"อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กกำลังทำร้ายเด็กๆ สร้างความแตกแยก ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอ รวมถึงยังมุ่งกอบโกยผลกำไรเหนือความรับผิดชอบทางศีลธรรม"

และด้วยประโยคสะท้านโลกนี้นี่เอง ที่ทำให้ผู้ที่กล่าวประโยคนี้ออกมา ได้รับการยกย่องให้เป็น วีรสตรีอเมริกันแห่งศตวรรษที่ 21

"ฟรานเซส เฮาเกน" (Frances Haugen) คือชื่อของ "เธอ" คนนี้

การปะทะกันระหว่าง David กับ Goliath แห่งศตวรรษที่ 21

David = Frances Haugen

ฟรานเซส เฮาเกน วัย 37 ปี สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรคอมพิวเตอร์ และเรียนจบ MBA จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อดีตผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก รวมถึงเคยทำงานในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งอย่าง Google Pinterest และ Yelp โดยเธออ้างว่ามีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการบริหารจัดการอัลกอริทึม (Algorithmic Product Management)

Goliath = Facebook

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ผู้ถือครองแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอันทรงอิทธิพลแห่งศตวรรษ อย่าง Facebook, Instagram และ WhatsApp ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานรายวันมากกว่า 2,800 ล้านยูสเซอร์ และเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิมากมายมหาศาลถึง 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!

...

ชนวนเหตุการงัดข้อ ระหว่าง David และ Goliath

Frances Haugen

เอกสารหลายพันหน้าที่ ฟรานเซส เฮาเกน คัดลอกจากเฟซบุ๊กก่อนลาออกและได้นำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนและถูกส่งไปยังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐฯ โยงใยถึงข้อกล่าวหาที่ว่า ระบบอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมที่ถูกปรับแต่งล่าสุดในปี 2018 ซึ่งเน้นการจัดอันดับเนื้อหาที่อิงตามการมีส่วนร่วมที่ถูกใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

กำลังทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพจิตของเหล่าวัยรุ่น และยังทำให้เกิดความแตกแยกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังเลือกผลกำไรที่ได้จากระบบที่ผิดพลาดนี้ จนเมินเฉยต่อการทำให้แพลตฟอร์มของตัวเองเป็นสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย และลดความแตกแยกจากการถูกปลุกระดมต่างๆ ทั้งๆ ที่รู้ดีถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถแก้ไขได้ รวมถึงยังปกปิดข้อมูลที่เป็นอันตรายนี้ต่อนักลงทุนอีกด้วย

Facebook

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) CEO เฟซบุ๊ก โพสต์แถลงการณ์จำนวน 1,316 คำ โต้แย้งข้อกล่าวหาของ ฟรานเซส เฮาเกน ว่า เป็นความพยายามป้ายสีเพื่อทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง พร้อมกับยืนยันว่า เฟซบุ๊กได้สร้างประสบการณ์ที่ตรงกับความต้องการของคนหนุ่มสาว ในขณะเดียวกันยังทำให้พวกเขาปลอดภัยอีกด้วย

ในขณะที่ โฆษกของเฟซบุ๊กยืนกรานว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ ของ ฟรานเซส เฮาเกน ที่มีต่อบริษัทนั้น ล้วนแล้วแต่ไม่ได้อยู่ในภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการทำงานของเธอ ในสมัยที่ทำงานอยู่ที่เฟซบุ๊กเป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี และเพิ่งลาออกไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

1. แสวงหาผลกำไรจากความแตกแยก

ข้อกล่าวหา

ฟรานเซส เฮาเกน กล่าวหาว่า เฟซบุ๊กเลือกที่จะขยายการเติบโตทางธุรกิจ มากกว่าการมุ่งหาระบบป้องกันบนแพลตฟอร์มของตัวเอง อีกทั้งยังมีความพยายามซ่อนงานวิจัยภายในบริษัทที่ให้ความกระจ่างถึงอันตรายจากผลผลิตของบริษัท ต่อสาธารณชนและรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงรัฐบาลทั่วโลก

...

ซึ่งประเด็นนี้ ผลลัพท์ที่เกิดขึ้น คือ ทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น อันตรายมากขึ้น โกหกมากขึ้น คุกคามและปะทะกันมากขึ้น อีกทั้งในบางกรณี อันตรายจากการสนทนาออนไลน์ยังถึงขั้นนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกาย หรือแม้กระทั่งคดีฆาตกรรมอีกด้วย

ข้อโต้แย้ง

เหล่าผู้บริหารของเฟซบุ๊กโต้แย้งในประเด็นนี้ว่า บริษัทไม่ได้มุ่งแสวงหาผลกำไรมากไปกว่าการสร้างแพลตฟอร์มให้ปลอดภัย โดยสิ่งที่เห็นได้ชัดจากประเด็นนี้ คือ การยุติโฆษณาทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ในขณะที่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ตอบโต้ในประเด็นการซ่อนงานวิจัยภายในต่อสาธารณชนว่า งานวิจัยที่ถูกนำไปเอ่ยอ้างนั้น ถูกบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง

2. งานวิจัยภายในที่อ้างว่าถูกเฟซบุ๊กปกปิดจากสาธารณชน

ข้อกล่าวหา

หนึ่งในรายงานผลการวิจัยภายในเกี่ยวกับ Instagram บริษัทลูกของ Facebook ที่ถูก ฟรานเซส เฮาเกน คัดลอกและนำออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนระบุว่า กลุ่มวัยรุ่นหญิงในสหราชอาณาจักรถึง 13.5% ยอมรับว่ามีความคิดจะทำร้ายตัวเองบ่อยขึ้น หลังจากเริ่มใช้งาน Instagram ในขณะที่อีก 17% ยอมรับพฤติกรรมการกินของตัวเองแย่ลง หลังจากใช้งาน Instagram และมากถึง 32% ยอมรับว่า ในขณะที่กำลังรู้สึกแย่กับร่างกายของตัวเอง Instagram ยิ่งทำให้พวกเธอรู้สึกย่ำแย่ลงไปอีก

...

ประเด็นนี้ ทำให้ ฟรานเซส เฮาเกน กล่าวหาเฟซบุ๊กอย่างตรงไปตรงมาว่า กำลังเลือกใช้อัลกอริทึมการจัดอันดับเนื้อหาที่อิงตามการมีส่วนร่วม เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจผิดและยังชี้นำไปในทางที่ผิด โดยมุ่งหวังไปที่ผลกำไรมากกว่าความปลอดภัยของเด็กๆ และผู้ใช้งานทุกคน

ข้อโต้แย้ง

ข้อโต้แย้งของเฟซบุ๊กในประเด็นนี้ คือ งานวิจัยภายในของบริษัทอีกหลายชิ้น แสดงให้เห็นว่า เหล่าคนหนุ่มสาวที่ใช้ Instagram รู้สึกเชื่อมโยงกับคนรอบข้างมากขึ้นและยังมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และล่าสุด ได้ยุติอัลกอริทึมที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 13 ปีแล้ว ถึงแม้ว่า ข้อกำหนดการใช้งานของ Instagram จะห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 13 ปีใช้งานก็ตาม

3. อัลกอริทึมเจ้าปัญหา

ข้อกล่าวหา

ฟรานเซส เฮาเกน กล่าวหาว่า อัลกอริทึม ซึ่งเน้นการจัดอันดับเนื้อหาที่อิงตามการมีส่วนร่วมต่างๆ เช่น การกดไลค์ แชร์ หรือคอมเมนต์ จะยิ่งทำให้เกิดการเผยแพร่คอนเทนต์ในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งกำลังขับเคลื่อนฟีดหลักยอดนิยมบนหน้าเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม ณ เวลานี้ ทำให้คอนเทนต์ประเภทปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึก เช่น โพสต์ด่าทอ ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง หรือแม้กระทั่ง Fake News ถูกเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้างจนน่าวิตก

...

ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการปรับเปลี่ยนอัลกอริทึม ให้เป็นการจัดอันดับตามลำดับเวลามากกว่า เพื่อลดการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง รวมถึงเฟซบุ๊กยังควรต้องมีการจัดการกับเนื้อหาแสดงความเกลียดชังให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

ข้อโต้แย้ง

นีล พอต (Neil Potts) รองประธานฝ่ายนโยบายความไว้วางใจและความปลอดภัยของเฟซบุ๊ก โต้แย้งในประเด็นนี้ว่า ข้อกล่าวหาที่ว่านี้ เป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง เพราะอัลกอริทึมที่ถูกออกแบบมามุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า และการมีประสบการณ์ทางสังคมในเชิงบวกบนแพลตฟอร์มของเรา นอกจากนี้ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการทั้งเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม จะทำให้เหล่ายูสเซอร์มีช่วงเวลาที่ดีขึ้น และทั้งหมดนั้นคือ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรา

ทั้งนี้ การโต้แย้งระหว่าง David และ Goliath แห่งศตวรรษที่ 21 นอกจากจะได้รับความสนใจจากสาธารณชนแล้ว ประเด็นสำคัญเรื่องเอกสารหลายพันหน้า ที่ ฟรานเซส เฮาเกน คัดลอกจากเฟซบุ๊กก่อนลาออกและนำออกเผยแพร่ ได้กลายเป็น "จุดสนใจ" สำหรับบรรดานักการเมืองในสหรัฐฯ ทันที เพราะนั่นหมายถึง มันอาจกลายเป็น "หลักฐานชั้นดี" ในการแก้ไขกฎหมายเพื่อควบคุมยักษ์ใหญ่แห่งโลกเทคโนโลยี ที่มักจะพยายามหาทางหลีกเลี่ยงการถูกควบคุมด้วยระเบียบและกฎหมายต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ ฟรานเซส เฮาเกน จึงถูกเรียกตัวมาให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการวุฒิสภาว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และความปลอดภัยของข้อมูล จนนำไปสู่คำสดุดีในบรรทัดด้านบนสุดที่ "คุณ" เพิ่งผ่านสายตาไป

อย่างไรก็ดี ฟรานเซส เฮาเกน ยืนยันว่า ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนนั้น อยู่ภายใต้ความต้องการให้เกิดความร่วมมือระหว่างสภาคองเกรสและเฟซบุ๊ก "เพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดให้กลับมาถูกต้อง" มากกว่าที่จะทำลายล้างเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมให้สาบสูญไปจากโลกใบนี้ก็ตาม

แต่...บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ต่างมองว่า โมเมนตัมทางการเมืองในสหรัฐฯ ไม่ได้คิดเช่นนั้น

"เฟซบุ๊กเหมือนบุหรี่มวนใหญ่ ที่กำลังดึงดูดบรรดาเด็กๆ ด้วยบุหรี่ชิ้นแรก และสภาคองเกรสจะต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในเรื่องที่เกิดขึ้น เราจะไม่ยินยอมให้เฟซบุ๊กทำร้ายเด็กๆ และครอบครัว รวมถึงระบอบประชาธิปไตยของเราได้อีกต่อไป"

เอ็ด มาร์คีย์ (Ed Markey) วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครต ผู้กล่าวสดุดีวีรสตรีแห่งศตวรรษที่ 21 กล่าวอย่างขึงขังหลังได้รับฟังการให้ข้อมูลของ ฟรานเซส เฮาเกน

สภาคองเกรสจะทำอย่างไรกับเฟซบุ๊ก?

ปัจจุบันกำลังมีการขับเคลื่อนจากบรรดาสมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐฯ เพื่อหาทางปฏิรูปมาตรา 230 ของพระราชบัญญัติความเหมาะสมในการสื่อสาร (Communications Decency Act) หรือ CDA ซึ่งมีบทบัญญัติยกเว้นให้บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) หรือ ISP จากความรับผิดในโพสต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเอง

ในขณะที่ ความเห็นจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่ง ได้เสนอแนะว่า ควรมีการออกกฎหมายควบคุมโซเชียลมีเดียไม่ให้มีขนาดของเครือข่ายใหญ่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากวิธีนี้เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับแต่ประเทศในแง่ของการปฏิบัติสำหรับการออกกฎหมายเพื่อควบคุมโซเชียลมีเดียไม่ให้ใหญ่โตเกินกว่าที่จะสามารถกลั่นกรองเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของตัวเองได้ จนกระทั่งปล่อยปละให้เนื้อหาสร้างความเกลียดชัง และ Fake News สามารถลุกลามได้รวดเร็วราวกับไฟลามทุ่งเช่นในปัจจุบัน.

ข่าวน่าสนใจ: