"เฟซบุ๊ก" (Facebook) กลับกลายมาเป็นประเด็นร้อนในประเทศออสเตรเลียอีกครั้ง หลังศาลสูงออสเตรเลียยืนยันคำตัดสินว่า บริษัทสื่อสารมวลชนต้องเป็นผู้รับผิดชอบ "คอมเมนต์ที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท" บนหน้าเพจของตัวเอง
และผลพวงจากคำตัดสินดังกล่าวได้ทำให้สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างสำนักข่าว CNN ตัดสินใจ "ยุติการเผยแพร่เนื้อหา" บนหน้าเพจในประเทศออสเตรเลียทันที โดย CNN ระบุถึงการตัดสินใจดังกล่าวในครั้งนี้ว่า...
"เรารู้สึกผิดหวังที่เฟซบุ๊กล้มเหลวอีกครั้งในการสร้างความเชื่อมั่นว่า แพลตฟอร์มของตัวเองเป็นสถานที่สำหรับสื่อสารมวลชนที่น่าเชื่อถือและการสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องสถานการณ์ปัจจุบันในหมู่ยูสเซอร์"
อะไรคือ ความน่าผิดหวังของเฟซบุ๊ก?
นับตั้งแต่มีการฟ้องร้องสื่อมวลชนในออสเตรเลีย ปี 2559 ได้มีความพยายามเรียกร้องให้เฟซบุ๊กให้ความช่วยเหลือโดยการให้สามารถ "ปิดคอมเมนต์" หรือ "จำกัดความสามารถในการแสดงความเห็น" บนหน้าเพจได้ แต่เฟซบุ๊กเพิ่งสนองตอบต่อข้อเรียกร้องที่ว่านี้ไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้เอง
...
อย่างไรก็ดี เฟซบุ๊กได้ออกมาตอบโต้ว่า ได้ให้คำแนะนำกับบรรดาสื่อมวลชนต่างๆ แล้วว่า ควรใช้เครื่องมือที่เตรียมไว้ให้ คือ "การปิดคอมเมนต์" หรือ "จำกัดความสามารถในการแสดงความเห็น" ตามโพสต์ต่างๆ ในหน้าเพจของตัวเอง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ยินดีที่จะเข้าไป "เกี่ยวข้อง" ใดๆ กับเรื่องยุ่งๆ ทางกฎหมายที่กำลังเกิดขึ้นกับวงการสื่อมวลชนในออสเตรเลีย
อะไรที่นำไปสู่ "ความขัดแย้ง" ยกใหม่ ระหว่างองค์กรสื่อมวลชนและแพลตฟอร์มที่กำลังครองโลกในเวลานี้?
ทุกอย่างมันเริ่มจาก ดีแลน วอลเลอร์ (Dylan Voller) วัยรุ่นชาวออสเตรเลีย ผู้ก่ออาชญากรรมยาวเป็นหางว่าว ได้ยื่นฟ้องร้องสื่อมวลชนชื่อดังของออสเตรเลียหลายแห่ง เช่น The Australian, Sky News และ The Sydney Morning Herald ว่า การรายงานข่าวเรื่องการถูกทารุณกรรมตัวเขาขณะอยู่ในทัณฑสถานเยาวชนของสื่อจนกลายเป็นข่าวดังระดับประเทศ และได้มีการนำเนื้อหามาโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กนั้น ทำให้มีผู้เข้ามา "คอมเมนต์" ทำให้เขาได้รับความเสียหาย ต่อศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์
ศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ตัดสินให้สื่อเป็นฝ่ายแพ้คดี ทำให้มีการยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุด (The High Court) แต่แล้ว...คำตัดสินก็เป็นไปอย่างบรรทัดด้านบนสุดโน่น คือ ศาลสูงสุดยังคงยืนยันให้สื่อเป็นฝ่ายแพ้คดีเช่นเดิม!
อะไรคือ ประเด็นในการต่อสู้ของสื่อและคำตัดสินของศาลออสเตรเลีย?
ข้อต่อสู้ในทางคดีของสื่อมวลชนออสเตรเลีย
สื่อมวลชนไม่ควรต้องรับผิดชอบต่อ "ความคิดเห็น" ที่เกิดจากบรรดายูสเซอร์ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในฐานะผู้เผยแพร่ อีกทั้งจะว่าไปแล้ว ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ สื่อมวลชนถือได้ว่าตกเป็น "เหยื่อ" อันเกิดจากฟังก์ชันการทำงานของระบบเฟซบุ๊ก ที่เปิดให้มี "คอมเมนต์" อีกด้วย
คำตัดสินของศาลสูงออสเตรเลีย
การดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์จากฟังก์ชันการทำงานของระบบเฟซบุ๊ก ทำให้สื่อมวลชนอยู่ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก หรือให้การสนับสนุนการเผยแพร่ "ความคิดเห็น" เหล่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบตามกฎหมายไปได้
...
อย่างไรก็ดี ภายใต้คำตัดสินที่ว่านี้ บุคคลที่อ้างว่าตัวเองได้รับความเสียหาย (ถูกหมิ่นประมาท) จาก ความคิดเห็นในเฟซบุ๊ก จะต้องมีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดให้ได้ว่า ได้รับความเสียหายหรือได้รับอันตรายร้ายแรงจากความคิดเห็นดังกล่าวถึงจะสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพียงแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้ คือ "อันตรายร้ายแรง" ที่ว่านี้ มีกรอบที่ชัดเจนมากน้อยเพียงใด
ฉะนั้น ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายไซเบอร์ในออสเตรเลีย จึงให้คำแนะนำในประเด็นนี้ว่า อย่างน้อยที่สุด การลบ "คอมเมนต์" ที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทจะเป็นผลดีในแง่การต่อสู้ทางกฎหมายต่อไปในอนาคตมากกว่า ที่จะเฝ้ารอการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นประมาทของออสเตรเลียที่คลอบคลุมเรื่องความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้ใช้ สำหรับเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทที่มีการเผยแพร่ลงบนแพลตฟอร์มโชเชียลมีเดียที่อาจต้องกินระยะเวลายาวนานอีกหลายปี
ผลกระทบที่ตามมาหลังจากคำตัดสินของศาลสูงออสเตรเลีย
การลบ หรือปิด รวมถึงจำกัดความสามารถในการแสดงความเห็น ตามคำแนะนำของเฟซบุ๊ก คือทางออกของประเด็นนี้หรือไม่?
...
ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในประเทศออสเตรเลียสำหรับประเด็นนี้ คือ หากเลือกที่จะลบหรือปิด รวมถึงจำกัดความสามารถในการแสดงความเห็น สิ่งที่ตามมา คือ มักจะทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ยูสเซอร์ และตามมาด้วยการมีส่วนร่วมในหน้าเพจจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับจนส่งผลกระทบต่อ "รายได้" ในท้ายที่สุด
แล้วหากตัดสินใจที่จะไม่ลบหรือปิด รวมถึงจำกัดความสามารถในการแสดงความเห็นจะเกิดอะไรขึ้น?
จากรายงานผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยซิดนีย์พบว่า ระหว่างปี 2556 ถึง 2560 การฟ้องหมิ่นประมาทในออสเตรเลีย 51% มาจากการโพสต์ในโชเชียลมีเดีย ในขณะที่ แนวโน้มการฟ้องหมิ่นประมาทที่เกี่ยวข้องกับรายงานข่าวของสื่อมวลชนอยู่ที่เพียง 26% เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ คำตัดสินของศาลสูงออสเตรเลียย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงที่องค์กรสื่อจะถูกฟ้องร้องได้มากยิ่งขึ้น เพราะแต่ละโพสต์ข่าวย่อมมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะมี "คอมเมนต์" ยั่วยุที่จะนำไปสู่การฟ้องหมิ่นประมาทได้ และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การตามหาตัวเจ้าของโพสต์ที่อาจใช้ชื่อปลอมหรือร่างอวตาร เพื่อดำเนินการฟ้องร้องนั้น มันย่อมยุ่งยากมากกว่าที่จะเลือกฟ้ององค์กรสื่อที่มีตัวตนชัดเจน และแน่นอนว่ามีกำลังทรัพย์มากพอที่จะจ่ายค่าเสียหายอยู่แล้ว
อ๋อ...นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ ผลพวงจากคำตัดสินของศาลสูงออสเตรเลียนี้ ไม่ได้ผูกพันเฉพาะกับเพจองค์กรสื่อมวลชนเท่านั้น แต่มันรวมถึงเพจสโมสรฟุตบอล ธุรกิจใหญ่น้อยทั้งหลายในประเทศออสเตรเลียทั้งหมดด้วย เรียกว่า ตอนนี้แต่ละองค์กรที่เปิดเพจอาจต้องจัดหาคนมาคอยมอนิเตอร์ "คอมเมนต์" สุ่มเสี่ยงทั้งหลายเพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้องแล้ว
อย่างไรก็ดี ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ในเชิงการทำธุรกิจระหว่างองค์กรสื่อมวลชนและเฟซบุ๊กในประเทศออสเตรเลีย "เกิดปัญหาที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเข้าไปอีก" หลังจากก่อนหน้านี้เพียงไม่นาน ทั้งสองฝ่ายเพิ่งเปิดศึก "การผูกขาดรายได้ค่าโฆษณา" กันมาหยกๆ หลังรัฐบาลออสเตรเลียเดินหน้าออกร่างกฎหมายบังคับให้แพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องจ่ายเงินส่วนแบ่งให้กับผู้ประกอบการธุรกิจสื่อในออสเตรเลีย ที่มี "เนื้อหา" ปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์ม
...
ภายใต้การผลักดันของอาณาจักรสื่ออันทรงอิทธิพลอย่าง บริษัท นิวส์ คอร์ป (News Corp) ของ รูเพิร์ต เมอร์ด็อค เจ้าพ่อวงการสื่อโลก เคยทำให้ "เฟซบุ๊ก" ถึงกับออกอาการเกรี้ยวกราด สั่งแบนเนื้อหาของสำนักข่าวต่างๆ เรื่อยไปแม้กระทั่งเพจที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านสาธารณสุขของทางการของออสเตรเลีย เป็นการตอบโต้ทันทีมาแล้ว
เพียงแต่...ระยะเวลาในการ "ตอบโต้" ภายใต้ข้อโต้แย้งที่ว่า ได้รับผลกำไรเชิงพาณิชย์จาก "เนื้อหา" ของสำนักข่าวต่างๆ เพียงเล็กน้อย (ตามข้อมูลของทางการออสเตรเลีย ทุกๆ 100 ดอลลาร์ออสเตรเลียของเม็ดเงินค่าโฆษณา กูเกิล และเฟซบุ๊ก จะได้รับส่วนแบ่งไปมากมายถึง 81 ดอลลาร์ออสเตรเลีย) นั้น มันกินระยะเวลาเพียงไม่นาน หลังจากทั้งสองฝ่าย "พบกันครึ่งทาง" เรื่องเงินๆ ทองๆ ได้สำเร็จ
โดยเฟซบุ๊กอ้างว่า สามารถบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลออสเตรเลีย เรื่องการอนุญาตให้สามารถเลือกสนับสนุนบรรดา "สำนักข่าว" หรือ "ผู้เผยแพร่เนื้อหา" ได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับให้ต้องเจรจาเพื่อจ่ายเงินค่าส่วนแบ่งเนื้อหาโดยอัตโนมัติ รวมถึงการเข้ามากำหนด "ราคาขั้นต่ำ" ที่เฟซบุ๊กควรจะต้องจ่ายให้กับ "เนื้อหา" ที่มาจากวงการสื่อสารมวลชนอีกด้วย และแน่นอนมาตรฐานการจ่ายเงินให้กับสื่อนี้ ยังถูกจำกัดวงไว้เพียงเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรเท่านั้นเสียด้วย
สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้ต่อไป คือ หลังเกิดประเด็นปัญหาเรื่องความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องได้ง่ายมากขึ้น องค์กรสื่อในออสเตรเลียจะปรับตัวในเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงยังยินดีที่จะใช้บริการแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก ในการเผยแพร่ "เนื้อหา" ต่อไปหรือไม่
เฟซบุ๊กจะเข้ามามีส่วนร่วมกับองค์กรสื่อมากขึ้นเพื่อเฟ้นหาทางออกในเรื่องนี้ มากกว่าที่จะโยนภาระทั้งหมดไปให้สื่อมวลชนเป็นผู้รับผิดชอบฝ่ายเดียวหรือไม่
การเคลื่อนตัวครั้งล่าสุดของรัฐบาลออสเตรเลียที่มีผลต่อยักษ์ขนาดมหึมาในโลกยุคปัจจุบัน ถึงสองครั้งสองคราในเวลาไล่เลี่ยกัน จะมีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ควรจับตาทั้งสิ้น!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ:
- เบื้องลึก ปิดเกมตัวประกัน "เมิ่ง หว่านโจว" ลูกสาว "หัวเว่ย"
- Think Different การต่อเติม Apple ด้วยความแตกต่างสไตล์ Tim Cook
- รีวิวทัวร์อวกาศ Galaxy Far, Far Away 3 อภิมหาเศรษฐี มัสก์-เบซอส-แบรนสัน
- จับตาพายุ 2 ลูก ส่อถล่มเหนือ-อีสาน หวั่น 12 ต.ค. ร่องมรสุมเสริมกำลัง
- AUKUS GAME เกมเดิมพันหยุดยั้งพญามังกรสยายปีก