การเปิดฉากทำสงครามในประเทศยูเครนของรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและชาติสมาชิกนาโต เดินทางมาถึงจุดที่ทำให้ชาวโลก ซึ่งกำลังสะบักสะบอมจากอิทธิฤทธิ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จนแทบจะพยุงกายต่อไปแทบไม่ไหวแล้วนั้น อาจจะกำลังถึงคราวทรุดลงไป “นอนกองกับพื้น” ในอีกไม่ช้าไม่นานจากนี้ นั่นเป็นเพราะทั้งราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติ ได้พุ่งทะยานขึ้นหลังการประกาศคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย ของ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งในระยะแรกมีกำหนดระยะเวลา 45 วัน นับตั้งแต่มีการประกาศในวันที่ 9 มีนาคม 2022
หลังการประกาศคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย อะไรคือ สิ่งที่ “เรา” ควรรู้บ้าง วันนี้ “เรา” ลองไปพิจารณาในประเด็นแรก “รัสเซีย” มีบทบาทในตลาดพลังงานโลกโดยเฉพาะยุโรป ณ ปัจจุบัน มากขนาดไหนกันก่อน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
...
รัสเซีย กับบทบาทในตลาดพลังงานโลก?
บทบาทของรัสเซียในตลาดน้ำมันโลก :
จากรายงานสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก ของ ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) หรือ IEA ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ระบุว่า...
กำลังการผลิตน้ำมัน :
ปัจจุบันรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับที่ 3 ของโลก รองจาก สหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตน้ำมันของรัสเซียอยู่ที่ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สหรัฐฯ 17.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซาอุดีอาระเบีย 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ข้อมูลสิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 2021
ส่วนข้อมูลปริมาณการผลิตน้ำมันรวมต่อวันในปี 2020 จาก สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐอเมริกา (U.S. Energy Information Administration) หรือ EIA
ปัจจุบันรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับที่ 2 รองจากซาอุดีอาระเบีย
โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2021 จากปริมาณการส่งออกทั้งหมด 7.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน แยกเป็นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว ซึ่งจะถูกป้อนให้กับโรงกลั่นน้ำมันเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงต่างๆ อยู่ที่ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 64%
นอกจากนั้นเป็นการส่งออกในรูปแบบของน้ำมันสำเร็จรูป อีก 2.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยแยกเป็น 1.น้ำมันดีเซล 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน 2.น้ำมันเตา 650,000 บาร์เรลต่อวัน 3.แนฟทา (Naphtha) ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี 500,000 บาร์เรลต่อวัน 4.น้ำมันดีเซลสุญญากาศ (VGO) 280,000 บาร์เรลต่อวัน 5.น้ำมันเบนซิน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันอากาศยาน และ Petroleum Coke รวมกันอีก 350,000 บาร์เรลต่อวัน
สำหรับปริมาณการส่งออกน้ำมันของรัสเซีย ถึง 60% ถูกส่งออกไปยังกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจยุโรป หรือ OECD ส่วนอีก 20% ถูกส่งออกไปยังประเทศจีน โดยจากรายงานในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นรายงานสถิติการนำเข้ารายเดือนอย่างเป็นทางการล่าสุดพบว่า จากปริมาณการนำเข้าน้ำมันรวมทั้งหมดของกลุ่มประเทศ OECD Europe (ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปตะวันตก) 4.5 ล้านบาร์เรลต่อวันนั้น เป็นการนำเข้าจากรัสเซียถึง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 34% ของการนำเข้าน้ำมันทั้งหมด (แยกเป็น น้ำมันดิบและวัตถุดิบตั้งต้น 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
ส่วน กลุ่ม OECD Asia Oceania นำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 400,000 บาร์เรลต่อวัน (คิดเป็นสัดส่วน 5% ของการนำเข้าทั้งหมด) ขณะที่ กลุ่ม OECD Americas นำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 625,000 บาร์เรลต่อวัน (คิดเป็นสัดส่วน 17% ของการนำเข้าทั้งหมด)
...
โดยปริมาณน้ำมันดิบของรัสเซียมากถึง 750,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ถูกส่งไปยังยุโรปจะถูกส่งผ่านระบบท่อน้ำมัน “ดรุซห์บา” (Druzhba) แต่หลังเกิดสงครามในประเทศยูเครน ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ปริมาณการส่งน้ำมันไปยังยุโรป จะได้รับผลประทบทันทีถึง 250,000 บาร์เรลต่อวันเป็นอย่างน้อย เนื่องจากส่วนหนึ่งมีการลำเลียงน้ำมันดิบผ่านประเทศยูเครน ไปยังประเทศฮังการี สโลวาเกีย และ สาธารณรัฐเช็ก
ทั้งนี้ จีน ถือเป็นประเทศผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย โดยได้รับมอบน้ำมันดิบเฉลี่ยสูงถึง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงปี 2021 โดยมีสัดส่วนการส่งมอบในปริมาณเท่าๆ กัน จากทั้งเส้นทางเดินทะเลและระบบท่อส่งน้ำมัน นอกจากนี้ รัสเซียยังถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ให้กับ ประเทศเบลารุส โรมาเนีย บัลแกเรีย และอดีตประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตเดิม ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ประเทศยูเครน ด้วย
โดยหลังจากสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย ราคาน้ำมันดิบโลกได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นทะลุ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ส่งมอบเดือนพฤษภาคม ได้เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 130.32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือ เพิ่มขึ้น 1.83% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 125.39 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือ เพิ่มขึ้น 1.37%
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
...
บทบาทของรัสเซียในตลาดก๊าซธรรมชาติยุโรป :
สำหรับรายละเอียดข้อมูลว่าเหตุใด รัสเซีย จึงมีความสำคัญต่อยุโรปในแง่ของการส่งออกก๊าซธรรมชาติ สามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่...
ส่วน รายงาน Gas Market and Russian Supply ของ ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) หรือ IEA ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ระบุว่าทั้งสหภาพยุโรป หรือ อียู และสหราชอาณาจักร ต่างต้องเริ่มพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ทั้งทางตรง (อียู) และทางอ้อม (สหราชอาณาจักร) เพิ่มสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการผลิตที่ลดลงถึง 1 ใน 3 ซึ่งช่องว่างเหล่านั้นถูกเต็มเติมด้วยการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้รัสเซียจึงสามารถเพิ่มส่วนแบ่งปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในยุโรปจาก 25% (120,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี) เมื่อปี 2009 เป็น 32% (158,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี) ในปี 2021
เกิดอะไรขึ้นเมื่อยุโรป ไม่มีก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย :
รายงานของ IEA ระบุว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2021 รัสเซียได้ลดปริมาณการส่งมอบก๊าซธรรมชาติผ่านท่อส่งไปยังสหภาพยุโรปคิดเป็นสัดส่วนถึง 25% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี นอกจากนี้ในช่วง 7 สัปดาห์แรกของปี 2022 ปริมาณการส่งมอบยังลดลงคิดเป็นสัดส่วนถึง 37% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปีด้วย
เป็นเหตุให้ยุโรป ต้องออกเสาะหาก๊าซธรรมชาติ จากท่อส่งซัพพลายเออร์อื่นๆ เข้ามาทดแทน ไม่ว่าจะเป็นจาก แอลจีเรีย, อาเซอร์ไบจาน, นอร์เวย์ รวมถึง การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ผ่านการขนส่งทางเรือ (ซึ่งแน่นอนว่ามีต้นทุนสูงกว่ามาก) ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2021 จนถึงเดือนมกราคม 2022 ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 63% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี
...
โดย LNG ที่สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรนำเข้ามีปริมาณสูงสุดถึง 13 ล้านลูกบาศก์ในเดือนมกราคม หรือ มีปริมาณเกือบ 3 เท่า หากเทียบกับปี 2021 และยังมีปริมาณสูงกว่าการส่งมอบจากท่อก๊าซของรัสเซียประมาณ 70% ในเดือนเดียวกันด้วย
และปริมาณ LNG ที่สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรนำเข้า ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน มากกว่า 37% ของสัดส่วนปริมาณการนำเข้าทั้งหมดมาจาก...สหรัฐอเมริกา!
นับตั้งแต่รัสเซีย เริ่มลดการส่งมอบก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรป เกิดอะไรขึ้น :
รายงานของ IEA ระบุว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2021 หลังการเริ่มลดการส่งมอบก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรป ทำให้ราคากลางในยุโรปเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 30 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ MMBtu แต่ในช่วง 7 สัปดาห์แรกของปี 2022 ราคาได้เริ่มปรับตัวลดลงเฉลี่ยที่ 27 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ MMBtu จากสภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้นจนทำให้ความต้องการลดลง (ลดลง 14% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี) กระแสลมที่มีความรุนแรงขึ้น (มากขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี) ทำให้เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานลมทำงานได้ดีขึ้น จนทำให้สามารถลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าลง
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 เมื่อรัสเซียส่งกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครน ราคาก๊าซในยุโรป ได้พุ่งสูงขึ้นถึง 50% เป็น 44 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ MMBtu และยังกลายเป็นผลพวงให้ ราคา LNG ใน ทวีปเอเชียขยับเพิ่มขึ้นถึง 30% เป็น 37 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ MMBtu ด้วย
และหากสถานการณ์การรบพุ่งในยูเครนยังไม่จบลง ทาง IEA คาดการณ์ว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะยังมีความผันผวนอยู่ต่อไป.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟฟิกโดย Chonticha Pinijrob
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :