“ภัยคุกคามใหม่” ใน สงครามยูเครน จาก ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (HYPERSONIC MISSILE) ที่มีชื่อว่า “Kinzhal” กลายเป็นสปอตไลต์ร้อนฉ่า ที่ทำให้โลกตะวันตกต้องสั่งหน่วยข่าวกรองของตัวเองออกหาข้อมูลกันให้ควั่ก เนื่องจากมันถูกนำมาใช้ในสงครามเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่กองทัพรัสเซีย ได้นำมันมาอวดโฉมต่อชาวโลกในปี 2018 โดยในครั้งนั้น รัสเซียทำการทดสอบด้วยการยิงจากเครื่องบิน MiG-31 เข้าสู่เป้าหมายที่อยู่ห่างออกไป 500 ไมล์ (804 กิโลเมตร)

โดยทางการรัสเซีย ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ได้ใช้ Kinzhal ในสงครามยูเครนแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เป้าหมายคือคลังอาวุธบริเวณภาคตะวันตกของยูเครน ในวันที่ 18 มี.ค. 2022 และครั้งที่ 2 เป้าหมาย คือ คลังเก็บเชื้อเพลิงในภูมิภาค Mykolaiv ในวันที่ 19 มี.ค. 2022

...

HYPERSONIC MISSILE :

อาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียงที่จัดอยู่ในประเภทขีปนาวุธ โดยมีความเร็วเหนือเสียงอย่างน้อย 5 มัค (6,125 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ซึ่งนั่นแปลว่า ขีปนาวุธประเภทนี้ใช้เวลาเพียง 1 วินาที ต่อการเดินทาง 1.6 กิโลเมตร มันจึงกลายเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ที่น่าเกรงขาม และเป็นไปได้ยากมากที่เทคโนโลยีระบบป้องกันภัยทางอากาศในปัจจุบัน จะสามารถทำการสกัดกั้นได้ทัน

โดยรายงานของ ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (Center for Strategic and International Studies) หรือ CSIS ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า “อาวุธไฮเปอร์โซนิก” เป็นการผสมผสานระหว่างความเร็วเข้ากับ “ขีปนาวุธทิ้งตัว” (Ballistic Missile) และยังมีความคล่องตัวและสามารถร่อนในระดับต่ำได้เหมือนกับ “ขีปนาวุธร่อน” (Cruise Missile)

** หมายเหตุ 1. ขีปนาวุธทิ้งตัว (Ballistic Missile) คือ ขีปนาวุธที่ถูกนำวิถีด้วยแรงขับเคลื่อนจากกำลังเชื้อเพลิงในช่วงต้น และเมื่อเข้าถึงขั้นตอนสุดท้ายจะทิ้งตัวลงสู่เป้าหมาย ตามแรงโน้มถ่วงโลก 2. ขีปนาวุธร่อน (Cruise Missile) คือ ขีปนาวุธที่มีระบบนำทางของตัวเองและสามารถร่อนในอากาศได้ โดยจะกางปีกในอากาศหลังถูกปล่อยตัวก่อนพุ่งเข้าสู่เป้าหมายและส่วนใหญ่จะร่อนในระดับต่ำเพื่อหลบหลีกการตรวจจับของระบบป้องกันภัยทางอากาศ **

Kinzhal :

Kinzhal (คินซาล) ซึ่งแปลว่า กริช ในภาษารัสเซีย หรือ Kh-47M2 คือ ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกอากาศสู่พื้นที่รัสเซียอ้างว่ามีพิสัยทำการถึง 1,500 - 2,000 กิโลเมตร และมีความเร็วสูงสุด 10 มัค หรือ 10 เท่าของความเร็วเสียง (ประมาณ 12,250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) น้ำหนัก 480 กิโลกรัม สูง 1 เมตร ยาว 8 เมตร

โดยมันถูกออกแบบมาสำหรับติดตั้งบนเครื่องบินสกัดกั้นความเร็วเหนือเสียง MiG-31K โดยกองทัพรัสเซีย ได้ทำการทดสอบการยิง Kinzhal ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2018 โดยครั้งนั้นเป็นการยิงจากเครื่องบิน MiG-31 เข้าสู่เป้าหมายที่อยู่ห่างออกไป 804 กิโลเมตร

โดยสำนักข่าว Interfax รายงานเมื่อเร็วๆนี้ว่า กองทัพรัสเซียแสดงความมั่นใจว่า “Kinzhal” สามารถเอาชนะระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีอยู่ในเวลานี้ได้ทั้งหมด

ด้านรายงานของสำนักงานวิจัยแห่งรัฐสภาสหรัฐฯ (Congressional Research Service) หรือ CRS ซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2022 ที่ผ่านมา ระบุว่า Kinzhal สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ รวมทั้งยังมีขีดความสามารถในการโจมตีเป้าหมายภาคพื้นดินและกองเรือที่ลอยลำอยู่ในทะเลโดยเฉพาะเรือบรรทุกเครื่องบิน

...

อย่างไรก็ดี ทั้งหน่วยข่าวกรองและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ไม่เชื่อว่า Kinzhal สามารถหลบหลีกระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงได้ โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเพนตากอน ได้ปรามาส Kinzhal เอาไว้ว่า...เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากที่คิดว่า Kinzhal ไม่สามารถเอาชนะหรือถูกสกัดกั้นได้ เพราะท้ายที่สุดมันก็เป็นเพียงแค่ “ขีปนาวุธ”

อย่างไรก็ดี รายงานฉบับดังกล่าวของ CRS ได้เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันรัสเซีย ยังมีโครงการพัฒนา ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงอีกถึง 2 โครงการ คือ 3M22 Tsirkon และ Avangard และสำหรับโครงการ Avangard นี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน หมายมั่นปั้นมือเอาไว้ว่าจะต้องพัฒนาขีดความสามารถไปสู่การเป็น ขีปนาวุธที่ไม่สามารถสกัดกั้นได้ (Impossible to Intecept) โดยจะมีความเร็วสูงสุดถึง 20 มัค หรือ เร็วกว่าเสียง 20 เท่า (24,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และมีพิสัยทำการถึง 6,000 กิโลเมตร ซึ่งนั่นเท่ากับว่า มันสามารถยิงไปยังเป้าหมายที่ใดในโลกก็ได้ และที่สำคัญสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์และยิงจากเรือดำน้ำได้!

...

เพราะเหตุใดรัสเซียจึงนำขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง มาใช้ในสงครามยูเครน :

นักวิเคราะห์จากชาติตะวันตกส่วนใหญ่เชื่อว่า รัสเซียต้องการส่งสัญญาณถึงยูเครนและนาโตว่า เครมลิน ยังมี “ทางเลือกเพิ่มเติม” สำหรับการยกระดับการทำสงครามในครั้งนี้ รวมถึงยังเป็นการแสดง “ข่มขวัญ” เพื่อนบ้านนาโตที่อยู่ใกล้เคียงกับยูเครนไปในคราวเดียวกันด้วย

นอกจากนี้ รัสเซีย ยังอาจต้องการแสดงความเป็นผู้นำทางด้านอาวุธไฮเทค เหนือคู่ปรับสำคัญอย่าง สหรัฐอเมริกาซึ่งถูกทั้งรัสเซียและจีนทิ้งห่างเรื่องการพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงไปอย่างไม่เห็นฝุ่น และยังอาจสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นใน ระบบป้องกันภัยทางอากาศ และความปลอดภัยของ ศูนย์บัญชาการลอยน้ำ อย่าง เรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ ได้อีกด้วย

...

เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ...ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธเอจิส (Aegis) หัวใจหลักในการป้องกันเรือผิวน้ำของกองทัพสหรัฐฯ นั้น ต้องใช้เวลาสำหรับการตอบสนองหลังถูกโจมตีอย่างน้อย 8-10 วินาที ก่อนทำการสกัดกั้น แต่ระยะเวลา 8-10 วินาทีที่ว่านั้น HYPERSONIC MISSILE ของรัสเซียมันพุ่งไปเข้าสู่เป้าหมายไปได้ไกลมากกว่า 20 กิโลเมตรแล้ว

ขณะเดียวกันในขณะที่ขีปนาวุธพุ่งไปด้วยความเร็วเหนือเสียงนั้น จะทำให้เกิดความดันอากาศที่บริเวณส่วนหัวจนก่อตัวเป็นเมฆพลาสมา (Plasma Cloud) ซึ่งมันจะดูดซับคลื่นวิทยุและทำให้ระบบเรดาร์อาจจะไม่สามารถตรวจพบได้อีกด้วย นอกจากนี้ต้องไม่ลืมอีกด้วยว่า...มันถูกยิงมาจากเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียงอีกเช่นกัน!

เพราะฉะนั้น การโจมตีในลักษณะนี้ มันย่อมเป็นโจทย์ที่ยากมากขึ้น สำหรับแนวป้องกันเรือบรรทุกเครื่องบิน หัวใจหลักทางยุทธศาสตร์ในการเดินเกมรุกทางการทหารของกองทัพสหรัฐฯ มาโดยตลอดอย่างแน่นอนนับจากนี้เป็นต้นไป

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ภาพกราฟิกโดย Pradit Phulsarikij

อ่าวข่าวที่เกี่ยวข้อง :