การประชุมของบรรดาผู้นำทั่วโลกในวาระ COP26 นี้ หลายๆ คนอาจจะไม่ได้ใส่ใจมากนัก แต่สาระสำคัญที่อยู่ภายในนั้นกลับมีความสำคัญต่อ "มนุษย์" และ "สิ่งมีชีวิต" ที่ดำรงอยู่บนโลกใบนี้อย่างมาก ดังนั้น เราจึงไม่ควรให้มันจบแค่ในวงประชุม!!
COP26 คืออะไร?
COP26 เป็นการประชุมเกี่ยวกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก หรือที่เราคุ้นเคยกันดีกับคำว่า Climate Change โดยองค์การสหประชาชาติ หรือ "ยูเอ็น" (UN) ซึ่งปีนี้ (2564) สหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ณ เมืองกลาสโกว ประเทศสกอตแลนด์ มีกำหนดตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน
ทั้งนี้ การพูดคุยจะอยู่ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่ได้ทำข้อตกลงสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ณ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ณ เมืองริโอ หรือ Rio Earth Summit เมื่อปี 2535 เพื่อจัดการแก้ "ภาวะโลกร้อน" ที่ในวันนี้เรียกขานกันว่า "ภาวะโลกรวน" รวมถึงการจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสิ่งต่างๆ เหล่านั้น โดยมีการบังคับใช้เมื่อปี 2537
...
เดิมที COP26 จะจัดในเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่ก็ต้องเลื่อนออกไป เพราะการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งจะมีผู้ลงนามข้อตกลงต่อ UNFCCC กว่า 197 ราย แบ่งเป็น 196 ประเทศทั่วโลก และสหภาพยุโรป หรือ "อียู" (EU) ในการทำให้สนธิสัญญาและพันธสัญญาต่างๆ บรรลุผลสำเร็จ และแน่นอนว่า ไทยเองก็เป็น 1 ใน 196 ประเทศนั้น
ก่อนการประชุม COP26 จะเกิดขึ้น...
ช่วง 2 สัปดาห์ของการพูดคุย COP26 ณ เมืองกลาสโกว ได้มีการประชุมสุดยอดผู้นำ "จี20" (G20) ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในวันที่ 30-31 ตุลาคม โดยมีการคาดการณ์ว่า การประชุมดังกล่าวจะมุ่งให้ความสนใจในแง่มุมที่นอกเหนือจากสาระที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิล และน่าจะมีการประกาศเป้าหมายเพิ่มเติมบน "ข้อตกลงปารีส" (Paris Agreement) เพื่อกำหนดขีดจำกัดอุณหภูมิโลก 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 1.5C ให้เพิ่มเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม
ซึ่งนั่นส่งต่อมาสู่การประชุม COP26 ที่จากถ้อยคำสุนทรพจน์ของบรรดาผู้นำโลกและการวางกรอบพันธสัญญาใหม่อย่างที่มีการวาดหวัง ก็ได้มีการกำหนดจำนวนตัน (ในการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ) สภาพแวดล้อมและลักษณะทั่วๆ ไปในการนำเข้าสู่การเจรจาและหารือร่วมกัน
เมื่อมาถึง COP26 แล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างนับตั้งแต่การประชุม COP ครั้งล่าสุด?
ในเดือนสิงหาคม มีการวางกรอบการดำเนินการให้แคบลง โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้เผยแพร่การอัปเดตล่าสุดของรายงานความครอบคลุมในส่วนภูมิอากาศวิทยา การประเมินครั้งที่ 6 หรือที่เรียกว่า AR6 ที่ได้ "เตือน" ว่า โอกาสที่ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกจะเกินกว่า 1.5C เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมในอีก 20 ปีข้างหน้า มีเพียง 50:50 เท่านั้น และการจำกัด "ภาวะโลกร้อน" หรือ "ภาวะโลกรวน" ให้อยู่ในช่วง 1.5 องศาเซลเซียส หรือ 2 องศาเซลเซียส ได้ภายในศตวรรษนี้ ก็จะไม่มีความเป็นไปได้เลยหากปราศจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้ได้โดยทันที
เหตุผลที่ต้องจำกัดอุณหภูมิโลก คงไม่ต้องขยายภาพให้มากความ เพราะเราสามารถเห็นได้จากข่าวต่างๆ มากมายที่ปรากฏขึ้นเกี่ยวกับความรุนแรงของสภาพอากาศ นับตั้งแต่การเกิดน้ำท่วมในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยุโรปตะวันตก ไปจนถึงการเกิดเฮอริเคนและไฟป่าในสหรัฐอเมริกา
แน่นอนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นหนึ่งในผลกระทบที่ส่งผลเสียต่อสังคมและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอีกด้วย รวมถึงไม่ได้เกิดแค่กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่โดนกันทั้งโลก หมายความว่า ในยามที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องสูญเสียชีวิตมากมายมหาศาลจากภัยพิบัติต่างๆ ขณะเดียวกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ต้องเผชิญกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกมากมายมหาศาลเช่นกัน
โดยจากรายงาน AR6 ย้ำเตือนอีกว่า "การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ถูกโน้มน้าวโดยฝีมือมนุษย์ กำลังส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศต่างๆ อย่างรุนแรงแล้วในทุกๆ ภูมิภาคทั่วโลก..." (ไม่มีใครหนีพ้น)
...
นอกเหนือจากการพูดคุย COP26 ในครั้งนี้ สิ่งที่หลายฝ่ายจับตา คือ การกลับมาอีกครั้งของ "รัฐบาลสหรัฐอเมริกา" ในการดำรงบทบาทของประเทศที่แสนกระตือรือร้นและมุ่งให้ความใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยพยายามผลักดัน ตลอดจนการมุ่งมั่นออกกฎหมาย และการใช้ความสำคัญทางการทูตในการกระตุ้นประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย
ทำไม COP26 ถึงสำคัญ?
COP26 นับเป็นบททดสอบที่สำคัญด่านแรกของ "ข้อตกลงปารีส" เลยก็ว่าได้ หากว่ามีการทำข้อตกลงยอมรับการเพิ่มขีดจำกัดค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และสามารถไปถึงเป้าหมายที่จะไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยหลายๆ ประเทศต้องมีการทำ nationally determined contributions: NDCs หรือการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ซึ่งต้องมีการอัปเดตและปรับปรุงในทุกๆ 5 ปี แต่ 5 ปีล่าสุด... หลายๆ ประเทศกลับมีการชะลอการอัปเดต ด้วยเหตุผลของการแพร่ระบาดโควิด-19 และการเลื่อนการประชุม COP26 มาเป็นปีนี้ (2564)
NDCs ของไทยเราว่าไง?
...
NDC ฉบับปรับปรุงปี 2563 ไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำในที่ประชุม COP26 ว่าจะยกระดับการดำเนินการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากวันนี้ถึงปี 2573 ลดลงให้ได้ 40% โดยจะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในหรือก่อนปี 2608 ได้
แต่ "คำถาม" คือ ในส่วน NCDs ของแต่ละประเทศนั้นยังอยู่บนเป้าหมาย 1.5C หรือไม่?
ในห้วงเวลานี้ แม้จะมีการทดเวลาพิเศษเพิ่มให้อีกก่อนการประชุม COP26 แต่หลายๆ ประเทศก็ยังไม่มีการเสนอตัวเลขใหม่หรืออัปเดต NCDs ในส่วนตัวเลขที่เป็นที่น่าพอใจ ยังคงอยู่แค่เพียง 1.5 องศาเซลเซียสเช่นเดิม
ภาพรวม NCDS มีการคาดการณ์ว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 12% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2553
โดย IPCC มีการประมาณการณ์ว่า จะต้องมีการปรับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ 25% ภายในปี 2573 ถึงจะสามารถวางขีดจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ที่ 2 องศาเซลเซียสได้ และต้องปรับลดให้ได้ 45% ถึงจะไปให้ถึงเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสได้
COP26 มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่?
...
ก่อนการประชุม COP26...
อโลค ชาร์มา สมาชิกรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธาน COP26 กล่าวว่า ในทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การคงอยู่ที่ 1.5C นั้น พวกเราทุกคนบนโลกต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน+ก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งของปัจจุบันภายในปี 2573 และการจะไปให้ถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซให้เหลือศูนย์จะต้องทำให้ได้ภายในกลางศตวรรษนี้
นอกจากนี้ ยังมีการเรียกร้องให้ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ไปสู่เป้าหมายการไม่สร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก และประเทศพัฒนาแล้วก็มีการเรียกร้องให้ยุบโรงงานผลิตไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในช่วงปี 2573-2582
โดยจากรายงาน IEA World Energy Outlook ล่าสุด แสดงให้เห็นว่า กว่าจะไปถึงเป้าหมายต่างๆ ที่ว่านั้นของ COP26 ยังมีอีกหลายอย่างที่ทุกประเทศต้องทำ ซึ่งจนถึงกลางปี 2564 มีเพียง 21 ประเทศ ที่มีการยุติการใช้พลังงานถ่านหินในการปล่อยก๊าซขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ หรือคิดเป็นเพียง 4.1% ของการก่อให้เกิดการเผาไหม้ถ่านหินทั่วโลกเท่านั้น อีกทั้งยังระบุอีกว่า ในอนาคต การหาเงินจากถ่านหินจะต้องยุติลง!
เมื่อเดือนมิถุนายน ภายในการประชุม "จี7" (G7) จีนให้คำมั่นสัญญาว่าจะหยุดสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแห่งใหม่ในต่างประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีแผนที่ชัดเจน หรือการวางแผนอย่างเป็นรูปธรรมที่จะสามารถดำเนินการได้ในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และซิมบับเว แต่ก็จะดำเนินการต่อไป
อีกแง่หนึ่งอย่างคมนาคม บทบาทของสหราชอาณาจักรเองก็มีความต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เดินทางมุ่งสู่เป้าหมายด้วยเช่นกัน กับการผลิตรถยนต์และรถโดยสารรุ่นใหม่ทั่วโลกภายใต้กรอบของการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2583 และสำหรับประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ๆ ก็อยากให้ทำได้ภายในปี 2578
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเอ่ยถึงการตัดไม้ทำลายป่าที่อยากให้ยุติเสียที หรือยุติชั่วคราวให้ได้ภายในทศวรรษนี้ โดยอยากให้มีการหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซมีเทนให้น้อยที่สุด ทั้งจากภาคพลังงาน การเกษตร และขยะ
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน ณ สมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ประกาศ "ปฏิญญามีเทนโลก" (Global Methane Pledge) ว่าจะลดการปล่อยก๊าซให้ได้อย่างน้อย 30% จากระดับปี 2563 ภายในปี 2573
แต่ทีนี้ก็มีการพูดคุยกันว่า การจะทำให้ข้อตกลงหรือพันธสัญญาของการประชุม COP26 นี้ ประสบความสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับ "งบประมาณ" ด้วย
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาหลายๆ แห่งไม่สามารถไปถึงได้ และจบที่ "ความล้มเหลว" ดังนั้น จึงมีการปรับปรุงสัญญาปี 2552 ว่าจะตั้งงบประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.28 ล้านล้านบาท ให้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการช่วยให้พวกเขาออกจากความขมุกขมัวของคาร์บอน และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้
เมื่อการประชุม COP26 เริ่มต้น...
196 ประเทศ ณ กลาสโกว เห็นพ้องร่วมกันว่าจะขยับไปใกล้เป้าหมายอีกเล็กน้อย เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสให้ได้ รวมถึงหาหนทางหลบหลีกความเลวร้ายที่เป็นผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ จากการประชุม COP26 ในระยะยาวของการลดการปล่อยก๊าซให้เป็นศูนย์ อินเดียอาจจะเห็นได้ชัดเจนมากที่เดียว และมีความเป็นไปได้ว่าจะจำกัดอุณหภูมิให้ไปสู่ 1.8 องศาเซลเซียสได้ภายในศตวรรษนี้ ถึงแม้จะยังขาดแผนที่เป็นรูปธรรมที่น่าเชื่อถืออยู่ก็ตาม อีกทั้งต่อให้ไปถึง 1.8 องศาเซลเซียสได้จริงก็ยังคงเป็นอุณหภูมิที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานมากมายแก่ประชากรและโลกอยู่ดี
จากการพูดคุยใน COP26 มีการมองว่า วิธีการที่จะทำให้ 1.5C เป็นไปได้ และยังมีสิ่งมีชีวิตดำรงอยู่นั้น คือ ควรมีการจัดสรรงบประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.28 ล้านล้านบาทต่อปี ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างพลังงานสะอาด
ขณะเดียวกัน ปฏิกิริยาของหลายประเทศต่อข้อตกลง ณ กลาสโกว เน้นไปที่เส้นกำหนดความฉุกเฉินของลางเตือนภัยที่จะต้องเผชิญ และแหล่งทรัพยากรต่างๆ ที่ต้องรับมือ
"นี่เป็นข้อตกลงที่ไม่ได้สร้างความหวังในหัวใจของเราเลย มันออกจะดูล่าช้าเกินไปด้วยซ้ำสำหรับมัลดีฟส์ พวกเราขออ้อนวอนพวกคุณให้ปลดปล่อยทรัพยากรเหล่านั้นที่พวกเราต้องการเป็นอย่างยิ่งมาให้ในเวลานี้ด้วย" - "เซานา อมินาถ" ตัวแทนจากเกาะที่กำลังจะหายไปอย่างรวดเร็ว "มัลดิฟส์"
COP26 อาจมีหรือควรมีเป้าหมายในการไปให้ถึงมากกว่านี้ ดังนั้น ทำไมเราไม่ทำ?
ในห้วงชั่วโมงก่อนจะจบ COP26 หลายประเทศย้ำว่า พวกเขากำลังจะยอมรับข้อเสนอแสนปวกเปียกกว่าที่พวกเขาต้องการ นี่อาจจะเป็น "จิตวิญญาณของการประนีประนอม" แต่นั่นไม่ได้กำลังประนีประนอมกับนักวิทยาศาสตร์ด้านภาวะโลกร้อนทั่วโลก
โดย "อันโตนิโอ กูเตอร์เรส" เลขาธิการยูเอ็น (UN) ระบุ ณ กลาสโกว ว่า เป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียสเป็น "การช่วยชีวิต" สิ่งมีชีวิตที่ยังคงอยู่... (และเหมือนจะเหลือน้อยนิดแล้ว)
ดังนั้น ด้วยการตัดสินใจข้อตกลงสุดท้าย COP26 จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว?
คำตอบอาจน่าผิดหวัง... โดยนักวิเคราะห์ต่างมองไปทางเดียวกัน คือ ทั้งคู่ แต่อย่างหลังอาจมากกว่าอย่างแรก.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Chonticha Pinijrob
ข่าวน่าสนใจ:
- ยุทธศาสตร์สีเขียว ลดคาร์บอนช่วยโลก โอกาส "นายทุน" โกยความมั่งคั่ง
- ต้นตอราคาน้ำมันแพง จับสัญญาณวิกฤติพลังงานขาดแคลน
- "โจ ไบเดน" รักษ์โลก กีดกันการค้าทางอ้อม งานนี้ "ส่งออกไทย" มีหนาว!
- วัคซีนสูตรไขว้ แอสตราฯ+ไฟเซอร์ ผลศึกษาล่าสุด ประสิทธิภาพ-ผลข้างเคียง
- ทางเลือก "ไม่ฉีดวัคซีน" กับสิทธิ์ที่ถูกจำกัด ในห้วงโควิด-19 ที่ไร้แววยุติ