ใน 4 EP. ที่แล้ว ของซีรีส์ปมวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน “เรา” ได้เน้นไปที่เรื่องการวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไปของความขัดแข้ง, ศักยภาพทางการทหาร และความพยายามเดินเกมการเมืองกันไปแล้ว ในวันนี้ “เรา” ลองไป “ถอดรหัส” ตามทัศนะของ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการทหารสูงสุด และนักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การทหารและการเมือง ที่ใน EP.4 ท่านได้จุดประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ว่า ทั้งรัสเซีย สหรัฐอเมริกาหรือนาโต น่าจะไม่ได้มุ่งหวังที่จะเผชิญหน้ากันด้วยกำลัง หากแต่วงไพ่ที่กำลังเล่นกันอยู่นี้ น่าจะเป็นการเล่นเกมกันไปตามบท เพื่อมุ่งหวังต่อรองอะไรกันบางอย่างมากกว่า เช่นนั้นแล้ว... “เรา” ลองพยายามไปค้นหาคำตอบที่ว่านั้นกันดู...

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

จากรายงานของ Canadian Energy Centre หรือ CEC ซึ่งรับผิดชอบเรื่องการจัดหาทางเลือกด้านพลังงานให้กับประเทศแคนาดา ระบุว่า ในช่วงระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2005-2019 เหล่าชาติสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ อียู นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 8.3 แสนล้านยูโร หรือเฉลี่ย 56,000 ล้านยูโรต่อปี

...

โดยในจำนวนนี้แยกเป็นการนำเข้าจากประเทศเผด็จการ (Not Free Country) ประเทศกึ่งเสรี (Partly Free Country) และประเทศเสรี (Free Country) ซึ่งเป็นนิยามตามการจัดอันดับของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ไว้ดังต่อไปนี้

1. นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากกลุ่มประเทศเสรี มีมูลค่ารวม 5.19 แสนล้านยูโร หรือคิดเป็น 62%
2. นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเผด็จการ มีมูลค่ารวม 2.86 แสนล้านยูโร หรือคิดเป็น 34.1%
3. นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศกึ่งเสรี มีมูลค่ารวม 2,000 ล้านยูโร หรือคิดเป็น 0.2%

และเฉพาะในกลุ่มประเทศเผด็จการนั้น รัสเซีย คือ ประเทศที่ป้อนก๊าซธรรมชาติจำนวนมากที่สุดให้กับชาติสมาชิกอียู โดยคิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 1.65 แสนล้านยูโร หรือคิดเป็น 57.7% ของการนำเข้าทั้งหมด!

โดยเฉพาะในปี 2019 ซึ่ง อียู นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเผด็จการ ด้วยมูลค่ารวม 16,300 ล้านยูโรนั้น เป็นการนำเข้าจากรัสเซียเพียงประเทศเดียวถึง 10,700 ล้านยูโร หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 65%!

สำหรับชาติสมาชิกอียู ที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากกลุ่มประเทศเผด็จการมากที่สุด คือ อิตาลี โดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 1.3 แสนล้านยูโร หรือคิดเป็น 46.1%

จากบรรทัดแรกจนถึงบรรทัดที่ “คุณ” เพิ่งผ่านสายตาไป พอจะบอกได้แล้วใช่ไหมว่า ความสำคัญของรัสเซียต่อชาติสมาชิกอียูในรอบ 15 ปีที่ผ่านไป คืออะไร?

ก่อนจะไปกันต่อ สิ่งที่ “คุณ” อาจต้องท่องจำให้ขึ้นใจไว้สักนิดคือ การต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียของอียูในเวลานี้ มีหัวใจหลักอยู่ที่ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติซึ่งมีชื่อว่า Nord Stream

โดย Nord Stream 1 ซึ่งเปิดใช้ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา สามารถส่งผ่านก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเข้าสู่อียูได้ประมาณ 55,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

ส่วน Nord Stream 2 ที่ปัจจุบันสร้างเสร็จแล้วและรอเพียงการอนุมัติเปิดใช้งานจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานของเยอรมนีและคณะกรรมาธิการยุโรป (การก่อสร้างต้องล่าช้ากว่ากำหนดเดิม เนื่องจากสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียกรณีบุกไครเมียเมื่อปี 2014) จะสามารถเพิ่มการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเข้าสู่อียูได้เพิ่มเติมอีก 55,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี

ทำให้หากรวม Nord Stream 1 และ Nord Stream 2 เข้าด้วยกัน รัสเซียจะสามารถป้อนก๊าซธรรมชาติให้กับอียู ได้มากมายถึง 110,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี!

...

ความแตกต่างระหว่าง Nord Stream 1 และ Nord Stream 2 :

แม้จะเป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่คู่ขนานและมีจุดสิ้นสุดเหมือนกันที่เมือง Greifswald ประเทศเยอรมนี แต่ Nord Stream 2 จะทำให้รัสเซีย สามารถส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่เยอรมนีได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการขนส่งให้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะยูเครน จนทำให้สามารถลดต้นทุนการดำเนินการได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

อย่างไรก็ดี ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปทันที เมื่อ “สหรัฐอเมริกา” เริ่มมองความพยายาม “ครอบงำ” อียูซึ่งเป็นพันธมิตรอันแนบแน่นของตัวเอง ผ่านการใช้ก๊าซธรรมชาติจากฝ่ายรัสเซีย “ด้วยสายตาเคลือบแคลง!”

...

เหตุใดสหรัฐอเมริกา จึงต้องขัดขวาง Nord Stream 2 :

วอชิงตัน มอง Nord Stream คือเครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อผลักดันให้รัสเซียมีอำนาจเหนือยุโรป ที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากราคาก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังอาจนำไปสู่การทำให้ชาติพันธมิตรในยุโรป “แตกคอ” กัน เนื่องจากมีทั้งฝ่ายที่ได้ผลประโยชน์ และฝ่ายที่เสียผลประโยชน์

ขณะเดียวกันรัสเซียเอง ก็ยังเคยแสดงท่าทีว่า พร้อมใช้งาน Nord Stream เป็นอาวุธเศรษฐกิจเพื่อบีบคั้นชาวยุโรปมาแล้ว โดยล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2021 ซึ่งยุโรปเข้าสู่ฤดูหนาวและจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวนมากกว่าปกติ จู่ๆ ปริมาณก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ที่ส่งผ่าน Nord Stream 1 มายังยุโรปได้ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 6 จนกระทั่งทำให้มีราคาขายสูงถึง 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าราคาปกติที่อยู่เพียงประมาณ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้นมาแล้ว

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่อาจจัดการปัญหาเรื่องนี้ได้โดยง่าย เนื่องจากปัญหา “แตกคอภายใน” จาก Nord Stream 2 ที่กำลังเกิดขึ้นในยุโรปนั้น ได้ลุกลามมาถึงแผ่นดินสหรัฐอเมริกาด้วย เนื่องจากพรรครีพับลิกัน พยายามกดดันให้มีการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับ Nord Stream 2 เพื่อตัดตอนการครอบงำยุโรปของรัสเซีย รวมถึงหาช่องทางส่งออกก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ เข้าไปขายให้กับยุโรปเพิ่มเติม (ถึงแม้ว่าจะมีราคาแพงกว่ารัสเซียมากก็ตาม เนื่องจากต้นทุนการขนส่งมาทางเรือสูงกว่า)

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ กลับมองว่า หากทำเช่นนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับพันธมิตรในยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนี ซึ่งเป็นทางผ่านของ Nord Stream 2 โดยตรงแล้ว ยังอาจทำให้รัสเซีย ซึ่งขุ่นเคืองเรื่องวิกฤติยูเครนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะยิ่งเพิ่มความโกรธกริ้วต่อสหรัฐฯ มากขึ้นไปอีก

...

ด้วยเหตุนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จึงเลือกใช้วิธีแบบ “บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น” ด้วยการให้เยอรมนี เลือกรับข้อตกลงที่ว่า เบอร์ลิน จะต้องให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านรัสเซีย หากมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเครื่องมือทางการเมืองรวมถึงมีการใช้กำลังทหารกับยูเครน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบรรดาผู้เกี่ยวข้องในโครงการ Nord Stream 2 จนกระทั่งทำให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงลงได้ในที่สุด

สารพัดผู้ได้รับผลกระทบจาก Nord Stream 2 :

1. คัดค้านสุดตัว :

ยูเครน โปแลนด์ สโลวาเกีย คือประเทศทางผ่านที่ได้รับผลประโยชน์จากค่าธรรมเนียมขนส่งจาก Nord Stream 1 มาก่อน ด้วยเหตุนี้จึงแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มี Nord Stream 2 นอกจากนี้ ยูเครน ยังมีเหตุผลเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีกด้วย เนื่องจากหากรัสเซียไม่จำเป็นต้องส่งก๊าซธรรมชาติผ่านประเทศของตัวเอง นั่นย่อมเท่ากับ ความสำคัญของยูเครนต่อชาติตะวันตก ย่อมต้องถูกลดทอนลงไปอีกและนั่นอาจนำมาซึ่ง “ความมั่นคงที่เสื่อมทรามลง” ด้วย

2. ลำบากใจที่สุด :

ท่ามกลางการถูกผูกมัดด้วยสัญญาทางธุรกิจจากรัสเซียและข้อตกลงทางการเมืองกับสหรัฐอเมริกา ทำให้ “เยอรมนี” ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการหาทางหลีกเลี่ยงการพูดถึง Nord Stream 2 โดยเฉพาะในประเด็นที่อาจถูกรวมเข้าไปอยู่มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อพยายามรักษาผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ และที่ผ่านมายังหาทางพยายาม “ผ่อนคลาย” ความตึงเครียดอันเกิดจาก Nord Stream 2 มาแล้วหลายครั้งไม่ว่าจะเป็น การประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำของ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ (Olaf Scholz) ที่ว่าจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่า ยูเครน จะยังคงเป็นทางผ่านสำหรับการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมายังยุโรปต่อไป ถึงขนาดให้คำมั่นว่าจะยอมจ่ายค่าธรรมเนียมการขนส่งก๊าซธรรมชาติให้กับยูเครนในกรณีที่รัสเซียเกิดหันไปใช้ Nord Stream 2 เพียงท่อเดียวเพื่อหวังบ่อนทำลายเศรษฐกิจยูเครน จนถึงปี 2024 รวมถึงจัดตั้งกองทุนมูลค่าถึง 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนโครงการพลังงานแบบทวิภาคกับยูเครนด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ลงนามรับรองให้แคว้นโดเนตสค์ (Donetsk) และแคว้น ลูฮานสค์ (Luhansk) ของยูเครนเป็นรัฐเอกราช พร้อมๆ กับได้ออกคำสั่งให้กองทัพรัสเซียในฐานะกองกำลังรักษาสันติภาพเคลื่อนกำลังพลเข้าไปในพื้นที่ ผู้นำเยอรมนีจึงไม่มีทางเลือก ต้องจำใจประกาศระงับการอนุมัติเปิดใช้งาน Nord Stream 2 ออกไปก่อน พร้อมๆ กับให้ความร่วมมือสหรัฐฯ และชาติตะวันตกในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย

Nord Stream 2 เครื่องมือต่อรอง :

“ยินดีต้อนรับสู่โลกใหม่ที่หาญกล้า ที่ชาวยุโรปอาจจะต้องจ่ายถึง 2,000 ยูโร ต่อราคาก๊าซธรรมชาติ 1,000 ลูกบาศก์เมตรในเร็วๆนี้”

ดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) รองประธานสภาความมั่นคงของรัสเซีย ทวีตข้อความทันควัน หลังการประกาศของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี

ว่าแต่...นี่คือคำขู่ หรือ ข้อเท็จจริงกันนะ?

ปัจจุบันยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติทางด้านพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากการผลิตในพื้นที่ย่านทะเลเหนือและประเทศเนเธอร์แลนด์ลดลง เป็นเหตุราคาค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมามีรายงานว่า อียู ยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากท่อก๊าซ Nord Stream 1 ของรัสเซียเพียงท่อเดียว คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 42% ของการนำเข้าทั้งหมดด้วย

ขณะเดียวกัน พี่ใหญ่ของอียู อย่างเยอรมนี ซึ่งเพิ่งได้ผู้นำคนใหม่อย่าง นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ นั้น มีฐานเสียงสำคัญคือ กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาวิกฤติพลังงานจนทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ Rystad Energy บริษัทวิจัยอิสระด้านพลังงานระดับโลก ได้เคยประเมินเอาไว้เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมปี 2021 ที่ผ่านมาว่า มีความเป็นไปได้สูงที่รัสเซีย น่าจะส่งออกก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 1 ไปยังยุโรปลดลง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ประสบปัญหาเรื่องกำลังการผลิตใดๆ และหากรัสเซีย เพิ่มการส่งออกก๊าซธรรมชาติอีกเพียง 20% จะทำให้ราคาในตลาดยุโรปปรับตัวลดลงได้มากถึง 50% ด้วย

นั่นจึงนำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า...ระหว่างฝ่ายที่ร่วมมือกันคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ กับฝ่ายที่ยืนเดี่ยวเพื่อรับมือกับการคว่ำบาตร “ใครน่าจะมีความอึด” เพื่ออดทนเล่นไพ่ในวงนี้ต่อไปมากกว่ากัน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :