"บางทีผมควรเริ่มต้นแบบเป็นพิธีการ ทั้งๆ ที่คุณและผมไม่เคยต้องมีพิธีรีตองอะไรแบบนี้มาก่อน"
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

"แม้ว่าการประชุมแบบนี้ มันอาจจะไม่ดีเหมือนกับการประชุมในแบบที่เราทั้งคู่ได้พบหน้ากันจริงๆ แต่ผมก็ดีใจมากที่ได้พบกับสหายเก่าของผม"
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

บทสนทนาที่เต็มเปื้อนไปด้วยคราบไคลของคำว่า "มิตรภาพส่วนตัว" ในระหว่างการประชุม Virtual Summit ระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจที่กำลังห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตายทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองในโลกจริง ณ ศตวรรษที่ 21 และกำลังเป็นที่ "จับตา" ของชาวโลกในทุกย่างก้าว

เกมการเมืองก่อนการพบหน้า

โจ ไบเดน :

สร้างภาพความแข็งแกร่งทางการเมืองและความก้าวหน้าในการบริหารประเทศ ด้วยการผนึกกำลังกับพรรครีพับลิกัน ลงนามในร่างกฎหมายที่เป็นส่วนหนึ่งของ Build Back Better ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเศรษฐกิจและภาคธุรกิจครั้งมโหฬารของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่ โจ ไบเดน ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมา

...

เพื่อเป็นการแสดงออกว่า สหรัฐฯ กำลังปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่เพื่อไล่ตามการลงทุนพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นความต้องการสื่อให้เห็นด้วยว่า การเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสามารถแข่งขันเรื่องการพัฒนาประเทศได้เช่นเดียวกัน

สี จิ้นผิง :

พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีมติครั้งประวัติศาสตร์ เลื่อนสถานะประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ให้เทียบเท่ากับอดีตผู้นำที่ยิ่งใหญ่อย่าง "เหมา เจ๋อตุง" และ "เติ้ง เสี่ยวผิง" ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระชับอำนาจทางการเมืองให้เข้มแข็งมากขึ้นแล้ว ยังเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า การดำรงตำแหน่งในฐานะผู้นำจีนอาจยาวนานออกไปมากกว่าการเข้าสู่สมัยที่ 3 ที่ใกล้จะมาถึงในเร็วๆ นี้

เกมการเมืองระหว่างการพบหน้า 3 ชั่วโมงครึ่ง

กลยุทธ์ในระหว่างการหารือ :

โจ ไบเดน :

"สหรัฐฯ และจีนต้องร่วมมือกันสร้างกรอบที่กางกั้นไม่ให้การแข่งขันที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา กลายเป็นความขัดแย้ง และยังคงสามารถเปิดการเจรจาระหว่างกันต่อไปได้"

มุ่งเป้าประสงค์ไปที่การหารืออย่าง "เปิดเผยและตรงไปตรงมา" หรือโน้มน้าวให้จีนเปิดรับกติกาสากล ในทุกๆ ประเด็นปัญหาสำคัญต่างๆ แม้กระทั่งในบางประเด็นที่เป็นจุดอ่อนไหวในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ภายใต้กรอบอันหนักแน่นที่ว่า "จะไม่พยายามทำให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่" ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

สี จิ้นผิง :

"สหรัฐฯ และจีนเปรียบเสมือนเรือลำใหญ่ 2 ลำ ที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยกันในโลกอันกว้างใหญ่ และไม่จำเป็นต้องแล่นมาชนกัน"

เรียกร้องให้เกิดความเคารพซึ่งกันและกันในทุกมิติการค้าและการเมือง เพื่อแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง ให้สามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติ และร่วมกันสร้างผลประโยชน์ในแบบที่ทั้งสองฝ่าย Win-Win โดยไม่จำเป็นต้องทำให้เกิดการเผชิญหน้า หรือความขัดแย้ง

การหารือในประเด็นอ่อนไหว

1. ประเด็นปัญหาไต้หวัน :

โจ ไบเดน :

ให้คำมั่นว่าจะยึดหลักการ "นโยบายจีนเดียว" เช่นที่สหรัฐฯ ยึดถือมาโดยตลอด แต่ขอคัดค้านต่อความพยายามเพียงฝ่ายเดียวในการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน

...

สี จิ้นผิง :

รัฐบาลจีนมีความอดทนและมุ่งมั่นเพื่อการรวมชาติอย่างสันติด้วยความจริงใจ แต่หากไต้หวันแสดงการกระทำที่ยั่วยุ หรือพยายามล้ำเส้นที่ถูกขีดเอาไว้ รัฐบาลจีนจะดำเนินมาตรการอย่างเด็ดเดี่ยวทันที

2. ประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน :

โจ ไบเดน :

ผู้นำสหรัฐฯ แสดงความกังวลอย่างตรงไปตรงมากับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นชาวอุยกูร์หรือชาวมุสลิมในประเทศจีน รวมถึงกฎหมายด้านความมั่นคงที่มีการนำมาบังคับใช้ในฮ่องกง

สี จิ้นผิง :

"เราไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ ด้วยการอ้างประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน" การตอบโต้ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง

3. ประเด็นปัญหาทางการค้า :

โจ ไบเดน :

มีการเปิดเผยหลังการประชุมว่า ผู้นำสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามข้อตกลงนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เฟส 1 (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร) ที่มีมูลค่ามากกว่า 380,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2021 ที่ได้มีการตกลงกันเอาไว้ ในสมัยอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากจนถึงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จีนเพิ่งนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ไปในสัดส่วนเพียง 3 ใน 5 ของมูลค่าที่ตกลงกันไว้เท่านั้น

...

สี จิ้นผิง :

การตอบรับในประเด็นนี้ของจีนที่มีการเปิดเผยออกมาต่อสาธารณะระบุเพียงว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระดับทวิภาคีเป็นประโยชน์ร่วมกัน และตบท้ายด้วยข้อเรียกร้องตามมาที่ว่า ไม่ควรนำประเด็นเรื่องการค้ามาผูกโยงเข้ากับการเมือง

4. ประเด็นปัญหาการแก้ไขปัญหาโลกร้อน :

เป็นเพียงเรื่องเดียวที่ผู้นำทั้งสองประเทศเห็นตรงกัน เช่นเดียวกับที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประกาศว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเซอร์ไพรส์ชาวโลก ในระหว่างการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่ประเทศสกอตแลนด์ เพียงแต่ยังไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดในระหว่างการหารือ รวมถึงจะมีวิธีการที่จะร่วมมือกันในการช่วยลดโลกร้อนออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้แต่อย่างใด

มุมมองหลังหารือครั้งประวัติศาสตร์ :

นักวิเคราะห์สหรัฐฯ :

แม้ว่าจะมีการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น แต่การหารือดูเหมือนว่าจะยังไม่มีการพัฒนาไปสู่ข้อเสนอเพื่อกำหนด "กรอบที่ป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง" ซึ่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน พยายามเน้นย้ำอย่างเป็นรูปธรรม

...

นักวิเคราะห์จีน :

แม้จะยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่สามารถจับต้องได้ แต่อย่างน้อยก็ยังมีสัญญาณเชิงบวกในความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานมาเนิ่นนาน และน่าจะเป็นผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันและปักกิ่ง มีเสถียรภาพไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งช่วงเวลาที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นไปที่ การให้ความร่วมมือระหว่างกันและจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องความแตกต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในการหารือทวิภาคีครั้งต่อๆ ไป.

ข่าวน่าสนใจ: