ปมวิกฤติยูเครน ยกระดับความตึงเครียดขึ้นไปอีกขั้นหลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ลงนามรับรองให้แคว้นโดเนตสค์ (Donetsk) และ แคว้น ลูฮานสค์ (Luhansk) ซึ่งอยู่ติดกับไครเมียซึ่งรัสเซียยึดมาจากยูเครนก่อนหน้านี้ และปัจจุบันมีกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนที่นิยมรัสเซียเคลื่อนไหวอยู่ เป็น รัฐเอกราช พร้อมๆ กับได้ออกคำสั่งให้กองทัพรัสเซียในฐานะกองกำลังรักษาสันติภาพเคลื่อนกำลังพลเข้าไปในพื้นที่

อะไรคือเกมการเมืองระหว่างประเทศที่จะขับเคลื่อนต่อไปจากนี้?
วิกฤติครั้งนี้จะลุกลามจนกระทั่งทำให้เกิดสงครามได้หรือไม่?
สหรัฐฯ และนาโต จะเอาจริงกับรัสเซีย มากกว่าการแค่ยกระดับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจหรือไม่?

ไพ่ในมือประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน คืออะไร
ไพ่ในมือประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน คืออะไร

ใน EP.4 ของ ซีรีส์ปมวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน “เรา” ลองไปฟังการวิเคราะห์ของ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการทหารสูงสุด และนักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การทหารและการเมือง สำหรับการตั้งคำถามเหล่านั้นกันดู

...

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

“ผมจำประโยคหนึ่งในหนังสือเรื่องสงครามเย็นของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านได้พูดถึงสถานการณ์ในยุคนั้นเอาไว้อย่างน่าสนใจ และน่าจะยังคงเข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี คือ...

ดุลยภาพของอำนาจมันใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่รบกัน

หรืออธิบายง่ายๆ คือ คนเราจะรบกันก็ต่อเมื่อคิดว่าตัวเองจะเป็นฝ่ายชนะแน่ๆ แต่หากกำลังพอฟัดพอเหวี่ยงกัน ตัวใหญ่เท่าๆ กัน หมัดเท่าๆ กัน มันก็คงไม่มีใครอยากจะรบกันหรอก แต่หากได้เปรียบเมื่อไหร่ หรือเผลอเมื่อไหร่นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง” พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ เริ่มต้นการสนทนาในประเด็นร้อนๆ กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการทหารสูงสุด
พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการทหารสูงสุด

รัสเซียจะบุกหรือไม่บุกยูเครน :

การที่สองชาติอภิมหาอำนาจ จะตัดสินใจใช้กำลังต่อกัน มันไม่ใช่เรื่องที่จะวัดกันแค่กำลังทหาร และการตัดสินใจว่าจะบุกหรือไม่บุกยูเครน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกำลังทหารของรัสเซียเพียงฝ่ายเดียว นั่นเป็นเพราะปฏิกิริยาตอบโต้ของนาโต คือ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของฝ่ายเครมลินเช่นกัน

สิ่งที่นาโต กำลังทำอยู่ในเวลานี้คือ พยายามวาดภาพให้ชาวโลกเห็นว่า รัสเซียจะใช้กำลังทหารบุกเข้ายูเครนแน่ๆ อย่างไรก็ดีในความเห็นส่วนตัว คิดว่า รัสเซียน่าจะต้องคิดหนักหากคิดจะใช้กำลังทหารบุกเข้ายูเครน เพราะเมื่อวันใดก็ตามที่บุกเข้าไป มันมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำไปสู่การใช้กำลังทหารเต็มรูปแบบจากทั้งสองฝ่าย ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย มันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในอดีตที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างก็เคยเผชิญหน้าในลักษณะที่ใกล้เคียงกับวิกฤติยูเครนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ขีปนาวุธในคิวบา ซึ่งถือเป็นการเผชิญหน้าที่สุ่มเสี่ยงต่อการจะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 มากที่สุด

และทุกครั้ง “เกมจ้องมองตาไม่กะพริบ” ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียนั้น ถึงที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายจะพยายามหาทางเจรจาจนสามารถหาทางออกจากวิกฤติได้อยู่เสมอ เมื่อเริ่มเห็นว่าการเผชิญหน้าจะไม่สามารถยุติลงได้โดยง่าย

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่อยากตั้งข้อสังเกต คือ การที่สหรัฐอเมริกาจะไปเกี่ยวพันกับสงครามหรือไม่นั้น อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ ท่าทีของอุตสาหกรรมผลิตอาวุธในประเทศ ซึ่งมักจะมีอิทธิพลอย่างสูง ต่อการจะสนับสนุน หรือไม่สนับสนุน รัฐบาลสหรัฐฯ ณ ช่วงเวลานั้นๆ เพราะที่ผ่านมา มีหลายๆ เรื่องที่แม้จะพยายามทำความเข้าใจด้วยเหตุด้วยผล ทางรัฐศาสตร์ หรือแม้กระทั่งการเมืองระหว่างประเทศ มันก็มักจะนำมาสู่คำถามที่ว่า... “หรือเป็นเพราะพ่อค้าอาวุธหรือเปล่า?”

...

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จะดำเนินนโยบายอย่างไรกับยูเครน
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จะดำเนินนโยบายอย่างไรกับยูเครน

เทียบวิกฤติยูเครนและวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา ครั้งไหนเสี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 มากกว่ากัน :

ในทัศนะส่วนตัวคิดว่า วิกฤตการณ์ขีปนาวุธในคิวบาเสี่ยงมากกว่าเยอะเพราะในครั้งนั้นเป็นการคุกคามสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องสหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ซึ่งยังหนุ่มแน่นเพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ในขณะที่ฝ่ายสหภาพโซเวียต มีประธานาธิบดีนิกิตา ครุสชอฟ ซึ่งฉากหน้าดูเป็นผู้นำที่เกรี้ยวกราดและดุดันถึงขนาดเคยถอดรองเท้าขึ้นมาเคาะบนโต๊ะในระหว่างการปราศรัยบนเวทีขององค์การสหประชาชาติมาแล้วอีกด้วย

แต่ในท้ายที่สุด ประธานาธิบดีนิกีตา ครุชชอฟ ที่ใครๆ ก็คิดว่าน่าจะดุดันและเอาจริง ก็สามารถกลายเป็นนักการเมืองระหว่างประเทศที่ชาญฉลาด รู้จักจังหวะรุก จังหวะถอย รู้จักเล่นไปตามเกม จนวิกฤติครั้งนั้นคลี่คลายลงได้ในที่สุด ซึ่งในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน ของรัสเซียในปัจจุบัน ก็มีบุคลิกลักษณะที่ไม่ต่างจาก ประธานาธิบดีนิกิตา ครุสชอฟ มากนักด้วย

...

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าติดตามคือ บทบาทของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เพราะนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเป็นต้นมา ผู้นำสหรัฐฯ ท่านนี้ ยังไม่ได้มีการโชว์ฝีมือเรื่องนโยบายต่างประเทศมากนัก เพราะฉะนั้นวิกฤติยูเครน จึงถือเป็นบททดสอบสำคัญ สำหรับการวัดศักยภาพของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เป็นอย่างดี

“และผู้นำย่อมต้องวัดกับผู้นำในระดับเดียวกัน”

ทหารยูเครนพร้อมรบ
ทหารยูเครนพร้อมรบ

เกมการเมืองที่ทั้งสองฝ่ายกำลังขับเคลื่อน :

“สถานการณ์ในเวลานี้ มันเหมือนการตั้งวงเล่นไพ่ ต่างฝ่ายต่างกำลังพยายามอ่านหน้าไพ่ของอีกฝ่ายว่ามีไพ่เด็ดอะไรอยู่ในมือ หรืออีกฝ่ายจะทิ้งไพ่เด็ดของตัวเองออกมาเมื่อไหร่ แต่แม้กระนั้นทั้งสองฝ่ายต่างก็ยังคงจะเล่นไพ่กันต่อไป ยังไม่มีการล้มวงไพ่นี้” พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ มองภาพรวมที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครนเวลานี้

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถฟันธง ตามหน้าไพ่แต่ละใบที่ถูกทิ้งลงมา ซึ่งก็หมายถึงปรากฏการณ์ตามที่เราได้เห็นกันในเบื้องหน้าได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่า ไพ่แต่ละใบที่แต่ละฝ่ายยังถืออยู่ในเวลานี้ มันมีอะไรเหลืออยู่บ้าง แล้วที่สำคัญต้องไม่ลืมด้วยว่า การเล่นไพ่มันไม่ได้เล่นอยู่ฝ่ายเดียว

...

สำหรับในประเด็นนี้ ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ในขณะที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ พยายามเล่นบทแข็งกร้าวตอบโต้กับรัสเซีย แต่แล้วเพราะอะไร ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี จึงต้องบินไปพบกับ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ถึงกรุงมอสโก

“ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ในภาพรวมแล้ว ฝ่ายตะวันตกน่าจะกำลังร่วมเล่นเกมทั้งขู่ทั้งปลอบกับฝ่ายรัสเซีย นั่นเพราะเครมลิน ไม่มีพรรคพวก และดูเหมือนจะเล่นไพ่วงนี้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ทำให้ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า วิกฤติยูเครนขณะนี้ ยังเป็นเพียงเกมที่ทั้งสองฝ่ายกำลังเล่นกันไปตามบท ผมจึงยังไม่มองไกลถึงขนาดที่ว่า รัสเซียจะใช้กำลังทหารบุกเข้ายึดยูเครน เพราะผมยังไม่เชื่อว่ามันจะสามารถตัดสินใจในเรื่องนี้กันได้เร็วมากนัก ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ ทั้งสองฝ่ายคงจะยันกันแบบนี้ไปก่อน ส่วนจะจบลงเมื่อไหร่คงไม่มีใครตอบได้”

ขณะเดียวกันในประเด็นนี้ อยากตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงขนาดนี้แล้ว จึงยังไม่เห็นว่า จีน จะมีท่าทีใดๆ กับ ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวิกฤติยูเครน ทั้งๆ ที่ในระยะหลังๆมานี้ ทั้งปักกิ่งและมอสโกดูจะมีความสนิทแนบแน่นกันมากขึ้น

หากจีนเข้ามาร่วมในวงไพ่นี้ จะมีผลแน่นอน แต่ส่วนตัวคิดว่า จีน ยังไม่น่าจะบุ่มบ่ามเข้ามาร่วมวงในเวลานี้ เพราะเส้นทางของจีน ณ ปัจจุบัน คือ ค้าขายดีกว่าเรื่องอะไรต้องไปรบกับเขากันด้วยล่ะ?

ทำไมรัสเซียต้องวิตกกับการเอาใจออกห่างของยูเครน :

“เพราะสิ่งที่รัสเซียหวาดกลัวอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นเรื่องที่ควรหวาดกลัว” พล.อ.บัญชร กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

สารตั้งต้นของเรื่องนี้ คือ นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในการปิดกั้นประเทศคู่ขัดแย้ง หรือ Containment Policy ซึ่งล่าสุดกำลังนำมาใช้กับรัสเซีย โดยการนำยูเครนมาปิดกั้นรัสเซียทางด้านใต้ ถือเป็นเรื่องที่ รัสเซีย ควรหวั่นวิตกเพราะกระทบต่อความมั่นคงของตัวเองโดยตรง

การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย :

ในความเห็นส่วนตัว คิดว่ารัสเซียมีไพ่ในมือที่สามารถต่อรองกับชาติตะวันตกในประเด็นนี้ได้ นั่นเป็นเพราะรัสเซียมีท่อส่งก๊าซ ไปยังยูเครนและอีกหลายๆ ชาติในยุโรปตะวันออก

ด้วยเหตุนี้ หากมีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและรัสเซียตอบโต้ด้วยการปิดท่อส่งก๊าซ หลายชาติในยุโรปจะได้รับผลกระทบด้านพลังงานอย่างหนักแน่นอน

ทหารยูเครนเตรียมความพร้อมชายแดน
ทหารยูเครนเตรียมความพร้อมชายแดน

การดำรงสถานะของยูเครนท่ามกลางวิกฤติ :

“หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ การดำรงตนของยูเครน ท่ามกลางแรงบีบจากรัสเซียและสหรัฐฯ นั้น เปรียบไปก็คงไม่ต่างอะไรจากการเลี้ยงตัวเพื่อให้สามารถเดินอยู่บนเส้นลวดเล็กๆ ท่ามกลางหุบเหว ที่มีลมพายุหนักพัดพาตลอดเวลา” พล.อ.บัญชร กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ด้วยน้ำเสียงจริงจัง

ในยุคสงครามเย็นเป็นเรื่องของการเผชิญหน้ากันเรื่อง "ลัทธิความเชื่อ" แต่ในยุคปัจจุบันเป็นเรื่องของ "ความมั่นคง" เป็นหลัก

ยูเครน ถือว่าเป็นจุดที่มีความสำคัญในแง่ภูมิรัฐศาสตร์สำหรับรัสเซียและสหรัฐอเมริกามาก เพราะนอกจากจะมีพื้นที่ติดกับรัสเซียแล้ว ยังเป็นทางออกสู่ทะเลซึ่งเชื่อมโยงไปสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรแอตแลนติก ตามลำดับด้วย

ด้วยเหตุนี้ การที่ในระยะหลังเมื่อ ยูเครน พยายามแสดงท่าทีอยากจะเข้าร่วมกับ องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ตลอดเวลา ในขณะที่ฝ่ายชาติตะวันตกเองก็มีท่าทีโน้มเอียงว่าจะรับยูเครนเข้าร่วมนาโตเสียด้วย มันจึงทำให้ฝ่ายรัสเซียรู้สึกไม่สบายใจ

สมการความขัดแย้งของเรื่องนี้ มันจึงอยู่ตรงที่แค่ว่า...หาก ยูเครน เทไปอยู่ฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็จะได้ผลประโยชน์ อีกฝ่ายก็จะเสียผลประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ สุดยอดของปัญหาในเรื่องนี้ คือ ยูเครนต้องไม่ไปเข้าร่วมกับนาโต เพราะหากไปร่วมเมื่อไหร่เป็นเกิดเรื่อง!

ทางเลือกและทางออกของยูเครน :

สำหรับชาวยูเครนในเวลานี้ น่าจะมีอยู่ 3 ทางเลือก คือ 1. ไปอยู่กับรัสเซีย 2. ไปอยู่กับสหรัฐอเมริกา หรือ 3. อยู่โดยลำพัง

แต่ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า ข้อที่ 3 คือ อยู่ตามลำพังนั้นน่าจะลำบากสำหรับยูเครน เพราะที่ตั้งตามภูมิศาสตร์ของยูเครน ก็เหมือนกับประเทศไทยในยุคสงครามเวียดนาม คือ เป็นจุดศูนย์กลางที่มีความล่อแหลมต่อความขัดแย้ง ระหว่างชาติอภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและรัสเซียซึ่งไม่มีทางจะยอมกันง่ายๆ

มันจึงเหลือทางเลือกอีกเพียง 2 ทางเลือก คือ รัสเซีย หรือไม่ก็ สหรัฐอเมริกา แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ทำแค่จู่ๆ จะลุกขึ้นมาประกาศว่า วันนี้จะไปอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมา มีแรงบีบคั้นจากทั้งสองฝ่ายมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดีในความเห็นส่วนตัวคิดว่า การถูกบีบรัดให้จำยอมต้องเลือกข้างนั้น ยูเครนน่าจะจำยอมในลักษณะไม่เด็ดขาดลงไปว่าจะอยู่กับฝ่ายไหนอย่างแน่ชัด และคงจะพยายามไต่เส้นลวดนี้ต่อไปเพื่อเลี้ยงตัวไม่ให้ตกเหวอยู่เรื่อยๆ

และในประเด็นนี้ อยากตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้คือ...เอาละประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือ การที่ยูเครนจะเข้าหรือไม่เข้าร่วมนาโต แต่เท่าที่ได้ติดตามข่าวมา สหรัฐฯ หรือชาติตะวันตกเอง ก็ไม่เคยแสดงท่าทีในการเร่งเร้าให้ยูเครนเข้าร่วมมาก่อน และดูเหมือนจะเคยมีการแสดงท่าทีอยู่ครั้งหนึ่งด้วยซ้ำไปว่า ยูเครน ยังไม่พร้อมในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนาโต

ทำให้มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้วทั้งสองฝ่ายเองต่างก็ไม่อยากจะรบกัน และประเด็นนี้น่าจะเป็นทางออกของยูเครน ในการอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนี้ได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ หากใครจำได้เมื่อครั้งที่ยูเครนขอแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ยูเครนได้เล่นบทการเมืองระหว่างประเทศที่น่าศึกษาเอาไว้ คือ ได้มีการส่งมอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ของอดีตสหภาพโซเวียตเดิม ไปให้กับ 3 ประเทศหลักๆ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และรัสเซีย เพื่อแลกกับข้อค้ำประกันที่ว่า...

“Leave me alone หรือ ขอผมอยู่ตรงกลางได้ไหมครับ อย่ามายุ่งกับผมเลย” พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ อธิบายอย่างอารมณ์ดี

รัสเซียหรือสหรัฐอเมริกา เลือกฝ่ายไหนดี :

ข้อสังเกตในเรื่องนี้ คือ ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา “บทจะทิ้งเพื่อนง่ายๆ ถือเป็นเรื่องที่สหรัฐอเมริกามักจะทำเป็นปกติ” ตัวอย่างใกล้ๆ สุด ก็เช่นกรณีเวียดนาม และอัฟกานิสถาน เป็นต้น นั่นเป็นเพราะ...สหรัฐอเมริกามักจะยึดถือประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

นอกจากนี้ เท่าที่ได้ลองค้นหาข้อมูล ได้ไปพบรายงานชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า จากการสำรวจมติมหาชน พบว่า ชาวยูเครนส่วนใหญ่ให้ความเชื่อถือ รัสเซีย และมีชาวยูเครนเพียงประมาณ 25% เท่านั้น ที่ให้ความเชื่อถือ สหรัฐอเมริกา ด้วย!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :