รายงานผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือสหรัฐฯ กรณีเรือดำน้ำจู่โจมพลังงานนิวเคลียร์ ชั้นซีวูลฟ์ ยูเอสเอส คอนเนกติกัต (USS Connecticut) ชนวัตถุปริศนา (Unidentified Object) ใต้ทะเล ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้รับการยืนยันแล้วว่า เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์สุดไฮเทคลำนี้ ได้พุ่งชนเข้ากับภูเขาใต้มหาสมุทรที่ไม่ได้มีปรากฏอยู่ในแผนที่ใต้ทะเล ขณะกำลังปฏิบัติการในบริเวณน่านน้ำสากลของภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ทำให้มีทหารเรือได้รับบาดเจ็บ 11 นาย จากจำนวนทั้งหมด 140 นาย ส่วนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในเรือไม่ได้รับความเสียหาย และสามารถเดินเรือไปทำการซ่อมแซมที่ฐานทัพเรือสหรัฐฯ บนเกาะกวมได้หลังเกิดอุบัติเหตุ

รายงานการสอบสวนฉบับนี้ อ่านเผินๆ เหมือนไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง หากแต่ในความเป็นจริง คือ เมื่อใดก็ตามที่มีการปรากฏตัวของเรือดำน้ำ โดยเฉพาะเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใด แสดงว่าพื้นที่นั้นกำลังมีปัญหาแน่นอน!

แถมในครั้งนี้ มันยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยข้อพิพาทและการอ้างสิทธิอันแสนน่าปวดหัวอย่าง "ทะเลจีนใต้" เสียด้วย เช่นนั้นแล้ว "เรา" ค่อยๆ ไปทำความเข้าใจเรื่องนี้กันทีละประเด็น

...

ทะเลจีนใต้

ทะเลจีนใต้เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิกมีเนื้อที่ประมาณ 3,500,000 ตารางกิโลเมตร โดยนอกจากจะถือเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญสำหรับเรือบรรทุกสินค้าและพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งคิดเป็นปริมาณ 1 ใน 3 ของโลกแล้ว ยังอุดมไปด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวนมาก และส่วนใหญ่มากล้นไปด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาล

ข้อพิพาท

ความพยายามแก่งแย่งเพื่ออ้างสิทธิเหนือเกาะเหล่านั้น จากประเทศที่โอบล้อมพื้นที่ดังกล่าวอยู่ คือ จีน บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม

หากแต่ข้อพิพาทที่นำไปสู่การกระทบกระทั่งกันหลายต่อหลายครั้งได้เพิ่มความซับซ้อนทางการเมืองเข้าไปเพิ่มเติม เมื่อสหรัฐอเมริกาได้พยายามเข้ามายุ่งเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเคลื่อนไหวทางทหารหรือการเมือง แต่ที่ร้ายที่สุดน่าจะเป็นการที่สหรัฐฯ ได้ประกาศนโยบายสนับสนุนการรักษาเสรีภาพในการเดินเรือในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ผ่านปฏิบัติการที่เรียกว่า Freedom of Navigation Operations (FONOPs) ซึ่งมีเรือพิฆาตติดอาวุธลอยลำเข้ามาลาดตระเวนใกล้กับหมู่เกาะที่กำลังมีข้อพิพาทอีรุงตุงนังบ่อยครั้งอย่างชนิดหน้าตาเฉย

จนกระทั่งทำให้ปักกิ่งเกิดความไม่พอใจและประณามการกระทำของสหรัฐฯ ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายของจีนและกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงยังถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของจีนอีกด้วย

ยูเอสเอส คอนเนกติกัต

1 ใน 3 เรือดำน้ำจู่โจมพลังงานนิวเคลียร์ ชั้นซีวูลฟ์ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าลำละมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น้ำหนัก 9,300 ตัน ใช้เตาปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ 1 เครื่อง ถูกพัฒนาและออกแบบมาสำหรับการปฏิบัติการในทะเลลึก และสามารถอยู่ใต้น้ำได้ยาวนานชนิดที่เรียกว่าเสบียงในเรือหมดจึงค่อยโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำก็ยังได้ และสามารถทำความเร็วขณะดำน้ำได้สูงถึง 46.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าเรือผิวน้ำโดยทั่วไปเสียอีก

โดยเรือดำน้ำชั้นซีวูลฟ์ มีภารกิจหลัก คือ สอดส่องและรวบรวมข่าวกรอง การทำสงครามนอกแบบ การโจมตีด้วยขีปนาวุธ และต่อต้านการปฏิบัติการของเรือดำน้ำและเรือพื้นผิวของสหภาพโซเวียตในย่านทะเลเปิด โดยเข้าประจำการมาตั้งแต่ปี 1998

อย่างไรก็ดีหลังสงครามเย็นผ่านพ้นไป เรือดำน้ำชั้นซีวูลฟ์ทั้ง 3 ลำ ได้ถูกอัปเกรดขีดความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นสามารถบรรจุตอร์ปิโดได้มากถึง 50 ลูก หรือยิงขีปนาวุธนำวิถีโทมาฮอว์คได้ จนมันกลายเป็นเรือดำน้ำจู่โจมที่สามารถปฏิบัติการในพื้นที่อ่อนไหวต่างๆ ได้ทั่วโลก โดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ให้คำจำกัดความเรือดำน้ำชั้นซีวูลฟ์ เอาไว้ว่า "เงียบสงัด ความเร็วสูง อาวุธครบ และมีอุปกรณ์นำร่องระดับแอดวานซ์"

การปรากฏตัวของยูเอสเอส คอนเนกติกัต

ปักกิ่งแสดงความไม่พอใจออกมาอย่างเปิดเผย หลังการปรากฏตัวของเรือดำน้ำยูเอสเอส คอนเนกติกัต ในทะเลจีนใต้ นั่นเป็นเพราะมันเป็นการปรากฏตัวในเวลาใกล้เคียงกันกับที่สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ประกาศความร่วมมือกติกาไตรภาคีภายใต้ชื่อ AUKUS ซึ่งสหรัฐฯ จะทั้งขายและถ่ายทอดเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้กับออสเตรเลีย เพื่อหวังสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของจีน

...

อีกทั้งตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา กองทัพเรือจีนยังตรวจพบความเคลื่อนไหวของโดรนใต้น้ำจำนวนมากในบริเวณทะเลจีนใต้ที่ถูกปล่อยออกมาจากฐานทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณนั้นอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ หลายต่อหลายครั้งโดยเฉพาะครั้งล่าสุดนี้ ปักกิ่งจึงยิงคำถามรัวๆ เป็นชุดๆ ใส่วอชิงตันว่า...

"ทั้งเรือดำน้ำขีดความสามารถสูงและโดรนใต้น้ำเหล่านี้ ถูกปล่อยออกมาในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งห่างจากแผ่นดินสหรัฐฯ เป็นระยะทางไกลถึง 12,874 กิโลเมตร เพราะอะไรกันแน่?"

กองทัพเรือจีน

"ภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ในระยะยาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อความมั่นคงในศตวรรษที่ 21" นักยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของกองทัพสหรัฐฯ ประเมินจากศักยภาพและการเคลื่อนไหวของกองทัพเรือจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งกำลังขยายใหญ่โตขึ้นอย่างรวดเร็ว

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เน้นย้ำหลายครั้งหลายหนในช่วงปีนี้ว่า กองทัพจีนจะต้องมีศักยภาพสำหรับการพร้อมรบภายใต้สถานการณ์ที่ไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนภายในอีก 5 ปีข้างหน้า และในปีนี้ (2021) ยังได้เพิ่มงบประมาณด้านการทหารเพิ่มขึ้นถึง 6.8%

...

ตามรายงานของหน่วยข่าวกรองกองทัพเรือสหรัฐฯ (US Office of Naval Intelligence) หรือ ONI ปี 2015 กองทัพเรือจีนมีเรือรบประจำการในกองทัพ 255 ลำ หากแต่ตามการคาดการณ์ ณ สิ้นปี 2020 กองทัพเรือจีนน่าจะมีเรือรบประจำการมากถึง 360 ลำ ซึ่งมากกว่ากองทัพเรือสหรัฐฯ ถึง 60 ลำ และภายในปี 2025 กองทัพเรือจีนน่าจะมีเรือรบประจำการรวมกันมากกว่า 400 ลำ

โดยในจำนวนนี้เป็นการเน้นเพิ่มจำนวนเรือรบผิวน้ำ เรือดำน้ำ เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือดำน้ำขีปนาวุธนิวเคลียร์ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง เรือลำเลียงพลชายฝั่ง ด้วยจำนวนและความเร็วที่น่าตกตะลึงจากการลงทุนอย่างจริงจังในอุตสาหกรรมอาวุธในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

หากแต่สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับวอชิงตันมากที่สุด คือ มีการแสดงศักยภาพของกองทัพเรือจีน ที่เริ่มจะก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ในสายตาสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการทำคลิปโชว์การโจมตีทางอากาศใส่ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ บนเกาะกวม และการติดตั้งขีปนาวุธประสิทธิภาพสูงใกล้ๆ กับเกาะกวม หรือแม้กระทั่งการเดินเรือเข้าใกล้ฐานทัพของสหรัฐฯ บนเกาะกวม ซึ่งถือเป็นฐานทัพสำคัญในการดูแลผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้

...

กองทัพเรือสหรัฐฯ

แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่กองทัพเรือจีนอาจจะมีจำนวนเรือรบมากกว่ากองทัพสหรัฐฯ ในปี 2025 แต่นักวิเคราะห์ด้านยุทธศาสตร์ทางการทหารส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ ยังมีความได้เปรียบกองทัพเรือจีนอยู่ เนื่องจากยังมีเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวนมากกว่า อีกทั้งศักยภาพด้านเทคโนโลยีเรื่องขีปนาวุธนำวิถีที่ติดตั้งบนเรือพิฆาตและเรือลาดตระเวนก็ยังสูงล้ำและมีพลังทำลายล้างสูงกว่า

หากแต่ที่สำคัญและทำให้กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เปรียบกองทัพเรือจีนในทางยุทธศาสตร์อยู่มากที่สุด คือ การที่มีกองเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มากมายถึง 50 ลำ ในขณะที่ จีนมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เพียง 7 ลำ

ด้วยเหตุนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ จึงยังถือ "ไพ่โจ๊กเกอร์" ครองความได้เปรียบเหนือกองทัพเรือจีนได้อยู่ต่อไป จนกว่าจีนจะเปลี่ยนสมการทางการทหารนี้ได้สำเร็จ.

ข่าวน่าสนใจ: