นับตั้งแต่มีรายงานการค้นพบเป็นครั้งแรกในวันที่ 24 พ.ย.64 และได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการจากองค์กรอนามัยโลก เมื่อวันที่ 26 พ.ย.64 เป็นต้นมา ผ่านมาแล้วเกือบ 1 เดือน วิทยาศาสตร์ สามารถค้นหา “คำตอบ” อะไรเพิ่มเติมจาก สายพันธ์ุโอมิครอน (Omicron) ได้บ้างแล้ว จาก 3 คำถามใหญ่ๆ ที่ประกอบด้วย
1. ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อเหนือกว่าสายพันธ์ุเดลตาหรือไม่?
2. ผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตมากน้อยแค่ไหน?
3. จะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน?
“เรา” ไปเริ่มกันที่ รายงานเกี่ยวกับ “สายพันธุ์โอมิครอน” อย่างเป็นทางการฉบับแรกของ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ หรือ CDC ที่มีการอัปเดตเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.64 กันก่อน
...
ความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อของสายพันธุ์โอมิครอน
ตามรายงานของ CDC ระบุว่า “สายพันธุ์โอมิครอน” มีแนวโน้มว่าสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่า “โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิม” แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอในกรณีการเปรียบเทียบกับ “สายพันธุ์เดลตา”
อย่างไรก็ดี CDC คาดว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนทุกคน สามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ ถึงแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีน หรือ ไม่มีอาการป่วยก็ตาม
สายพันธุ์โอมิครอน จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือไม่?
ยังจำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแพร่กระจายเชื้อของสายพันธุ์โอมิครอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการติดเชื้อซ้ำและกรณีการติดเชื้อลุกลามในกลุ่มผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบสูตร รวมถึงการทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตที่รุนแรงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ
วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถต้านทานสายพันธุ์โอมิครอนได้หรือไม่?
วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน “คาดว่า” จะสามารถช่วยเรื่องการเจ็บป่วยรุนแรง การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ การเสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธ์ุโอมิครอนได้
อย่างไรก็ดี “การติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร” สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับ “โคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ” โดยเฉพาะ “สายพันธุ์เดลตา” แต่แม้กระนั้น วัคซีนยังคงสามารถช่วยเรื่องการเจ็บป่วยรุนแรง การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ การเสียชีวิต ได้ ด้วยเหตุนี้การฉีดวัคซีนยังคงเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเวลานี้
สามารถรักษาการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ได้หรือไม่?
นักวิทยาศาสตร์กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาว่า การรักษาการติดเชื้อโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันสามารถให้ผลลัพธ์ได้มากน้อยแค่ไหน กับ สายพันธุ์โอมิครอน อย่างไรก็ดี การรักษาบางอย่างมีแนวโน้มว่ายังคงมีประสิทธิภาพ
ข้อแนะนำเพิ่มเติมจาก CDC
CDC แนะนำให้ “ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป” ป้องกันตนเองจากโควิด-19 ด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีนครบสูตร นอกจากนี้ “ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป” ที่ผ่านการฉีดวัคซีนครบสูตรแล้ว “ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข้มกระตุ้น”
โดยในกรณีผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนจอนห์สัน แอนด์ จอนห์นสัน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังผ่านไปอย่างน้อย 2 เดือน ส่วนผู้ที่ได้รับ วัคซีนไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังผ่านการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หลังผ่านไปอย่างน้อย 6 เดือน
นอกจากนี้ CDC ยังเน้นย้ำว่า “ทุกคน” ควรสวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะในที่ร่ม หรือในบริเวณชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของโรคสูงด้วย
...
การทดสอบการติดเชื้อในปัจจุบัน กับ สายพันธุ์โอมิครอน?
CDC ระบุในประเด็นนี้ว่า การตรวจสารพันธุกรรม Nucleic Acid Amplification Tests (NAAT) และ Antigen tests ยังคงสามารถใช้ได้กับการติดเชื้อโควิด-19 แต่ในกรณีการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน จำเป็นต้องมีการทดสอบเพิ่มเติม
สถานการณ์การแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอนในสหรัฐฯ ล่าสุด?
นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนคนแรกในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.64 จนถึงวันที่ 10 ธ.ค.64 สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนแล้ว 43 คน ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตและส่วนใหญ่มีอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง โดยอาการที่พบมากที่สุด คือ ไอ เหนื่อยล้า คัดจมูกหรือมีน้ำมูกไหล
โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนครบสูตร และมีจำนวนถึง 14 คนที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว
** หมายเหตุ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในสหรัฐฯ ล่าสุด จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 50,801,455 คน เสียชีวิตสะสม 817,956 ศพ
รายงานผู้ติดเชื้อรายวันในรอบสัปดาห์ล่าสุด
7 ธ.ค.64 ติดเชื้อ 123,423 เสียชีวิต 1,955 ศพ
8 ธ.ค.64 ติดเชื้อ 129,196 เสียชีวิต 1,493 ศพ
9 ธ.ค.64 ติดเชื้อ 133,385 เสียชีวิต 1,417 ศพ
10 ธ.ค.64 ติดเชื้อ 136,836 เสียชีวิต 1,580 ศพ
11 ธ.ค.64 ติดเชื้อ 57,414 เสียชีวิต 446 ศพ
...
สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หลังการปรากฏตัวของสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศแอฟริกาใต้?
อัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศแอฟริกาใต้กระโดดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมกันถึง 62,021 คน ระหว่างวันที่ 29 พ.ย. - 5 ธ.ค.64 หรือ เพิ่มขึ้น 111% เมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้
แม้ในเบื้องต้นจะยังไม่สามารถระบุได้ว่า ผู้ติดเชื้อทั้งหมดติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน แต่ปรากฏการณ์ที่ว่านี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่มีรายงานการค้นพบสายพันธุ์โอมิครอน
** หมายเหตุ ล่าสุดวันที่ 12 ธ.ค.64 แอฟริกาใต้ มีรายงานผู้ติดเชื้อ 37,875 คน เสียชีวิต 21 ศพ **
รายงานเรื่องการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในแอฟริกาใต้?
จากรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในทวีปแอฟริกา ของ WHO ณ วันที่ 9 ธ.ค.64 ระบุว่า จากการตรวจสอบการรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศแอฟริกาใต้ พบว่า “สายพันธุ์โอมิครอน” อาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการเจ็บป่วยรุนแรงน้อยลง
...
โดยในรายงานดังกล่าวระบุว่า ระหว่างวันที่ 14 พ.ย.- 4 ธ.ค. พบว่ามีผู้ป่วยหนัก ที่ต้องเข้าใช้บริการ ICU เพียง 6.3% ซึ่งถือเป็น “ค่าเฉลี่ยในระดับต่ำมาก” หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันที่ประเทศแอฟริกาใต้ต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยจากตัวเลขผู้ป่วย 1,200 คน มี 98 คน ที่ต้องได้รับออกซิเจนเสริม และมีเพียง 4 รายเท่านั้น ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าว เป็นเพียงการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ด้วยเหตุนี้หากจำนวนกลุ่มตัวอย่างมีความเปลี่ยนแปลง ค่าผลกระทบของสายพันธุ์โอมิครอน ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามได้เช่นกัน
จากจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอน เกือบ 1,000 คนทั่วโลกใน 57 ประเทศ (ตามรายงานฉบับนี้) เป็นผู้ติดเชื้อในทวีปแอฟริกาคิดเป็นสัดส่วนถึง 46% นอกจากนี้ ปัจจุบัน “ทวีปแอฟริกา” ถือเป็นทวีปที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากร “ต่ำที่สุดในโลก” โดยจากจำนวนวัคซีนที่ได้รับการส่งมอบรวมกัน 372 ล้านโดส และเพิ่งมีการดำเนินการฉีดวัคซีนไปรวมกันเพียง 248 ล้านโดส หรือคิดเป็นเพียง 3% ของปริมาณวัคซีนรวม 8,200 ล้านโดส ที่กระจายกันอยู่ทั่วโลกในเวลานี้ โดยมีประชากรในทวีปแอฟริกาทั้งทวีป เพียง 7.8% เท่านั้น ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบสูตร
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านเพิ่มเติม