ความพยายามเดินเกมเกลี้ยกล่อม “ผ่านการสนทนาภาษาดอกไม้” ในการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ระหว่าง "ประธานาธิบดีโจ ไบเดน" และ "นายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที" ในประเด็นสำคัญเรื่องการร้องขอให้อินเดียซื้อน้ำมันจากรัสเซียให้น้อยลง และเพิ่มความร่วมมือในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียให้มากขึ้น จบลงในแบบ “บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น”
เมื่อฝ่ายอินเดีย ยังคงใช้วิธีเด้งเชือก “แบ่งรับแบ่งสู้” ในข้อเรียกร้องของฝ่ายสหรัฐฯ ด้วยการใช้วิธีสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ชาวยูเครน และแสดงความกังวลเรื่องการใช้ความรุนแรงในสงคราม ในฐานะหนึ่งในพันธมิตรต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีน อย่าง QUAD (Quadrilateral Security Dialogue) ซึ่งอินเดียเข้าร่วมกับ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และ ญี่ปุ่น
หากแต่ประเด็นเรื่องการให้ความร่วมมือคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย และหันมายืนข้างสหรัฐฯ และชาติตะวันตกให้มากขึ้นนั้น ฝ่ายอินเดีย ยังคงแสดงท่าทีชัดเจนว่า “ขอเป็นกลาง” ในความขัดแย้งครั้งนี้ต่อไป
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการ “ปลอบประโลม” วอชิงตัน ฝ่ายอินเดีย ได้พยายามเน้นย้ำว่า สหรัฐฯ ควรมองเรื่องการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะความร่วมมือของกลุ่ม QUAD แทนที่จะมีมุมมองในระยะสั้นโดยการมุ่งโฟกัสไปที่สงครามที่กำลังเกิดขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
...
เหตุใดความพยายามโน้มน้าวอินเดียของสหรัฐฯ จึงยังไม่ประสบความสำเร็จ :
อินเดีย เป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก (1.สหรัฐฯ 2.จีน) โดยมีปริมาณการน้ำเข้าคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของการใช้งานในประเทศ โดยในปี 2021 ที่ผ่านมาอินเดียนำเข้าจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 2-3% เท่านั้น ในขณะที่สัดส่วนการนำเข้าน้ำมันจากสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8%
แต่หลังจากรัสเซียเปิดฉากทำสงครามกับยูเครน อินเดียได้มีการทำข้อตกลงซื้อน้ำมันจากรัสเซียแล้วอย่างน้อย 13 ล้านบาร์เรล แถมยังได้มา “ในราคามิตรภาพ” ด้วย (ตลอดทั้งปี 2021 อินเดียนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย รวม 16 ล้านบาร์เรลเท่านั้น)
และถึงแม้ว่าจะไม่มีการเปิดเผยถึง “ราคามิตรภาพ” ที่ว่านี้ แต่บรรดานักวิเคราะห์ตะวันตกเชื่อมั่นว่า ราคาน้ำมันที่รัสเซียขายให้กับอินเดีย น่าจะอยู่ที่ประมาณเพียง 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น!
(ณ วันที่ 12 เม.ย. 2022 สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ค. ปิดที่ 100.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบ BRENT ส่งมอบเดือน มิ.ย. ปิดที่ 104.64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล)
ทำไมอินเดียจึงต้องซื้อน้ำมันจากรัสเซีย :
สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังคงไร้วี่แววว่ามันจะสิ้นสุดลงได้เมื่อไหร่ ความจำเป็นเรื่องการนำเข้าน้ำมันในระดับสูงท่ามกลางราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น คือปัจจัยสำคัญที่บีบให้อินเดียต้องรีบตัดสินใจ นั่นเป็นเพราะยังมีอีก “หลายๆ ประเทศ” ซึ่งเลือกจะปฏิเสธข้อเสนอคว่ำบาตรพลังรัสเซียของสหรัฐฯ และหนึ่งในจำนวนนั้น คือ ประเทศจีน ต่างพร้อมจะเข้าช้อนซื้อ ปริมาณน้ำมันดิบ “ส่วนเกิน” ซึ่งเป็นผลมาจากการถูกคว่ำบาตร ที่คาดว่าน่าจะสูงถึงประมาณ 3 ล้านบาร์เรล จาก ปริมาณการส่งออกรวมที่ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของ “รัสเซีย” ใน “ราคามิตรภาพ” ได้อีกเช่นกัน
...
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลที่ อินเดีย ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันในระดับสูง มีความจำเป็นในเรื่องการเร่งจัดหาพลังงาน “ราคาประหยัด” ให้ได้โดยเร็วที่สุด ก็เพื่อสกัดกั้นอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดย กระทรวงสถิติและการนำโครงการสู่การปฏิบัติของอินเดีย (Ministry of Statistics and Programme Implementation) รายงานว่า ในเดือนธันวาคม 2021 ก่อนสงครามยูเครนจะเริ่มต้นนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) หรือ CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.59% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน (ล่าสุดในเดือนมีนาคม 2022 อยู่ที่ 6.95%)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
...
เหตุใด ผู้นำสหรัฐฯ จึงไม่ใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับ อินเดีย :
“การนำเข้าพลังงานของอินเดียไม่ได้ถูกห้าม และมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ไม่ได้ถูกละเมิด”
เจน ซากี (Jan Psaki) โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐฯ ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวที่ว่า ในระหว่างการพูดคุยประธานาธิบดีโจ ไบเดน พยายามกดดันให้ นายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที จำกัดการนำเข้าพลังงานของรัสเซียหรือไม่
นั่นเป็นเพราะ...นอกจาก “อินเดีย” จะเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในเกมการสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนแล้ว นักวิเคราะห์ตะวันตกส่วนใหญ่เชื่อว่า หากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ใช้วิธีคาดคั้น อินเดีย มากจนเกินไปเพื่อให้ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการคว่ำบาตรรัสเซีย “วอชิงตัน” อาจสูญเสีย "อินเดีย" ไปให้กับรัสเซียที่พร้อมมีข้อเสนอใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องพลังงานและอาวุธให้กับอินเดียได้ตลอดเวลาด้วย
โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความมั่นคง อินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังต้องพึ่งพาอาวุธจากรัสเซียเป็นหลัก โดยจากข้อมูลของ Economist Intelligence Unit หรือ EIU หน่วยงานที่วิเคราะห์เศรษฐกิจ ของ THE ECONOMIST นิตยสารชื่อดังระดับโลก ระบุว่า ระหว่างปี 2000-2020 อินเดียนำเข้าอาวุธจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ของการนำเข้าอาวุธทั้งหมด
...
ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ "นายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที" ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของทั้งสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ที่ให้อินเดีย ลดการซื้ออาวุธจากรัสเซียลง โดยให้เหตุผลว่า อินเดียยังคงต้องการอาวุธจากรัสเซียสำหรับการรับมือกับจีนและปากีสถาน เพราะทางเลือกอื่นๆ มี "ราคาแพงเกินไป"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :