19 มกราคม 2022 : หุ้นของ Sony ปิดตลาดปรับตัวลดลงมากกว่า 12% ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2008 โดยในครั้งนั้น เป็นผลมาจากข่าวการเรียกคืนแบตเตอรี่ Laptop ที่มีปัญหามากกว่า 100,000 ก้อน
โดยการปรับตัวลดลงถึง 12% นี้ เป็นผลให้มูลค่าตลาดของ Sony ลดลงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ! (ประมาณ 6.5 แสนล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 23 ม.ค.22)
และทั้งหมดนั้น นักลงทุนและนักวิเคราะห์ทางการตลาดเชื่อว่า เกิดจาก “ภัยคุกคามทางธุรกิจครั้งใหม่” ที่มาในรูป “Bigdeal” มูลค่า 2 ล้านล้านบาท! การกลืนกิน บริษัท แอคติวิชันบลิซซาร์ด (Activision Blizzard) ของ ไมโครซอฟท์ (Microsoft)
อะไรคือภัยคุกคามทางธุรกิจ ที่มีต่อ Sony?
...
นักลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ มองตรงกันว่า การนำหน้าเรื่อง Content ที่มีเหนือคู่แข่งสำคัญอย่าง ไมโครซอฟท์ ในการชิงความเป็นหนึ่งในสงครามคอนโซล เจนฯ ล่าสุด ระหว่าง เพลย์สเตชัน 5 (Playstation 5) และ เอ็กซ์บ็อกซีรีส์เอ็กซ์ (Xbox Series X) อาจจะกำลังหมดสิ้นไป!
เกมเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะเพลย์สเตชัน 5 รวมถึง PlayStation Plus และ PlayStation Now บริการเหมาจ่ายรายเดือนสำหรับเครื่องเพลย์สเตชัน ของ Sony เคยได้เปรียบ Xbox Game Pass จากการเจรจาจนได้จำนวนเกมเอ็กซ์คลูซีฟมาอยู่ในเมนูมากกว่า หรือแม้กระทั่ง เกมบล็อกบลัสเตอร์สุดฮิต อย่าง Call of Duty ที่โผล่ไปทุกแพลตฟอร์ม แต่สำหรับ Sony ก็ยังต้องมี “เนื้อหาพิเศษเฉพาะเพลย์สเตชันให้”
แต่ “การกลืนกิน” แอคติวิชันบลิซซาร์ด ได้ทำให้ Xbox Game Pass บุฟเฟต์รายเดือนของไมโครซอฟท์ กลายเป็นจุดที่น่าสนใจสำหรับ “เกมเมอร์” มากยิ่งขึ้นไปกว่าแน่นอน หลังได้จำนวนเกมอภิมหาฮิตจาก แอคติวิชันบลิซซาร์ด เข้ามาเสริมในเมนูบุฟเฟต์เกมที่ว่านี้
และประเด็นนี้เองที่ทำให้ บรรดานักลงทุน “ตื่นตระหนก” เนื่องจาก รายได้เกือบ 30% ของ Sony จากรายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุด มาจาก ธุรกิจเกมและเครือข่ายการให้บริการที่เกี่ยวข้อง และ “กลยุทธ์เอ็กซ์คลูซีฟเกม” คือ หัวใจสำคัญของความสำเร็จที่ว่านี้
โดยเฉพาะแฟรนไชส์ Call of Duty ที่ Sony ทำข้อตกลงพิเศษ กับ แอคติวิชันบลิซซาร์ด (ก่อนถูกไมโครซอฟท์ซื้อ) จนประสบความสำเร็จในการทำตลาดมายาวนานร่วม 5 ปี และ ภาค Black Ops Cold War เป็นเกมบนเครื่องเพลย์สเตชัน 5 ที่ติดอันดับเกมขายดี และมีจำนวนผู้เล่นมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในปี 2021 เป็นรองเพียงเกมมหาชน Fortnite เพียงเกมเดียวเท่านั้นเสียด้วย
** หมายเหตุ รายงานผลประกอบการ ไตรมาสล่าสุดของ Sony สิ้นสุดวันที่ 20 กันยายน 2020 รายได้รวม 2.3 ล้านล้านเยน มาจากธุรกิจเกมและเครือข่ายการให้บริการที่เกี่ยวข้อง 6.4 แสนล้านเยน **
เป็นความจริงแค่ไหนที่ Sony ตกอยู่ภายใต้การคุกคามจากบิ๊กดีล?
นักวิเคราะห์จาก Kantan Games บริษัทที่ปรึกษาอุตสาหกรรมเกมชั้นนำในญี่ปุ่น กลับมีมุมมองต่อ “ปรากฏการณ์บิ๊กดีล” ในมุมมองที่ต่างออกไป
...
ตลาดหุ้น Overreact เกินไป!
Sony มีศักยภาพมากพอไล่กวาดซื้อสตูดิโอพัฒนาเกมได้เช่นกัน
ที่ผ่านมา Sony เข้าซื้อกิจการบริษัทผู้ผลิตเกมโดยเฉพาะในญี่ปุ่นเอาไว้จำนวนมาก แม้ว่าจะไม่มีขนาดของบริษัทไหนที่ใกล้เคียงกับที่ ไมโครซอฟท์ ไล่ซื้อบริษัทเกมเมื่อปีที่แล้ว หรือ ล่าสุดกับการซื้อ แอคติวิชันบลิซซาร์ด ก็ตาม อีกทั้งปัจจุบัน Sony ยังคงมีแนวโน้มเรื่องการมองหาสตูดิโอพัฒนาเกมที่มีแววโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าซื้อกิจการอยู่อย่างต่อเนื่องด้วย
การอัปเกรด Subscription
แม้ว่า Xbox Game Pass จะเริ่มน่าสนใจมากขึ้นหลัง “บิ๊กดีล” แต่ล่าสุดมีรายงานว่า Sony มีแผนที่จะอัปเกรดระบบ Subscription ครั้งใหญ่ ด้วยการยุบรวม PlayStation Plus และ PlayStation Now เข้าด้วยกัน โดยให้เหลือเพียงชื่อ PlayStation Plus ที่มีการแบ่งระดับการเข้าถึงบริการ ออกเป็น 3 ระดับราคา โดยราคาแพงสุด สามารถเข้าถึงการเล่นเกมสตรีมมิง และ เกม Back-catalogue ชื่อดังในอดีตยุค 90 ทั้งหลาย จากเครื่องเพลย์สเตชัน 1 และ 2 มาให้เหล่าเกมเมอร์รำลึกวัยใสให้มากขึ้นภายในช่วงต้นปี 2022
...
เกมรุกด้วยเทคโนโลยี PSVR2 ที่ Xbox ยังไม่มี
Sony ประกาศอย่างชัดเจนว่าภายในปี 2022 จะมีการเปิดตัวแว่น PSVR2 ซึ่งจะมีการอัปเกรดเทคโนโลยีที่สูงขึ้นและสมบูรณ์แบบมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งหากทำได้สำเร็จและสามารถผลักดันเข้าสู่การใช้งานในระดับเมนสตรีมได้สำเร็จ ย่อมมีผลต่อการผลักดันยอดขายเพลย์สเตชัน 5 แน่นอน
ลิสต์เกมเอ็กซ์คลูซีพที่จะออกวางขายภายในปี 2022
God of War Ragnorok, Gran Turismo 7,Horizon Forbidden West เกมระดับ AAA และมียอดขายระดับบล็อกบลัสเตอร์จาก Sony มีกำหนดวางจำหน่ายภายในปี 2022 แค่เห็นรายชื่อเกมแบบนี้ ก็น่าจะรับประกันความขายดีให้กับเพลย์สเตชัน 5 ได้แล้วระดับหนึ่ง
Call of Duty อาจยังไม่น่าเป็นเอ็กซ์คลูซีฟให้กับ Xbox Series X ในเร็วๆ นี้
รายได้ก้อนมหาศาลจากแฟรนไชส์ Call of Duty ในหลากหลากหลายแพลตฟอร์ม รวมถึงข้อตกลงพิเศษกับ Sony น่าจะยื้อระยะเวลาออกไปได้พอสมควรกว่าที่ “ไมโครซอฟท์” จะนำเกมแม่เหล็กดูดเงินนี้มาให้เล่นได้เฉพาะเครื่องคอนโซลของตัวเองเพียงแพลตฟอร์มเดียว โดยนักวิเคราะห์คาดว่า อย่างเร็วที่สุดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 12-18 เดือน
...
และนั่นอาจเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับการเปิดโอกาสให้ Sony เร่งสร้างเกมแนว FPS (First-Person Shooter) เป็นของตัวเองเพื่อเอาชนะ Call of Duty
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ Call of Duty ภาคหลังๆ เริ่มถูกเกมเมอร์วิพากษ์วิจารณ์ว่า “ไม่มีอะไรใหม่” และ “หิวเงินมากเกินไป” หากเทียบกับเกมคู่แข่งที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกทีๆ จนกระทบต่อ “ยอดขาย” โดยเฉพาะภาคล่าสุด Call of Duty : Vanguard
เปรียบเทียบความแข็งแกร่งระหว่าง Sony และ Microsoft หลังบิ๊กดีล
Market Cap :
Sony : 1.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
Microsoft : 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
(สิ้นสุดวันที่ 21 ม.ค.22)
ขุมกำลัง “สตูดิโอพัฒนาเกม” ของตัวเอง :
Sony : 17 สตูดิโอ
Microsoft : 24 สตูดิโอ
(สิ้นสุดวันที่ 21 ม.ค.22)
จำนวน Subscription (แบบชำระเงิน) :
PlayStation Plus :
ปี 2020 : 46 ล้าน Subscription
ปี 2021 : 47 ล้าน Subscription
เพิ่มขึ้น 2%
Xbox Game Pass :
ปี 2020 : 15 ล้าน Subscription
ปี 2021 : 25 ล้าน Subscription
เพิ่มขึ้น 67%
(อ้างอิงจากรายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุด สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.21)
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ