ทวีปเอเชียได้รับผลกระทบอย่างไรหลังรัสเซียเปิดฉากบุกยูเครน และหากสงครามยังคงทอดยาวออกไป และจนถึง ณ เวลานี้ ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า มันจะยุติลงเมื่อไหร่ แต่ละประเทศในเอเชียจะได้รับผลกระทบมากหรือน้อยแตกต่างกันอย่างไร และจะมีประเทศใดบ้างที่จะได้รับผลด้านบวก จากการที่รัสเซียถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจบ้าง วันนี้ “เรา” ไปสังเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นกันดู

ข้อควรรู้ : ก่อนจะไปกันต่อ!

ความสำคัญของรัสเซียและยูเครนต่อเศรษฐกิจโลก :

รัสเซีย : ผู้ส่งออก น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน, นิกเกิล อะลูมิเนียม ทองแดง แพลเลเดียม แพลตินัม ส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ , เหล็ก และแร่ไทเทเนียม, ปุ๋ย และวัตถุดิบสำหรับการผลิตปุ๋ย

ยูเครน : ผู้ส่งออก ข้าวสาลี, ข้าวโอ๊ต, ข้าวบาร์เลย์, ข้าวโพด และนีออน ส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

** หมายเหตุ รัสเซียและยูเครน ส่งออกข้าวสาลีวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตขนมปังรวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 1 ใน 4 ของปริมาณการส่งออกโลก และรัสเซีย เป็นผู้ส่งออก นิเกล รายใหญ่อันดับ 3 ของโลก **

...

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ภาพรวมผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก :

โดยนับตั้งแต่เกิดสงคราม สิ่งแรกที่เกิดขึ้นคือราคาพลังงานโลกปรับตัวสูงขึ้นทันทีในขณะที่ความเชื่อมั่นในตลาดการเงินอ่อนแอลง โดยได้รับแรงหนุนมาจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของโลกตะวันตก นอกจากนี้ การที่ทั้งสองประเทศถือเป็น ซัพพลายเออร์ (Supplier) สำคัญที่ป้อนวัตถุดิบให้กับตลาดโลก จึงทำให้ราคาสินค้าและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม

นอกจากนี้ ผลพวงของสงครามยังได้เข้าซ้ำเติมวิกฤติห่วงโซ่อุปทาน (Supplychain) ที่หนักหนาอยู่เดิมแล้วจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ให้ย่ำแย่ลง และไม่เพียงแต่ราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ธุรกิจในภาคบริการต่างๆ ที่ฟื้นตัวได้ช้าอยู่แล้วจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ได้ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน อันเป็นผลพวงมาจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ค่าน้ำมัน และค่าวัตถุดิบต่างๆ จนกระทั่งทำให้การเคลื่อนตัวของผู้คนและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ชะลอตัวลง เพราะบรรดาผู้บริโภค เริ่มจับจ่ายใช้สอยด้วยความระมัดระวัง และนั้นย่อมเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เนื่องจากต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น

ทวีปเอเชีย ได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน :

ผลการศึกษาล่าสุดของ Economist Intelligence Unit หรือ EIU หน่วยงานที่วิเคราะห์เศรษฐกิจ ของ THE ECONOMIST นิตยสารชื่อดังระดับโลก ระบุว่า แม้ว่าประเทศในทวีปเอเชียจะไม่ได้สัมผัสกับ “ความขัดแย้งโดยตรง” แต่ผลกระทบเรื่องราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น และรายได้จากการท่องเที่ยวที่หดหาย รวมถึงเรื่องการจัดหาอาวุธยุทธภัณฑ์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง คือ สิ่งที่ทวีปเอเชียจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

...

สินค้าโภคภัณฑ์ :

หลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ต่างต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์พืชเป็นหลัก จนกระทั่งอาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลน และอาจเกิดการหยุดชะงักในภาคเกษตร จนกระทั่งทำให้ราคาสินค้าเกษตรและธัญพืชปรับตัวสูงขึ้น

โดยราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และธัญพืชในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นนับตั้งแต่เกิดกระสุนนัดแรกในยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยสัญญาซื้อขายข้าวสาลีล่วงหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 65% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา (2021) ส่วนสัญญาซื้อขายข้าวโพดล่วงหน้า (ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์) ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา (2021)

นอกจากนี้การที่หลายๆ ประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมตัวกันประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ซึ่งสร้างผลกระทบโดยตรงต่อ ภาคการเงิน พลังงาน และการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ จะส่งผลกระทบต่อภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งสำคัญในการผลิตชิปชั้นนำเพื่อป้อนให้กับตลาดโลกด้วย เนื่องจากทั้งรัสเซียและยูเครน ถือเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก

*** หมายเหตุ สินค้าโภคภัณฑ์ คือ สินค้าที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกไม่ว่าใครจะผลิตก็ตาม ซึ่งโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.สินค้าด้านพลังงาน 2.โลหะอุตสาหกรรม 3.โลหะมีค่า 4.สินค้าเกษตร 5.สินค้าปศุสัตว์ ***

...

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ใครคือผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ :

ประเทศในเอเชียที่จะได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในสัดส่วนที่หายไป หลังรัสเซียถูกคว่ำบาตร :

ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และมองโกเลีย : ในฐานะผู้ส่งออกถ่านหิน
มาเลเซีย บรูไน : ในฐานะผู้ส่งออกน้ำมัน
ออสเตรเลีย มาเลเซีย และปาปัวนิวกินี : ในฐานะผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)
ออสเตรเลีย อินเดีย : ในฐานะผู้ส่งออกข้าวสาลี
อินโดนีเซีย : ในฐานะผู้ส่งออกนิกเกิล

ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น เมื่อคิดจากสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียและยูเครนเมื่อปี 2020 :

...

ราคาปุ๋ย : 1. อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นมากกว่า 15% 2. เวียดนาม ไทย และมาเลเซีย เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% 3. อินเดีย เพิ่มขึ้นมากกว่า 6% 4.บังกลาเทศ 5% 5.พม่า 3%

การนำเข้าธัญพืชจากรัสเซีย : 1. ปากีสถาน เพิ่มขึ้น 40% 2. ศรีลังกา เพิ่มขึ้น 30% 3.บังกลาเทศ เพิ่มขึ้น 20% 4.เวียดนาม 10% 5. ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า มาเลเซีย 5%

การนำเข้าธัญพืชจากยูเครน : 1. ปากีสถาน เพิ่มขึ้น 40% 2. อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เพิ่มขึ้น 30% 3.ไทย พม่า ศรีลังกา เพิ่มขึ้น 10% 4.เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย 5%

การจัดหาอาวุธยุทธภัณฑ์ :

รัสเซีย คือประเทศผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศผู้ส่งมอบอาวุธรายใหญ่ให้กับ จีน เวียดนาม และอินเดีย มาตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา หากแต่การที่รัสเซียถูกคว่ำบาตร อาจทำให้หลายๆ ชาติในเอเชีย สามารถเข้าถึงการซื้ออาวุธเหล่านั้นได้ยากลำบากมากขึ้น อย่างไรก็ดีในมุมกลับกันมันอาจเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศผู้ขายอาวุธอื่นๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธในประเทศด้วย

โดยข้อมูลของ EIU ระบุว่า ประเทศในเอเชียที่นำเข้าอาวุธจากรัสเซียมากที่สุดระหว่างปี 2000-2020 เมื่อคิดจากสัดส่วนการนำเข้าทั้งหมด ประกอบด้วย

1. มองโกเลีย 100% 2. เวียดนาม 80% 3. จีน 80% 4. อินเดีย 60% 5. ลาว 40% 6. พม่า 40% 7. มาเลเซีย 20% 8. อินโดนีเซีย 10% 9. บังกลาเทศ เนปาล และ ปากีสถาน 10%

การท่องเที่ยว :

สำหรับประเด็นนี้ EIU ระบุว่า แม้เส้นทางบินจากรัสเซียมายังทวีปเอเชียจะยังเปิดให้บริการสำหรับสายการบินจากรัสเซีย แต่ภาวะสงครามที่เกิดขึ้นจะทำให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ไม่หลั่งไหลเข้ามายังภูมิภาคนี้เช่นในทุกๆปีที่ผ่านมา จากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และการคว่ำบาตรภาคการเงินจากชาติตะวันตก

โดยประเทศไทย จะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุดในทวีปเอเชีย เนื่องจากในปี 2019 เคยมีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย เดินทางเข้ามายังประเทศไทยสูงถึง 1.4 ล้านคน ส่วนรองๆ ลงไป คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย ศรีลังกา และมัลดีฟส์ ซึ่งถือเป็น 5 อันดับแรกสำหรับจุดหมายปลายสำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวในเอเชียของชาวรัสเซีย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :