ผลสำรวจบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา ที่จัดทำขึ้นโดยเว็บไซต์จัดหางานชื่อดังอย่าง Glassdoor.com  ในช่วง 5 ปี หลังสุด   

ปี 2017 อันดับที่ 2
ปี 2018 อันดับที่ 1
ปี 2019 อันดับที่ 7
ปี 2020 อันดับที่ 23
ปี 2021 อันดับที่ 11

ทั้งหมดที่ “คุณ“ เพิ่งผ่านสายตาไป คือ อันดับความ Popular ของ บริษัทโซเชียลมีเดียอันดับหนึ่งของโลก (ในแง่ของจำนวนผู้ใช้งาน) ในสายตาของหนุ่มสาวชาวอเมริกันวัยทำงาน อย่าง Facebook ที่ปัจจุบัน ได้ก้าวเข้าสู่ความท้าทายใหม่และเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น Meta

ว่าแต่...จากบรรทัดด้านบนโน้น “คุณ” สังเกตเห็นอะไรที่ “ผิดปกติ” บ้างไหม?

เหตุใดจากอันดับ 1 ในปี 2018 จึงตกลงมาอยู่อันดับ 7 ในปี 2019 และจากอันดับ 7 เหตุใดจึงร่วงลงมาอยู่อันดับ 23 ในปี 2020 ก่อนที่ในปี 2021 ปีนกลับขึ้นมาในอันดับ 11 ได้กันนะ!

...

คำตอบ

อันดับที่ 1 การสูญเสียความน่าเชื่อถือจากวิกฤติที่เรียกว่า Cambridge Analytica ที่นำไปสู่ “การหลุด” ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน Facebook มากกว่า 87 ล้าน Users เพื่อนำไปทำแคมเปญทางการเมือง

อันดับที่ 2 การถูกสอบสวนจากคณะกรรมาธิการทางการค้าของสหรัฐฯ เรื่องการผูกขาดตลาดโซเชียลมีเดีย ด้วยการไล่ซื้อแอปพลิเคชันคู่แข่งอย่าง Instagram และ Whatsapp

โดยซีรีส์ข่าวฉาวตั้งแต่ปี 2018-2020 ที่ว่านี้ ทำให้ “ภาพลักษณ์แบรนด์” ของ Facebook เสื่อมถอยในสายตาคนรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดที่ว่า 1 ใน 4 ของ BIG4 ในโลกเทคโนโลยียุคปัจจุบัน ถูก “หมางเมิน” จากบรรดา “วิศวกรซอฟต์แวร์” จบใหม่เลยทีเดียว

หากแต่วิกฤติทั้ง 2 เรื่องนั้น ไม่ได้มีอำนาจทำลายล้างเท่ากับระเบิดลูกล่าสุดที่ถูกโยนเข้าใส่ Facebook ณ เวลานี้ ซึ่งมีชื่อว่า “Facebook Papers” เอกสารหลุดภายในที่ถูกนำมาใช้อ้างอิงในการกล่าวหาว่า Facebook แสวงหาผลกำไรจากการแพร่กระจาย Fake News และการสร้างความเกลียดชัง อีกทั้งแม้จะรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ก็ไม่คิดจะดำเนินการแก้ไขทั้งๆ ที่สามารถทำได้อีกด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

แล้ว “Facebook Papers” มาเกี่ยวอะไรกับ “Meta” รวมถึง ซีรีส์สารพันปัญหาที่เราได้เกริ่นไว้ยืดยาวมาตั้งแต่บรรทัดด้านบนโน่นกันนะ? เดี๋ยวเราค่อยๆ ไปเริ่มต้นพร้อมๆ กัน

การก้าวเท้าสู่โลกใบใหม่ ของ Facebook

“วันนี้เราถูกมองว่าเป็นเพียงบริษัทโซเชียลมีเดีย แต่ใน DNA ของ พวกเรา เราเป็นบริษัทที่สร้างเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงผู้คน และ Metaverse คือ พรมแดนถัดไป ซึ่งจะไม่ต่างจากโซเชียลมีเดีย ที่เราเป็นผู้เริ่มต้น” มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook กล่าวถึง โลกใบใหม่ที่เรียกว่า Metaverse

Metaverse คือ อะไร?

หาก “คุณ” เคยผ่านตากับ ภาพยนตร์ Sci-Fi เหนือจินตนาการที่ผูกโยงเข้ากับโลกเสมือนจริง อย่าง Ready player one หรือ The Matrix “เรา” ก็คงแทบไม่ต้องบรรยายให้สิ้นเปลืองบรรทัดแล้วว่า Metaverse คืออะไร?

ว่าแต่...คุณพร้อมจะเสียบปลั๊ก แล้วกระโจนเข้าโพรงกระต่ายในโลกที่มีแต่เลข 0 และ เลข 1 หรือยังล่ะ?

...

โดย Facebook ประกาศจัดตั้งทีมสำหรับโปรเจกต์ Metaverse เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากนั้นได้แสดงออกถึงความจริงจังในเรื่องนี้ ด้วยการระบุไว้ในรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมาว่า ได้ตัดสินใจแยกแผนก Reality Labs ออกมาต่างหาก โดยจะเริ่มรายงานผลประกอบการของแผนกในไตรมาสถัดไป นอกจากนี้ ยังจะมีการทุ่มเงินอีก 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า (ปี 2022) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการสร้าง Metaverse ให้สำเร็จอีกด้วย

เป้าหมายทางธุรกิจสำหรับ Metaverse?

“ความหวังของเรา คือ ภายในทศวรรษหน้า Metaverse จะเข้าถึงผู้คนนับพันล้านคน และทำให้เกิดตลาด E-Commerce มูลค่านับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังจะสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานบรรดา Creators และ Developers อีกนับล้านๆตำแหน่ง” มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ระบุถึง ความหวังในโมเดลธุรกิจใหม่ของบริษัท

ข่าวร้ายสำหรับ Metaverse?

หลังการประกาศโมเดลธุรกิจใหม่แห่งความหวัง พร้อมๆ กับ รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ซึ่ง Facebook สามารถทำรายได้มากถึง 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนผลกำไรมากถึง 9,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็น “ข่าวดี”

แต่บรรดานักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งกลับมองว่า ความพยายามเร่งประกาศ “ข่าวดี” ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในความพยายามเร่งนำ “ข่าวดี” มาเบนความสนใจจาก “ข่าวร้าย” ที่กำลังสั่นคลอนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีแห่งนี้เสียมากกว่า

...

แล้วอะไรคือเหตุแห่งปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการเร่งร้อนประกาศ Rebrand ครั้งนี้?

1.เสน่ห์ดึงดูดที่เสื่อมถอย

การ Rebrand จาก Facebook เป็น Meta พร้อมๆ กับ การประกาศเดินหน้าไปสู่ Metaverse น่าจะเป็นหนึ่งในความพยายามสร้างเสน่ห์ครั้งใหม่ให้กับภาพลักษณ์แบรนด์ที่กำลังเสื่อมถอย จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์สาธารณะโดยเฉพาะข้อกล่าวหาไร้ซึ่งความรับผิดชอบและมุ่งแสวงหาผลกำไรจากความขัดแย้ง จนสร้างวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 17 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา

2.ป้องกันการสูญเสียบุคลากร

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า Facebook เต็มไปด้วยบุคลากรที่มากล้นความสามารถจำนวนมากมาย แต่หลังเกิดวิกฤติย่อมมีความเป็นไปได้ที่ บุคลากรอันล้ำค่าเหล่านั้น อาจเริ่ม “เสื่อมศรัทธา” ให้กับความ Wow ที่เคยมีให้กับองค์กร และในเมื่อตลาดมีการแข่งขันกันสูง บุคลากรเหล่านั้น ย่อมตกเป็น “เป้าหมายสำคัญ” ที่อาจถูกคู่แข่งช่วงชิงตัวไป

ด้วยเหตุนี้ การประกาศ “เรียกร้องความท้าทายใหม่ๆ” จากบรรดาพนักงานเพื่อให้มาร่วมกันสร้างโลกที่เรียกว่า Metaverse ซึ่งแน่นอนว่าจะมาพร้อมๆ กับเงินทุนให้ใช้อย่างไม่อั้นอีกครั้ง อาจลดความสูญเสียภายในที่อาจเกิดขึ้นนี้ได้

...

3.เบี่ยงเบนความสนใจจากสื่อมวลชน

การกลุ้มรุมกระหน่ำจาก “กลุ่มสื่อหลัก” อย่างชนิดเกาะติดไม่ต่างจากฉลามได้กลิ่นเลือด ทำให้มีแต่การขุดคุ้ยข้อมูลจากเอกสารหลุด Facebook Papers ในด้านที่ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กรออกมาไม่เว้นแต่ละวัน

การโยนคำถามที่น่าค้นหาคำตอบเรื่องโลกใบใหม่ที่เรียกว่า Metaverse ย่อมทำให้กลุ่มฉลามว่ายหนีออกจากชิ้นเนื้อที่กำลังชุ่มไปด้วยเลือดได้ชั่วคราวจนทำให้มีเวลาสำหรับการตั้งหลักวิกฤติในครั้งนี้

4.กลุ่มเป้าหมายคนหนุ่มสาว 18-29 ปี

เอกสารภายในที่หลุดออกมา มีการระบุถึงความกังวลใจในหมู่ผู้บริหารที่ว่า Facebook กำลังกลายเป็น “คนแก่” จาก คอนเทนต์ที่แสนน่าเบื่อและมุ่งสร้างพลังด้านลบ และเป็นสถานที่รวมตัวกันของคนวัย 40-50 ปี ในทัศนะของกลุ่มคนหนุ่มสาว กระทั่งทำให้ตัวเลขของคนกลุ่มนี้ เริ่มใช้เวลากับ Facebook น้อยลงเรื่อยๆ

การประกาศเรียกร้องความสนใจผ่าน “จุดแข็ง” ของบริษัทที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เรียกมันว่า “Next Evolution of Social Technology” น่าจะทำให้ วัยทีนทั้งหลายกลับมารู้สึกขนลุกให้กับบริษัทได้อีกครั้งก็เป็นได้

หลากหลายมุมมองที่มีต่อการ Rebrand?

นักวิเคราะห์ทางการตลาดส่วนหนึ่งมองว่า การ Rebrand ของ Facebook ในช่วงเวลานี้ ไม่ค่อยถูกที่ถูกเวลานัก นั่นเป็นเพราะโดยปกติกลยุทธ์การ Rebrand มักจะถูกนำมาใช้เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ มากกว่าจะถูกนำมาใช้ในยามเพลี่ยงพล้ำ

โดยนักวิเคราะห์บางคนถึงกับบอกว่า การ Rebrand ครั้งนี้ ไม่ต่างอะไรกับ การทาสีใหม่ลงบนแบรนด์ที่มีตำหนิ และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ในเมื่อโลกจริง Facebook ยังไม่อาจทำให้ผู้คนเชื่อมั่นได้ จากสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลและไร้ซึ่งความรับผิดชอบในการหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ แล้วใน Metaverse ที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นใหม่ ผู้คนจะเกิดความเชื่อมั่นได้อย่างไร?

และสิ่งที่ Facebook “ควรทำ” มากกว่าการเลือก “รีแบรนด์” ในเวลานี้ คือ การเน้นจัดการกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความล้มเหลวในการกลั่นกรองเนื้อหา และการเร่งจัดการ Fakenews รวมถึง เนื้อหาที่ยุยงให้เกิดความเกลียดชัง ซึ่งทำให้แบรนด์เสื่อมถอยมากกว่า

ซึ่งประเด็นปัญหานี้ สอดคล้องกับผลสำรวจของ Consumer Reports หรือ CR เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าจากจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 2,263 คน ในสหรัฐฯ ในจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 63% ที่คิดว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ Fakenews ใน Facebook และ Instagram

Metaverse จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่?

1.เทคโนโลยี

นี่คือคำถามที่สุดแสนท้าทาย แม้ว่า Facebook ดูเหมือนจริงจังกับเรื่องนี้มาก แต่คำถามสำคัญ คือ มันจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ รวมถึง หากมันเกิดขึ้นได้จริง มันจะ Wow มากแค่ไหน?

สิงหาคมที่ผ่านมา Facebook เพิ่งปล่อย แอปพลิเคชันประชุมทางไกลในแบบ Virtual Reality (VR) ที่มีชื่อ Horizon Workrooms ซึ่งถือเป็นก้าวย่างสำคัญสู่ Metaverse

แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาคือ นอกจากจะ “น่าเบื่อ” แล้ว ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ “แสนแพง” เพราะมันเป็นเพียง การนำร่างอวตารครึ่งตัวมาร่วมกันประชุมในห้องประชุมเสมือนจริงกับบรรดาเพื่อนร่วมงาน ด้วยกล้อง VR ที่มีราคาสุดแสนแพงถึง 300 ดอลลาร์สหรัฐ แถมยังยุ่งยากในการติดตั้งอีกด้วย

หรืออีกหนึ่งกรณีศึกษาที่คล้ายๆ กันเพื่อมุ่งหน้าไปสู่ Metaverse นั่นคือ แว่นอัจฉริยะ Google Glass ซึ่ง Google อุตส่าห์ทุ่มเทเงินสำหรับการวิจัยและพัฒนาหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ซึ่งสุดท้ายผลลัพธ์ก็อย่างที่เราทราบๆ กัน มันคือ “ความล้มเหลว” ราคาแพง ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักกับ Google

2.นักลงทุน

หาก Google Glass คือ ความล้มเหลวที่แสนเจ็บปวด Metaverse ของ Facebook ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า มันคือการทำซ้ำ Google Glass ในสเกลที่ใหญ่โตกว่ากันลิบลับ หากมันเกิดล้มเหลวขึ้นมา หรือใช้เวลาและเงินทุนในการพัฒนามากเกินไป บรรดานักลงทุนจะมีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปกับ เครื่องจักรสร้างผลกำไร อย่าง Facebook หรือไม่?

3.ความเชื่อถือ

ปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น กับ Facebook หรือ Meta ในชื่อใหม่ คือ “ความน่าเชื่อถือ” ดังนั้นโจทย์สำคัญในการเชิญชวนบรรดาผู้คนนับพันล้านคน ตามความคาดหวังของ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ไปสู่โลกใหม่

นั่นก็คือ...จะทำอย่างไรให้คนเหล่านั้นเชื่อได้ว่าจะไม่มีการสอดแนม เก็บข้อมูล หรือ ปล่อยให้ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลออกไป เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้

และมันคงจะดีมากแน่ๆ หากสามารถสะสางปัญหาต่างๆ ให้เกิดความชัดเจนได้ก่อนวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่จะเริ่มเปิดให้มีการซื้อขายหุ้นภายใต้ ชื่อใหม่ MVRS

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ