นับตั้งแต่รัสเซียแสดงท่าทีคุกคามก่อนเปิดฉากทำสงครามกับยูเครน ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2022 เป็นต้นมา เสียงเพรียกร้องจาก ชายชื่อ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีแห่งยูเครน ดังระงมแทบไม่หยุดหย่อนเพียงเพื่อร้องขอความช่วยเหลือ โดยเฉพาะด้านกำลังทหารและอาวุธ จากสหรัฐอเมริกาและชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต...
มาจนถึงวันนี้ อะไรคือสิ่งที่ ชายชื่อ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี “ร้องขอ” ไปแล้วบ้าง?
แล้วอะไรคือ สิ่งที่ได้รับการ “ตอบรับ” จากสหรัฐอเมริกาและชาติสมาชิกนาโต?
1. ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต :
ก่อนรัสเซียเปิดฉากโจมตี
ยูเครน เริ่มแสดงท่าทีที่จะขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตมาตั้งแต่ปี 1991 และมีการพัฒนากระบวนการต่างๆ สำหรับความพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของนาโตมาโดยตลอด โดยเฉพาะในเดือนกันยายนปี 2020 ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ได้มีการอนุมัติยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของยูเครน ซึ่งถือเป็นกระบวนการสำคัญสำหรับเป้าหมายการเข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกนาโต ท่ามกลางการแสดงความไม่พอใจอย่างชนิดออกนอกหน้าของรัสเซีย
...
และ ณ เวลานั้น นอกจาก นาโต จะเพิกเฉยต่อการแสดงความไม่พอใจของรัสเซียแล้ว ยังได้ประกาศสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของยูเครน รวมถึงออกแถลงการณ์ประณามและไม่ยอมรับการเข้ายึดครองไครเมียของรัสเซีย ซึ่งแต่เดิมเป็นของยูเครนด้วย
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างความ “อุ่นใจ” ให้กับยูเครน กองกำลังนาโต ยังได้แสดงตนเหนือบริเวณทะเลดำ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นย่านอิทธิพลของรัสเซีย พร้อมๆ กับการประกาศยกระดับความร่วมมือทางทะเลกับยูเครนเสียอีกด้วย!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
แต่แล้วหลังรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนขึ้นมาจริงๆ...
เพียง 2 วัน หลังรัสเซียเปิดฉากบุก เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ยืนยันว่า ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ ให้อพยพออกจากกรุงเคียฟ
“การต่อสู้อยู่ที่นี่ และเราต้องการอาวุธต่อต้านรถถัง ไม่ใช่รถสำหรับการหลบหนี” ผู้นำยูเครน สวนคำร้องขอดังกล่าวของสหรัฐฯ
ท่าทีของสหรัฐฯ และนาโต :
“กองกำลังของเราไม่เข้าร่วมและจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้ กำลังทหารของเราจะไม่เข้าไปในยุโรปเพื่อสู้รบในยูเครน แต่เข้าไปเพื่อปกป้องพันธมิตรของนาโต และสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรในยุโรปตะวันออก”
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
“ดิฉันต้องการแสดงความชัดเจนว่า สหรัฐฯ และโปแลนด์มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำหรับการพร้อมให้ความช่วยเหลือยูเครนและพลเมืองของยูเครนอย่างเต็มที่ และสหรัฐฯ จะปกป้องดินแดนของชาติสมาชิกนาโตทุกตารางนิ้ว สหรัฐฯ จะถือว่าการโจมตีชาติใดชาติหนึ่งของนาโต เป็นการโจมตีสมาชิกทุกชาติของนาโต”
คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวในระหว่างการเดินทางเยือนโปแลนด์ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตตั้งแต่ปี 1991 ท่ามกลางไฟสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
ความผิดหวังของผู้นำยูเครน :
“ผมถามผู้นำยุโรป 27 ท่าน ว่า ยูเครนจะได้เป็นสมาชิกนาโตหรือไม่...ทุกคนหวาดกลัว ไม่มีแม้สักคนที่จะตอบคำถามนี้”
โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าวเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2022 หรือ 2 วัน หลังรัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน
...
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. ขอจัดตั้งเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครน :
โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เรียกร้องให้สหรัฐฯ และนาโต จัดตั้งเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้ายูเครน เพื่อช่วยเหลือยูเครนจากการถูกโจมตีทางอากาศของกองทัพรัสเซีย
เสียงตอบรับจากสหรัฐฯ และนาโต :
“วิธีเดียวที่จะกำหนดเขตห้ามบินได้ คือ การส่งเครื่องบินรบของนาโต เข้าไปครองน่านฟ้ายูเครน จากนั้นจึงจะสามารถกำหนดเขตห้ามบิน และสกัดกั้นเครื่องบินรบของรัสเซียได้ เราเข้าใจถึงความสิ้นหวัง แต่หากเราทำเช่นนั้น มันอาจจบลงด้วยการเกิดสงครามเต็มรูปแบบในยุโรป”
พล.อ.เยนส์ ชโตลเทนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการนาโต
“ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่มีการส่งกำลังทหารสหรัฐฯ ไปทำสงครามกับรัสเซีย และหลักการพื้นฐานของการจัดตั้งเขตห้ามบิน คือ การส่งทหารสหรัฐฯ เข้าไปดำเนินการ ซึ่งนั่นเท่ากับจะเป็นการเข้าสู่ความขัดแย้งโดยตรง และอาจลุกลามกลายเป็นการทำสงครามกับรัสเซีย”
เจน ซากี (Jan Psaki)โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐฯ
...
ความผิดหวังของผู้นำยูเครน :
“พลเมืองทุกคนที่เสียชีวิตตั้งแต่วันนี้ ก็เพราะความอ่อนแอของพวกคุณ (นาโต) และวันนี้ ผู้นำของชาติพันธมิตรได้ไฟเขียว ให้มีการทิ้งระเบิดเมืองและหมู่บ้านในยูเครนเพิ่มเติม โดยการปฏิเสธจัดตั้งเขตห้ามบิน (No-Fly Zone)”
โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน
3. ขอการสนับสนุนเครื่องบินรบ :
ผู้นำยูเครน ร้องขอการสนับสนุนเครื่องบินรบเพื่อใช้ในการต่อสู้กับการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย หลังถูกถล่มทางอากาศอย่างหนักหน่วงและทหารรัสเซียโอบล้อมเข้าใกล้ กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนมากขึ้นทุกทีๆ
เสียงตอบรับจากสหรัฐฯ และนาโต :
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ อ้างว่า กำลังหารือกับ “โปแลนด์” หนึ่งในชาติสมาชิกนาโตและมีดินแดนติดกับยูเครน เรื่องการส่งมอบเครื่องบินรบ MIG-29 ที่ผลิตโดยรัสเซีย ของกองทัพอากาศโปแลนด์ไปให้กับยูเครนตามคำร้องขอ
...
แต่ฝ่ายโปแลนด์ รีบออกมา “ปฏิเสธทันควัน” ว่า ยังไม่ได้มีการตกลงเรื่องข้อเสนอดังกล่าว พร้อมกับยื่นข้อเสนอใหม่ที่ว่า ยินดีจะส่งเครื่องบินรบ MIG-29 ไปให้กับยูเครน แต่การส่งมอบจะใช้วิธีส่งเครื่องบินรบไปยังฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในเยอรมนี เพื่อให้กองทัพสหรัฐฯ หาทางส่งมอบให้กับยูเครนต่อไป
ซึ่งคำตอบ สำหรับข้อเสนอนี้จากสหรัฐฯ เชื่อว่า “คุณ” คงเดาได้ไม่ยาก นั่นก็คือ NO!
“ข้อเสนอของโปแลนด์ ซับซ้อนและถือเป็นความท้าทายด้านโลจิสติกส์ นอกจากนี้เราไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้”
จอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ
นอกจากนี้ หากใครยังไม่ทราบ...เมื่อ ยูเครน พยายามร้องขอความช่วยเหลือด้านอาวุธจากนาโต สิ่งที่รัฐบาลเยอรมนี ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องนั้นโดยการส่งมอบ “หมวกเหล็กทหาร” จำนวน 5,000 ใบไปให้กับยูเครนเสียด้วย โดยในครั้งนั้น ผู้นำยูเครน โกรธจัดถึงกับหลุดปากว่า “นี่คือการทรยศต่อเพื่อน” ในขณะที่ นายกเทศมนตรีกรุงเคียฟ เสียดสีความช่วยเหลือครั้งนี้ว่า “ความช่วยเหลือครั้งต่อไปของเยอรมนี คงจะเป็นการส่ง หมอน มาให้”
หมายเหตุ : มาตรา 5 (Article 5) ของ สนธิสัญญานาโต หากชาติสมาชิกใดของนาโตถูกโจมตีจะเท่ากับทุกประเทศของนาโตถูกโจมตี ซึ่งนั่นเท่ากับว่า ทุกประเทศในนาโตมีสิทธิที่จะร่วมมือกันเพื่อตอบโต้กลับได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
4. ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแบบเร่งรัด :
“ได้โปรดพิสูจน์ว่าคุณอยู่ฝ่ายเรา และโปรดช่วยให้แสงสว่างชนะความมืดมิด”
โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน กล่าววิงวอนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐสภายุโรป ภายหลังจากได้ลงนามในใบสมัครสมาชิกอียู
ท่าทีจากชาติสมาชิกอียู :
แม้ว่าข้อเสนอขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูแบบเร่งด่วน จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก อย่าง เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ แต่บรรดาหัวเรือใหญ่ของอียู ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และเนเธอร์แลนด์ กลับมองไปในทิศทางตรงกันข้าม
“ผมไม่เชื่อว่าจะสามารถเปิดขั้นตอนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอียู กับประเทศที่กำลังตกอยู่ในภาวะสงครามได้”
เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ผู้มีบทบาทอย่างใกล้ชิดในความพยายามเปิดการเจรจากับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เพื่อหาทางยุติสงคราม กล่าวหลังการประชุมสุดยอดที่แวร์ซาย ที่มี 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป “ปฏิเสธ” ข้อเรียกร้องจาก ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี อีกครั้ง!
“ไม่มีขั้นตอนที่เร่งด่วนเพื่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียู”
นายกรัฐมนตรีมาร์ค รุตต์ ของเนเธอร์แลนด์
“สหภาพยุโรปยังไม่พร้อมสำหรับการขยายจำนวนสมาชิก การตัดสินใจยังคงอยู่บนพื้นฐานของการใช้มติเอกฉันท์”
โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี
อย่างไรก็ดีภายหลังการ “ปฏิเสธ” ข้อเรียกร้องของผู้นำยูเครน ชาติสมาชิกอียูได้ขอให้คณะกรรมาธิการยุโรป ทำการประเมินการสมัครเป็นสมาชิกของยูเครนตามปกติ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานถึง 18 เดือนจึงจะเสร็จสมบูรณ์!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :