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่? และอะไรคือ "ปัจจัย" ที่อาจนำไปสู่ ความเลวร้ายที่ว่านั้นได้บ้าง
การใช้อาวุธนิวเคลียร์ :
ซามูเอล รามานี (Samuel Ramani) นักวิเคราะห์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ จาก หน่วยงานป้องกันและรักษาความปลอดภัยของอังกฤษ (Royal United Services Institute) หรือ RUSI ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านความมั่นคง ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า สถานการณ์การสู้รบในยูเครน ณ ปัจจุบัน ยังคงอยู่นอกขอบเขตความเป็นไปได้ ที่จะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์, สงครามโลกครั้งที่ 3 รวมถึงการขยายพื้นที่การสู้รบออกนอกพรมแดนประเทศยูเครน
...
เพราะที่ผ่านมา เครมลิน มักนิยมใช้การ “วาทะการข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์” กับ ชาติตะวันตกในเกือบทุกครั้งที่ชาติตะวันตกเริ่มดำเนินนโยบายด้านความมั่นคง ที่ทำให้รัสเซียรู้สึกว่า “กำลังถูกคุกคาม” และการข่มขู่ ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ครั้งล่าสุด น่าจะมีเป้าประสงค์สำคัญ คือให้ ชาติตะวันตกยุติการส่งอาวุธสนับสนุนรัฐบาลยูเครน เสียมากกว่า
จุดอันตรายที่ต้องจับตา :
ด้าน William Alberque ผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์ เทคโนโลยี และการควบคุมอาวุธ ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงกลยุทธ์ (International Institute for Strategic Studies) หรือ IISS ของอังกฤษ ให้ความเห็นว่า แม้ว่า สถานการณ์การรบในยูเครน น่าจะยังไม่พัฒนาไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้ แต่ยังมี “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ที่อาจทำให้ “ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน” เกิดเปลี่ยนใจ และหันไปใช้ความรุนแรงมากขึ้นในการทำสงครามได้
นั่นคือ...หากในวันที่ 9 พฤษภาคม กองทัพรัสเซียเกิดไปประสบความ “อับอาย” ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางในในสงครามยูเครน เช่น การสูญเสียครั้งสำคัญ หรือ การพ่ายแพ้ในการรุกรบครั้งใหญ่
นั่นเป็นเพราะสำหรับรัสเซียแล้ว วันที่ 9 พฤษภาคม ถือเป็น “วันแห่งชัยชนะ” เนื่องจากเป็นวันครบรอบที่ "สหภาพโซเวียต" มีชัยเหนือ "กองทัพนาซี" ในสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน ถือเป็นบุคคลที่คาดเดาได้ยาก หากเขารู้สึกว่า รัสเซียกำลังถูกทำให้ขายหน้า โดยเฉพาะในวันที่ 9 พฤษภาคม มันย่อมมีความเสี่ยง สำหรับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง และการ “ข่มขวัญ” ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ก็ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของ กลุยทธ์ที่ผู้นำรัสเซีย มักจะงัดออกมาใช้อยู่เสมอๆ โดยเฉพาะกับบรรดาชาติตะวันตก
สงครามเศรษฐกิจ :
แม้สหรัฐฯ และชาติตะวันตก จะพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางการทหารโดยตรงกับรัสเซีย แต่การกดดันด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะยังคงดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ทั้งรูปแบบการคว่ำบาตรภาคธุรกิจ หรือ เจ้าหน้าที่ที่มีความใกล้ชิดกับ ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน จนกระทั่งถูกฝ่ายเครมลิน ตอบโต้กลับ ด้วยการบีบบังคับให้จ่ายค่าพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) เป็นสกุลเงินรูเบิล จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อ และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน
...
สำหรับประเด็นนี้ Maximilian Hess จาก สถาบันวิจัยนโยบายระหว่างประเทศ (Foreign Policy Research Institute) หรือ FPRI มองว่า ชาติตะวันตกควรเร่งเตรียมความพร้อมให้กับพลเมืองของตัวเอง สำหรับการต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากในสงครามเศรษฐกิจที่จะทวีความรุนแรงได้เพิ่มขึ้น เพราะมีแนวโน้มสูง ที่รัสเซียจะเพิ่มแรงบีบคั้นให้ ยุโรปต้องจ่ายค่าพลังงานด้วยสกุลเงินรูเบิลให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เงินรูเบิลอ่อนค่ามากเกินไปจาก มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของตะวันตก โดยหากไม่มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มากพอ แรงกดดันที่เกิดขึ้นภายในชาติตะวันตก จะทำให้ รัสเซียเป็นฝ่ายมีชัยชนะในสงครามครั้งนี้ได้
ไฟแค้นที่มีต่อชาติตะวันตก :
หลังสงครามเข้าสู่เดือนที่ 3 แม้รัสเซียจะสามารถขยายพื้นที่การควบคุมในภาคตะวันออกและภาคใต้ของยูเครนได้มากขึ้น รวมถึงพยายามสร้างสะพานเชื่อมภูมิภาคดอนบัส เพื่อเปิดทางไปสู่การผนวกดินแดนเข้ากับไครเมีย แต่การต้องเผชิญกับการนองเลือดและสูญเสียในสงคราม อีกทั้ง การที่ชาติตะวันตกยังคงยืนยันว่าจะสนับสนุนรัฐบาลยูเครนให้ต่อสู้กับรัสเซียต่อไป รวมถึงการที่ ฟินแลนด์และสวีเดน มีแนวคิดจะเปลี่ยนจาก ประเทศเป็นกลาง ไปสู่การร่วมเป็นสมาชิกนาโต
...
ได้ทำให้ “การปลุกเร้า” ของฝ่ายรัสเซีย ซึ่งแต่เดิมมักเน้นไปในเรื่องกระแสชาตินิยม เพื่อทำให้เกิดการสนับสนุนคนการทำสงครามในยูเครนนั้น ได้เริ่มเปลี่ยนไปสู่ “การทำให้เกิดความชิงชัง” ต่อฝ่ายนาโต แล้ว และประเด็นนี้จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกเสื่อมทรามลงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม รวมถึง จะยิ่งเพิ่มความตรึงเครียดทางการทหารในภูมิภาคบอลติกด้วย Andrius Tursa ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญของ Teneo Intelligence สรุปความเห็นส่งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :