• แม้ใจจะอยากหมุนกลับสู่ "สังคมนิยม" แต่ "จีน" ก็มิอาจถอยหลังกลับ งัดคัมภีร์เด็ดมาใช้ ผสมผสาน 2 อย่างเข้าด้วยกัน สยายปีกอย่างยิ่งใหญ่
  • การสยายปีกของ "จีน" นำไปสู่การผนึกกำลังทางด้านความมั่นคงของ "3 อ." แห่งดินแดนตะวันตก
  • "ทุนนิยม" ในจีน ต้องถูกกำราบ นับจากนี้ไป คนรวย คนจน ต้องมีอย่างสมเหตุสมผล และคนรายได้ปานกลางต้องเพิ่มขึ้น

ตลอดปี 2021 นี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจของพญามังกรแห่งดินแดนตะวันออก เช่น "จีน" กำลังเข้มข้นทุกขณะ จนยากจะละสายตา!

โดยเฉพาะกรณีล่าสุด "เอเวอร์แกรนด์" (Evergrande) ที่ทำเอานักลงทุนและตลาดสะดุ้งสะเทือนกันทั้งโลก ซึ่ง ณ ตอนนี้ (26 ก.ย. 64) ต้องจับตาดูว่า "รัฐบาลจีน" จะทำอย่างไรต่อไป เมื่อยักษ์ใหญ่อสังหาฯ "ผิดนัดชำระหนี้" งวดแรกแล้ว

แต่... "เอเวอร์แกรนด์" ที่ว่าสะเทือนโลกนี้ จริงๆ แล้วเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดจากการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2020-2021 ของประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง" เท่านั้น

...

ว่ากันว่า... นับแต่นี้ต่อไป "จีน" จะไม่ใช่ประเทศที่เราเคยรู้จักอีกแล้ว!

ทิศทางที่ "จีน" กำลังเดินไป...

"ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า จีนจะหมุนกลับมา ไปเป็นสังคมนิยม แต่แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะระบบตอนนี้ ทุนนิยมมีผลในแง่ของการจ้างงานและจีดีพี"

คำกล่าวจาก รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ ที่กำลังมองภาพการขยับปีกของพญามังกร ณ ขณะนี้

เมื่อ "จีน" อยากหมุนกลับ แต่ดันทำไม่ได้ดั่งใจในทันที ประธานาธิบดี "สี" จึงเลือกใช้อีกวิธี นั่นคือ "การปรับลด!"

โดยเป้าหมายแรกๆ ที่ตกอยู่ในสายตา คือ "กลุ่มเอกชน" ที่กำลังเติบโตและร่ำรวยมหาศาลติดอันดับเศรษฐีโลกทั้งหลาย อาทิ บรรดามหาเศรษฐี, คนดัง, ธุรกิจอสังหาฯ, ธุรกิจเกมมิง และธุรกิจเทคโนโลยี เป็นต้น

ประธานาธิบดี "สี" ต้องการแก้ไขปัญหาการผูกขาด และนี่คือเหตุผลที่เล่นงานบริษัทใหญ่ๆ เช่น อาลีบาบา (Alibaba) และเทนเซ็นต์ (Tencent) ดังที่ได้เห็นภาพไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปลายปี 2020 แล้ว

ล่าสุด จากการรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) [2] เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2021 ระบุว่า "อาลีบาบา" มีความพยายามที่จะขายหุ้นส่วนทั้งหมดในเครือข่ายโทรทัศน์ท้องถิ่น หลังอุตสาหกรรมสื่อและเทคโนโลยีถูกตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้นจากรัฐบาลจีน

ในสายตาของรัฐบาลจีนที่มีต่อ "ทุนนิยม" คือ ความเลวร้ายที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่าง "ความรวย" กับ "ความจน" ที่ไม่ใช่ระยะห่างแคบๆ แต่ดันห่างกันมหาศาล แถมยังแบ่งแยกระหว่าง "ชนบท" กับ "เมือง" ด้วยอีก ซึ่งนั่นขัดกับ "คำมั่น" ที่ประธานาธิบดี "สี" เคยให้ไว้ ว่าจะพยายามลดความยากจน รวมถึงช่องว่างเหล่านั้นด้วย

ดังนั้น "รัฐบาลจีน" จึงเห็นควรว่า ถึงเวลาสักทีที่จะต้องกำราบความเลวร้ายของ "ทุนนิยม" ให้ลดลง ไม่ให้เบ่งบานไปมากกว่านี้

...

นี่เป็นเวลาของ Common Prosperity!

จากถ้อยคำ Common Prosperity หรือก็คือ "ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน" ที่ถูกใช้ครั้งแรกในสมัยผู้นำการปฏิวัติ "เหมา เจ๋อตง" มาในวันนี้... ถูกนิยามใหม่เพื่อใช้กล่อมเกลาในยุคใหม่ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี "สี จิ้นผิง"

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2021 ในการประชุมของคณะกรรมการด้านการคลังและเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CCP) ประธานาธิบดี "สี" ประกาศว่า Common Prosperity เป็นสิ่งสำคัญที่มีความจำเป็นต่อระบบ "สังคมนิยม" และเป็นคุณสมบัติสำคัญของความทันสมัยสไตล์จีน

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ยืนยันว่า Common Prosperity ไม่ใช่แนวคิดเสมอภาคนิยม และไม่ใช่การ "ฆ่าคนรวย" เพื่อ "ช่วยคนจน" อย่างที่หลายฝ่ายกำลังตีความ

ทั้งนี้ โครงการนำร่องอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง หนึ่งในสถานที่ที่แออัดไปด้วยเศรษฐีมากหน้าหลายตาของจีน ที่จะถูกตีกรอบช่องว่างรายได้ให้แคบลงภายในปี 2025

...

โดยนักวิเคราะห์มองว่า Common Prosperity ไม่ใช่แค่การสร้างความเจริญรุ่งเรืองที่มีวัตถุประสงค์ทางด้านเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานของพรรค CCP อีกด้วย

"ในอนาคตจะไม่แปลกใจเลย หากจะมีการเก็บภาษีมรดก หรือการเก็บภาษีสำหรับทรัพย์สิน ซึ่งจะนำส่วนนี้มาให้กับแรงงาน พูดง่ายๆ รัฐบาลจีนภายใต้การนำประธานาธิบดีสี เริ่มหันกลับมาทางด้านสังคมนิยมแล้ว และนอกจากแรงงานแล้ว ที่สำคัญคือ คนที่อยู่ในชนบท เพราะความรวยกับความจนระหว่างชนบทกับเมืองต่างกันเยอะ หรือแม้กระทั่งการศึกษาก็ตาม ดังนั้นเขาจึงหวังจะใช้หลัก Common Prosperity เข้ามาจัดการตรงนี้" - รศ.ดร.สมชาย กล่าวกับผู้เขียน

วิธีการที่จะทำให้ Common Prosperity ไปถึงเส้นชัย!?

ประธานาธิบดี "สี" ให้คำมั่นว่า จะใช้การจัดเก็บภาษีและงัดระบบการจัดสรรปันส่วนรายได้อื่นๆ ใหม่ เพื่อขยายสัดส่วนของพลเมืองรายได้ปานกลาง, เพิ่มรายได้ให้คนจน, ปรับรายได้ที่มากจนเกินไปให้สมเหตุสมผล และขัดขวางรายได้ผิดกฎหมาย

...

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลจีนยังมีความชัดเจนที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจและบุคคลที่รายได้สูงให้บริจาคแก่สังคม เห็นได้ว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีต่างรีบออกมาขานรับกันรัวๆ อย่างยักษ์ใหญ่เกมมิง "เทนเซ็นต์" (Tencent) ได้ออกมาระบุว่า จะมอบเงินแก่ Common Prosperity มูลค่า 1 แสนล้านหยวน หรือประมาณ 5.17 แสนล้านบาท

หรือ "ภาษีทรัพย์สิน" ที่ก็มีการถกเถียงกันหลายปี และ 2 เมืองนำร่องที่บรรลุผลสำเร็จแล้วก็ในเซี่ยงไฮ้และฉงชิ่ง (เริ่มปี 2011), แต่ก็ยังเป็นกระบวนการเล็กๆ ที่ดำเนินการ

ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่อาจจะมีการนำมาใช้เพื่อให้ Common Prosperity บรรลุผลสำเร็จ ก็อย่างเช่น การปรับปรุงการบริการสาธารณะและโครงข่ายความปลอดภัยของสังคม (Social Safety Net)

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี "สี" ก็ออกบัญชา สั่งปรับระบบเพื่อป้องกันความเสี่ยง ซึ่งผลก็อย่างที่เราทราบกันเมื่อเร็วๆ นี้ คือ กรณีเคส "เอเวอร์แกรนด์" ที่รัฐบาลจีนมีความพยายามจะลดการมีหนี้ ทั้งหนี้สาธารณะและหนี้เอกชน (สูงถึง 300%)

"ตอนนี้ถือเป็นโอกาสที่จะมีการปรับลดเพื่อให้ประชาชนพอใจ และเล่นงานพวกรวยๆ เหล่านี้" - รศ.ดร.สมชาย กล่าว

เพียงแต่ว่า สิ่งนี้ต้องระวังนิดนึง!!

"หากเล่นรุนแรงขึ้น... มาถึงจุดหนึ่งอาจจะมีปัญหา เช่น เอเวอร์แกรนด์ และอีกอัน คือ อาจจะเกิดความกังขาว่า ตกลงจีนจะเดินทางถอยหลังอย่างนั้นหรือ? จากกรณีทุนนิยมอาจจะทำให้ต่างชาติไม่แน่ใจว่าจะมาลงทุนได้หรือไม่ได้ ซึ่งจีนจะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง"

หรือแม้ในมุมมองด้านสังคม ที่มีความพยายามคุมเข้มจาก "พรรคคอมมิวนิสต์" ในการให้ประชาชนมองในด้านเดียวว่า "โอ้โห...ไม่มีจน" แต่ประชาชนส่วนหนึ่ง รศ.ดร.สมชาย ก็เชื่อว่า ต้องการมีสิทธิ์ มีเสียง เพราะฉะนั้นแรงกดดันตรงนี้ ถ้ามีอะไรไปสะกิดขึ้นมา แรงกดดันก็จะปะทุขึ้น

สิ่งที่ "รัฐบาลจีน" ไม่คาดคิด เมื่อ 3 อ. ผนึกกำลังต้าน!

"จากเดิมที่ประเทศแถบอเมริกาและยุโรปเคยพร่ำบอกว่า ประชาธิปไตยเสรีนิยมชนะมา 200 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่สหภาพโซเวียต หรือแม้แต่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็ตาม ก็ชนะมาตลอด แต่วันนี้กำลังเผชิญกับภัยอันตรายตัวใหม่ นั่นคือ การเผยแพร่คอมมิวนิสต์ในแบบของจีน"

รศ.ดร.สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ตอนนี้รัฐบาลจีนจะไม่ได้มีการเผยแพร่ "คอมมิวนิสต์" ออกไปข้างนอกอย่างชัดเจน แต่การแสดงออกผ่านการกระทำแบบนี้ อาจเชิญชวนทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มมีความรู้สึกว่า "ระบบคอมมิวนิสต์นี่ก็ไม่เลวนะ!"

"จีนร่วมมือกับระบบเผด็จการของ วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ตรงนี้นี่แหละที่จะทำให้เกิดแรงกดดันจากอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการต่อสู้ที่คล้ายกับยุคสงครามเย็น และนั่นเป็นเหตุผลที่อเมริกา, ออสเตรเลีย กับอังกฤษ ร่วมมือกันทางด้านความมั่นคง"

ในมุมมองของ รศ.ดร.สมชาย เห็นว่า จากนี้ไป... "จีน" จะเป็นประเทศที่น่ากลัวในระดับหนึ่ง คือ ไม่ใช่ "จีน" แบบที่เรารู้จักแล้ว แต่เป็น "จีน" ที่กำลังสยายปีกในเรื่องของ "คอมมิวนิสต์" และความยิ่งใหญ่ต่างๆ

อีกทั้งในความยิ่งใหญ่นั้นก็สามารถที่จะทำให้ประเทศใดประเทศหนึ่งตกอยู่ภายใต้ "จีน" ได้ เช่น สปป.ลาว กับกัมพูชา ที่ใช้นโยบายเส้นทางสายไหม หรือ Belt & Road ทำให้ต้องพึ่งพามาก

ตัวอย่างโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่ "รัฐบาลจีน" เป็นผู้ลงทุนหลัก และใช้มาตรฐานความปลอดภัยและเทคโนโลยีจากจีนทั้งหมด มูลค่าลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 2.07 แสนล้านบาท

"ส่วนนี้คือ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับทั่วโลก เพราะฉะนั้น จีนไม่ได้หันกลับ แต่คงจะพยายามที่จะใช้ความได้เปรียบ ผสมผสานระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยม"

ใดๆ ก็ตาม รศ.ดร.สมชาย ก็มองว่า ต้องระวังไม่ให้แพ้ภัยตนเองด้วย เพราะการผสมผสานไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะหากสังคมนิยมมากไป คนก็ชักจะไม่แน่ใจ แต่ขณะเดียวกัน หากทุนนิยมมากไป ก็จะส่งผลกับที่มีการแก้มาก่อนหน้านี้

"ผมกำลังคิดว่า สิ่งที่จีนกำลังทำนั้น ต้องการสร้างความยิ่งใหญ่เพื่อที่จะได้คะแนนเสียง แต่ในทางปฏิบัติคงจะต้องมาดูว่า มีดุลยภาพขนาดไหน"

ด้วยการที่ "รัฐบาลจีน" เล่นหนักไปนิดหนึ่ง ทำให้เกิดการบานปลายเช่นกรณี "เอเวอร์แกรนด์" และเพราะเล่นหนักไปนิดหนึ่ง จึงทำให้ 3 อ. อเมริกา, ออสเตรเลีย กับอังกฤษ สามารถที่จะร่วมมือเป็นรูปธรรมในเชิงโครงสร้าง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่แม้แต่ "จีน" เองก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดได้เร็วขนาดนี้

สำหรับผู้เขียนที่เป็นผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก็คงจะต้องรอติดตามชมว่า อีก 3 เดือนสุดท้ายของปี 2021 นี้ ใครจะเป็นรายต่อไปที่จะโดนเชือดเพื่อรีไซส์ระบบทุนนิยมของจีน และการร่วมมือของ 3 อ. จะแข็งแกร่งแค่ไหน?

แน่นอนว่า หากมีความคืบหน้าก็ไม่พลาดจะมาเล่าสู่กันฟัง.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: sathit chuephanngam

ข่าวน่าสนใจ:

อ้างอิง:

  • [1] จีดีพี (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product)
  • [2] Bloomberg, Alibaba Seeks to Exit Media Firm After Beijing’s Scrutiny [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : www.bloomberg.com/news [26 Sep. 2021]
  • [3] อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 26 กันยายน 2021 : 5.17 บาทต่อหยวน
  • [4] REUTERS, What is China’s ‘Common prosperity’ drive and why dose it matter? [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : www.reuters.com/world/china [26 Sep. 2021]
  • [5] โจว หมิงเหว่ย. (2019). คำสำคัญเพื่อเข้าใจประเทศจีน ฉบับหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมาศาสตร์. 225-227