เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังเกิดเสียงปืนนัดแรกในประเทศยูเครน ดินแดนที่กำลังร้อนระอุจากแรงบีบคั้นของสองชาติอภิมหาอำนาจอย่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกา การตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซียเกิดขึ้นเพราะอะไร? “เรา” ค่อยๆ ไปร่วมกันสังเคราะห์ทีละประเด็น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

...

วิวาทะหลังเกิดปฏิบัติการทางการทหารในยูเครน :

“ประชาชนชาว สาธารณรัฐดอนบัส Donbass republics (กลุ่มกบฏนิยมรัสเซียในแคว้นโดเนตสค์ Donetsk และ แคว้นลูฮานสค์ Luhansk ในประเทศยูเครน ซึ่งรัสเซียเพิ่งให้การรับรองเอกราช) ได้มาขอความช่วยเหลือกับรัสเซีย ผมจึงตัดสินใจที่จะใช้ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร โดยมีเป้าเพื่อปกป้องผู้คนที่ถูกทารุณกรรม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากระบบการปกครองแบบเผด็จการของเคียฟ (รัฐบาลยูเครน) ที่ดำเนินมายาวนานถึง 8 ปี และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ เราจะทำให้ยูเครนเป็นพื้นที่ปลอดทหาร และใช้ความยุติธรรมเข้าจัดการกับผู้ที่ก่ออาชญากรรมนองเลือดกับประชาชนผู้รักความสงบสุข รวมถึงชาวรัสเซีย”

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย

“ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เลือกสงครามที่มีการไตร่ตรองเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตและทุกข์ทรมานของมนุษยชาติ รัสเซียจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ต่อความตายและการทำลายล้าง และการโจมตีที่เกิดขึ้นนี้ สหรัฐอเมริกาและพันธมิตร จะตอบโต้อย่างเด็ดขาดและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โลกจะทำให้รัสเซียต้องรับผิดชอบ”

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา

“นี่คือการทำสงคราม เป็นการโจมตีอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน รวมถึงยังเป็นการละเมิดต่อกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติและหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ยูเครนจึงมีสิทธิในการที่จะป้องกันตัวเอง”

โอเล็ก นิโคเลนโก โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยูเครน

ในเมื่อวงไพ่วิกฤติยูเครน เล่นเกมกันมาถึงต่างฝ่ายต่างเริ่มค่อยๆ “ทิ้งไพ่เด็ด” ของตัวเองออกมาทีละใบๆ กันแล้ว

ปรากฏการณ์ที่จงใจให้ชาวโลกได้เห็นในเบื้องแรกนี้ รัสเซียซ่อนอะไรเอาไว้ภายใต้ท่าทีที่สุดขึงขังนั้น “เรา” ไปร่วมรับฟังการวิเคราะห์ของ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านความมั่นคง ในประเด็นร้อนๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเจาะลึกกันดู

“การปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซียในวันแรกนี้ ส่วนตัวผมคิดว่าหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ ก็น่าจะเป็นเพียง “การเอาจริงแบบ Limited Series Netflix ชุดเล็กๆ อยู่ เพราะชุดใหญ่ๆ อีกหลายๆ Episode ยังไม่มา”

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ด้วยน้ำเสียงจริงจัง

โดยการกดดันด้วยปฏิบัติการทางการทหารชุดเล็กนี้ น่าจะกินระยะเวลาบวกลบไม่น่าจะกินระยะเวลาเกิน 1 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย โดยเป้าหมายหลักในห้วงแรกนี้ น่าจะเป็นมุ่งเป้าหมายไปที่ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ ศูนย์ควบคุมการบังคับบัญชาการทางการทหาร และที่ตั้งทางการทหารสำคัญๆ ของยูเครน เป็นหลัก เพื่อให้หมดศักยภาพทางการรบลงให้ได้มากที่สุด

...

“มาถึงตอนนี้ ผมไม่แน่ใจว่า กองทัพยูเครนยังพอมีขีดความสามารถในการบังคับบัญชากองกำลังต่างๆ เพื่อทำการรบได้อยู่หรือไม่ เพราะก่อนหน้าที่รัสเซียจะใช้ปฏิบัติการทหารนั้น มีข่าวว่า ได้มีการปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ในยูเครนมาสักพักใหญ่ๆ แล้วด้วย” นักวิชาการด้านความมั่นคง ประเมินศักยภาพทางการทหารของยูเครน หลังรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางการทหาร

อย่างไรก็ดี หากการโจมตีชุดเล็กนี้สามารถทำให้ กองทัพยูเครนหมดสภาพลงได้จริง เมื่อถึงเวลานั้นบางทีรัสเซียอาจพลิกตัวเองไปเล่นบทพระเอก เพื่อขอเปิดการเจรจา เพราะตัวเองอยู่ในฐานะได้เปรียบอย่างถึงที่สุดก็เป็นไปได้

เกมเสี่ยงที่ประเมินแล้วว่ายังรับมือได้ :

“ผมคิดว่ารัสเซียน่าจะประเมินแล้วว่า เมื่อเดินเกมด้วยกำลังทหารจะเกิดความเสี่ยงที่ยังรับได้ เพราะในเวลานี้ รัสเซียไม่อาจอยู่เฉยได้อีกต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจภายในก็ไม่ดีนัก และเยอรมนีก็ไม่ยอมเปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 สักที ส่วนทางด้านความมั่นคงชาติตะวันตกก็กดดันมาจนถึงพรมแดนของตัวเองแล้ว หากไม่ยอมเล่นเกมเสี่ยงดีไม่ดีเขาจะอยู่ลำบาก” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

...

เกมที่ว่านี้คืออะไร :

หลักๆ คือการข่มขวัญด้วยสงครามไซเบอร์ก่อนใช้กำลังแบบจำกัด พร้อมๆ กับการส่งกำลังทหารรุกคืบเข้าไปยึดครองพื้นที่

เป้าหมาย :

ข่มขวัญ สร้างความตื่นตระหนก เพื่อกดดันให้สหรัฐอเมริกาและนาโต กลับมาเข้าสู่การเจรจาอย่างจริงจังกับฝ่ายรัสเซียอีกครั้ง หลังเกิดภาวะชะงักงันมาสักระยะแล้ว

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เอาจริงแค่ไหน :

นี่คือยุทธวิธีที่ผู้นำรัสเซียคนนี้ถนัดที่สุด นั่นคือการเดินเกมบีบฝ่ายตรงข้ามด้วยกำลังทหารภายใต้การสนับสนุนทางการเมืองและประชาชนชาวรัสเซีย เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามต้องจำยอมต่อรอง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รัสเซียกล้าเล่นเกมรุก :

ปัจจัยที่ 1 ปัจจุบันนอกจากผู้แทนรัสเซียยังนั่งเป็นประธานหมุนเวียนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแล้ว ยังมีจีนซึ่งเป็นพันธมิตรแนบแน่นคอยช่วยเหลืออีก ด้วยเหตุนี้เครมลิน จึงน่าจะยังสามารถควบคุมการออกมติใดๆ ที่เป็นผลร้ายต่อการปฏิบัติการใดๆของฝ่ายตัวเอง รวมถึงบล็อกแรงกดดันต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินเกมของฝ่ายตะวันตก บนเวทีขององค์การสหประชาชาติได้อยู่ ตราบเท่าที่ผู้แทนของรัสเซียยังคงทำหน้าที่ซึ่งก็เหลือระยะเวลาอีกหลายเดือนทีเดียว

ปัจจัยที่ 2 สหรัฐอเมริกาอ่อนแอลง จากปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้า นอกจากนี้ คะแนนนิยมในตัวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เอง ก็ไม่ค่อยจะดีนักด้วย

...

แรงบีบที่ทำให้ต้องตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหาร :

หากไม่ตัดสินใจทำแบบนี้ รัสเซียจะยิ่งสูญเสียอิทธิพลในยูเครนมากยิ่งขึ้น เพราะท่าทีล่าสุดของรัฐบาลยูเครนชุดนี้ ค่อนข้างไม่เป็นมิตรกับเครมลินเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความพยายามเรียกร้องให้นานาชาติคว่ำบาตรรัสเซีย ความพยายามจะจัดประชุมนานาชาติอีกหลายเวทีเพื่อเรียกร้องให้ไครเมียที่ถูกรัสเซียใช้กำลังเข้าผนวกดินแดนกลับคืนสู่ยูเครน เป็นต้น

สงครามโลกครั้งที่ 3 :

ส่วนตัวคิดว่ายังไม่น่าจะพัฒนาไปสู่จุดที่หลายฝ่ายวิตกกังวลได้ เพราะฝ่ายรัสเซียเองก็ไม่ได้มีการตระเตรียมกำลังมามากพอสำหรับการโจมตีด้วยกำลังทหารแบบเต็มรูปแบบ ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกาและนาโตเอง ก็มีการวางกำลังพลไม่ได้มากมายอะไรในพื้นที่ใกล้เคียงรวมถึงในประเทศยูเครนด้วย

หากทั้งคู่คิดจะเอาจริงกัน ต้องมีการเตรียมกำลังพลมามากกว่านี้อีกอย่างน้อย 1-2 เท่า และต้องเป็นการวางกำลังพลมาตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อนด้วย ขณะเดียวกันในชั้นต้นนี้ ยังไม่มีแนวโน้มใดๆ ที่จะมีการระดมกำลังเข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย

ความพลาดพลั้งที่อาจเกิดขึ้นหลังเดินเกมเสี่ยง :

ปัจจัยแรก หากการเจรจารอบใหม่ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกล้มเหลว และรัสเซียขยายการรุกคืบจากแคว้นโดเนตสค์ และแคว้นลูฮานสค์ เข้าไปในประเทศยูเครนมากขึ้น ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น สหรัฐฯ คงไม่อาจอยู่เฉยได้อีกต่อไป

ปัจจัยที่สอง การปฏิบัติการทางการทหารของรัสเซียทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของพลเมืองจำนวนมากขึ้น ซึ่งหากถึงตอนนั้น ชาวโลกจากเดิมที่มองว่า รัสเซียยังไม่ได้แสดงความก้าวร้าวมากนักที่ทำลงไปเพราะฝ่ายสหรัฐอเมริกาพยายามเข้าไปยั่วโมโหก่อน ก็อาจจะเปลี่ยนความคิดเป็น....“ควรจะต้องหาวิธีการใดวิธีหนึ่งเพื่อจัดการกับรัสเซียเข้าก็ได้” รศ.ดร.ปณิธาน สรุปความเห็น

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร

ผลลัพธ์ที่รัสเซียต้องการในการเจรจากับชาติตะวันตก :

สิ่งที่ผู้นำรัสเซียน่าจะต้องการและจะยอมหยุดการใช้กำลังทหารได้ คือ 1. หลักประกันว่ายูเครนจะไม่เข้าร่วมกับนาโตตลอดกาล 2. เยอรมนียอมอนุญาตเปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 และ 3. แคว้นโดเนตสค์ และแคว้นลูฮานสค์ ของยูเครนจะต้องตกเป็นของรัสเซีย

การตอบโต้จากชาติตะวันตก :

การยกระดับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจให้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่อยากตั้งข้อสังเกตไว้ คือ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซียนั้น มันส่งผลกระทบต่อทั้งสหรัฐอเมริกาและชาติสมาชิกสหภาพยุโรปด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในยุโรปตอนนี้เกิดความปั่นป่วนขึ้นมาก เพราะพึ่งพารัสเซียอยู่ไม่ใช่น้อยโดยเฉพาะปัจจัยด้านพลังงาน

ส่วนเรื่องความมั่นคงนั้น มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ และนาโตอาจจะส่งกำลังทหารที่ดูสมน้ำสมเนื้อมากขึ้นเข้าไปใกล้กับพื้นที่พิพาทเพื่อกดดันรัสเซียมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และน่าจะมีการเร่งเปิดเวทีระดับนานาชาติเพื่อให้ชาวโลกร่วมมือกันกดดันรัสเซียบนเวทีโลกอีกชั้นหนึ่ง

และทั้งหมดนั้นคือบทสรุปคร่าวๆ สำหรับการเริ่มปฏิบัติการทางการทหารรัสเซียในแรกนี้ ส่วนนับจากนี้จะเป็นอย่างไร สามารถติดตามจาก “เรา” ได้นับจากวันนี้เป็นต้นไป

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :