“การเล่นเกม คือ แคตากอรีที่มีพลังขับเคลื่อนและความน่าตื่นเต้นสูงสุดในด้านความบันเทิงสำหรับทุกๆ แพลตฟอร์ม ณ ปัจจุบัน และจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาแพลตฟอร์ม เมตาเวิร์ส (Metaverse) ต่อไปแน่นอน และ...บริษัทไมโครซอฟท์ พร้อมแล้ว สำหรับการเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้!”
สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) CEO ไมโครซอฟท์ (Microsoft)
และนี่คือรอยทาง...ที่ชัดเจนเสียเหลือเกินว่า เพราะเหตุใด?
“ไมโครซอฟท์” จึงทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในการไล่ล่าและ “กลืนกิน” บริษัทเกมจำนวนมากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “อาณาจักรบนโลกใบใหม่” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยเฉพาะการทุ่มเม็ดถึง 68,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 19 ม.ค.22) เพื่อ “กลืนกิน” บริษัทแอคติวิชันบลิซซาร์ด (Activision Blizzard) ดังที่ “เรา” ได้เล่าให้ “คุณ” ฟังไปในตอนแรกแล้ว
...
แล้วก่อนหน้าการกลืนกิน “บริษัทแอคติวิชันบลิซซาร์ด” ไมโครซอฟท์ ซื้อบริษัทเกมอะไรมาตุนไว้ในมือแล้วบ้าง?
ปี 2014 ซื้อบริษัท Mojang เพื่อนำเกมที่เด็กๆ เกือบทุกคนในโลกต้องเล่นอย่าง Minecraft มาไว้ในมือด้วยเงินสูงถึง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2020 ซื้อบริษัท Bethesda ด้วยเงินอีก 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อครอบครองแฟรนไชส์ เกมโหดเลือดสาดแบบ Doom, Wolfenstein หรือ ซีรีส์เกม RPG Open World อย่าง The Elder Scrolls รวมถึง แฟรนไชส์หายนะโลกขวัญใจเกมเมอร์อย่างตระกูล Fall out
อ้อ...แล้วต้องไม่ลืม เกมระดับ AAA บล็อกบลัสเตอร์ ของไมโครซอฟท์ เอง อย่าง แฟรนไชส์ Halo Infinite, Gears of war, Forza Horizon ด้วยนะ!
อะไรคือเหตุผลที่ ไมโครซอฟท์ จึงต้องใช้เงินมากมายมหาศาลเพื่อซื้อบริษัทเกม?
ข้อที่ 1 Console War :
Sony แสดงท่าทีชัดเจนว่ายังคงพยายามยึดมั่นใน “กลยุทธ์เกมเอ็กซ์คลูซีฟ” ที่เคยใช้จนประสบความสำเร็จอย่างงดงามมาแล้วกับ เพลย์สเตชัน 4 มาใช้กับคอนโซลเจนล่าสุดของตัวเองอย่าง เพลย์สเตชัน 5 เพื่อหวังปิดล้อม X Box series X ของ ไมโครซอฟท์ ให้กลายเป็นที่ทับกระดาษ (อีกครั้ง)
แต่การกวาดต้อนบริษัทเกมยักษ์ใหญ่เหล่านั้น ซึ่งมีเกมระดับ AAA จำนวนมากมาไว้ในมือได้อย่างมากมาย อาจทำให้ฝ่าย Sony เองนั่นแหละ ที่จะต้องตกอยู่ในสถานะที่เป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำจาก “ฤทธิ์หอกนั้นคืนสนอง” เองบ้างแล้ว
และสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือแม้ในช่วงการเปิดตัว เพลย์สเตชัน 5 ดูเหมือนจะทำได้ดีกว่าในแง่ของยอดขาย แต่การระบาดโควิด-19 ที่นำไปสู่ปัญหาวิกฤติซัพพลายเชน และเมื่อบวกเข้ากับการโหมทำเหมืองคริปโตฯ จนทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เกิดความปั่นป่วนอย่างหนัก จนกระทั่งกระทบต่อสายการผลิตเพลย์สเตชัน 5 เข้าไปเต็มๆ
“ผู้กำเงินไว้ในมือจำนวนหนึ่ง” จึงยังไม่ได้ซื้อในสิ่งที่พวกเขาปรารถนา และนั่นทำให้ “เกิดช่องว่าง” ที่อาจเปิดโอกาสให้ X Box series น่าจะเริ่มมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจในการเลือกเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลัง “บิ๊กดีล”
นอกจากนี้ กลยุทธ์ Xbox Game Pass หรือ การเหมาจ่ายเล่นเกมแบบบุฟเฟต์ (ปัจจุบันมียอดสมาชิกที่ยอมจ่ายเงินแล้วมากกว่า 25 ล้านยูสเซอร์ โดยมีราคาตั้งแต่ 9.99-14.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน) ซึ่ง ไมโครซอฟท์ ต้องการปั้นขึ้นมาเพื่อหวังสยบ “กลยุทธ์เกมเอ็กซ์คลูซีฟ” ของ Sony ในศึกคอนโซล รวมถึงหวังสร้างชุมชนทำเงินขนาดมหึมาแบบกินยาวๆ จะยิ่งน่าเย้ายวนใจขึ้นไปอีกเมื่อมีเกมของ “แอคติวิชันบลิซซาร์ด” เข้ามารวมอยู่ในแคตตาล็อกให้เลือกเล่น
...
มันจะเกิดอะไรขึ้นกับ “ยอดขาย” ของ เพลย์สเตชัน 5 เมื่อไม่มีเกม Call of Duty ให้เล่นโดยเฉพาะตลาดที่คลั่งไคล้เกมแนว SPF อย่าง ตลาดสหรัฐฯ และยุโรป?
หรือในกรณียอดขายเพลย์สเตชัน 5 เริ่มตกลง ในขณะที่ยอดขาย X Box series X เกิดพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จากบิ๊กดีลในครั้งนี้ พันธมิตรค่ายเกมต่างๆ จะยังยอมจับมือกับ Sony มอบเกมเอ็กซ์คลูซีฟ เช่นที่เคยเกรงอกเกรงใจในฐานะผู้นำอันดับหนึ่งเครื่องคอนโซลอยู่ต่อไปอีกหรือไม่?
และคำถามเหล่านี้ คือ สิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่งสำหรับ Console War ภายในปี 2022 นี้!
*** หมายเหตุ รายงานของ Ampere Analysis บริษัทวิเคราะห์การตลาดชื่อดัง คาดว่า สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2021 ยอดขายทั่วโลกของ เพลย์สเตชัน 5 อยู่ที่ประมาณ 12.8 ล้านเครื่อง ส่วน X Box series X อยู่ที่ประมาณ 6.7 ล้านเครื่อง ***
ข้อที่ 2 ตลาดเกมสมาร์ทโฟน :
...
จากรายงานของ บริษัทด้านการตลาดชื่อดังของโลก Modor intelligence
ระบุว่า ปี 2021 ที่ผ่านมา รายได้จากธุรกิจเกมบนสมาร์ทโฟน ได้แซงหน้าทุกๆแพลตฟอร์มไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เครื่องคอนโซล หรือ PC โดยธุรกิจเกมบนสมาร์ทโฟนทั่วโลก ทำรายได้รวมถึงประมาณ 79,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เครื่องคอนโซล อยู่ที่ประมาณ 49,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ PC อยู่ที่ประมาณ 33,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้วยเหตุนี้ จะมีเหตุผลอะไรที่ ไมโครซอฟท์ จะยอมตกขบวน โดยเฉพาะเมื่อ แอคติวิชันบลิซซาร์ด มี คิงส์ ดิจิทัล เอนเตอร์เทนเมนต์ (King Digital Entertainment) เจ้าพ่อเกมสมาร์ทโฟน ซึ่งมีเกมบ่อเงินบ่อทองอย่าง Candy Crush อยู่ในมือเสียด้วย
หากใครยังไม่ทราบ รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ประจำปี 2021 (สิ้นสุดวันที่ 30ก.ย.21) ของ แอคติวิชันบลิซซาร์ด ระบุว่า ทั้งจำนวนชั่วโมงในการเล่นเกม , รายได้จากการซื้อไอเทมและการโฆษณา, ผลกำไรที่ได้ จากสารพัดเกมมือถือของ คิงส์ ดิจิทัล มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง โดยสิ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้คือ เกมในตระกูล Candy Crush ทำรายได้สูงสุดใน App Store สหรัฐอเมริกา
และสิ่งที่ต้องจับตาต่อไปในประเด็นนี้ คือ เมื่อ “ไมโครซอฟท์” ก้าวลงไปในธุรกิจเกมสมาร์ทโฟนเต็มตัวแล้ว การงัดข้อกับ Apple และ Google ที่ทำตัวเป็นเสือนอนกิน เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมใน App Store และ Google Play มาช้านานในแบบชนิดไม่มีใครกล้าหือ จะดุเดือดเข้มข้นขนาดไหน โดยเฉพาะหากเกิดจับพลัดจับผลู ไปร่วมมือกับ เทนเซ็นต์ (Tencent) บริษัทเกมยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นผู้หาญกล้างัดข้อกับ Apple อยู่ในเวลานี้ขึ้นมา โดยอาศัยปริมาณและเกมฮิตในมือขึ้นมาต่อรอง
...
ข้อที่ 3 Metaverse :
โลกใบใหม่ที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำทั่วโลก กำลังวิ่งแข่งกันอย่างสุดตัวเพื่อสร้างอาณาจักรของตัวเองให้มั่นคงก่อนหน้า “คู่แข่งรายอื่นๆ”
และมันก็คงเหมือนที่ สัตยา นาเดลลา CEO ไมโครซอฟท์ กล่าวไว้ในบรรทัดบนสุดโน่น มันจะมีอะไรที่สามารถ “ดึงดูด” ผู้คนจำนวนมากให้ “ยอมสิ้นเปลืองเวลานานๆ” และ “จ่ายอะไรง่ายๆ” ในชุมชนของโลกเสมือนจริงได้เท่ากับ “การเล่นเกม” อีกกันเล่า
โดยเฉพาะแต้มต่อที่ไมโครซอฟท์จะมีเหนือ “บิ๊กเทค” รายอื่นๆ คือ “ความเป็นเจ้าของในปริมาณและคุณภาพของเกมที่มีอยู่ในมือ”
คำถามต่อไปที่น่าสนใจหลัง “บิ๊กดีล” ของอุตสาหกรรมเกมในครั้งนี้ คือ ไมโครซอฟท์ จะยอมหยุดการกลืนกินไว้ที่แค่ แอคติวิชันบลิซซาร์ด หรือไม่?
เพราะจำนวนเงิน 68,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.2 ล้านล้านบาท) ที่ถูกใช้ไปในครั้งนี้ มันคิดเป็นเพียง 3% ของมูลค่าบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งถูกประเมินไว้สูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น และยังมีเงินสดในมือมากมายถึง 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ! จากการเปิดเผยในรายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุด!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ