"ถ้าหากไม่มีมาตุภูมิอันเข้มแข็ง ดิฉันคงไม่ได้รับอิสรภาพ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ดิฉันตระหนักได้ว่า ชะตากรรมของกิจการและผลประโยชน์ส่วนบุคคล มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับชะตากรรมของประเทศ และมาตุภูมิจะให้การสนับสนุนเราเสมอ"

"ต้อนรับกลับบ้าน"
"ต้อนรับกลับบ้าน"
"ต้อนรับกลับบ้าน"

เสียงกู่ก้องร้องตะโกนลั่นสนามบินเซินเจิ้น พร้อมๆ กับการถ่ายทอดสดที่มีผู้รับชมมากถึง 400 ล้านคน เพื่อแสดงการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ต่อผู้หญิงที่รัฐบาลจีนกำลังยกย่องให้เป็นวีรสตรี

Global Times สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลปักกิ่ง เรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจของชาวจีนที่มีต่อ "การกลั่นแกล้ง" ผ่านยุทธวิธีการใช้อำนาจรัฐนอกดินแดน (Long-arm Jurisdiction) ของสหรัฐอเมริกา

"เมิ่ง หว่านโจว" หรือ "ซาบรีนา" (Sabrina) ในชื่อภาษาอังกฤษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) และลูกสาวของ "เหริน เจิ้งเฟย" ผู้ก่อตั้งบริษัท หัวเว่ย ก้าวเท้าลงจากเครื่องบินเช่าเหมาลำโดยรัฐบาลจีน และบินตรงจากประเทศแคนาดามาลงที่เซินเจิ้น ฐานบัญชาการใหญ่ของหัวเว่ย มังกรที่กำลังรุ่งโรจน์ในยุทธจักรสมาร์ทโฟนและล้ำหน้าเรื่องเครือข่าย 5G จนกระทั่งถูกสหรัฐอเมริกาจ้องมองด้วยความกังวลใจ และด้วยความเกรงกลัวว่าจะถูก "แซงหน้า" ทำให้แม้จะถูกติฉินนินทาว่า กำลังใช้วิธี "จับตัวประกันทางเศรษฐกิจ" เพื่อบีบเค้นและต่อรองทางการเมือง แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ตัดสินใจ "ลงมือทำ" ในที่สุด

...

"เมิ่ง หว่านโจว" ถูกจับขณะกำลังแวะเปลี่ยนเครื่องที่ท่าอากาศยานนานาชาติแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ตามหมายจับของรัฐบาลสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาละเมิดกฎหมายคว่ำบาตรอิหร่าน และมีการร้องขอให้ส่งตัวมาดำเนินคดีในสหรัฐฯ ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 หลังจากนั้นเป็นต้นมา เธอถูกกักตัวในบ้านพักที่แวนคูเวอร์นานเกือบ 3 ปี ภายใต้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการ "รักษาสมดุลทางการเมือง" ของรัฐบาลแคนาดา หลังถูกจีนตอบโต้ด้วยการจับ นายไมเคิล คอฟริก อดีตนักการทูต และนายไมเคิล สปาวอร์ นักธุรกิจสัญชาติแคนาดา ในข้อหาจารกรรมข้อมูลทันทีเช่นกัน

ที่ผ่านมา แคนาดาพยายามไม่สร้างแรงยั่วยุต่อปักกิ่งเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่จะยังคง "อยู่นิ่งๆ" กับการรวมพลังแบนเทคโนโลยี 5G จากหัวเว่ย ที่นำโดยสหรัฐฯ ไม่พยายามออกตัวแรงเรื่องการปกป้องไต้หวันจากการคุกคามของจีน และไม่ใช่หนึ่งในสมาชิก Aukus ความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ทางการทหารที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของจีน

แต่ในเวลาเดียวกัน เพื่อเป็นการเอาใจสหรัฐฯ แคนาดาก็ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า การจับกุมพลเมืองแคนาดาตามอำเภอใจของรัฐบาลจีนนั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ รวมถึงยอมเข้าร่วมเป็นหนึ่งในการประท้วงรัฐบาลจีนในประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์

และแล้วในที่สุด "คนกลาง" อย่างแคนาดา ก็ยกภูเขาออกจากอกได้สำเร็จ เมื่อวอชิงตันและปักกิ่งบรรลุข้อตกลงที่นำไปสู่การปล่อยตัว "เมิ่ง หว่านโจว" ก่อนที่จะถึงกำหนดการพิจารณาส่งมอบตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ได้อย่างหวุดหวิด และทันทีที่ "เมิ่ง หว่านโจว" ได้รับการปล่อยตัว "ไมเคิล คอฟริก" และ "ไมเคิล สปาวอร์" ก็ได้รับอิสรภาพและถูกส่งตัวกลับประเทศเช่นกัน

ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยืนยันมาโดยตลอดว่า การจับกุม "เมิ่ง หว่านโจว" เป็นเรื่องการเมือง เพราะโดยปกติแล้ว การฟ้องร้องในคดีที่ใกล้เคียงกัน เช่น คดีติดสินบนของ บริษัท แอร์บัส (Airbus) ในปี 2563 ที่นำไปสู่การจ่ายค่าปรับ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคดีละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านและซีเรียของดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) ในปี 2558 จนถูกปรับ 258 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่างก็เป็นการฟ้องร้องต่อ "บริษัท" ไม่ใช่ "ตัวบุคคล" โดยตรง อีกทั้งยังไม่มีการควบคุมตัวบุคคลในระดับผู้บริหารเหมือนเช่นที่ "เมิ่ง หว่านโจว" ถูกกระทำอีกด้วย

หากแต่สิ่งที่สื่อตะวันตก "รุมกระหน่ำ" ตั้งคำถามกับการต้อนรับ "เมิ่ง หว่านโจว" เยี่ยงวีรสตรีของปักกิ่ง คือ ตามข้อตกลงผัดผ่อนการฟ้องคดีอาญา (Deferred Prosecution Agreement) DPA หรือข้อตกลงที่ทำขึ้นอย่างเป็นทางการที่จะยกฟ้องคดีอาญากับผู้กระทำความผิดหากผู้กระทำผิดเห็นด้วยที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทางอัยการร้องขอ ซึ่งโดยมากจะเป็นการเสียค่าปรับหรือช่วยเหลืออัยการในการสืบสวนคดี ซึ่งนำไปสู่การปล่อยตัวและถอนฟ้องคดีฉ้อโกงธนาคาร และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ จะเลื่อนการฟ้องร้องทุกข้อกล่าวหาไปจนถึงเดือนธันวาคมปีหน้า และเพิกถอนข้อกล่าวหาทั้งหมดหากเธอปฏิบัติตาม DPA นั้น CFO หัวเว่ยยอมรับว่าได้กระทำความผิดจริงไม่ใช่หรือ?

...

ประเด็นนี้ทำให้ฝ่ายจีนหยิบยกถ้อยแถลงของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (US Department of Justice) ที่ว่า "เมิ่ง หว่านโจว" ยอมรับว่า ได้ทำให้สถาบันการเงิน (ธนาคาร HSBC) เข้าใจผิดในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน แต่ไม่ได้มีการ "ยอมรับสารภาพ" ออกมาตอบโต้ทันที พร้อมๆ กับพยายามโน้มน้าวให้ชาวโลกได้เห็นว่า "การวัดใจ" ที่ถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นการทำสงครามการค้าที่สุดจะแสนจะโฉ่งฉ่างของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ฝ่ายจีนเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะอีกด้วย

อย่างไรก็ดี "ความประนีประนอม" หรืออาจจะเรียกได้ว่า "อ่อนข้อ" ให้กับปักกิ่งมากเกินไปในสายตาของพรรครีพับลิกัน รวมถึงบรรดาสายเหยี่ยวในทำเนียบขาวของ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในครั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างประเทศหนึ่งมองตรงกันว่า ถือเป็นทางออกที่ดี สำหรับการ "ยุติการทะเลาะเบาะแว้งที่มีคนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องมาพลอยรับเคราะห์ไปด้วย" อีกทั้งหากมองในแง่ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก มันอาจเป็นการปูทางไปสู่การปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานก็เป็นได้

...

เพราะประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ การเปิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับบาดเจ็บจากปัญหาเศรษฐกิจด้วยกันทั้งคู่ การยอมถอยคนละก้าวย่อมทำให้มีโอกาสมากขึ้น สำหรับการเปิดการเจรจาค้าขายที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์มากกว่า

เหตุใดเจ้าหญิงแห่งหัวเว่ย จึงสำคัญกับรัฐบาลจีน?

ประเด็นที่ 1 สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ชาวจีนและรัฐบาลจีนเชื่อมั่นว่าเป็นคดีการเมือง เธอถูกจับเพื่อหวังใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง และหยุดยั้งความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมไฮเทค มากกว่าเหตุผลอื่นใด หลังอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าพร้อมจะเข้าแทรกแซงคดีนี้ หากสหรัฐอเมริกาได้ประโยชน์

ประเด็นที่ 2 "เมิ่ง หว่านโจว" ครองสถานะบุตรสาวของ "เหริน เจิ้งเฟย" สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผู้ก่อตั้งแบรนด์แห่งความภาคภูมิใจของชาวจีนทั้งมวลอย่าง "หัวเว่ย"

...

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลปักกิ่งจึงต้องแสดงท่าทีแข็งกร้าวเข้าใส่ทั้งสหรัฐฯ และแคนาดา เพื่อแสดงให้เห็นว่า สามารถปกป้องพลเมืองโดยเฉพาะบุคคลสำคัญของตัวเองได้ ซึ่งนั่นรวมถึงการจับกุมพลเมืองของแคนาดาเป็นการตอบโต้อย่างไรก็ดี การเลือกใช้ไม้แข็งของปักกิ่งในประเด็น "การจับคนเป็นตัวประกัน" กลับกลายเป็นช่องที่ทำให้สื่อชาติตะวันตกประโคมข่าวในเรื่องที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต โดยละเลี่ยงที่จะพูดถึงการกระทำของฝ่ายสหรัฐฯ ที่เป็นผู้เริ่มเปิดเกมนี้ขึ้นมาก่อนอีกครั้งเช่นกัน 

และนั่นทำให้ "เกิดความหวาดกลัว" จากบรรดานักลงทุนจากชาติตะวันตกทั้งหลาย ที่เริ่มไม่กล้าเดินทางไปยังประเทศจีน และค่อยๆ ลุกลามไปถึงทำให้การเจรจาการค้าที่ไม่ลงตัว ในขณะที่ การเจรจาเพื่อร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงแทบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ปักกิ่งยอมอ่อนข้อให้กับแรงกดดันที่ชาติตะวันตกพยายามประโคมเข้าใส่แต่อย่างใด นั่นเป็นเพราะรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการสนับสนุนจากภายในประเทศมากกว่าภาพลักษณ์ในระดับนานาชาติ หรืออีกนัยหนึ่ง จีนอาจจะชาชินกับการถูกกล่าวหาฝ่ายเดียวซ้ำๆ จากชาติตะวันตกเสียแล้วก็เป็นได้.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Varanya Phae-araya

ข่าวน่าสนใจ: