รัสเซียจะบุกยูเครนหรือไม่?
หากจะบุกจะบุกอย่างไร?
ฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นหากรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน จะเป็นอย่างไร?
หรือ...มีทางเลือกอื่นในการ “กลืนกิน” ยูเครน โดยไม่ต้องใช้ กำลังทางทหารหรือไม่?

วันนี้ “เรา” ลองมาพิจารณาร่วมกันใน “สารพัดคำถาม” ในบรรทัดด้านบนโน้น....ในซีรีส์ปมวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน EP.2 นี้กันดู

ส่วนหากท่านใดอยากทำความเข้าใจปมวิกฤติ รัสเซีย-ยูเครน และทำไม สหรัฐฯ และนาโต ต้องมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ สามารถติดตามอ่านได้ใน ปมวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน EP.1 วัดขนาดกองทัพใครใหญ่กว่ากัน 

เอาละ “เรา” ไปสู่เนื้อหาใน EP.2 กันเลยดีกว่า!

ปัจจุบัน กองทหารรัสเซียคุกคามยูเครน ได้มากขนาดไหนแล้ว?

หากอ้างอิงข้อมูลจาก Rochan Consulting สำนักวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินกลยุทธ์ด้านความมั่นคง ระบุว่า ปัจจุบันกองทัพรัสเซีย ระดมกำลังทหารและอาวุธหนักจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นรถถังและกองปืนใหญ่ประสิทธิภาพสูงจำนวนมากแล้ว ยังมีระบบขีปนาวุธอิสกันเดอร์ (Iskander) ที่ถูกออกแบบมาให้มีขีดความสามารถในการทำลายเป้าหมายสำคัญในแนวหลังของศัตรู ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์บัญชาการ สนามบิน และระบบป้องกันภัยทางอากาศ เข้าประชิดชายแดนด้านที่ติดกับประเทศยูเครน รวมถึงมีการเคลื่อนกำลังทางเรือ เข้าไปสนับสนุนกองเรือรบที่วางกำลังอย่างคึกคักในทะเลดำด้วย

...

โดยกำลังทหารรัสเซียมากกว่า 60,000 นาย เข้าวางกำลังอยู่ตามแนวชายแดนที่ติดยูเครนในสองจุดหลักๆ คือ ในแคว้นไครเมียที่อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน แต่ปัจุบันถูกรัสเซียผนวกเข้าเป็นดินแดนของตัวเองแล้ว ในขณะที่กำลังอีกส่วนหนึ่ง ถูกวางกำลังประชิดชายแดนยูเครนด้านที่อยู่ติดกับประเทศเบลารุส พันธมิตรอันแนบแน่นของ “เครมลิน” โดยใช้ข้ออ้างในการเคลื่อนกำลังพลว่า เป็นการส่งกำลังเข้าไปฝึกซ้อมรบร่วมกันระหว่างสองประเทศ ที่เรียกว่า “Allied Resolve”

อย่างไรก็ดี สื่อตะวันตกหลายสำนักรายงานว่า รัสเซียน่าจะมีการ “แอบแฝง” กองกำลังส่วนหนึ่งเข้าไปแทรกซึมไว้ใน ภูมิภาคดอนบัส (Donbas) ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านภาคตะวันออกของยูเครน เอาไว้เนิ่นนานพอสมควรแล้ว ด้วยเหตุเพราะเพื่อเป็นการสนับสนุน “กลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน” ที่ฝักฝ่ายรัสเซีย และจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลยูเครนมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

เรียกว่า...หากรัสเซียคิดจะบุกยูเครนจริง สามารถเปิดการโจมตีได้จากทั้ง “ภายนอก” และ “บ่อนทำลายจากภายใน” ได้พร้อมๆ กัน

การเตรียมความพร้อมตั้งรับการบุกของกองทัพยูเครน?

สื่อตะวันตกหลายสำนัก รายงานว่า ปัจจุบันกองทัพยูเครน มีทหารประจำการประมาณ 200,000 นาย โดยมีการกระจายกำลังควบคุมตามแนวชายแดนระยะทาง 400 กิโลเมตร โดยกำลังส่วนใหญ่ ประมาณ 30,000 - 35,000 นาย อยู่ในแคว้นโดเนตสค์ (Donetsk) และ ลูฮานสค์ (Luhansk) ซึ่งอยู่ติดกับแคว้นไครเมียและมีกลุ่มกบฏนิยมรัสเซียเคลื่อนไหวอยู่

ศักยภาพทางการทหารระหว่าง รัสเซียและยูเครน?

กองทัพรัสเซีย :

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีวลาดีเมียร์ ปูติน ขึ้นครองอำนาจ กองทัพรัสเซียได้เปลี่ยนสภาพจาก “กองทัพหลงยุคและอ่อนแอ” จากสงครามเย็น ไปสู่กองทัพสมัยใหม่ สิ่งที่ยืนยันได้ในเรื่องนี้ คือ การโชว์ “พลานุภาพ” ที่น่าหวั่นเกรง ในสงครามบุกประเทศจอร์เจียเมื่อปี 2008 อีกทั้งทหารประจำการในปัจจุบันยังได้สั่งสมประสบการณ์ในการรบอันล้ำค่ามาอย่างต่อเนื่อง จากการทำสงครามในซีเรียและยูเครนด้วย

กองทัพยูเครน :

หลังแยกตัวจากสหภาพโซเวียต กองทัพยูเครน ยังคงใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่โอนย้ายมาจากสหภาพโซเวียตเดิมเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่า “ส่วนใหญ่ยังล้าสมัย” มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

แต่ปัญหาที่หนักหน่วงมากไปกว่า “อาวุธยุทโธปกรณ์อันแสนล้าสมัย” ก็คือ นอกจากขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณที่เพียงพอแล้ว ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในกองทัพยัง “บ่อนทำลาย” ศักยภาพทางการทหารให้ “อ่อนด้อย” ลงไปเพิ่มเติมอีก

...

ซึ่งการ “บ่อนทำลายจากภายใน” นี้ เชื่อว่ามาจาก “สารพัดกลยุทธ์นอกแบบ” ของรัสเซีย เพื่อเป็นการสนับสนุนกลุ่มกบฏในภูมิภาคดอนบัส มาตั้งแต่ปี 2014

สิ่งนี้ยืนยันได้โดยการให้สัมภาษณ์ของ เปโตร เมเคียซ (Petro Mehed) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของยูเครน ที่ยอมรับกับสื่อมวลชนอย่างตรงไปตรงมาว่า

“กองทัพของเราทั้งถูกทำลายและปลดอาวุธอย่างเป็นระบบ และบุคลากรที่ดีที่สุดของเราไม่ได้อยู่ในกองทัพแล้ว”

โดยรายงานที่เกี่ยวข้องกับการบ่อนทำลายกองทัพยูเครนที่ว่านี้ มีทั้ง การขโมยอาวุธใหม่ๆ ออกไปขายเพื่อรับเงินใต้โต๊ะ จนเหลือเพียงอาวุธที่ล้าสมัยในคลังแสง เจ้าหน้าที่ในกองทัพถูกบีบให้ได้รับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย มีการทุจริตอย่างมโหฬารจนกระทั่ง “ไม่มีแม้แต่กระทั่งน้ำมัน” จะเติมให้กับยานพาหนะและเฮลิคอปเตอร์ รวมถึงยังขาดแคลนอะไหล่สำหรับการซ่อมบำรุง เพื่อนำเอาอาวุธเหล่านั้นไปใช้ต่อสู้กับกลุ่มกบฏ

แต่เดี๋ยวก่อน...หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยูเครน กลุ่มนิยมรัสเซียลงจากอำนาจ สหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็น พ่อบุญทุ่มรายใหญ่ให้กับ ยูเครน มาตลอด 7 ปีที่ผ่านมาก็ว่าได้

...

โดยหากใครยังไม่ทราบ จนถึงปัจจุบัน “วอชิงตัน” ได้จัดหาอาวุธไฮเทคมูลค่ารวมกันมากกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับพันธมิตรรายนี้แล้ว โดยในจำนวนอาวุธที่จัดหามาให้นี้ มีทั้งระบบขีปนาวุธต้านรถถังเจฟลิน (Javelin) ที่สุดแสนไฮเทค ไนต์วิชัน ระบบเรดาร์ตรวจการณ์ปืนใหญ่ และโดรน ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่สุดแสนอันตราย สำหรับกองทัพรัสเซียโดยตรง

อย่างไรก็ดี Tor Bukkvoll นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยป้องกันประเทศของนอร์เวย์ (Norwegian Defense Research Establishment) ประเมินว่า แม้ว่าในระยะหลังกองทัพยูเครนจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐฯ แต่การที่กองทัพยูเครนจะสามารถยืนหยัดเพื่อ “ขับไล่” การรุกรานจากรัสเซีย แทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ในขณะที่หากเป็นการต่อสู้ทางการทหารแบบเต็มรูปแบบ กองทัพยูเครนก็คงจะสามารถต้านทานได้เพียงไม่น่าจะเกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น!

อันเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญเรื่องการถูกบั่นทอนภายในกองทัพ โดยเฉพาะการสูญเสียบุคลากรที่เชี่ยวชาญในการทำสงคราม แถมยังมีระบบป้องกันภัยทางอากาศ การต่อต้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องบินรบที่ล้าสมัยกว่าฝ่ายรัสเซียมาก

...

ทางเลือกของรัสเซียสำหรับการรุกเพื่อคืบกลืนกินยูเครน?

นักวิเคราะห์ จากศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (Center for Strategic International Studies) หรือ CSIS ได้ลองวิเคราะห์ “ทางเลือก” ทางการเมืองที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนกำลังทางทหารของรัสเซียในครั้งเอาไว้ใน 6 ประเด็นใหญ่ๆ คือ...

1. รัสเซียยอมถอนกำลังทหารออกจากชายแดนยูเครน ภายใต้หน้าฉากการเจรจาทางการทูตที่ประสบความสำเร็จ แต่รัสเซียจะยังคงให้การสนับสนุนกลุ่มกบฏนิยมรัสเซียในภูมิภาคดอนบัสต่อไปเพื่อรอคอยจังหวะที่เหมาะสมอีกครั้ง

2. ส่งกำลังทหารรุกเข้าไปในแคว้นโดเนตสค์และลูฮานสค์ (Luhansk) ภายใต้คำกล่าวอ้างว่าเป็น “กองกำลังรักษาสันติภาพ” พร้อมกับควบคุมพื้นที่ (ยึด) เอาไว้จนกว่าการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลยูเครนและกลุ่มกบฏจะสิ้นสุดลง และรัฐบาลยูเครน จะต้องยอมรับ “ข้อตกลงมินสค์ (Minsk Accords)” ในปี 2015 ที่ให้ทุกฝ่ายหยุดยิงและถอนอาวุธหนักกลับที่ตั้ง

3. ส่งกำลังทหารรุกเข้าไปเพื่อยึดพื้นที่ให้ได้ไกลที่สุดจนถึงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ Dnepr เพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองหรือผนวกรวมดินแดนใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ซึ่งจะเป็นผลให้ยูเครนเหลือดินแดนเพียงประมาณครึ่งเดียวจากปัจจุบัน

4. ยึดดินแดนที่อยู่เหนือแม่น้ำ Dnepr ขึ้นไปอีกเพื่อผนวกดินแดนยูเครนที่ยึดได้นี้ซึ่งจะเชื่อมต่อกับอาณาเขตของรัสเซียและสาธารณรัฐทรานนีสสเตรีย (Transdniestria) ที่เพิ่งแยกตัวออกจากยูเครนและมีชาวรัสเซียเป็นส่วนใหญ่เป็นของตัวเอง รวมทั้งยังจะเป็นการตัดทางออกสู่ทะเลดำของยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงแน่นอน

5. ใช้กำลังทหารยึดเฉพาะดินแดนของยูเครนที่เชื่อมต่อระหว่างรัสเซียและสาธารณรัฐทรานนีสสเตรีย รวมถึงเมืองสำคัญของยูเครนอีก 3 เมืองที่อยู่ใกล้กัน เพื่อจัดหาแหล่งน้ำจืดให้กับแคว้นไครเมียและปิดทางออกสู่ทะเลของยูเครน

6. ใช้กำลังทหารเข้ายึดยูเครนทั้งประเทศ และร่วมมือกับเบลารุส ประกาศก่อตั้ง ไตรภาคีชนชาติสลาฟใหม่ (New tripartite Slavic Union of Great) ที่ประกอบไปด้วย รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส

ส่วนยังมีผลกระทบในด้านอื่นๆ อีกไหมจากวิกฤติในครั้งนี้ สามารถติดตามอ่านได้ในซีรีส์ รัสเซีย-ยูเครน ตอนต่อไป...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ