15 ก.พ.2022 : กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่า ได้มีคำสั่งให้กองทหารที่วางกำลังประชิดพรมแดนประเทศยูเครน “ถอนตัว” กลับที่ตั้ง “บางส่วน” เนื่องจากเสร็จสิ้นภารกิจฝึกซ้อมรบแบบเต็มรูปแบบแล้ว

อย่างไรก็ดีกองกำลังส่วนที่เหลือโดยเฉพาะที่อยู่ติดชายแดนยูเครนด้านประเทศเบลารุสและในทะเลดำ จะยังคงทำการฝึกซ้อมรบ ที่มีกำหนดจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 ก.พ. ต่อไป

อ่านบรรทัดที่แล้ว ดูคร่าวๆ “คุณ” คงคิดใช่ไหมว่า “วิกฤติการเผชิญหน้าแบบตรงไปตรงมาจ้องตาไม่กะพริบ” ระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ เหมือนจะคลี่คลายลงจากการประกาศดังกล่าว

อ่านสกู๊ปที่เกี่ยวข้อง : 

ว่าแต่...ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่? “เรา” ค่อยๆ ไปร่วมกันพิจารณา “น้ำลายที่สาดกระเซ็นใส่กันไปมา” ในสิ่งที่คู่กรณีอย่าง รัสเซียและสหรัฐฯ กระทำใส่กัน เพื่อให้เกิดเป็น “ปรากฏการณ์เบื้องหน้า” ผ่านสื่อมวลชนของรัสเซียและชาติตะวันตก รวมถึง “อะไรที่กำลังเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ในเบื้องหลัง” ซึ่งอยู่บรรทัดล่างๆ นี้กันดูดีกว่า

...

หมัดต่อหมัดวิวาทะ รัสเซีย VS สหรัฐฯ :

“หากรัสเซียโจมตียูเครน จะต้องเผชิญหน้ากับการถูกประณามจากนานาชาติอย่างท่วมท้น โลกจะไม่ลืมว่ารัสเซียได้เลือกในสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น นั่นคือ ความตายและการทำลายล้าง”

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“จุดยืนของเราถูกกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนโดยผู้นำรัสเซีย (ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน) ในส่วนของเรา เราจะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดการทำสงครามกับยูเครน เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่เริ่มต้น ซึ่งจะไม่ใช่วันนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ และไม่ใช่มะรืนนี้”

วาเลนตินา มัตวิเยนโก ประธานสภาสหพันธ์แห่งรัสเซีย

“แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่แสวงหาการเผชิญหน้าโดยตรงกับรัสเซีย แต่หากรัสเซียมีเป้าหมายเป็นชาวอเมริกันในยูเครน สหรัฐฯ จะตอบโต้กลับด้วยกำลังทหารเช่นกัน”

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“มันไม่เห็นเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอะไรเลยกับการสร้างประเด็นโจมตียูเครน ที่ตะวันตกคลั่งไคล้หนักหนาในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะมันไม่มีหลักฐานสนับสนุนใดๆ ไม่มีอะไรเลยนอกจากการตั้งทฤษฎีต่างๆ นานา”

วาเลนตินา มัตวิเยนโก ประธานสภาสหพันธ์แห่งรัสเซีย

Antony Blinken
Antony Blinken

“สหรัฐฯ และนาโต ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย ยูเครนไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย ทั้งสหรัฐฯ และนาโต ไม่มีขีปนาวุธในยูเครน เราไม่มีแผนจะทำเช่นนั้น และเราไม่ได้มุ่งเป้าหมายไปที่ประชาชนชาวรัสเซีย หรือพยายามทำให้ประเทศรัสเซียเกิดความไร้เสถียรภาพ สำหรับพลเมืองรัสเซีย พวกคุณไม่ใช่ศัตรูของเรา”

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

“นาโต ได้เริ่มต้นการพัฒนาการทางการทหารบนดินแดนของยูเครนแล้ว มีกองกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก รวมถึงอาวุธสำหรับการรุกคืบ ซึ่งทั้งหมดนี้มีเป้าหมายคือการสร้างความไร้เสถียรภาพขึ้นบนพื้นที่ชายแดนของรัสเซีย”

วาเลนตินา มัตวิเยนโก ประธานสภาสหพันธ์แห่งรัสเซีย

...

วิวาทะที่ว่าด้วยเรื่อง ถอนหรือไม่ถอนทหารจากชายแดนยูเครน :

“ไม่มีสัญญาณใดๆ ของการลดระดับความรุนแรงในพื้นที่ ไม่มีการถอนทหารหรืออาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ ยังคงมีกองกำลังจำนวนมากที่มีความพร้อมสำหรับการบุกโจมตีอย่างเต็มศักยภาพตั้งแต่ไครเมียไปจนถึงเบลารุส”

พล.อ.เยนส์ ชโตลเทนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต

“คำกล่าวอ้างของ พล.อ.เยนส์ ชโตลเทนเบิร์ก ทำให้ฉันสับสนว่า เขาเป็นเลขาธิการนาโต หรือนายธนาคาร กันแน่ และเขาไม่ใช่คนที่มอสโกจะให้ความใส่ใจ”

Maria Zakharova
Maria Zakharova

มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย

“มีการเคลื่อนกำลังพลมากกว่า 7,000 นายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เข้าไปเสริมกำลัง ทหาร 150,000 นาย ที่ปัจจุบันยังคงประชิดชายแดนยูเครน รัสเซียมักพูดเสมอว่าต้องการแก้ไขปัญหาด้วยการทูต แต่การกระทำของพวกเขามันสวนทางกับสิ่งที่พูด”

...

สื่อตะวันตกหลายสำนัก รายงานโดยอ้างว่าเป็นคำให้สัมภาษณ์ของที่ปรึกษาด้านความมั่นคงอาวุโสของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

“มีสื่อมวลชนตะวันตกจำนวนมากที่เสียใจ เพราะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่สงครามล้มเหลว พวกเขาพยายามเสียเหลือเกินที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริง หรืออาจเป็นเพราะว่าบางทีพวกเขาพยายามสร้างฉากการต่อสู้อันดุเดือด แต่ทั้งหมดนั้นมันไม่มีอะไรที่เป็นความจริงเลย”

มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย

“เรายังคงเห็นการเคลื่อนกำลังพลไปยังชายแดน ไม่ใช่การถอนกำลังออกจากชายแดน นั่นคือสิ่งที่รัสเซียพูดและสิ่งที่รัสเซียทำ มันคงเป็นเรื่องที่ดีหากพวกเขาปฏิบัติตามสิ่งที่พูด แต่จนถึงตอนนี้เรายังไม่เห็น”

แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

“การหารือในประเด็นยูเครน ต้องการการสนทนาในเชิงลึกและเป็นรูปธรรม เราต้องการให้ทั้งสองฝ่ายได้ยินและเคารพในข้อกังวลต่างๆ ซึ่งกันและกัน เพราะมิเช่นนั้นมันจะกลายเป็นการสนทนาระหว่างคนเป็นใบ้กับคนหูหนวก”

มาเรีย ซาคาโรวา (Maria Zakharova) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย

Valentina Matviyenko
Valentina Matviyenko

...

เกมการเมืองที่อยู่เบื้องหลังวิกฤติยูเครน :

เพราะอะไรรัสเซียจึงไม่บุกยูเครนด้วยกำลังทหาร?

นักวิเคราะห์จาก Atlantic Council องค์กรวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศชั้นนำของโลก เชื่อว่าเหตุผลที่ทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่ตัดสินใจใช้กำลังทหารบุกยูเครน เป็นเพราะ “ผลลัพธ์ที่จะได้ อาจมีราคาที่ไม่คุ้มจะเสีย”

1. มีโอกาสไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ และนาโตจะพยายามเข้ามาขัดขวาง

2. ผลลัพธ์ ที่จะได้จากการถูกตอบโต้ อาจมีราคาสูงเกินไปโดยเฉพาะการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่จะถูกยกระดับให้รุนแรงขึ้นกว่าเดิม ที่อาจนำไปสู่ความเสื่อมทรุดทางเศรษฐกิจ และผู้นำรัสเซียจะสูญเสียความเชื่อมั่นจากประชาชนในระยะยาว

3. รัสเซียอาจถูกกรอบยุทธศาสตร์ทางการทหารบีบรัดมากยิ่งขึ้น จากการที่สหรัฐฯ และนาโต อาจได้ข้ออ้างในการส่งกำลังทหารและอาวุธทำลายล้างทางยุทธศาสตร์ เข้าไปขยายขีดความสามารถทางการรบในชาติอดีตสหภาพโซเวียตเดิมเพื่อล้อมกรอบและกดดันรัสเซียมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งที่ “ขัดต่อยุทธศาสตร์หลัก” ของผู้นำรัสเซีย ในการหยุดยั้งนาโต เข้ากลืนกินอดีตชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอซึ่งเคยเป็น “อดีตคู่ต่อสู้” ของนาโต ในสมัยสงครามเย็น

Jens Stoltenberg
Jens Stoltenberg

อะไรคือ หมากการเมือง ที่รัสเซียกำลังเดิน?

นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ หลายคนมองตรงว่า “เหลี่ยมคูอันสลับซับซ้อนและคาดเดาได้ยาก” ของวลาดิเมียร์ ปูติน ที่ใช้ในการเดินเกมกดดันยูเครนในครั้งนี้คือ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามคาดเดาไม่ออกว่าเขากำลังคิดจะทำอะไรกันแน่ ไม่ว่าจะเป็น...

1. ต้องการสร้างแรงกดดันเพื่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพกับรัฐบาลยูเครนที่เอาใจออกห่างรัสเซีย หรือ 2. แสดงพลังอำนาจทางการทหารของรัสเซีย เพื่อเรียกร้องความเคารพจากสหรัฐฯ และนาโต และ 3. สร้างภาพความหวาดผวาให้กับยุโรปจากความเป็นไปได้ที่อาจถูกรุกรานด้วยกำลังทหารจากรัสเซีย

ซึ่งการสร้าง “หมาก” ที่คาดเดาได้ยากนี้ เป็นเพราะประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องรีบร้อนเร่งจัดการกับปัญหาการนอกใจของ “ยูเครน” รวมถึงอดีตชาติสมาชิกวอร์ซอ การนั่งครองอำนาจมานานกว่า 20 ปี และอาจจะอยู่ต่อไปอีกยาวๆ ไม่รู้อีกกี่ปี ย่อมแตกต่างและสามารถเดินเกมการเมืองที่ยาวนานและต่อเนื่องอย่างมั่นคงได้มากกว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจจะเปลี่ยนทั้งคนและนโยบายที่มีต่อยูเครนและยุโรปตะวันออกได้ทุกๆ 4 ปี อยู่แล้วมิใช่หรือ?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่เกี่ยวข้อง :