“ใครบ้างที่พร้อมจะต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับเรา ผมไม่เห็นใครเลย?”
“ใครบ้างที่พร้อมจะให้หลักประกันว่า ยูเครนจะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต ทุกคนหวาดกลัว?”
“เราป้องกันมาตุภูมิของเราอย่างเดียวดาย โดยที่กองกำลังที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก ทำเพียงเฝ้ามองดูจากสิ่งที่เกิดนี้ อย่างห่างๆ”
ทั้งหมดนั้น คือ เสียงคร่ำครวญอย่างสิ้นหวัง ของ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) แห่ง ยูเครน หลังนับตั้งแต่การเปิดฉากใช้กำลังทหารบุกเข้าโจมตียูเครนอย่างหนักหน่วงของกองทัพรัสเซีย ที่ดำเนินเข้าสู่วันที่ 3 (27 ก.พ. 22) และกำลังทหารรัสเซียบุกเข้าจ่อคอหอยเข้าล้อมกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เอาไว้ได้แล้ว
แต่...สหรัฐอเมริกาและชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ยังคงไร้วี่แววที่จะส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยเหลือกองทัพยูเครนเพื่อต่อต้านเครมลิน
...
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สหรัฐอเมริกาและนาโต ยังคงทำเพียง...ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียรวมถึงสั่งระดมกำลังทหารเข้าไปเพิ่มเติม ใน โปแลนด์, ลิทัวเนีย, ลัตเวีย, เอสโตเนีย, โรมาเนีย, บัลแกเรีย, อดีตชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (ซึ่งมีอดีตสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ) และมีพรมแดนติดกับประเทศยูเครน ที่ปัจจุบันเปลี่ยนใจย้ายเข้ามาซบอก นาโต แล้วเท่านั้น!
อ่อ...ล่าสุดต้องรวมการอนุมัติส่งมอบอาวุธมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าไปด้วยสินะ! (27 ก.พ. 22)
คำถามของเรื่องนี้คือ เพราะเหตุใด เสียงร้องขอจาก ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี จึงยังดังไม่เพียงพอให้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และบรรดาชาติสมาชิกนาโต ได้ยินกันนะ?
ทำไม นาโต จึงยังไม่ส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยยูเครน :
คำตอบ
ข้อแรก ในลิสต์รายชื่อชาติสมาชิกนาโต ยังไม่ปรากฏชื่อ ประเทศยูเครน ด้วยเหตุนี้จึงยัง “ไร้เงื่อนไข” ที่จะทำให้ชาติสมาชิกนาโต สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนได้โดยตรง
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา นาโต ได้ส่งความช่วยเหลือทางอ้อมต่างๆ แก่ ยูเครน มาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นอาวุธยุทธภัณฑ์ (แม้ว่ากรณีของเยอรมนี อาจจะแปลกสักหน่อยตรงที่จัดส่งหมวกทหารไปให้กับยูเครนก็ตาม) และรายงานข่าวกรองทางการทหารต่างๆ
ข้อสอง คำขู่จากพญาหมีขาว หลังการประกาศใช้ปฏิบัติการทางทหารในยูเครน ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้แสดงท่าทีอันเต็มไปด้วยความแข็งกร้าวกับ นาโต ว่า “ห้ามแทรกแซง” ด้วยคำประกาศที่ว่า
“หากเข้ามาแทรกแซง จะต้องเผชิญหน้ากับผลลัพธ์ที่ตามมามากกว่าที่เคยเผชิญมาแล้วในประวัติศาสตร์ และผมหวังว่าพวกคุณจะได้ยินในสิ่งที่ผมพูด”
และสิ่งที่ยืนยันในประเด็นนี้ได้อย่างหนักแน่น คือ การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวว่า
“กองกำลังของเราไม่เข้าร่วมและจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้ กำลังทหารของเราจะไม่เข้าไปในยุโรปเพื่อสู้รบในยูเครน แต่เข้าไปเพื่อปกป้องพันธมิตรของนาโต และสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรในยุโรปตะวันออก”
ดูเหมือนบางที...ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจจะได้ยินที่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน พูดก็เป็นได้
...
ขณะที่ บรรดานักวิเคราะห์มองตรงกันในประเด็นนี้ว่า ผู้นำทั้งสองฝ่ายมองเห็นตรงกันว่า การเผชิญหน้าด้วยกำลังทหารอย่างตรงไปตรงมา “มีเดิมพันและราคาที่ต้องจ่ายที่สูงเกินไป” เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในมือ การคาดคำนวณที่ผิดพลาดจนนำพาสถานการณ์ไปสู่จุดวิกฤติที่ไม่อาจปฏิเสธการใช้ “ไพ่ใบสุดท้ายในมือ” จะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างย่อยยับด้วยกันทั้งสองฝ่ายรวมถึงหายนะที่จะเกิดกับชาวโลกด้วย
แต่ทั้งหมดที่ว่าไปนั้น...จะเปลี่ยนไป หาก ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กระทำการเลยเถิด ไม่หยุดยั้งการบุกรุกเอาไว้เพียงแค่ประเทศยูเครน!
...
ข้อควรรู้ : มาตรา 5 (Article 5) ของสนธิสัญญานาโต
หากชาติสมาชิกใดของนาโตถูกโจมตีจะเท่ากับทุกประเทศของนาโตถูกโจมตี ซึ่งแปลง่ายๆ ว่า หากมีใครโจมตีหนึ่งในชาติสมาชิกนาโต ทุกประเทศในนาโตมีสิทธิที่จะร่วมมือกันเพื่อตอบโต้กลับนั่นเอง!
ปัจจุบัน นาโต ขยายตัวจาก 12 ชาติสมาชิกเมื่อเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 1949 สู่ 30 ชาติสมาชิกในปัจจุบัน และนับจากปรากฏการณ์กำแพงเบอร์ลินล่มสลายเป็นต้นมา ได้มีการดูดกลืนอดีตชาติสมาชิกของสนธิสัญญาวอร์ซอ ซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น...
โปแลนด์ (1999), สาธารณรัฐเช็ก (1999), ฮังการี (1999), เอสโตเนีย (2004), ลัตเวีย (2004), ลิทัวเนีย (2004), สโลวาเกีย (2004), โรมาเนีย (2004), สโลวีเนีย (2004), บัลแกเรีย (2004), โครเอเชีย (2009), แอลเบเนีย (2009), มอนเตเนโกร (2017), นอร์ทมาซิโดเนีย (2020)
อย่างไรก็ดี มาตรา 5 ของสนธิสัญญานาโตที่ว่านี้ เคยถูกใช้เพียงครั้งเดียว นั่นก็คือ หลังเหตุการณ์วินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 เท่านั้น!
...
และล่าสุด ฝ่ายสหรัฐอเมริกาเองได้ “ขีดเส้น” เอาไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า พร้อมจะนำ มาตรา 5 ที่ว่านี้มาใช้ทันที หากรัสเซีย ไม่ยอมหยุดความก้าวร้าวเอาไว้ที่เพียงประเทศยูเครน
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สหรัฐฯ และชาติสมาชิกนาโตทุกชาติจะปฏิบัติตามมาตรา 5 ของสนธิสัญญานาโตที่ว่า หากหนึ่งในสมาชิกนาโตถูกโจมตีจะเท่ากับทุกประเทศของนาโตถูกโจมตี”
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวยืนยัน (อีกครั้ง) เพื่อหวังให้ฝ่าย ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ยินบ้างเหมือนกัน
แต่แม้กระนั้น นักวิเคราะห์จากชาติตะวันตก เริ่มวิตกกังวลกับท่าทีอันแข็งกร้าวและคาดเดาได้ยาก ของ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มากขึ้นทุกทีแล้ว หลังมีการตัดสินใจใช้กำลังทหารอย่างเต็มรูปแบบกับยูเครน นั่นเป็นเพราะการตอบโต้กลับจากชาติตะวันตกที่แสนเบาบาง รวมถึงหลายๆ ชาติของนาโต มีท่าทีที่อิดออดอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมีความพยายามถามไถ่กันว่า “เราควรส่งกำลังทหารไปร่วมต่อต้านรัสเซียกันดีไหม?” ซึ่งนั่นอาจทำให้ฝ่ายเครมลินได้ใจ และอาจจะไม่หยุดเอาไว้ที่ยูเครน ก็เป็นไปได้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :