“คริปโตเคอร์เรนซี” เทรนด์การลงทุนของคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและก้าวกระโดด จากการให้ “ผลตอบแทน” ที่เริ่มจะค่อยๆ ขยับขึ้นไปสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าในบางประเทศจะยังไม่ยอมรับให้สามารถนำไปชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย รวมถึงยังเต็มไปด้วยความผันผวนก็ตาม
แล้วในปี 2021 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป อะไรคือ “ไฮไลต์สำคัญ” สำหรับความร้อนแรงที่ยากจะฉุดรั้งนี้บ้าง จากมุมทัศนะของ “จอห์น แพทริค ลี” (John Patrick Lee) นักวิเคราะห์จาก VacEck Associates Corporation บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก
สำหรับ จอห์น แพทริค ลี แล้ว ปี 2021 ถือเป็นปีที่ยิ่งใหญ่แห่งการยอมรับและการพัฒนาของ “คริปโตเคอร์เรนซี” และคาดว่าจากแรงผลักที่เกิดขึ้นจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2022
ส่วน “ตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” ปี 2021 มีอะไรที่เป็น Highlight บ้างในสายตาของนักวิเคราะห์ด้านการลงทุนคนนี้ ลองตามฟังการวิเคราะห์ในบรรทัดด้านล่างนี้กันดู
...
ปี 2021 : ดิสรัปชัน และความเรืองรองของคริปโตฯ
1. Fintech และการชำระเงินแบบดั้งเดิม (จำยอม) อ้าแขนรับ Blockchain และ Crypto มากขึ้น
ปัจจุบันน่าจะเป็นที่รับทราบโดยทั่วกันแล้วว่า “อุตสาหกรรมให้บริการทางการเงิน” กำลังถูก Disruption จาก “ขาขึ้น” ของ Blockchain อันเป็นผลมาจากการมีประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการทำธุรกรรม อันเกิดจากเทคโนโลยีนี้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลาง (ธนาคารและสถาบันทางการเงิน) จนนำไปสู่การลดต้นทุนการทำธุรกรรมต่างๆ ลงในทันที
ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จาก VacEck Associates Corporation จึงแสดงความเชื่อมั่นว่า ที่สุดแล้ว Blockchain จะนำพาทิศทางการเงินโลกไปสู่ “ภาวะเงินฝืด”
โดยในปี 2021 นี้ เหล่า Payment Company ยักษ์ใหญ่ทั้ง PayPal, Venmo, Mastercard หรือแม้กระทั่ง Twitter ได้อนุญาตให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมผ่าน “บิตคอยน์” ได้แล้ว
2. การใช้ธุรกรรม Blockchain และ Smart Contract พุ่งทะลุมูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้วยคุณสมบัติที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลายของเครือข่าย Ethereum ตั้งแต่การเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลแบบ Non-Fungible Tokens (NFT) ไปจนถึง Smart contract ต่างๆ
ดังนั้นจึงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากนักที่เราจะได้เห็นอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดในการทำธุรกรรมผ่านทางเครือข่าย Ethereum รวมถึงการนำ Ethereum มาใช้เป็นฐานของนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เช่น NFTs ให้แพร่หลายอย่างรวดเร็วในปี 2021 ที่กำลังจะผ่านไป
โดยนักวิเคราะห์คาดว่าขนาดของเครือข่าย Smart contract เช่น Ethereum และ Solana จะมีความเติบโตในด้านการทำธุรกรรม รวมถึงมีมูลค่าทางสัญญาที่เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับเครือข่ายผู้เข้าร่วม และการใช้งานยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
3. Bitcoin เริ่มต้นฉายศักยภาพอย่างเต็มที่ ในฐานะผู้ทำลายเงินกระดาษ (Fiat currency) โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่
นับตั้งแต่มีการเปิดตัว บิตคอยน์ เมื่อปี 2009 เป็นต้นมา บรรดานักลงทุนจำนวนมากมองว่าบิตคอยน์ เป็น “Safe Haven” จากผลกระทบด้านลบของนโยบายการเงินและการคลังที่บังคับใช้ทั้งในตลาดประเทศที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ เนื่องจาก บิตคอยน์ มีจุดเด่นเรื่องการกระจายอำนาจและอุปทานคงที่ และไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่มักจะส่งผลกระทบต่อสกุลเงินทั่วโลก ขณะเดียวกันในมุมมองด้านภูมิรัฐศาสตร์ บิตคอยน์ ยังทำให้ตลาดเกิดใหม่มีทางเลือกทางการเงิน แทนการพึ่งพาเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือธนาคารโลก ซึ่งโดยมากมักทำให้เกิดปัญหารุนแรงทางเศรษฐกิจตามมา
...
โดยล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 เอลซัลวาดอร์ ได้กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ยอมรับให้ บิตคอยน์ สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแล้ว
4. การปราบปรามการขุดเหมืองคริปโตฯ ในประเทศจีน เปลี่ยนส่วนแบ่งการตลาดโลก
ประเทศจีนมีความสัมพันธ์ในแบบทั้งรักและเกลียดกับบิตคอยน์ นับตั้งแต่มีการเปิดตัวในตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อปี 2009 โดยด้านหนึ่งนักขุดเหมืองจีนสามารถควบคุม Hash Rate หรือการประเมินอัตราประมวลผลในการขุดบิตคอยน์ทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหลักของชิป ASIC ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเน้นไปที่การขุดบิตคอยน์เป็นหลักด้วย
แต่ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจีนกลับขู่ว่าจะประกาศห้ามขุด หรือซื้อขายบิตคอยน์ อีกทั้งยังออกมาตรการควบคุมต่างๆ ที่สุดเข้มงวดในตลาดคริปโตฯ มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจะไปจบลงที่การห้ามขุด ซื้อขาย หรือแลกเปลี่ยน อย่างเด็ดขาด ซึ่งประเด็นนี้ทำให้บรรดานักขุดเหมืองชาวจีนพากันหนีออกนอกประเทศ จนกระทั่งกระทบต่อส่วนแบ่งการตลาดการขุดเหมืองคริปโตฯ โลกทันที
5. Crypto IPO สัญลักษณ์ที่เน้นย้ำถึงการเติบโตของตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
...
ปี 2021 ถือเป็นปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับบริษัทต่างๆ ที่เข้าสู่วงการคริปโตฯ โดยเฉพาะกรณี “คอยน์เบส” (Coinbase) บริษัทผู้ให้บริการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซียักษ์ใหญ่ ที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ในฐานะสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq เมื่อเดือนเมษายน โดยได้รับการประเมินมูลค่าเป็นสองเท่าของตลาด Nasdaq และมีขนาดเกือบเท่ากับบริษัท Intercontinental Exchange หรือ ICE บริษัทแม่ของตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) อีกด้วย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ