“Supply chain disruptions”
“ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน”

“ปัญหาใหญ่” ที่เกาะกินระบบเศรษฐกิจโลก อันเนื่องมาจากพิษภัยการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่?

ในวันนี้ “เรา” ลองมาฟังบทวิเคราะห์ “ด้านบวก” ที่บางทีอาจช่วยให้บรรดานักลงทุน เริ่มมองเห็นแสงสว่างที่อยู่รำไรกันบ้างแม้เพียงสักนิดก็ยังดี

โดยบทวิเคราะห์ของ “Euler Hermes” บริษัทประกันภัยสินเชื่อทางการค้าระดับโลก ระบุว่า...

การหดตัวของปริมาณการค้าโลกในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2021 มีปัจจัยสำคัญที่มาจากปัญหาด้านภาคการผลิตถึง 75% ส่วนอีก 25% มาจากปัญหาเรื่องคอขวดด้านโลจิสติกส์ (ส่วนใหญ่มาจากความแออัดของท่าเรือในประเทศจีน) และแม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปริมาณการค้าโลกเริ่มมีแนวโน้มการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย (+0.8% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี หลังจากไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ -1.1%)

...

หากแต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 กลับมี “ความเสี่ยง” ที่อาจจะปรับตัวลดลงถึง 2 เท่า อันเป็นผลมาจาก “ความผันผวนของกระแสการค้า” ที่ยังคงอยู่ ซึ่งประกอบไปด้วย ปัญหาการแพร่ระบาดของ “สายพันธุ์โอมิครอน” ซึ่งมีแนวโน้มว่า อาจทำให้หลายๆ ประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดอีกครั้ง “นโยบาย Zero-Covid ของรัฐบาลจีน” และ “การคาดการณ์เรื่องความผันผวนทางการค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีน” จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ “ห่วงโซ่อุปทานโลก” ต่อไป

อย่างไรก็ดีในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2022 ปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ที่ประกอบด้วย 1. ความต้องการบริโภคที่ลดลง 2. การบริหารจัดการสินค้าคงคลังที่แข็งแกร่งขึ้น 3. ความสามารถในการขนส่งที่ดีขึ้น จะผลักดันให้เกิดการฟื้นฟูทางการค้าและอุปทาน จนกระทั่งทำให้ “ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน” ซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เป็นต้นมานั้น ได้เดินทางมาถึงจุดสูงสุดแล้ว และกำลังจะค่อยๆ คลี่คลายลงในที่สุด

1. ความต้องการบริโภคที่ลดลง

แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 ผู้บริโภคยังคงมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้าคงทนในระดับสูง เนื่องจากเงินออมส่วนเกินที่สะสมไว้ในช่วงการแพร่ระบาดก่อนหน้านี้ยังไม่หมดลง อันเป็นผลมาจากมีการอัดฉีดเม็ดเงินลงไปในระบบเพื่อกระตุ้นอุปสงค์มากกว่าอุปทานของรัฐบาลต่างๆทั่วโลกในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว มีการใช้เม็ดเงินก้อนโตเทียบเท่ากับ 25% ของ GDP

นอกจากนี้ ความเคยชินกับมาตรการ Lockdown ต่างๆ ทำให้ ภาคครัวเรือน เริ่มสามารถปรับตัวกับการจับจ่ายใช้สอยได้เป็นปกติ แม้ว่าอาจจะต้องเผชิญหน้าปัจจัยลบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งต่อไปก็ตาม

อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อเงินออมส่วนเกินเริ่มลดลงจากการที่รัฐบาลของหลายๆ ประเทศเริ่มค่อยๆ ผ่อนปรนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกทั้งยังผ่านจุดสูงสุดของความต้องการในการบริโภคไปแล้ว “การเริ่มระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย” จะทำให้ห่วงโซ่อุปทานอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ลดน้อยลง

...

2. ปริมาณสินค้าคงคลังอยู่ในระดับ ก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19

หลังจากมีการลดสต๊อกสินค้าในช่วงต้นปี 2020 บรรดาผู้ผลิตต่างเร่งรีบในการเติมสต๊อก เพื่อรับมือกับอุปสงค์ที่ดีดตัวขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

โดยปริมาณการเติมสต๊อกได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และระดับสินค้าคงคลังอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยระยะยาวก่อนเกิดวิกฤติอย่างมีนัยสำคัญ ในหลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และโทรคมนาคม รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ถึงแม้ยังจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ก็ตาม จากการเก็บข้อมูลของ “Euler Hermes”

3. ความสามารถในการขนส่งสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

คำสั่งซื้อเรือคอนเทนเนอร์ใหม่ทั่วโลกที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 6.4% ของกองเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน และคาดว่าน่าจะเข้าประจำการและเดินเรือได้ในช่วงครึ่งปีหลังของ ปี 2022 นั้น เมื่อประกอบเข้ากับ การที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีแผนที่จะทุ่มเม็ดเงินลงทุนจำนวนถึง 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปใช้สำหรับปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในท่าเรือและเส้นทางเดินเรือในสหรัฐฯ “Euler Hermes” จึงคาดการณ์ว่า นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาคอขวดในภาคการขนส่งลงได้อย่างมากแล้ว ในระยะสั้นๆ ยังจะช่วยทำให้ “ค่าขนส่ง” ค่อยๆ “ปรับตัวลดลง” จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 ด้วย หลังจากก่อนหน้านี้เคยทำสถิติพุ่งขึ้นไปสูงสุดในเดือนกันยายน 2021 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ถึง 6-7 เท่ามาแล้ว!

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ