ส่อง 10 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ ปี 2565 ( ตอนที่2 ) วันนี้ เป็นอีก 5 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ที่ผู้เขียนคัดเลือกมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านต่อจาก “ส่อง 10 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ปี 2565 (ตอนที่ 1)” และก็เช่นเดียวกับ 5 เรื่องแรก อีก 5 เรื่องวันนี้ ผู้เขียนไม่ได้จัดลำดับความสำคัญของแต่ละเรื่อง เพราะทุกเรื่อง เป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญทัดเทียม
(6) รถโรเวอร์จีนกระต่ายหยก-2 พบ “กระท่อมลึกลับ” บนดวงจันทร์
ปลายปี พ.ศ. 2564 รถโรเวอร์อวี้ทู่ -2 (YUTU - 2) หรือยานโรเวอร์กระต่ายหยก-2 (JADE RABBIT-2) ของจีนถ่ายภาพพบวัตถุคล้ายลูกบาศก์ที่ขอบฟ้าไกลออกไปบนด้านมืดของดวงจันทร์ ถูกตั้งชื่อเรียกโดยนักวิทยาศาสตร์จีนเป็น “กระท่อมลึกลับ” คาดว่า ภายในไม่กี่วันบนดวงจันทร์หรือไม่กี่เดือนเวลาบนโลก รถโรเวอร์กระต่ายหยก-2 จะเข้าใกล้กระท่อมลึกลับมากพอที่จะบอกได้ว่า กระท่อมลึกลับนั้นคืออะไร
รถโรเวอร์จีนกระต่ายหยก-2 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจดวงจันทร์ ฉางเอ๋อ 4
(CHANG’E 4) เดินทางไปจากโลกพร้อมกับยานฉางเอ๋อ 4 วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2561 แยกจากยานฉางเอ๋อ 4 พร้อมกับส่วนเป็นยานลงจอด (LANDER) และลงจอดที่บริเวณแอ่งเอตเคน (AITKEN) ขั้วใต้ ของดวงจันทร์ วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2562 เป็นยานลงสำรวจดวงจันทร์ด้านมืดหรือด้านไกลครั้งแรกของโลก
หลังการลงจอดของยานนำลงจอดบนดวงจันทร์ประมาณ 12 ชั่วโมง รถโรเวอร์กระต่ายหยก-2 ก็เดินทางลงจากฐานยานลงจอด สู่พื้นผิวดวงจันทร์ แล้วก็เริ่มปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์
...
รถโรเวอร์กระต่ายหยก-2 เป็นรถสำรวจหกล้อมีมวล 140 กิโลกรัม บนรถติดกล้องถ่ายรูป เครื่องเรดาร์ เครื่องถ่ายสเปกตรัม และเครื่องวิเคราะห์อะตอมเป็นกลางพลังงานสูง ซึ่งอาจช่วยในการศึกษากระบวนการเกิดน้ำบนดวงจันทร์
สำหรับเรื่องกระท่อมลึกลับบนดวงจันทร์ ตามรายงานของ OUR SPACE ซึ่งเป็นสื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการสำรวจอวกาศของจีน รถโรเวอร์กระต่ายหยก-2 ถ่ายภาพพบวัตถุลักษณะคล้ายลูกบาศก์ขนาดใหญ่อยู่ห่างไกลทางขอบฟ้า เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 แต่นักวิทยาศาสตร์จีนได้พบและศึกษา และจึงเป็นข่าวทางสื่อมวลชนไปทั่วโลกเมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ.2564
จากลักษณะของวัตถุคล้ายกระท่อมอยู่ห่างไกลออกไปนั้น คณะวิทยาศาสตร์จึงตั้งชื่อเรียกเป็น “กระท่อมลึกลับ” โดยยังไม่สามารถตอบได้ว่า กระท่อมลึกลับนั้น คืออะไร ?
หลังการค้นพบ “กระท่อมลึกลับ” ผู้ควบคุมการทำงาน รถโรเวอร์กระต่ายหยก-2 ก็ได้ปรับเส้นทางการสำรวจดวงจันทร์ของรถโรเวอร์กระต่ายหยก-2 ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลา 2-3 วัน ของดวงจันทร์จึงจะเข้าไปใกล้พอจะตอบอย่างแน่ชัดขึ้นได้
ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองในเวลาพอๆ กับที่โคจรรอบโลกหนึ่งรอบ หนึ่งวันบนดวงจันทร์จึงยาวประมาณ 1 เดือนของโลก ดังนั้นจึงคาดว่า รถโรเวอร์กระต่ายหยก-2 จะเข้าใกล้กระท่อมลึกลับได้มากพอในประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม ของปี พ.ศ.2565 แล้วปริศนาก็น่าจะคลี่คลายได้ว่า กระท่อมลึกลับบนดวงจันทร์นั้นคืออะไร
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ของจีนและของโลก คาดว่ากระท่อมลึกลับนั้น น่าจะเป็นกองหินดินแข็งที่กระเด็นขึ้นมาจากพื้นผิวดวงจันทร์จากการถูกชนด้วยอุกกาบาต แล้วกองกันเป็นรูปร่างคล้ายกระท่อมจากระยะทางไกลๆ มิใช่สิ่งลึกลับถูกสร้างขึ้นมา “อย่างตั้งใจ”
ถึงกระนั้น การศึกษากระท่อมลึกลับนั้น ก็ยังเป็นประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างมาก เพราะจะเป็นแหล่งข้อมูลหลักฐานสำหรับการศึกษาสภาพภายในของพื้นผิวของดวงจันทร์ และผลจากการที่ดวงจันทร์ถูกชน
(7) นาฬิกาวันสิ้นโลก
นาฬิกาวันสิ้นโลก (DOOMSDAY CLOCK) ถูกตั้งเวลาเข้าใกล้เที่ยงคืนมากที่สุด คือ 100 วินาทีถึงเที่ยงคืนเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 และก็ยังคงเวลาเตือนมนุษย์ถึงมหันตภัยที่คุกคามมนุษย์ไว้ที่เดิม คือ 100 วินาทีถึงเที่ยงคืน เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 แล้วการเตือนครั้งต่อไปคือเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ล่ะจะเป็นอย่างไร?
ตั้งแต่การเริ่มต้นตั้งเวลานาฬิกาวันสิ้นโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2490 ปัจจัยที่ใช้เป็นฐานพิจารณาตั้งเวลาของนาฬิกาวันสิ้นโลก คือ ภัยสงครามนิวเคลียร์ ต่อมาถึงปี พ.ศ. 2550 จึงมีการเพิ่มปัจจัยเพื่อการพิจารณาที่สำคัญหนึ่งปัจจัย คือ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก หรือ CLIMATE CHANGE พ่วงด้วยปัจจัยเสริม คือ ภัยจากเทคโนโลยีประเภท DISRUPTIVE TECHNOLOGY (เทคโนโลยีมีผลกระทบรุนแรงต่อมนุษย์) ดังเช่น ปัญญาประดิษฐ์ และภัยจากอาวุธชีวภาพ
...
ในการตั้งเวลานาฬิกาวันสิ้นโลกเข้าใกล้เที่ยงคืนมากที่สุดเป็นครั้งแรกที่ 100 วินาทีถึงเที่ยงคืน คณะกรรมการของนักวิทยาศาสตร์อะตอมผู้ดูแลและรับผิดชอบการตั้งเวลานาฬิกาอะตอมกล่าวว่า ผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้คณะกรรมการตัดสินใจเตือนภัยด้วยนาฬิกาวันสิ้นโลกในระดับสูงสุด และสำหรับปี พ.ศ. 2564 นาฬิกาวันสิ้นโลกก็ยังเตือนภัยสูงสุดอยู่ที่เดิม คือ 100 วินาทีถึงเที่ยงคืน
สำหรับการตั้งเวลานาฬิกาวันสิ้นโลกครั้งต่อไป ซึ่งกำหนดจะเป็นในเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 จึงต้องจับตากันว่าจะเป็นอย่างไร คือจะอยู่ที่เดิม (สถานการณ์ยังคงอยู่ในระดับวิกฤติเท่าเดิม) เข้าใกล้เที่ยงคืนเข้าไปอีก (สถานการณ์เข้าสู่ระดับวิกฤติมากขึ้น ) หรือถอยห่างจากเที่ยงคืนมากขึ้น (สถานการณ์ผ่อนคลายลง)
น่าสนใจว่า ในการตั้งนาฬิกาวันสิ้นโลกครั้งก่อนเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2564 คณะผู้ตั้งเวลานาฬิกาวันสิ้นโลกกล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญมีส่วนต่อการตั้งเวลานาฬิกาวันสิ้นโลก การคาดการณ์สำหรับการตั้งเวลาครั้งใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ.2565 จึงคงพิจารณาผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบปี พ.ศ. 2564 และแนวโน้มในปี พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย
...
อย่างเผินๆ ดูเหมือนว่าโควิด-19 น่าจะทำให้การคุกคามของสงครามนิวเคลียร์ลดน้อยหรือผ่อนคลายลง เพราะประเทศต่างๆ ต้องปิดกั้นตนเองมากขึ้น เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นน้อยลง
แต่ก็มีแนวคิดว่า การที่แต่ละประเทศปิดกั้นตนเองได้มากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการพัฒนาและสั่งสมอาวุธนิวเคลียร์มากขึ้นได้อีก
ส่วนเรื่องปัจจัยจากสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ น่าจะทำให้โอกาสที่นาฬิกาวันสิ้นโลกจะถอยห่างจากเที่ยงคืนได้มากขึ้น ดูไม่สดใสนัก เพราะในปี พ.ศ.2564 มีมหันตภัยธรรมชาติที่ถูกมองว่า มีสาเหตุจากเรื่องโลกร้อนเพิ่มขึ้นและรุนแรงขึ้นทั่วโลก ดังเช่น สหรัฐอเมริกาภาคกลาง ที่ถูกถล่มด้านพายุทอร์นาโดมากถึงกว่า 30 ลูก ในช่วงเวลาเพียง 2 วัน ของวันที่ 11 และ 12 เดือนธันวาคม
(8) ภารกิจเอกโซมาร์สครั้งที่สองสู่ดาวอังคาร
ถ้าไม่เกิดเหตุขัดข้องขึ้นมาอีก โครงการเอกโซมาร์ส (EXOMARS) ก็จะได้เดินหน้าส่งรถโรเวอร์ออกเดินทางจากนอกโลกในปี พ.ศ.2565 เพื่อลงสำรวจดาวอังคารในปี พ.ศ. 2566
โครงการเอกโซมาร์สเป็นโครงการร่วมขององค์การอวกาศยุโรปอีซา (ESA) และองค์การอวกาศรัสเซียรอสคอสมอส (ROSCOSMOS) เพื่อสำรวจหาหลักฐานเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในอดีตของดาวอังคาร และสภาพทางธรณีวิทยาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ประกอบด้วยภารกิจปฏิบัติการ 2 ครั้ง
ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2559 เป็นปฏิบัติการส่งยานทีจีโอ (TGO : TRACE GAS ORBITER) ไปโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จ เพื่อปฏิบัติภารกิจตรวจหาแก๊สดังเช่น มีเทน และไฮโดรเจน อยู่ในอวกาศรอบดาวอังคาร แต่ล้มเหลวในการส่งยานลงจอดสเกียปาเรลลี อีดีเอ็ม ( SCHIAPARELLI EDM : SCHIAPARELLI ENTRY, DESCENT, AND LANDING) บนดาวอังคาร
...
สเกียปาเรลลี่ เป็นชื่อของ GIOVANNI SCHIAPARELLI นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีผู้ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องศึกษาดาวอังคาร และบรรยายเห็นสิ่งคล้าย “คลอง” บนดาวอังคาร
ปฏิบัติการภารกิจครั้งที่ 2 ของเอกโซมาร์สถูกเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง จนกระทั่งถึงล่าสุดที่คาดกันว่า จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2565 จะส่งยานเป็นฐานลงจอดบนดาวอังคารชื่อ คาซาชอค (KAZACHOK) แปลว่า “คอสแซกน้อย” และรถโรเวอร์สำรวจดาวอังคารชื่อ โรซาลินค์ แฟรงคลิน (ROSALIND FRANKLIN) ตามชื่อของนักวิทยาศาสตร์หญิงอังกฤษโรซาลินค์ แฟรงคลิน ผู้มีบทบาทสำคัญในการค้นพบหน่วยพื้นฐานพันธุกรรมของชีวิต คือ ดีเอ็นเอ
ตามแผนล่าสุด ยานลงจอดคาซาชอค และรถโรเวอร์โรซาลินด์ แฟรงคลิน จะเดินทางจากโลกด้วยจรวดโปรตอนของรัสเซีย วันที่ 20 เดือนกันยายน พ.ศ. 2565 ถึงดาวอังคารและลงจอดบนดาวอังคาร วันที่ 10 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 ที่ตำแหน่งบนดาวอังคารเรียก โอเซีย พลานัม (OXIA LANUM) มีสภาพเป็นที่ราบดินโคลนกว้าง 200 กิโลเมตร
หลังจากลงจากฐานจอด รถโรเวอร์โรซาลินด์ แฟรงคลินจะปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารในการค้นหาร่องรอยหลักฐานเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่เคยมีอยู่ในอดีต ซึ่งรวมถึงการขุดเจาะลงไปใต้พื้นผิวดาวอังคารได้ลึกถึง 2 เมตร ซึ่งไม่เคยมีรถโรเวอร์หรือฐานปฏิบัติการสำรวจดาวอังคารใดๆ เคยทำได้มาก่อน
กำหนดอายุปฏิบัติการของรถโรเวอร์โรซาลินค์ แฟรงคลิน บนดาวอังคาร จะเป็นเวลาประมาณ 7 เดือน หรือ 218 วัน ของดาวอังคาร ซึ่งก็พอๆ กับเวลาบนโลก
ดาวอังคารโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบกินเวลามากกว่าโลกประมาณสองเท่า กล่าวคือ 1ปีของดาวอังคาร ยาวนานพอๆ กับเวลา 2 ปีของโลก แต่เวลา 1วันของดาวอังคาร ก็ยาวนานพอๆ กับเวลา 1 วันของโลก ถึงแม้ 1 วันของดาวอังคาร จริงๆ แล้ว จะยาวกว่า 1 วันของโลกประมาณ 40 นาที
(9) เครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่เริ่มเดินเครื่องครั้งใหม่
หลังการหยุดเดินเครื่องเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของ แอลเอชซี (LHC) หรือเครื่องชนอนุภาคแฮดรอนขนาดใหญ่ (LARGE HADRON COLLIDER) ของเซิร์น (CERN) เป็นเวลา 2 ปี ก็ถึงเวลาการเดินเครื่องครั้งใหม่ในปี พ.ศ.2565 และความก้าวหน้าของเซิร์นสำหรับแผนการสร้างเครื่องชนอนุภาคเครื่องใหม่ เรียกว่า เอฟซีซี (FCC) จากชื่อเต็ม (FUTURE CIRCULAR COLLIDER) ทรงพลังกว่า แอลเอชซี ประมาณ 30 เท่า
แอลเอชซีเป็นเครื่องเร่งอนุภาคจำพวกแฮดรอนดังเช่น โปรตอนให้ชนกันที่ใหญ่และทรงพลังที่สุดในโลกปัจจุบัน เริ่มต้นทำงานครั้งแรกระหว่างปี พ.ศ.2552-2556 หยุดเดินเครื่องเพื่อปรับปรุงครั้งแรกระหว่างปีพ.ศ.2556-2558 เปิดเครื่องทำงานครั้งที่สองระหว่างปี พ.ศ.2558-2561 ปิดเครื่องเพื่อปรับปรุงครั้งที่สองระหว่างปี พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน และเซิร์นกำหนดแผนเปิดเดินเครื่องครั้งใหม่เดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม พ.ศ. 2565
เป้าหมายหลักของเครื่องแอลเอชซี คือ การค้นหาหลักฐานและคำตอบเกี่ยวกับกลไกพื้นฐานของจักรวาล ซึ่งมีแบบจำลองมาตรฐาน (STANDARD MODEL) เป็นทฤษฎีพื้นฐานที่ใช้กันมานาน และแนวคิดทฤษฎีใหม่ที่ซับซ้อนกว่าแบบจำลองมาตรฐาน ดังเช่น ทฤษฎีใหม่จากการรวมกันของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปกับทฤษฎีควอนตัม
ผลการทำงานของเครื่องแอลเอชซีที่สำคัญ คือ การค้นพบอนุภาคสิกส์ หรือ ฮิกส์โบซอนที่ เรียกกันเป็น “อนุภาคพระเจ้า” ในปี พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นปีก่อนสุดท้ายช่วงแรกของการเปิดเครื่องทำงาน โดยตลอดช่วงเวลาการทำงานทั้งหมดของเครื่องแอลเอชซีถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ได้มีการพบอนุภาคแฮนดรอนใหม่จำนวน 59 ชนิด
สำหรับความคิดการสร้างเครื่องชนอนุภาคใหม่ที่มีพลังมากกว่าแอลเอชซี เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 หลังการประกาศการค้นพบ ฮิกส์โบซอนอย่างเป็นทางการ เพราะเริ่มคาดกันว่า บางที ฟิสิกส์อาจจำเป็นต้องมีเครื่องชนอนุภาคที่ทรงพลังกว่าแอลเอชซี เพื่อให้ได้คำตอบที่ลึกลงไปจริง ที่เป็นเป้าหมายของแอลเอชซี เนื่องจากการค้นพบอนุภาคฮิกส์ ซึ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทฤษฎีแบบจำลองมาตรฐานขึ้นไปอีก แต่ในขณะเดียวกันก็มิได้ให้คำตอบหรือแก้ไขปัญหาใหญ่ของฟิสิกส์ ทั้งส่วนที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีแบบจำลองมาตรฐาน และปัญหาใหญ่ใหม่ๆ ของฟิสิกส์เกี่ยวกับสสารมืด (DARK MATTER) เกี่ยวกับความไม่สมดุลของอนุภาคกับปฏิอนุภาคในจักรวาล (ที่จักรวาลของเรา มีอนุภาคมากกว่าปฏิอนุภาคอย่างมาก)
จากปี พ.ศ. 2556 มา ความคิดของเซิร์นเกี่ยวกับเครื่องชนอนุภาคใหม่ก็ยิ่งชัดเจนขึ้น จนกระทั่งในที่สุด เมื่อไม่นานมานี้เอง เซิร์นจึงประกาศอย่างเป็นทางการว่า มีแผนจะสร้างเครื่องชนอนุภาคเรียก เอฟซีซีที่มีเส้นรอบวงยาวประมาณ 100 กิโลเมตร (เครื่องแอลเอชซีมีเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร) และทรงพลังมากกว่าแอลเอชซีถึงประมาณ 30 เท่า
แต่โครงการเอฟซีซีเป็นโครงการระยะยาว คาดว่าจะเริ่มขุดอุโมงค์สำหรับเครื่องเอฟซีซีในอีกประมาณ 10 ปี ข้างหน้า คือ พ.ศ. 2573
สำหรับเครื่องแอลเอชซี จะยังทำงานต่อไปอีกประมาณ 20 ปี โดยจะมีช่วงการพักเครื่องเพื่อซ่อมบำรุง และเพิ่มศักยภาพ
(10) จาก “คอป 26” สู่ “คอป 27” ที่อียิปต์
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือคอป 26 (COP 26) ที่มืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 จบลงไปแล้ว และโลกก็จับตามองรอบต่อไปของการประชุมคอป 27 ที่จะเกิดขึ้นปลายปี พ.ศ. 2564 ที่ประเทศอียิปต์
การประชุม “คอป” สำคัญเพราะเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการของตัวแทนจากแทบทุกประเทศทั่วโลก และจัดโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (CLIMATE CHANGE) หรือ วิกฤติโลกร้อน (GLOBAL WARMING) ผลงานสำคัญที่รู้จักกันดี และมีบทบาทสำคัญสำหรับต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน คือ (KYOTO PROTOCOL) (พิธีสารเกียวโต) ที่หมดอายุไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2563 และความตกลงปารีส (PARIS AGREEMENT) พ.ศ. 2558 กำหนดเป้าหมายการลดปริมาณของแก๊สเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม
ผลการประชุมคอป 26 มีสัญญาณที่ดีดังเช่น การหันกลับมาจับมือกันระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน ที่จะร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาเรื่อง โลกร้อน หลังจากที่สหรัฐอเมริกา (โดยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์) ได้ถอนประเทศจากข้อตกลงปารีส และผลการประชุมอย่างเป็นทางการของคอป 26 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 โดยผู้แทนจากเกือบ 200 ประเทศ เกิดเป็น “GLASGOW CLIMATE PACT” (ความร่วมมือภูมิอากาศกลาสโกว์)
สาระสำคัญของ GLASGOW CLIMATE PACT คือ การกำหนดขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับการลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศ การรายงานผลการดำเนินงานที่บ่อยขึ้น การระดมทุนจากประเทศอุตสาหกรรมเพื่อช่วยประเทศรายได้ต่ำ และปานกลางที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน
ปฏิกิริยาจากนักวิทยาศาสตร์ผู้มีบทบาท หรือเกาะติดปัญหาโลกร้อนโดยทั่วไป พอใจกับผลของคอป 26 ที่มีข้อตกลงเป็นความร่วมมือสำหรับการแก้ปัญหาโลกร้อนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่หลายคนก็แสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนว่า ขั้นตอนที่ตกลงกันได้นั้น ไม่ชัดเจนหรือไม่มากพอที่จะแก้วิกฤติโลกร้อนได้จริง หลายคนก็แสดงความผิดหวังที่ไม่มีข้อสรุปในแผนชัดเจนพอสำหรับเรื่อง การชดเชยความสูญเสียและความเสียหายแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศครั้งต่อไป คือ คอป 27 ถูกกำหนดให้เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 8-20 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ที่เมืองชาร์ม เอล ชีค (SHAM EL SHEIKH) ประเทศอียิปต์
ประเด็นใหญ่ที่จะถูกจับตากันในคอป 27 ที่ต่อเนื่องจากคอป 26 คือ ข้อเสนอของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอุตสาหกรรม สำหรับส่วนความรับผิดชอบที่ชัดเจนขึ้นและเข้มข้นขึ้นอีก เพื่อการบรรลุถึงความตกลงปารีสที่จะช่วยกันลดอุณหภูมิโลกร้อนให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเหนืออุณหภูมิบรรยากาศโลกก่อนยุคอุสาหกรรม
ฝ่ายนักวิทยาศาสตร์โลกร้อนก็จะรายงานผลการติดตามปฏิบัติการลดอุณหภูมิโลกร้อนที่สัญญากันไว้ในการประชุมคอป 26 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดการใช้ถ่านหินและการจำกัดแก็สมีเทนที่ถูกปล่อยเข้าสู่บรรยากาศโลก