“เจ้าหน้าที่ระดับสูงของชาติสมาชิกนาโต (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) ได้แสดงท่าทีก้าวร้าวต่อประเทศของเรา ด้วยเหตุนี้ผมจึงมีคำสั่งให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและเหล่าเสนาธิการทหาร ยกระดับกองทัพรัสเซียให้เข้าสู่ความพร้อมสำหรับการป้องปรามทางยุทธศาสตร์”
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย
การป้องปรามทางยุทธศาสตร์ (Strategic Deterrence) :
ภารกิจ ของ การป้องปรามทางยุทธศาสตร์ คือ การยับยั้งการรุกรานต่อประเทศรัสเซียและพันธมิตร ด้วยการเอาชนะผู้รุกรานในสงครามจากอาวุธประเภทต่างๆ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นคือ “อาวุธนิวเคลียร์”
โดยศักยภาพด้านอาวุธนิวเคลียร์ที่ว่านี้ มีทั้งรูปแบบของการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์บนขีปนาวุธข้ามทวีป และติดตั้งการหัวรบนิวเคลียร์สำหรับเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลทางยุทธศาสตร์ รวมถึง ขีปนาวุธระยะไกลที่มีแม่นยำสูงที่ติดตั้งบนเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำ
ด้วยเหตุนี้ คำประกาศที่แฝงไว้ด้วยแข็งกร้าวของผู้นำรัสเซียเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 22 ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น ทำให้นาทีนี้โลกได้เข้าสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว (อีกครั้ง)
...
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ผู้นำรัสเซียเอาจริงแค่ไหน :
“ไม่ว่าใครก็ตามที่จะพยายามขัดขวางเรา หรือ สร้างภัยคุกคามต่อประเทศและประชาชนของเรา พวกเขาจะต้องรู้ไว้ว่า รัสเซียจะตอบโต้ทันที และผลลัพธ์ที่จะตามมา จะมากกว่าที่เคยเผชิญมาแล้วในประวัติศาสตร์”
นี่คือ การลั่นวาจาแสดงความเด็ดขาดอีกครั้งของ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์จากชาติตะวันตกมองตรงกันว่า นี่คือ นอกจากจะเป็นการแสดงถึงความไม่พอใจแล้วยังเป็นการส่งสัญญาณเชิงรุกทางการเมือง ต่อ “การรวมตัวกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียของสหรัฐอเมริกาและชาติสมาชิกนาโต” ด้วย
อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ น่าหวั่นเกรงแค่ไหน :
เห็นจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ของทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ที่มีรวมกัน หากผู้นำของหนึ่งในสองชาตินี้เกิดตัดสินใจ “กดปุ่ม” ขึ้นมา โลกของเราคงกลับเข้าสู่ยุคหินหรือไม่ก็อาจไม่เหลือมนุษยชาติอยู่บนดาวสีน้ำเงินใบนี้อีกต่อไป
หมายเหตุ : ข้อมูลล่าสุดในปี 2022 จำนวนหัวรบนิวเคลียร์ทั้งหมดที่มีในโลก 12,700 ลูก ที่ 9 ประเทศมีไว้ในครอบครอง มากกว่า 90% อยู่ในความครอบครองของรัสเซียและสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันโลกเข้าสู่ความเสี่ยงต่อสงครามนิวเคลียร์มากแค่ไหนแล้ว :
...
การตีความของนักวิเคราะห์ตะวันตกส่วนใหญ่ ยังมองตรงกันว่า แม้จะคาดเดา “ความแพรวพราวทางการเมือง” ของ ผู้นำรัสเซียได้ยาก แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนจนถึงปัจจุบัน เครมลินยังไม่มีเหตุผลมากพอที่จะทิ้ง “ไพ่เด็ดสุดท้ายในมือ” นั้นเป็นเพราะ “สมการวิกฤติยูเครน” ณ ปัจจุบัน ยังคงอยู่ที่ รัสเซียยังคงมุ่งเป้าการโจมตีแบบเฉพาะเจาะจงไปที่ยูเครนและยังไม่มีแม้แต่กระสุนสักนัดที่ไปตกใกล้กับชายแดนของผู้แปรพักตร์ไปอยู่กับนาโตแล้ว อย่าง โปแลนด์, โรมาเนีย, บัลแกเรีย, ลิทัวเนีย, ลัตเวีย ซึ่งอยู่ใกล้กับยูเครน ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ และนาโต ยังคงไม่มีท่าทีใดๆ ที่จะส่งกำลังทหารเข้าไปแทรกแซงการสู้รบในประเทศยูเครน
นอกจากนี้ อีกเหตุผลหนึ่งที่นักวิเคราะห์ตะวันตก เชื่อว่า รัสเซียจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ คือ หากทำเช่นนั้น จะเป็นการบ่อนทำลายชัยชนะของรัสเซียที่มีต่อยูเครน รวมถึงยังจะทำให้รัสเซียต้องอยู่ในโลกใบนี้อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งในที่นี้จะไม่เว้นแม้แต่ “จีน” ที่ ณ เวลานี้ดูเหมือนจะเป็นพันธมิตรอันแนบแน่นของตัวเองในการต่อสู้กับสหรัฐฯ ด้วย
นอกจากนี้ หากใครยังจำได้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เองยังเคยใช้ “อาวุธนิวเคลียร์มาเป็นการข่มขู่” คล้ายๆ กับที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้มาแล้ว เมื่อครั้งใช้กำลังทหารบุกเข้าผนวกไครเมียของยูเครนมารวมกับรัสเซียเมื่อปี 2015 ด้วย
...
อาวุธนิวเคลียร์ คือ อาวุธสำหรับสร้างความหวาดกลัว :
เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากชาติมหาอำนาจต่างๆ ได้เห็นผลลัพธ์ของมหันตภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ที่ถูกสหรัฐฯ นำมาทดลองใช้ที่ เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ของประเทศญี่ปุ่น เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว การแข่งขันกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ของชาติมหาอำนาจต่างๆ จึงมีขึ้นเพื่อ “ป้องปรามทางยุทธศาสตร์ซึ่งกันและกัน” มากกว่าที่จะถูกนำมาใช้จริง และเหตุผลที่ทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้จำนวนมากในยุคสงครามเย็น ก็เพื่อป้องกันการรุกคืบเข้ามาแผ่อิทธิพลบนดินแดนที่ตัวเองมีอำนาจอยู่เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ บางทีการที่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จงใจนำอาวุธนิวเคลียร์ มาใช้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในวิกฤติยูเครนครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการ “ขีดเส้นใต้” ว่า นับจากนี้เป็นต้นไป ชาติตะวันตกจะต้องหยุดยั้งการแผ่อำนาจเข้ามาเหนือดินแดนอิทธิพลของรัสเซียเหมือนดั่งเช่นยุคสงครามเย็นอีกครั้งก็เป็นได้
...
เพียงแต่การ “ขีดเส้นใต้” ที่ว่านี้ หลังจากจัดการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในยูเครนได้สำเร็จตามที่รัสเซียต้องการได้แล้ว มันอาจลุกลามไปยัง “อดีตสหายผู้แปรพักตร์ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับยูเครนก็เป็นได้” เพื่อสร้างระเบียบใหม่ของโลก ตามนิยามของฝ่ายรัสเซียขึ้นบ้างหรือไม่?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :