สงครามรัสเซีย-ยูเครน แม้เข้าสู่วันที่ 22 ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุด สารพันปัญหาอีนุงตุงนังจากความขัดแย้งที่ขยายไปสู่การคว่ำบาตรทั้งทางด้านพลังงานและเศรษฐกิจจากทั้งฝ่ายรัสเซียและโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ กระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างไร จริงหรือไม่ที่รัสเซียจะพ่ายแพ้ให้กับการคว่ำบาตรจากโลกตะวันตก ยุโรปจะสามารถลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียได้จริงหรือไม่ และการเดินเกมของจีนจะช่วยปลดล็อกสงครามอันยืดเยื้อนี้ได้หรือไม่

วันนี้ เรา ไปรับฟังการวิเคราะห์จาก รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย จากคำถามเหล่านั้นกันดู

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

วลาดิเมียร์ ปูติน คือ ภัยคุกคามสำหรับชาติตะวันตก :

...

“ผมคิดว่า หากเรามองให้ลึกๆ ถึงพัฒนาการความขัดแย้ง เราจะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ มีการรุกคืบขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ในอาณาจักรเดิมของอดีตสหภาพโซเวียต และหลังจากนั้นได้มีการผนวกรัฐต่างๆ ริมทะเลบอลติกอีกไม่รู้กี่รัฐต่อกี่รัฐ นั่งจึงทำให้ วลาดิเมียร์ ปูติน เกิดความรู้สึกเป็นห่วงเป็นใย และข้อสำคัญ คือ ฟิวส์ขาด เมื่อมีความพยายามดึงจอร์เจีย เข้าไปเป็นสมาชิกนาโตในปี 2008 พร้อมกับวาง ยูเครน เอาไว้ในลำดับถัดไป ซึ่งทั้งสองประเทศนี้สำหรับรัสเซีย โดยปัจจัยทางภูมิศาสตร์แล้วถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของตัวเองหากกลายเป็นศัตรู ฉะนั้นต้นตอของปัญหานี้ สำหรับผมคิดว่า มันคือ การรุกคืบกินแดน จนกระทั่งทำให้รัสเซียรู้สึกว่า ถูกคุกคามก่อน”

อะไรคือ เป้าหมายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย :

“จริงๆแล้ว ผมคิดว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกในเวลานี้ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยอมถอย เพราะรัสเซียไม่ได้เป็นฝ่ายรุกคืบเข้ามาก่อน

ฉะนั้นเป้าหมายสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียซึ่งอาจจะคงอยู่ต่อไปหลังจบสิ้นสงคราม คือ ต้องการควบคุมหรือลดบทบาทอำนาจของ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ลงให้ได้มากที่สุด เพราะหากผู้นำรัสเซีย ยังนั่งอยู่ในอำนาจได้ต่อไปอย่างไม่มีกำหนดและมีนโยบายที่สามารถนำพารัสเซียไปสู่ความเจริญก้าวหน้าได้เหมือนเช่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คงจะสร้างความกังวลให้กับเหล่าพันธมิตรชาติตะวันตกได้ต่อไปไม่ใช่น้อย ลองคิดดูสิว่า หาก ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ยังอยู่ในอำนาจต่อไปอีก 10 ปี และยังสามารถร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ได้ ตะวันตกจึงต้องการนำไปสู่การเกิดอำนาจถ่วงดุล กับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งก็ตาม เพื่อให้ผู้นำรัสเซีย อยู่ในอำนาจได้ยากลำบากขึ้น เพื่อหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในรัสเซีย”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา :

“เป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ จากนี้ไปคือ การสกัดกั้นไม่ให้ศัตรูสามารถที่จะขึ้นมาท้าทายอำนาจของตัวเองได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกันระหว่างรัสเซียและจีน ด้วยเหตุนี้มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ระดับผู้นำในสหรัฐฯ จะเร่งเดินสายทั้งขู่และปลอบเพื่อหวังช่วงชิงจีนออกจากรัสเซียมากขึ้น

ผมว่าที่ผ่านสหรัฐฯ พลาดไปอย่างหนึ่ง คือการไปเปิดศึกสองด้านกับทั้งรัสเซียและจีนพร้อมๆ กัน ทั้งๆ ที่ในอดีตสหรัฐฯ ไม่เคยเปิดศึกสองด้านมาก่อน อย่างสมัยสงครามเวียดนามที่ขัดแย้งกับโซเวียตซึ่งอยู่เบื้องหลังเวียดนามเหนือ สหรัฐฯใช้วิธีเชื่อมต่อและช่วงชิงจีนออกจากรัสเซียผ่านการทูตปิงปอง จนกระทั่งทำให้ในท้ายที่สุดรัสเซียและจีนเกิดหมางเมินกันไปในช่วงนั้น

...

ด้วยเหตุนี้การที่สหรัฐฯ ปล่อยให้รัสเซียและจีนร่วมมือกันได้ คือ ความผิดพลาดอย่างมาก จนกระทั่งทำให้ตอนนี้ ต้องพยายามแยกรัสเซียออกจากจีนให้ได้อีกครั้ง แต่ความพยายามครั้งนี้จะสำเร็จได้หรือไม่ จะทำให้รัสเซียและจีนไว้ใจได้หรือไม่ รวมทั้งพันธมิตรของประเทศเหล่านี้จะยอมไว้ใจได้หรือไม่ หรือบางทีอาจทำให้เกิดการแยกขั้วกันมากขึ้นกว่าเดิม จนทำให้สงครามเย็นครั้งใหม่ขึ้นก็เป็นได้”

ประธานาธิบดีวราดีเมียร์ ปูติน
ประธานาธิบดีวราดีเมียร์ ปูติน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

...

ผลกระทบจากการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย :

“ในระยะสั้นนี้มีผลแน่นอน เพราะอุปทานน้ำมันโลกทั้งที่ใช้ในประเทศและค้าขายระหว่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาร์เรล ต่อวัน ฉะนั้น ปริมาณน้ำมันที่รัสเซียผลิตได้ประมาณ 10-11 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนแล้วมันก็คือ 10-11% ของปริมาณการผลิตน้ำมันต่อวันของโลก

ขณะที่ ปริมาณน้ำมันที่รัสเซียส่งออกยังอยู่ที่ 6-7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งก็คือ 6-7% ของการใช้น้ำมันทั่วโลกต่อวัน และหากคิดเฉพาะส่วนที่เป็นการค้าขายในตลาดโลกโดยไม่รวมการใช้ในประเทศ สัดส่วนจะยิ่งสูงกว่านั้นอีก

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มโอเปกพลัส ส่งออกน้ำมันวันละ 30 ล้านบาร์เรล เป็นของรัสเซียสัก 7 ล้านบาร์เรล นั่นก็เท่ากับคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของปริมาณการส่งออกน้ำมันต่อวันแล้ว ฉะนั้น หากคิดจะไปหาการทดแทนจากทั้ง อิหร่าน หรือ เวเนซุเอลา มันย่อมไม่เพียงพอ นั่นจึงเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และถือเป็น แต้มต่อ ให้กับฝ่ายรัสเซียอีกด้วย”

กราฟฟิกโดย Chonticha Pinijrob
กราฟฟิกโดย Chonticha Pinijrob

...

ขยายการผลิตน้ำมันเพื่อแก้ไขปัญหา :

“สามารถทำได้ครับ แต่คำถามคือทั้ง อิหร่าน และเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นพันธมิตรแนบแน่นกับฝ่ายรัสเซีย จะไม่คิดถึงยุทธศาสตร์ระยะยาว แล้วยอมตกกระไดพลอยโจนไปร่วมวงผลิตน้ำมันออกมาเยอะตามคำร้องขอของสหรัฐฯ และชาติตะวันตก เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า อย่างนั้นหรือ?

และที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ หากผลิตน้ำมันออกมาเยอะๆ ราคาน้ำมันตก ทั้งอิหร่านและเวเนซุเอลา อาจจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เลย สู้ผลิตในช่วงที่สามารถผลิตได้ในเวลานี้และป้อนออกมาในระดับหนึ่ง แถมไม่ขัดใจมหาอำนาจโลก มันจะไม่ได้รับประโยชน์มากกว่าหรือ?

นอกจากนี้ หากเราไปดูกำลังการผลิตน้ำมันทั่วโลก มันก็มีเหลืออยู่อีกเพียงไม่กี่ประเทศ ที่สามารถจะพอขยายกำลังการผลิตได้บ้าง เช่น ซาอุดีอาระเบีย หรือ สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ แต่ก็คงมีคำถามอีกเช่นกันว่า แล้วทั้งสองชาตินี้จะยอมขายกำลังการผลิตของตัวเองหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากตัวแปรต่างๆ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันมีช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและซาอุดีอาระเบียอยู่ด้วย

และนี่ยังไม่นับเรื่องก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียมีแต้มต่อเหนือสหภาพยุโรปมากยิ่งกว่าประเด็นเรื่องน้ำมันเข้าไปอีก มีบางคนบอกว่า หากพ้นฤดูหนาวแล้วยุโรปจะมีความจำเป็นต้องลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลง แต่ในความเห็นของผม คือ อาจจะน้อยลงบ้างแต่ไม่ได้น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นเป็นเพราะ ก๊าซธรรมชาติเป็นที่มาของการสร้างกระแสไฟฟ้า แล้วกระแสไฟฟ้าเป็นที่มาของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเส้นเลือดสำคัญของหลายๆประเทศในยุโรป ฉะนั้น อย่างไรก็ดี ดีมานด์ต่อก๊าซธรรมชาติ หรือ น้ำมัน มันคงไม่ได้น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ และนั่นคงจะทำให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูงต่อไป”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ใครได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย :

“ผมคิดว่าสหรัฐฯ แทบไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลยจากการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย และนอกจากจะไม่เจ็บแล้ว คงได้ประโยชน์ด้วยซ้ำไป เพราะว่าเวลานี้ สหรัฐฯคือผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก รองลงมาคือ ซาอุดีอาระเบีย และ รัสเซีย

ปัจจุบัน สหรัฐผลิตน้ำมันออกมาได้พอๆ กับที่ใช้ ด้วยเหตุนี้สหรัฐฯ จึงมีความจำเป็นในการพึ่งพาน้ำมันในตลาดโลกน้อยมากเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน ฉะนั้นสหรัฐจึงมีความมั่นคงด้านพลังงานสูง ยิ่งพอราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น บรรดาเศรษฐีบ่อน้ำมันทั้งหลายในสหรัฐฯ ก็คงจะแฮปปี้กันทั่วหน้า

กราฟฟิกโดย Chonticha Pinijrob
กราฟฟิกโดย Chonticha Pinijrob

สหภาพยุโรปเดินหน้าแผนการลดนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย :

“ผมคิดว่ามันยาวไกลมากครับ ในช่วงเวลานั้นมันอาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ แม้แต่อังกฤษเองก็ยังไม่กล้าลดการนำเข้าพลังงาน เพียงแต่บอกว่าสิ้นปีนี้เขาจะลด แต่อย่าลืมนะครับสิ้นปีมันก็ยังเหลืออีกตั้ง 8-9 เดือน อะไรมันก็เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นความเห็นส่วนตัวผมจึงคิดว่า มันเป็นกลยุทธ์ทางลมปาก หรือการบริหารเพื่อนำไปสู่ผลด้านจิตวิทยามากกว่า

แต่หากถามว่า อียู กำลังหาทางลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียหรือไม่ ผมคิดว่าเขาคิดอยู่ แต่หากมองไปที่ต้นทุนแล้วมันมหาศาลมาก ในการที่จะหาพลังงานจากแหล่งอื่นมาใช้ เพราะรัสเซียไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการผลิตน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ต่ำกว่า สหรัฐฯ 2-3 เท่า นอกจากนี้ ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ที่ส่งผ่านท่อมายังเยอรมนีไปยังยุโรป ยังต่ำกว่า ค่าขนส่งก๊าซธรรมชาติเลว หรือ LNG จากสหรัฐฯ มายังยุโรป อีก 2-3 เท่าเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ หากคำนึงถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นขนาดนั้น ก็ต้องถามฝ่ายอียูกันเองว่า สามารถแบกรับต้นทุนขนาดนั้นไหวไหม คุณจะยอมสูญเสียผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเพื่อไปสนองเป้าหมายด้านภูมิรัฐศาสตร์หรือไม่ ผมว่านี่คือคำถามที่พวกเขาคงจะต้องขบคิดกัน”

จุดเริ่มต้นการใช้พลังงานทดแทน :

“พลังงานทดแทนไม่ต้องไปพูดถึง สภาวะหน้าสิ่วหน้าขวานมีปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ คงไม่มีใครคำนึงถึงหรอก นอกจากนี้จะยิ่งทำให้การทำให้โลกมุ่งสู้เศรษฐกิจสีเขียวยากลำบากขึ้นอีกด้วย”

รัสเซียจะได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในด้านใด :

“ส่วนตัวผมมองว่า การคว่ำบาตรรัสเซียไม่ใช่เรื่องง่าย ข้อแรก รัสเซียไม่ได้มีการปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมาก การค้า นำเข้า ส่งออก ปีหนึ่งนำเข้าส่งออกก็ประมาณสัก 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 2% ของการค้าระหว่างประเทศของโลกด้วยซ้ำไป รัสเซียจึงไม่ใช่ประเทศที่ต้องพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศมาก

เศรษฐกิจของรัสเซียเป็นแบบพึ่งพาตัวเองค่อนข้างสูง โดยสาเหตุที่ทำให้เขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากเพราะ เดิมเขาพึ่งพาตัวเองเฉพาะเรื่องพลังงานแร่ธาตุ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน รัสเซียสามารถกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเรื่องอาหารการกิน ปัจจุบัน รัสเซีย คือประเทศส่งออกอาหารสุทธินะครับ ไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ นม เนย อะไรทั้งหลาย ต้องนำเข้ามหาศาล แต่ปีที่ผ่านมา รัสเซียส่งออกอาหารมีมูลค่ารวมถึง 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาเหลือกินแล้วเขาจึงส่งออกได้ร่วม 1 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้น รัสเซียจึงสามารถดูแลตัวเองได้ค่อนข้างมาก

เอาล่ะ...ทีนี้ หากรัสเซียจะขาดแคลน ก็ขาดแคลนพวกสินค้าอุปโภคบริโภค แต่คำถามคือ ภายใต้นโยบายเส้นทางสายไหมของจีน รถไฟที่มันวิ่งออกจากจีนเพื่อไปยุโรปทุกวัน วันหนึ่งไม่รู้กี่ขบวน ปีหนึ่งประมาณ หนึ่งหมื่นกว่าขบวน มันก็ต้องวิ่งผ่านรัสเซียเป็นส่วนใหญ่ใช่ไหมครับ แล้วเขาจะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคได้อย่างไรกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ปีที่แล้ว (2021) การค้าระหว่างจีนและรัสเซียจึงมีมูลค่ารวมสูงถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ เพิ่มขึ้นถึง 36%” และมีการตั้งเป้าเอาไว้ว่า ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า จะต้องเพิ่มขึ้นมาเป็นอย่างน้อย 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะฉะนั้นการค้าแบบนี้ คุณจะไปปิดกั้นเขาไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นรัสเซียก็คงจะอึดได้พอสมควร”

จุดอ่อนของรัสเซีย :

“รัสเซียมีจุดอ่อนเรื่องระบบการโอนเงิน โดยเฉพาะระบบ SWIFT ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ แต่หากถามว่า ในเมื่อใช้ระบบ SWIFT ไม่ได้รัสเซียจะใช้ระบบใดทดแทน ซึ่งผมคิดว่า รัสเซียก็คงจะหันไปใช้ระบบ CIPS ของจีน ทดแทน”

ทิศทางการเดินเกมของจีนท่ามกลางวิกฤติยูเครน :

“ผมมองดูท่าทีของจีน ณ ขณะนี้ คงเล่นเกมแบบต้องการถ่วงดุลตัวเอง ด้านหนึ่งคงทิ้งรัสเซียไม่ได้เพราะเป็นเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันสูง (Complementary Economy) เพราะฉะนั้นแล้ว เศรษฐกิจไม่มีทางที่จะแยกออกจากกันได้ และยิ่งเมื่อคำนึงถึงปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ทางด้านความมั่นคงด้วยแล้วยิ่งจะทำให้สองชาตินี้แยกออกจากกันได้ยาก

แต่ว่าจีนเอง คงไม่เอาไข่ของตัวเองไปใส่ไว้ในตะกร้ารัสเซียทั้งหมด จีนคงต้องมีการบริหารจัดการตัวเองเพื่อให้สามารถอยู่บนโลกได้อย่างมีการกระจายตัวที่เพิ่มมากขึ้น และเท่าที่ได้ติดตามดูท่าทีของจีนล่าสุดหลังการหารือกับฝ่ายสหรัฐฯ ก็มีท่าทีที่จะประนีประนอมมากขึ้นในวิกฤติยูเครน เพราะจีนรู้อยู่แล้วว่าเศรษฐกิจของตัวเองกำลังชะลอตัวลง ยิ่งมากเจอการแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอนเข้าไปอีก เศรษฐกิจก็คงจะมีการกระตุ้นกันยกใหญ่ และการกระตุ้นส่วนหนึ่งก็คือ การต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโลกโดยเฉพาะกับสหรัฐฯด้วย”

อนาคตของโลกหลังสงครามเศรษฐกิจ ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก :

ความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจโลก จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเส้นทางของซัพพลายเชนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก รวมถึงจะเกิดกระบวนการเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเองมากขึ้น มันจะเปลี่ยนไปจากคำว่า Offshore ไปหา Reshore and Onshore เพิ่มมากขึ้น ก็คือ แต่ละชาติก็คงจะพยายามพึ่งพาการผลิตด้านอาหารการกิน ด้านสินค้าอุตสาหกรรมอะไรต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะคงเล็งเห็นแล้วว่า โลกที่ใช้ปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นตัวตั้งยังไงมันก็คงหาจุดลงตัวได้ยาก มันมีแต่จะขยายความขัดแย้งให้มากขึ้น ฉะนั้นประเทศต่างๆ หากอยากให้อยู่รอดปลอดภัยจะต้องมีการบริหารปัจจัย 4 ให้ลงตัว เพราะฉะนั้นทุกชาติจะหันไปหาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อพยายามพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ตัวเองสามารถดำรงอยู่ได้แม้โลกจะเกิดความขัดแย้งที่บานปลายมากกว่านี้ ซึ่งประเด็นนี้คงจะต้องส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก เพราะปฏิสัมพันธ์ของเศรษฐกิจโลกจะลดทอนลง ไม่ว่าจะผ่านเรื่องการค้าหรือการลงทุนระหว่างประเทศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เศรษฐกิจโลกและไทย ในปีที่มีทั้งโรคระบาดและสงคราม :

เศรษฐกิจโลก :

“เศรษฐกิจโลกปีนี้จะเจอปัญหาสองด้าน ทั้ง Real Sector (ภาคเศรษฐกิจจริง) และ Financial Sector (ภาคการเงิน) ซึ่งจะไม่ดีทั้งคู่ ภายใต้การสะดุดตัวลงของการเคลื่อนไหวเสรี 4-5 เรื่อง

1. การเคลื่อนไหวด้านการค้า ซึ่งน่าจะชะลอตัวลง

2.การเคลื่อนไหวด้านการลงทุนระหว่างประเทศซึ่งน่าจะชะลอตัวลง

3.การเคลื่อนไหวของผู้คนที่จะชะลอตัวลงอย่างแน่นอน จากการแพร่ระบาดของโอมิครอน

4. การเคลื่อนไหวของภาคการเงิน ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินว่าเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจโลกจะมีปัญหามาจากวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ปัญหาใหญ่มันอยู่ที่ Real Sector แต่ Financial Sector ได้รับประโยชน์ด้วยซ้ำไป เห็นได้จากตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก โดยเฉพาะวอลสตรีท มีครั้งไหนที่ ภาคการเงินจากมั่งคั่งเฟื่องฟูได้เหมือนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ว่าปีนี้จะไม่ใช่แล้ว เพราะปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายตัวของภาคการเงิน คือ การเพิ่มปริมาณเงินออกมามากๆ จะไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว จากแรงคุกคามของปัญหาเงินเฟ้อ ที่อาจจะมีมากขึ้น ฉะนั้น เมื่อมีปัญหาเงินเฟ้อมากขึ้น ก็จะมีแต่จะต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด

ฉะนั้นเมื่อ Financial Sector ก็รักษาไว้ไม่ได้ แล้ว Real Sector ก็มีปัญหาด้วย มันจะเกิดสองแรงประสานทางด้านลบที่ทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสชะลอตัวลง แล้วที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ ปัญหาที่เรียกว่า Hyper Stagflation หรือมี Inflation (เงินเฟ้อ) ขณะที่ Recession (เศรษฐกิจถดถอย) แต่มันจะเป็นเงินเฟ้อแบบขนานใหญ่ (Hyper)

เพราะฉะนั้น ถ้าหากประเทศมหาอำนาจโลกยังมีท่าทีแบบที่เป็นอยู่ขณะนี้ โอกาสที่จะนำไปสู่ Hyper Stagflation ย่อมมีมากขึ้นและจะสร้างความเสียหายให้กับโลกอย่างมากมายและจะทำให้ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์การเผชิญหน้ายิ่งมากขึ้น เพื่อใช้ปัจจัยที่ไม่ใช้เศรษฐกิจมาบริหารจัดการปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง”

เศรษฐกิจไทย :

“เศรษฐกิจไทยก็คงติดร่างแหไปบ้าง แต่เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงโควิดแพร่ระบาดจนถึงวันนี้ เรายังแก้ลบไม่ได้เลย ฉะนั้นในปีนี้ ก็คงเรื่อยๆ มาเรียงๆ แบบนี้ต่อไป เพราะราคาอะไรต่อมิอะไรมันลดลงไปเยอะ ฉะนั้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมันคงไม่ได้มากน้อยไปกว่าเดิมมาก อย่างไรก็ดีแม้เศรษฐกิจไทย อาจต้องพึ่งพาการค้าขายกับต่างประเทศ และการท่องเที่ยว แต่มันก็สามารถพึ่งพาตัวได้สูงในระดับหนึ่ง เช่น เรื่องอาหารการกิน เพราะประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารสุทธิติดต่อกันมาหลายปีแล้ว ฉะนั้นเรื่องของความมั่นคงด้านอาหารคงไม่น่ามีปัญหา อีกทั้งในแง่ของปัจจัยเรื่องเครื่องนุ่งห่ม หรือ สินค้าอุปโภคบริโภคก็ดี ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดสามารถผลิตได้ในประเทศ

ฉะนั้นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอย่างมาก คือ เอาล่ะ แม้ปัญหาเรื่องพลังงานแพงนั้นเป็นตัวแปรที่มาจากนอกประเทศ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าบริหารจัดการได้ยาก แต่โจทย์สำคัญของรัฐบาลที่ต้องคิดไว้แต่เนิ่นๆ คือ จะบริหารปัจจัย 4 ของประชาชนให้ลงตัวได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาข้าวยากน้ำมันแพง เสียจนเกิดภาวะยากแค้นแสนเข็ญขึ้นในประเทศ เพราะนี่คือ ปากท้องของประชาชน”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟฟิกโดย Chonticha Pinijrob

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :