ชีวิตคนทำงาน... มักจะมีอะไรให้ได้ตื่นเต้นเสมอ ใครจะคิดว่า แค่ "โควิด-19" ตัวเดียว จะทำให้รูปแบบการทำงานของเราเปลี่ยนไป จากการทำงานในออฟฟิศกลับต้อง Work form Home นั่งทำงานจากที่บ้าน จนมาถึงเวลานี้ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสร้ายครั้งใหญ่มีทีท่าจะผ่อนคลายลง ปลดล็อกดาวน์ เริ่ม "เปิดประเทศ" นั่นก็ทำให้รูปแบบการทำงานของเราเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ เราได้พูดถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Great Resignation หรือปรากฏการณ์ "การลาออกครั้งใหญ่" ที่อาจรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งก็ว่าได้ โดยมีโควิด-19 เป็น "ตัวแปร" อีกเช่นเคย
สำหรับปรากฏการณ์ที่ว่านั้น เกิดจากการที่ "ลูกจ้าง" ทั้งหลายเริ่มรู้สึกว่า การจะกลับไปทำงานในออฟฟิศแบบ 100% เหมือนเช่นเดิม อาจไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและการทำงานอย่างที่พวกเขาต้องการ จนเกิดการแสวงหาสถานที่ทำงานหรือตำแหน่งงานใหม่ที่เหมาะสมกับตัวเองมากขึ้น สร้างความกังวลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจที่หวั่นว่าจะทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ-สมรรถภาพเหมาะสม และต้นทุนต่างๆ ที่ "นายจ้าง" จะต้องเผชิญในอนาคต
จากอีเมลเรียกให้กลับไปทำงานออฟฟิศ 100% กลายเป็น "ตัวจุดประกาย" ให้ "ลูกจ้าง" อยากลาออกจากงาน ก็ทำให้หลายๆ บริษัทปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ เลือกก้าวเข้าสู่เส้นทางการทำงานที่เรียกว่า Hybrid Office แทน
เปิดโมเดล Hybrid Office!!
...
Hybrid Office (ไฮบริด ออฟฟิศ) คืออะไร?
คำอธิบายง่ายๆ นั้นคือ ในบางวัน คุณอาจจะเข้าทำงานในออฟฟิศ และในบางวัน คุณก็อาจจะนั่งทำงานจากที่บ้านหรือสถานที่ใดที่หนึ่งก็ได้
โดยโมเดลการทำงานแบบ "ไฮบริด" ถูกออกแบบมาเพื่อเป็น "ตัวเลือก" ที่เชื่อว่าน่าจะตอบโจทย์ที่สุดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในยุคโควิด-19 นี้ และมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะกลายเป็น "ความปกติใหม่" หรือที่เรียกว่า New Normal สำหรับพนักงานออฟฟิศในอนาคตอีกด้วย
"อนาคตของการทำงานอยู่ตรงนี้
และมันเป็นไฮบริด"
ประโยคหนึ่งที่ระบุในรายงานของไมโครซอฟต์ (Microsoft) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (2564) โดยเปิดเผยผลการศึกษาว่า ในบรรดาผู้บริหารธุรกิจที่ตอบแบบสำรวจ กว่า 66% กำลังพิจารณาการออกแบบออฟฟิศใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับโมเดลการทำงานแบบไฮบริด
แต่แน่นอนว่า การปรับเปลี่ยนโมเดลการทำงานสู่ "Hybrid Office" ย่อมมีทั้ง "ข้อดี" และ "ข้อเสีย" ต่อเศรษฐกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน... และนั่นก็ย่อมจะมี "คนชนะ" และ "คนแพ้"
ใครกันที่เป็น "คนชนะ" ใน Hybrid Office?
นักวิจัยและนักวิเคราะห์ได้ศึกษาผลลัพธ์ของโมเดลการทำงานแบบไฮบริด และลงความเห็นว่า หากบริษัทและธุรกิจต่างๆ อนุญาตให้ "ลูกจ้าง" ทำงานแบบรีโมตจากบ้านหรือสถานที่อื่นๆ โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศเป็นเวลาอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ จะมีหลากหลายกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากโมเดลที่ว่านี้
1. นายจ้าง
โดยจากข้อมูลการรายงานของ เคท ลิสเตอร์ ประธาน Global Workplace Analytics และผู้เชี่ยวชาญด้านการกำหนดยุทธศาสตร์แก่บริษัทต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นและจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสมที่สุด ระบุว่า บริษัทที่มีการปรับโมเดลการทำงานเป็นแบบไฮบริดจะช่วยประหยัดเงินได้กว่า 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.6 แสนบาทต่อหัวลูกจ้าง (*อัตราแลกเปลี่ยน 11 พ.ย. 64 : 32.89 บาท) ซึ่งเงินออมเบื้องต้นมาจากผลิตภาพลูกจ้างที่เพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยลดจำนวนการขาดงานด้วย
2. แรงงานในยุคเศรษฐกิจที่พึ่งพาความรู้
นอกจากโมเดลการทำงานแบบไฮบริดจะช่วยประหยัดเงินนายจ้างแล้ว ในส่วนลูกจ้างเองก็ไม่ต่างกัน โดยจากข้อมูลการรายงานของ FlexJobs เว็บไซต์ค้นหางานที่เน้นความยืดหยุ่นและแบบรีโมต แสดงให้เห็นว่า การทำงานจากบ้าน (WFH) สามารถออมเงินได้จำนวนมากต่อปี จากการไม่ต้องเสียค่าดูแลรักษาสภาพรถยนต์ ประกันรถยนต์ ขนส่งมวลชนสาธารณะ ชุดทำงาน และการกินอาหารนอกบ้าน สอดคล้องกับข้อมูลของ "ลิสเตอร์" ที่ประมาณการความเป็นไปได้ว่า ลูกจ้างจะสามารถออมเงินจากการ WFH ได้ราวๆ 600-6,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 19,731-197,313 บาทต่อคน ขณะเดียวกัน ถ้าทำงานแบบครึ่งๆ (ออฟฟิศ+รีโมต) ก็จะสามารถออมเงินได้เทียบเท่าการใช้จ่าย 11 วันต่อปี เว้นแต่ว่า... คุณจะมีค่าใช้จ่ายอื่นมาทดแทนส่วนนี้
...
3. นักออกแบบและสถาปนิกสำนักงาน
ในช่วงนี้ หลายบริษัทปรับการออกแบบออฟฟิศให้เพื่อให้โมเดลการทำงานแบบไฮบริดมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดการแพร่กระจายของโรคติดต่อต่างๆ ทั้งการใส่ใจต่อแสงธรรมชาติ พื้นที่สีเขียว คุณภาพอากาศในอาคาร และความหนาแน่น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของลูกจ้าง
4. บริษัทเทคโนโลยี
ในออฟฟิศที่มีการประกาศชัดว่าจะดำเนินโมเดลการทำงานแบบไฮบริดเต็มศักยภาพ ล้วนให้ความใส่ใจในการปรับปรุงเทคโนโลยีภายในห้องประชุม อาทิ การอัปเกรดซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผ่านทางจอวิดีโอ (Videoconderencing) มอนิเตอร์ (หน้าจอ) ลำโพง และกล้องวิดีโอ เพื่อให้ลูกจ้างในออฟฟิศและลูกจ้างที่ทำงานแบบรีโมตสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเตรียมการอุปกรณ์ที่จำเป็น อาทิ แล็บท็อปที่เร็ว อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นต้น สำหรับลูกจ้างที่ไม่มีความพร้อมส่วนนี้
นอกจากนี้ ออฟฟิศต่างๆ ยังมีการเตรียมพร้อมด้าน Cloud Computing สำหรับการจัดเก็บข้อมูลการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยจะต้องสร้างความมั่นใจได้ว่าจะมีพื้นที่เพียงพอสำหรับทุกคน หรือแม้แต่บางออฟฟิศยังมีการติดตั้งเซนเซอร์เทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจจับการใช้งานภายในอาคาร และคอยดูแลคุณภาพอากาศภายในอาคารอีกด้วย
...
5. ช่างรับเหมาและบริษัทรับปรับปรุงบ้าน
หากคุณทำงานจากบ้าน (WFH) มากกว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 แน่นอนว่า หลายๆ คนจะต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นไปกับการดูแลบ้าน โดยจากการสำรวจในปี 2563 พบว่า การใช้จ่ายในบ้านของแต่ละคนเพิ่มขึ้นจากก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด เพราะมีการปรับพื้นที่การใช้สอยใหม่ การจ่ายเงินเพื่อดูแลปัญหาของบ้านมากขึ้น แต่การออมเงินจะย้ายไปในส่วนของการเดินทางและความบันเทิงที่ลดลง
แต่ใดๆ ก็ตามจากการสำรวจความคิดเห็นของบรรดาลูกจ้าง เห็นได้ว่า หลายๆ คนไม่ต้องการใช้จ่ายเงินไปกับการปรับปรุงบ้านเพียงเพื่อสถานการณ์ชั่วคราว แต่จะรู้สึกสะดวกใจในการลงทุนระยะยาว เช่น ปรับรูปแบบหรือเพิ่มพื้นที่การทำงานในบ้าน หากบริษัทมีนโยบายที่ชัดเจนถึงโมเดลการทำงานแบบไฮบริดหรือรีโมต
นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า บริษัทใดที่มีนโยบายโมเดลการทำงานแบบไฮบริดอย่างชัดเจน ไม่ต้องเดินทางไปมาออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ ลูกจ้างจะตัดสินใจเลือกย้ายที่อยู่อาศัย โดยการปรับปรุงบ้านเก่าหรือซื้อบ้านใหม่
และคนชนะ 6. ผู้จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน
...
ในช่วงต้นๆ วิกฤติโควิด-19 กลุ่มผู้จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์สำนักงานได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทีเดียว และเหมือนยากที่จะกลับมา แต่มีความเป็นไปได้ว่า หลังการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้จบลง พวกเขาจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการเตรียมพร้อมออกแบบออฟฟิศใหม่
"การซื้อโต๊ะทำงานที่สามารถปรับยืนได้ เก้าอี้สำนักงานที่เหมาะสมกับร่างกาย หรือแม้แต่อุปกรณ์การทำงานที่บ้านอื่นๆ ผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) กำลังได้รับความนิยมในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน"
รอน ไวเนอร์ ซีอีโอ iMovR บริษัทอุปกรณ์การทำงานที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับสรีรร่างกายของผู้ใช้ อธิบายเพิ่มเติมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากโมเดลการทำงานแบบไฮบริดว่า ลูกจ้างจำนวนมากต่างกำลังเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองและพื้นที่ออฟฟิศภายในบ้าน รวมถึงของตกแต่งต่างๆ ดังนั้น ผู้จัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่มีโมเดลธุรกิจหลากหลายหรือสามารถปรับตัวให้ตอบโจทย์ความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้จะประสบความสำเร็จ
โดยตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของ มิลเลอร์ โนล คือ การพัฒนาคอลเลกชันใหม่ให้รองรับการทำงานแบบยืดหยุ่น เพราะยังมีหลายบริษัทที่ปัจจุบันใช้โมเดลการทำงานแบบไฮบริด แต่ก็ไม่มีความแน่นอนว่าจะใช้ตลอดไป
แล้วใครกันที่เป็น "คนแพ้" ใน Hybrid Office?
จากทั้งหมดนั้นน่าจะพอเห็นได้ว่า โมเดลการทำงานแบบไฮบริดส่งผลดีต่อลูกจ้างที่ทำงานแบบออฟฟิศ หรือกลุ่มที่ใช้ทักษะความรู้สูง อาทิ การประสบความสำเร็จในการออมเงิน เพราะใช้จ่ายน้อยลงจากการเข้าออฟฟิศ ทำให้มีรายได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ แต่นั่นย่อมส่งผลต่อ "แรงงานรายได้ต่ำ" ที่ปราศจากวุฒิปริญญาจำนวนมาก ซึ่งต้องกลายเป็น "คนแพ้" ใน Hybrid Office นี้แบบไม่เต็มใจ
นักเศรษฐศาสตร์ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ อธิบายแง่มุมของระบบทุนนิยมว่า ในแง่การทำลายเชิงสร้างสรรค์ ธุรกิจและแรงงานต่างๆ ในพื้นที่เหล่านี้อาจต้องทนทุกข์ในระยะสั้น และบางทีอาจในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาสามารถปรับตัวได้และจะกลายเป็นผู้ประสบความสำเร็จได้อีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้ง ถ่ายทอดทักษะที่มีอยู่แก่ผู้บริโภคที่หลากหลาย หรือฝึกทักษะใหม่ๆ และเข้าสู่เส้นทางที่แตกต่างของการทำงานที่กำลังมีความต้องการอย่างมากในเวลานี้
"คนแพ้" ที่ว่านั้นมี...
1. ผู้ให้บริการซ่อมบำรุงและทำความสะอาดสำนักงาน
ในช่วงวิกฤติโควิด-19 รุนแรง ออฟฟิศต่างๆ ล้วนจัดหาการให้บริการด้านสุขอนามัย ซึ่ง "แรงงานตัวเล็กๆ" เหล่านี้เป็นหนึ่งในแนวหน้าที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงการติดต่อสัมผัสโรค ในการเป็นตัวแทนทำความสะอาดฆ่าเชื้อไวรัสต่างๆ
แต่ขณะนี้จำนวนงานนั้นลดลง แรงงานหลายคนตกงานหรือถูกลดชั่วโมงลง อันเป็นผลจากการที่คนจำนวนมากต้องทำงานที่บ้าน (WFH) ซึ่งหากจะปรับตัวในการคว้าโอกาสที่ยิ่งใหญ่คงจะเป็นการให้บริการทำความสะอาดสถานที่พักอาศัยแทน
2. ขนส่งสาธารณะ
แรงงานที่เกี่ยวข้องกับขนส่งสาธารณะและตัวเล็กตัวน้อยที่พึ่งพาการขนส่งสาธารณะต้องเผชิญกับการปรับลดจำนวนการให้บริการครั้งใหญ่ในช่วงต้นการแพร่ระบาด ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดว่า การใช้บริการจะกลับมาเทียบเท่ากับก่อนหน้านั้นหรือไม่
หากคนยังไม่กลับมาทำงานในออฟฟิศได้เทียบเท่ากับก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 และหากชั่วโมงการทำงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น นั่นก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้กำกับดูแลขนส่งสาธารณะจะต้องมีการส่งเสริมบางอย่างเพื่อให้การดำเนินงานและอาชีพยังคงอยู่อย่างยั่งยืน หรือหากฝืนให้พวกเขาขับรถกลับไปทำงาน ก็ต้องเตรียมแผนรองรับการจราจรที่คับคั่งไว้ด้วย
3. แรงงานให้บริการอาหาร
ความน่ากังวลของแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการอาหาร คือ การเปิดออฟฟิศของแต่ละบริษัทมีความล่าช้า และดีไม่ดี...บางรายอาจไม่กลับมาเปิดอีกเลย นั่นจะมีผลต่อแรงงานกลุ่มนี้ทันที โดย NBC News รายงานว่า ผลกระทบแรงงานกลุ่มดังกล่าวที่น่าห่วงเป็นพิเศษ คือ กลุ่มที่อยู่รอบๆ และภายในออฟฟิศ รวมถึงสถานศึกษาด้วย ตั้งแต่ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และลูกจ้างบาร์ ที่ปกติคอยให้บริการขายอาหารแก่คนเหล่านั้น
4. กลุ่มที่อยู่รอบๆ พื้นที่ในตัวเมือง
โดยเฉพาะเขตศูนย์กลางธุรกิจในตัวเมือง แม้ก่อนหน้าวิกฤติโควิด-19 จะประสบความสำเร็จมากๆ แต่ปัจจุบันกลุ่มที่อยู่รอบๆ พื้นที่นี้อาจจะกำลังได้รับความนิยมน้อยลง เมื่อศูนย์กลางการจ้างงานที่สำคัญหดตัวลง หลายธุรกิจ เช่น ร้านอาหาร บาร์ และร้านกาแฟ ที่คอยพึ่งพาแรงงานและลูกจ้างออฟฟิศบริเวณนั้น ท้ายที่สุดแล้วไม่กลับมา... ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ถึงแม้จะมีการช่วยเหลือเงินอุดหนุนจากรัฐบาลบางส่วนเพื่อไม่ให้ล้ม แต่ก็อาจจะพยุงได้ไม่ทั้งหมด
แต่นอกเหนือจากนั้น หลายบริษัทย้ายออกจากพื้นที่ใจกลางเมืองไปอยู่อีกทีหนึ่ง นั่นจึงเป็นโอกาสที่น่าจะเป็นไปได้ที่จะย้ายตามไป
"เทรนด์ช่วงวิกฤติโควิด-19 นั้นคือ จำนวนอาคารที่รายล้อมออฟฟิศชานเมือง การเดินทางระยะสั้นๆ ของลูกจ้างที่ต้องการออกไปใช้ชีวิตหรือหนีจากตัวเมืองที่แสนแออัด ซึ่งนั่นส่งผลดีต่อลูกจ้าง ทั้งการมีพื้นที่เพิ่มขึ้น ง่ายต่อการเดินทางไปมา และง่ายต่อการจอดรถ แต่ส่วนสำคัญที่สุด ลูกจ้างรู้สึกปลอดภัยและชอบที่จะอยู่กับบริษัทมากกว่าเดิม เมื่อตัวเลือกการทำงานอำนวยความสะดวกให้พวกเขาอยู่ใกล้ชิดสถานที่พักอาศัย" - ไวเนอร์
5. องค์กรที่ปรับตัวช้า
หลายบริษัทกำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด-19 รวมถึงเกิดการตระหนักถึงความเสมอภาคอันสัมพันธ์กับเชื้อชาติ เพศ และสมรรถนะต่างๆ เพิ่มขึ้นแต่ก็ยังมีหลายบริษัทที่ยังคงติดอยู่กับวิถีทางเก่าๆ ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อดึงดูดความน่าสนใจและรักษาพรสวรรค์เอาไว้ หากไม่สามารถจัดการปัญหาที่จำเป็นต้องแก้เกี่ยวกับกำลังแรงงานที่หลากหลาย
เวนดี้ ไรอัน ซีอีโอของ Kadabra ธุรกิจให้คำปรึกษาการปรับเปลี่ยนและการเป็นผู้นำ มองประเด็นนี้ว่า "คนแพ้ทางเศรษฐกิจ" คงหนีไม่พ้นองค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวอย่างเชื่องช้า และอวดอ้างการนำโมเดลการทำงานแบบไฮบริดมา หรือการนำโมเดลการทำงานแบบรีโมตมาใช้ แต่กลับไม่ได้วางระบบของโมเดล นโยบาย และวิธีการในสถานที่นั้นๆ ที่ต้องการประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
"องค์กรที่ออกแบบสถานที่ทำงาน ตารางการทำงาน โดยมองมนุษย์เป็นศูนย์กลาง รวมถึงให้มีการทำงานร่วมกันโดยความต้องการของตัวเองได้ จะกลายเป็นองค์กรที่ยอดเยี่ยมที่สุดและประสบความสำเร็จในอีก 20 ปีข้างหน้า"
แน่นอนว่า ในมุมมองนายจ้างไทยอาจจะยังไม่ค่อยเคยชินกับโมเดลการทำงานแบบไฮบริดมากนัก หลายบริษัทจึงยังทำได้อย่างไม่เต็มที่ หรือมีตัววัดผลที่ไม่สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานและนโยบายที่ชัดเจน
แต่ในมุมมองโลกนั้นเห็นว่า โมเดลการทำงานแบบไฮบริดจะส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพลูกจ้างและความพึงพอใจในการทำงาน
Hybrid Office ดีต่อลูกจ้างอย่างไร?
จากการศึกษาและการสำรวจภาพรวมแสดงให้เห็นว่า ออฟฟิศที่ใช้โมเดลการทำงานแบบไฮบริดจะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากลูกจ้าง ทั้งสวัสดิภาพและความพึงพอใจในการทำงาน นั่นเพราะว่า ลูกจ้างมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในสัปดาห์นั้น ให้เข้าออฟฟิศเพื่อทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานในการคิดสร้างสรรค์งานใหม่ๆ 1 วัน ส่วนที่เหลือก็ทำงานจากบ้าน (WFH)
หมายถึงว่า นายจ้างเองก็ต้องสำรองโต๊ะทำงานในออฟฟิศไว้ให้ลูกจ้างด้วย สำหรับห้วงเวลาที่อยากหลุดพ้นจากชีวิตที่บ้านที่ทำให้เสียสมาธิตลอดหลายวันที่ผ่านมาได้ หรือแม้แต่การประชุมผ่านวิดีโอก็มีความสำคัญมากๆ ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทจะต้องมีเทคโนโลยีสำหรับห้องประชุมที่มีประสิทธิภาพ
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงตั้งคำถามว่า แล้วโมเดลการทำงานแบบไฮบริดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร?
คำตอบนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า บริษัทมีการวางระบบโมเดลการทำงานแบบไฮบริดไว้อย่างดีแค่ไหน ยิ่งจัดการได้ดี ก็จะยิ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากเท่านั้น โดยเป็นผลจากประสิทธิผลการทำงานที่ยอดเยี่ยม ผลิตภาพของลูกจ้าง และสุขภาพจิตของลูกจ้าง รวมถึงการลดการขาดงานและการฝืนทำงานในสภาวะที่ร่างกายและจิตใจไม่พร้อม ความเจ็บป่วยอันสัมพันธ์กับความเครียด อาการเหนื่อยล้าหรือป่วยหนัก และยังลดอัตราการลาออกของลูกจ้างด้วย
ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าโมเดลการทำงานแบบไฮบริดจะเป็นเพียงไอเดียชั่วครั้งชั่วคราว หรือจะกลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) แต่ในฐานะบริษัทที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างจะยังคงพยายามหาหนทางที่ดีที่สุดในการทำงานจนกว่าวิกฤติโควิด-19 จะจบลง ดังนั้น พวกเราทั้งหมดอาจต้องปรับตัวและต้องหาความสะดวกสบายเพิ่มขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนนี้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Varanya Phae-araya
ข่าวน่าสนใจ:
- ถึงคราว "นายจ้าง" ผวา ปรากฏการณ์ "ลาออก" ครั้งใหญ่ ที่ไทยไม่ควรเพิกเฉย
- งานมี ที่ไม่มีคือ "แรงงาน" วิกฤติในอนาคต...ที่คุณยังไม่รู้ตัว
- โควิดทำพิษ! Work from Home ยาว เงินตึงมือ สะเทือน "ออฟฟิศให้เช่า"
- ตำรับยาพื้นบ้าน จาก “ใบกระท่อม” สรรพคุณเพียบ แก้ลงแดง ลดเบาหวาน
- วัคซีนสูตรไขว้ แอสตราฯ+ไฟเซอร์ ผลศึกษาล่าสุด ประสิทธิภาพ-ผลข้างเคียง