“หากไม่มีการชำระด้วยเงินสกุลรูเบิล เราจะถือว่ามันคือความล้มเหลวของผู้ซื้อในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา และทั้งหมดจะได้รับผลกระทบตามมาแน่นอน พวกเขา (ชาติไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย) จะต้องเปิดบัญชีรูเบิลในธนาคารของรัสเซีย เพื่อการชำระเงินค่าส่งม็อบก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2022 เป็นต้นไป”
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวด้วยเสียงชัดถ้อยชัดคำหลังลงนามในพระราชกฤษฎีกาที่กำหนดให้ชำระค่านำเข้าก๊าซธรรมชาติด้วยเงินสกุลรูเบิลของรัสเซีย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศและเขตการปกครองที่ฝ่าย “เครมลิน” ถือว่า “ไม่เป็นมิตร” (Unfriendly) และได้ร่วมกันประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียหลังเปิดฉากทำสงครามในยูเครน ซึ่งประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร, ยูเครน, มอนเตเนโกร, สวิตเซอร์แลนด์, แอลเบเนีย, อันดอร์รา, ไอซ์แลนด์, ลิกเตนสไตน์, โมนาโก, นอร์เวย์, ซานมารีโน, มาซิโดเนียเหนือ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, ไมโครนีเซีย, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์ และไต้หวัน เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2022
โดยหาก “กลุ่มประเทศไม่เป็นมิตรเหล่านี้” ไม่ยินยอมชำระเงินค่านำเข้าก๊าซธรรมชาติด้วยสกุลเงินรูเบิล (ปกติจะชำระด้วยสกุลเงินยูโรถึงประมาณ 60% ดอลลาร์สหรัฐ 40%) ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ระบุให้ "กาซพรอมแบงก์" (Gazprombank) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ "กาซพรอม" (Gazprom) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซียเป็นผู้บริหารจัดการกระบวนการชำระเงินโดยจะให้ผู้ซื้อโอนเงินเข้าบัญชีของกาซพรอมแบงก์เป็นสกุลเงินต่างประเทศ จากนั้น ธนาคารจะแปลงเป็นสกุลเงินรูเบิลและโอนเข้าบัญชีรูเบิลของผู้ซื้อในขั้นตอนสุดท้าย นั้น ผู้นำรัสเซียขู่ว่าจะยุติการส่งมอบก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศเหล่านั้นเป็นการตอบโต้
...
โดยทันทีหลังการแสดงท่าทีแข็งกร้าวดังกล่าว ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นเหนือระดับ 1,450 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตรทันที ในขณะที่ราคาซื้อขายล่วงหน้าเดือนพฤษภาคม ที่ตลาดกลางในเนเธอร์แลนด์ (Dutch TTF) ปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1,453 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร หรือ 127.37 ยูโร ต่อ MWh ทันที
*** หมายเหตุ ราคาก๊าซธรรมชาติที่ตลาดกลางในเนเธอร์แลนด์ เคยพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 3,900 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร หรือ 226.3 ยูโร ต่อ MWh มาแล้วเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2022 หลังชาติตะวันตกประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ***
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อย่างไรก็ดี นายดมิทรี เปสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยืนยันว่า วิธีการชำระเงินดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อราคาที่ระบุไว้ในสัญญาการส่งมอบแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สื่อของทางการรัสเซียรายงานด้วยว่า “เครมลิน” กำลังเตรียมขยายการชำระเงินเป็นสกุลรูเบิล สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย ภายหลังจากได้ออกมาตรการให้บรรดาบริษัทผู้ส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้น คือ กาซพรอม แปลงรายได้ถึงร้อยละ 80 เป็นสกุลเงินรูเบิล เพื่อช่วยพยุงค่าเงินรูเบิลไม่ให้ตกต่ำลงจากพิษมาตรการคว่ำบาตรของบรรดาชาติตะวันตกด้วย
อย่างไรก็ดี ข้อเรียกร้องดังกล่าวของผู้นำรัสเซียได้ถูก “ปฏิเสธ” แทบจะในทันทีจากบรรดาพันธมิตรชาติตะวันตก โดยเฉพาะยุโรปที่ปัจจุบันต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 40% และนำเข้าน้ำมันอีก 25% ได้ยืนยันว่า สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ มีการระบุสกุลเงินสำหรับการชำระเอาไว้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ภายในระยะเวลาเพียงชั่วข้ามคืน พร้อมทั้งยืนกรานว่า จะชำระเงินเป็นสกุลยูโร และดอลลาร์สหรัฐต่อไป
...
เพราะอะไร รัสเซีย จึงต้องการให้จ่ายค่าพลังงานเป็นสกุลรูเบิล :
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า การย้ายกระแสเงินต่างประเทศจากรายได้ของ “กาซพรอม” ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 43% ของงบประมาณรัฐบาลรัสเซีย ไปยังระบบธนาคารที่ควบคุมโดยรัฐนั้น จะเป็นการส่งเสริมศักยภาพในการควบคุมสกุลเงินตราต่างประเทศให้กลับมาอยู่ในมือ “เครมลิน” ได้มากขึ้น ภายหลังจากเงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางรัสเซีย ที่มีมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกแช่แข็งจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก
อย่างไรก็ดีผลกระทบที่จะตามคือ “กาซพรอม” จะขาดแคลนสกุลเงินต่างประเทศสำหรับการชำระหนี้ หรือแม้กระทั่งการซื้อวัสดุสิ้นเปลืองกับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันก็ได้มีการขายเงินตราต่างประเทศให้กับธนาคารกลางรัสเซียมากถึง 80% เข้าให้แล้ว
ขณะที่ในมุมกลับกัน ประเด็นข้อพิพาทการชำระด้วยสกุลเงินรูเบิล ได้นำไปสู่กังวลที่ว่า อาจทำให้เกิดภาวะชะงักงันเรื่องการส่งมอบพลังงานให้กับยุโรป นอกจากนี้การที่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมายังยุโรปมีการเชื่อมต่อกันไปยังหลายๆประเทศ
ด้วยเหตุนี้ หากเกิดมีความพยายามปิดกั้นการส่งมอบก๊าซธรรมชาติไปให้กับประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไม่ยินยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายเครมลิน มันอาจมีความเป็นไปได้สูงที่ บางประเทศที่ยินยอมตามข้อเสนอ อาจพลอยฟ้าพลอยฝนได้รับผลกระทบตามไปด้วยได้เช่นกัน
...
ค่าเงินรูเบิล หลังการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยชาติตะวันตก :
ณ วันที่ 31 มี.ค. 2022 อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินรูเบิล ต่อ ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ประมาณ 85 รูเบิล ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราแลกเปลี่ยนก่อนหน้าที่ รัสเซียจะส่งกำลังทหารบุกเข้าไปในประเทศยูเครนแล้ว ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้านี้ ค่าเงินรูเบิล เคยอ่อนค่าลงไปมากถึง 150 รูเบิล ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2022
อันเป็นผลมาจากการที่ ธนาคารกลางรัสเซีย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 20% เพื่อดูดซับเงินออกจากระบบ ขณะเดียวกันรัฐบาลรัสเซีย ยังได้มีการบังคับใช้มาตรการควบคุมเงินที่ไหลเข้า-ออก ประเทศอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนสกุลเงินรูเบิลเป็นดอลลาร์สหรัฐ หรือยูโร
และการที่ค่าเงินรูเบิลไม่ได้ลดลง ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่าเศรษฐกิจของรัสเซียไม่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรตามที่ฝ่ายตะวันตกคาดการณ์ไว้ มันจึงนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียให้มากยิ่งขึ้น
หากแต่...ตราบใดก็ตามที่ จีน อินเดีย ยังคงซื้อน้ำมันจากรัสเซีย และกลุ่มโอเปก ยืนกรานว่าจะไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเร็วๆ นี้ รวมถึงบรรดาชาติในยุโรปยังคงต้องจำยอมซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอยู่ต่อไป “แต้มต่อ” ในมือของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สำหรับการเดินเกมในสงครามยูเครน รวมถึงการดิ้นหลุดจาก สารพัดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก ก็ยังคงมีอยู่ต่อไปเช่นกัน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
...