การเดินทางท่องอวกาศ หรือแม้กระทั่งการออกไปตั้งถิ่นฐานมนุษยชาติ ณ ดวงดาวอื่นอันห่างไกลโพ้น ในแบบฉบับ Galaxy Far, Far Away หาใช่เพียงความเพ้อผัน หรือเรื่องเล่าในนิยายวิทยาศาสตร์ ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงได้เมื่อไหร่อีกต่อไป
หลังการขับเคี่ยวของ 3 บิลเลียนแนร์ที่เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งและทะเยอทะยานชนิดสุดกู่ ทำให้มนุษยชาติเริ่มมองเห็น "เค้าลาง" ความเป็นไปได้ของการที่จะพาตัวเองออกจากดวงดาวสีน้ำเงินแบบชิลๆ ไม่ต่างจากเมื่อคราวที่มนุษยชาติเริ่มต้นการพาตัวเองขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วย "เครื่องบิน"
3 อภิมหาเศรษฐี ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยานคือใคร?
1. อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ความมั่งคั่งสุทธิ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2. เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) เจ้าของบริษัทบลูออริจิน (Blue Origin) ความมั่งคั่งสุทธิ 196,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
3. ริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson) เจ้าของบริษัทเวอร์จินกาแลกติก (Virgin Galactic) ความมั่งคั่งสุทธิ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
...
*อ้างอิงจากการประเมินของ นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes)
เป้าหมายการบุกอวกาศของ 3 อภิมหาเศรษฐี?
1) อีลอน มัสก์
บริษัท สเปซเอ็กซ์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2002 โดยมีการวางเป้าหมายสำคัญ คือ การส่งยานอวกาศ Mars Oasis ไปยังดาวอังคาร แต่หลังจากโครงการเริ่มประสบปัญหาทางการเงิน "มัสก์" จึงเบนเป้าไปที่การพัฒนาจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ เพื่อหวังลดต้นทุนสำหรับการเดินทางไปยังอวกาศ และนั่นคือ การตัดสินใจที่ถูกต้อง!
เกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านพ้นไป "สเปซเอ็กซ์" เติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีการเปิดตัวโครงการเชิงพาณิชย์สำหรับลูกค้าจากภาครัฐและเอกชนหลายต่อหลายโครงการ โดยปี 2012 สเปซเอ็กซ์กลายเป็นบริษัทเอกชนแห่งแรกที่สามารถส่งยานอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ
ต่อมาในปี 2020 สเปซเอ็กซ์ก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยการส่งมนุษย์ไปยังอวกาศและสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สเปซเอ็กซ์ได้รับเลือกจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ "นาซา" ให้เข้าร่วมในโครงการส่งมนุษย์กลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง
และล่าสุด 16 ก.ย. 2021 สเปซเอ็กซ์ประสบความสำเร็จอีกครั้งในการพาพลเรือน 4 คน ขึ้นไปสัมผัสอวกาศเป็นเวลายาวนานถึง 3 วันได้สำเร็จอย่างงดงาม (กลับสู่โลกในวันที่ 19 ก.ย. 2021)
เป้าหมายสูงสุดของ "อีลอน มัสก์"
1. สร้างยานอวกาศที่สามารถบรรทุกได้ทั้งสินค้าและผู้โดยสารอย่างน้อย 100 คน สำหรับการเดินทางไปยังอวกาศต่อครั้ง
2. เปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวไปยังดวงจันทร์และดาวอังคาร
3. ภายในปี 2050 จะมีการจัดตั้งกองยานอวกาศ Space X Starship 1,000 ลำ สำหรับการท่องอวกาศและลำเลียงมนุษย์ไปตั้งถิ่นฐานที่มีประชากร 1 ล้านคน บนดาวอังคาร
2) เจฟฟ์ เบซอส
...
บริษัท บลูออริจิน ก่อตั้งขึ้นในปี 2000 แต่ "เบซอส" แทบไม่เคยเปิดเผยแผนงานบุกเบิกอวกาศต่อสาธารณชน ซึ่งผิดกับมนุษย์ทวิตภพอย่าง "อีลอน มัสก์" แบบสุดขั้ว
โดยหลักการพื้นฐานในการเดินทางไปยังอวกาศของบลูออริจินไม่แตกต่างจากสเปซเอ็กซ์มากนัก นั่นก็คือ การซุ่มพัฒนาจรวดที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่เพื่อ "ลดต้นทุน" การเดินทางไปอวกาศที่ "เจฟฟ์ เบซอส" ยอมรับว่าเป็นความใฝ่ฝันมาตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ
อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ "บลูออริจิน" ยอมเปิดเผยข้อมูลสำหรับแผนการบุกอวกาศเอาไว้เพียงว่า จะมีการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ในรูปแบบที่เรียกว่า Sub-orbital หรือการพานักท่องเที่ยวออกไปอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักและเห็นโลกด้วยสายตาจากนอกชั้นบรรยากาศ เป็นระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ก่อนกลับสู่พื้นโลก
และเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2021 บลูออริจินเพิ่งประสบความสำเร็จด้วยการพา "เจฟฟ์ เบซอส" และน้องชาย "มาร์ค เบซอส" รวมถึงพลเรือนอีก 2 คน ออกไปชมบรรยากาศนอกโลกได้สำเร็จ
เป้าหมายสูงสุดของ "เจฟฟ์ เบซอส"
...
ปี 2019 "เจฟฟ์ เบซอส" เปิดเผยแผนการส่งยานอวกาศไปลงจอดที่ดวงจันทร์ ที่เรียกว่า โครงการ Blue Moon ซึ่ง "เจฟฟ์ เบซอส" หมายมั่นปั้นมือว่าจะมีความพร้อมสำหรับการดำเนินการภายในปี 2024 อีกทั้ง โครงการ Blue Moon ยังจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการตั้งรกรากบนดวงจันทร์ของมนุษยชาติอย่างถาวรต่อไปอีกด้วย
3) ริชาร์ด แบรนสัน
บริษัท เวอร์จิน กาแลกติก ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 และแน่นอนแนวคิดในการท่องอวกาศเชิงพาณิชย์ไม่ต่างจากทั้ง "อีลอน มัสก์" และ "เจฟฟ์ เบซอส" นั่นก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถประหยัดต้นทุนในการส่งมนุษย์ไปยังนอกโลกได้ ซึ่งแน่นอนว่า "ข้อแรก" คือ ทำให้ยานอวกาศสามารถกลับมาใช้งานได้ใหม่
เพียงแต่แนวคิดเรื่องการนำยานอวกาศออกนอกโลกของ ริชาร์ด แบรนสัน "แตกต่าง" จาก 2 คนแรกอย่างชนิดสุดขั้ว คือ ไม่ใช้วิธีปล่อยยานอวกาศด้วยจรวดจากฐานภาคพื้นดิน (ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เงินทุนสูงมากๆ) แต่ยานอวกาศของบริษัท เวอร์จิน กาแลกติก จะถูกปล่อยขึ้นจากเครื่องบินที่บินอยู่ที่ความสูงประมาณ 50,000 ฟุต
...
จากนั้นเมื่อผละตัวออกเครื่องบินแล้ว ยานอวกาศจะจุดเครื่องยนต์ไอพ่นคู่หน้าที่เรียกว่า "WhiteKnight Two" ทะยานขึ้นฟ้าในแนวดิ่ง แล้วมุ่งหน้าไปต่อในระยะทางอีกประมาณ 300,000 ฟุต สู่เส้นขอบอวกาศ (Edge of Space) เพื่อให้ผู้โดยสารได้ดื่มด่ำกับสภาพไร้น้ำหนักและชมทิวทัศน์นอกโลกเป็นเวลาหลายนาที ก่อนที่ยานอวกาศจะค่อยๆ กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในที่สุด ซึ่งวิธีการนี้ช่วยประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลงได้มากกว่าของ 2 คู่แข่งอย่างมหาศาล
ด้วยเหตุนี้ ราคาค่าตั๋วไปเที่ยวอวกาศของ "เวอร์จินกาแลกติก" จึงค่อนข้างย่อมเยาและสามารถจับต้องได้ที่ประมาณ 200,000 ถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6,500,000 ถึง 8,500,000 บาทเท่านั้น สำหรับตั๋ว 600 ใบ ที่ (อาจจะ) สามารถเริ่มจำหน่ายให้กับบรรดามหาเศรษฐีที่สนใจได้ภายในปีหน้า (ปี 2022)
อ่อ...เดี๋ยวเกือบลืมไป "ริชาร์ด แบรนสัน" และ "เวอร์จิน กาแลกติก" เฉือนเอาชนะ "เจฟฟ์ เบซอส" ในการแข่งขันไปยังอวกาศได้ในแบบแค่ปลายจมูกในยกแรก หลังเขาและเพื่อนร่วมทางอีก 5 คน ออกไปสัมผัสบรรยากาศนอกโลกได้สำเร็จก่อนหน้า เที่ยวบินสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้นของ "เจฟฟ์ เบซอส" เพียง 9 วันเท่านั้น (ริชาร์ด แบรนสัน และเวอร์จินกาแลกติก ทำสำเร็จในวันที่ 12 ก.ค. 2021)
เป้าหมายสูงสุดของ "ริชาร์ด แบรนสัน"
ในอนาคตอันใกล้นี้ เวอร์จินกาแลกติกมีแผนสร้างยานอวกาศที่สามารถรับ-ส่งเศรษฐีกระเป๋าหนักทั้งหลายไปท่องเที่ยวและเข้าพักในโรงแรมที่อยู่นอกโลก!
ยานอวกาศของ 3 อภิมหาเศรษฐี แตกต่างกันอย่างไรในเชิงการท่องเที่ยว?
การเดินทางในอวกาศภายใต้วงโคจรของโลก
ยานอวกาศของบริษัทเวอร์จินกาแลกติก มีชื่อว่า vss unity
vss unity มีศักยภาพบินขึ้นไปสูงกว่าระดับเส้นขอบอวกาศ (Edge of Space) ประมาณ 10 กิโลเมตร จากนั้นจะค่อยกลับหัวอย่างช้าๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับประสบการณ์ไร้น้ำหนักประมาณ 2-3 นาที ก่อนจะค่อยๆ กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ก่อนร่อนลงสู่สนามบิน และแน่นอนมันสามารถถูกนำกลับมาใช้ได้อีก
โดยยานอวกาศ...สามารถจุผู้โดยสารได้สูงสุด 4 คน และลูกเรืออีก 2 คน และใช้ระยะเวลาในการเดินทางรวมประมาณ 90 นาที
จรวดและแคปซูลของบริษัทบลูออริจิน มีชื่อว่า นิว เชพเพิร์ด (New Shepard)
เมื่อมันถูกยิงขึ้นจากฐานภาคพื้นดินและยกตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าได้สักระยะ จรวดสูง 60 ฟุต จะแยกตัวออกจากแคปซูล และถูกบังคับให้กลับลงมาสู่ภาคพื้นดินอย่างปลอดภัยเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
จากนั้น แคปซูลที่ยังมีแรงดันจะพุ่งขึ้นไปอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักครู่หนึ่งก่อนจะตกลงพื้นโลกด้วยระบบร่มชูชีพ โดยแคปซูลที่ว่านี้จะมีหน้าต่างสังเกตการณ์ 6 บาน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสสภาวะไร้น้ำหนักและชมทัศนียภาพ ณ เส้นสุดขอบอวกาศ เพียงชั่วครู่ที่ว่านั้น
โดย "นิว เชพเพิร์ด" สามารถจุผู้โดยสารได้สูงสุด 6 คน ภายใต้การเดินทางรวมระยะเวลาประมาณ 10 นาที
การเดินทางแบบโคจรรอบโลก
ศักยภาพแคปซูลและจรวดของสเปซเอ็กซ์ ที่มีชื่อว่า ดรากอน (Dargon) และฟอลคอน (Falcon) เหนือล้ำกว่าคู่แข่งจากอีก 2 บริษัทมาก
โดย "แคปซูลดรากอน" มีขนาดใหญ่มากพอที่จะสามารถจุผู้โดยสารได้มากถึง 7 คน ซึ่งมากกว่าของทั้งบลูออริจินและเวอร์จินกาแลกติก
ในขณะที่ จรวดฟอลคอนที่มีขนาดสูงถึง 230 ฟุตนั้น นอกจากจะสามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่แล้ว (หลังแยกตัวจากแคปซูลจะถูกบังคับให้ลงจอด) ยังมีศักยภาพแรงขับพุ่งขึ้นไปได้สูงในระดับวงโคจรโลกอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ การเดินทางท่องอวกาศของสเปซเอ็กซ์จึงสามารถมอบประสบการณ์การเดินทางรอบโลกจากอวกาศให้กับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก ภายในระยะเวลารวม 3-4 ของการเดินทางได้อย่างสบายๆ
ในอนาคตอันไม่น่าจะไกลเกินไปนับจากนี้ การเดินทางท่องเที่ยวในอวกาศ ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันอีกต่อไปแล้ว ด้วยพลังการขับเคลื่อนของภาคเอกชน ทำให้ "อวกาศ" เริ่มกลับมาอยู่ในความสนใจของมนุษยชาติได้อีกครั้ง หลังจาก "เรา" ทอดทิ้งความคลั่งไคล้ใน "อวกาศอันไกลโพ้น" ไปเนิ่นนานตั้งแต่เมื่อไหร่แล้วนะ
ก็น่าจะนับตั้งแต่... "นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่มันคือ ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ" ใช่ไหมนะ?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Theerapong C.
ข่าวน่าสนใจ:
- ถอดรหัสสงคราม 20 ปี ในประเทศอัฟกานิสถาน อาวุธและเงินที่สูญเสีย กับอะไรที่ได้ประโยชน์?
- The Devil Judge กับแรงปะทุ การปฏิรูป "แชโบล" ที่ไม่มีอยู่จริง
- เมื่อ Sex Content กล้างัดข้อ Payment Company?
- 10 อาชีพดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2021 เผยทักษะงานแห่งอนาคต
- ข้อมูลรอบด้าน หนุน-ค้าน ฉีดวัคซีนให้เด็ก 12-17 ปี พ่อแม่ต้องตัดสินใจ!