นอกจากผลกระทบทางร่างกายที่อาจคงอยู่ในระยะยาว แม้ว่าจะสามารถฟื้นตัวจากอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 หรือที่เรียกว่า “Long COVID” แล้ว
สิ่งหนึ่งที่บางที “คุณ” อาจยังไม่รู้ และบางที “คุณ” อาจเตรียมความพร้อมเอาไว้แต่เนิ่นๆ ก็คือ...ผลกระทบทางด้านจิตใจอันเกิดจากการไม่สามารถ “ปรับตัวเอง” ให้เข้ากับสิ่งที่คนยุคการแพร่ระบาดโควิด-19 เรียกมันว่า “ความปกติรูปแบบใหม่” (New Normal) ได้ จนกระทั่งนำไปสู่ “ภาวะซึมเศร้า” (Depression) และ “โรควิตกกังวล” (Anxiety Disorder) ในที่สุด
และบาดแผลทางจิตใจนี้ นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงระยะเวลาของการแพร่ระบาด ระบุว่า อาจต้องใช้เวลานานถึง 1 ชั่วอายุคน เพื่อแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นเสียด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
...
โควิด-19 ทำให้มีผู้ป่วยทางจิตใจมากน้อยแค่ไหน?
โดยงานวิจัยของสถาบันสุขภาพควีนส์แลนด์ (Queensland Health) และ มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ (Bill and Melinda Gates Foundation) ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ระดับโลกอย่าง The Lancet เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2021 ซึ่งได้ศึกษาความชุกของภาวะซึมเศร้า และโรควิตกกังวลทั่วโลก อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ใน 204 ประเทศ ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 2020-29 ม.ค. 2021
พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นถึง 53 ล้านคน ในขณะที่ผู้ป่วยโรควิตกกังวล เพิ่มขึ้นถึง 76 ล้านคนทั่วโลก โดยผู้หญิงและกลุ่มวัยรุ่นได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชายและผู้สูงอายุ!
บาดแผลทางจิตใจเกิดจากอะไร และส่งผลกระทบอะไรบ้าง?
โรควิตกกังวล (Anxiety) :
นักจิตวิทยา พบว่า การตกอยู่ภายใต้มาตรการ Lockdown ครั้งใหญ่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงต้นๆของการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้คนสูญเสียการติดต่อสื่อสารทางสังคมรายวันไป
ซึ่งเรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้คนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากความไม่แน่นอน และความเปลี่ยนแปลงที่กินระยะเวลายาวนานนั้นได้ทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวจากสังคม และสูญเสียทักษะในการเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้คนไป
และเมื่อไม่ได้ติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ เสียงที่อยู่ด้านในจิตใจของตัวเองจะเริ่มแข็งแกร่งขึ้น และเริ่มควบคุมตัวเองได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ สำหรับบางคนที่ใช้การเข้าสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาส่วนตัวบางประการ เช่น ปัญหาพิษสุราเรื้อรัง ความเปลี่ยวเหงา ความโดดเดี่ยว รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ยังต้องวนกลับมาพบกับปัญหาทางจิตใจเดิมๆ ของตัวเองอีกครั้ง
ส่วน “บางคน” ที่มีปัญหาในการเข้าสังคม และคิดว่าการ Lockdown สามารถช่วยทำให้ตัวเอง “ปลดเปลื้อง” ปัญหาต่างๆ ได้นั้น ในท้ายที่สุดนักจิตวิทยาและจิตแพทย์กลับพบว่า คนเหล่านี้กลับมีความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อคิดว่าตัวเองกำลังจะต้องกลับสู่สังคมอีกครั้งเมื่อมาตรการ Lockdown สิ้นสุดลง
บาดแผลทางจิตใจ (Trauma) :
สิ้นสุดวันที่ 10 ก.พ. 2022 นอกจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จะทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 404,018,170 คน และเสียชีวิตสะสมอีกถึง 5,797,501 ศพแล้ว มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังทำให้ผู้คนที่สูญเสียคนที่รักไปจากโควิด-19 ถูก “พรากความสุข” จากการได้พบปะคนที่รัก และบรรดาเพื่อนฝูงคนใกล้ชิด ในการเฉลิมฉลองวาระสำคัญๆ ต่างๆ ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การจัดงานวันเกิด งานเทศกาลปีใหม่ พิธีแต่งงาน หรือแม้กระทั่งในห้วงเวลาสุดท้ายแห่งชีวิตที่ควรมีคนที่รักอยู่กันพร้อมหน้าอย่าง พิธีศพ หรือการเจ็บป่วยหนักก่อนเสียชีวิต
ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการ “ซ้ำเติม” สภาพพื้นฐานจิตใจที่บอบช้ำอยู่แล้ว จากสารพัดปัญหาในช่วงการแพร่ระบาด ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาหนี้สิน ตกงาน หรือการต้องทำงานหนักขึ้นในขณะที่ผลตอบแทนที่ได้รับกลับลดลง และทั้งหมดนั้นมันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเติบโตของผู้คนในเจเนอเรชันนี้ทั้งหมด มายาวนานถึง 2 ปีกว่าแล้ว
...
การพลาดประสบการณ์สำคัญในชีวิต (Milestones Lost) :
ความโดดเดี่ยว ความเศร้าโศก ความไม่แน่นอน ความสูญเสีย ขาดไร้ซึ่งอิสรภาพและการสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ช่วงเวลา” ที่จะนำไปสู่การพัฒนาสมอง ร่างกาย อารมณ์ และประสบการณ์สำคัญๆ ในชีวิต ซึ่งไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้
สำหรับในประเด็นนี้ นักจิตวิทยาส่วนหนึ่งเชื่อว่า อาจต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย “หนึ่งชั่วอายุคน” เพื่อแก้ไขสภาพจิตใจของบรรดาคนหนุ่มสาวที่กำลังเติบโตในยุคการแพร่ระบาดโควิด-19
มนุษย์เรามีอายุ 15 ปีได้ครั้งเดียวในชีวิต เหตุการณ์สำคัญที่เชื่อมโยงกับอายุและการพัฒนาต่างๆ นั้นมันมักเกิดขึ้นในแต่ละช่วงวัยที่มีหน้าต่างแห่งโอกาสที่ไม่เหมือนกัน และเมื่อมันผ่านไปแล้ว เป็นไปได้ยากที่จะย้อนกลับไปแก้ไขมันได้
...
ความปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) :
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การกลายพันธุ์ของไวรัส จนกระทั่งนำไปสู่สายพันธุ์ล่าสุด คือ “สายพันธุ์โอมิครอน” (Omicron) ได้กระทบต่อสภาพจิตใจผู้คนมากพอสมควร เพราะมันได้ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 กำลังจะ “จบลง” ได้จริง หลังการฉีดวัคซีนขนานใหญ่หรือไม่
ในขณะที่บางส่วนอาจมีความเชื่อว่า อาจจะไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนก่อนหน้าการแพร่ระบาดได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ดีในมุมกลับกัน นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ พบว่า มีผู้คนส่วนหนึ่งที่เริ่มมีความเข้าใจและคิดว่าตัวเองสามารถใช้ชีวิตให้อยู่ร่วมกับโควิด-19 และสามารถทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับ “ความไม่แน่นอน” ที่ยังคงจะเกิดขึ้นได้เสมอในยุคการแพร่ระบาดโควิด-19.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
...