ตลาดวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นของผู้ซื้อหรือเป็นของผู้ขาย?

คำถามที่ยังเป็นข้อถกเถียงไม่รู้จบว่า ตกลงแล้วอะไรคือข้อเท็จจริงกันแน่?

ฉะนั้นวันนี้ "เรา" ค่อยๆ ไปพิจารณาข้อมูลล่าสุดเพื่อประกอบการพิจารณาในประเด็นนี้กันดูว่า ตกลงแล้ว ตลาดวัคซีนต้านโควิด-19 ณ ปี 2021 เป็นของผู้ซื้อหรือเป็นของผู้ขายกันแน่?

แต่ก่อนที่ "เรา" จะไปกันต่อประเด็นแรกที่ "ควรทดไว้ในใจ" ก่อนที่จะไปยังบรรทัดต่อไปและต่อๆ ไป คือ...

     1. ปริมาณวัคซีนต้านโควิด-19 ขั้นต่ำ ที่คาดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับการฉีดให้กับประชากรทั้งโลกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อยู่ที่ประมาณ 10,820 ล้านโดส (จำนวนประชากรโลกอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านคน) ในกรณีฉีดวัคซีน 2 เข็ม

     2. โครงการ COVAX ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ วางเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องจัดหาวัคซีนรวม 2,000 ล้านโดส เพื่อบริจาคและขายในราคามิตรภาพให้แก่ผู้คนใน 190 ประเทศ โดยในจำนวนนี้เป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ 92 ประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีประชากรอย่างน้อย 20% ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19

เอาล่ะ... "ทดไว้ในใจกันแล้วนะ" ทีนี้ "เรา" ไปกันต่อได้

ปริมาณการผลิตวัคซีนโควิด-19 ณ ปัจจุบัน จนถึงสิ้นปีนี้?

...

การคาดการณ์ปริมาณการผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกในช่วงสิ้นปี 2021 นี้ จากการรวบรวมข้อมูลของ Airfinity บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก อยู่ที่ประมาณ 12,200 ล้านโดส โดยแยกเป็นการผลิตจากชาติตะวันตกประมาณ 6,500 ล้านโดส และจากทางประเทศจีนอีกประมาณ 5,700 ล้านโดส

*หมายเหตุ: ข้อมูลล่าสุดของ Airfinity ตัวเลขประเมินการผลิตวัคซีนของชาติตะวันตกสูงกว่าข้อมูลของ Boston Consulting Group หรือ BCG บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก ซึ่งได้ประเมินปริมาณวัคซีนโควิด-19 จากเฉพาะชาติตะวันตกเอาไว้ก่อนหน้าว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4,400 ล้านโดสเท่านั้น

ส่วนกำลังการผลิตวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลกต่อเดือน อยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านโดส และมีแนวโน้มว่ากำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ ปริมาณการผลิตรวมล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณเกินกว่า 6,000 ล้านโดสแล้ว

ในเมื่อมีปริมาณการผลิตวัคซีนมีมากเพียงพอ แล้วปัญหาของเรื่องนี้คืออะไร?

จากข้อมูลล่าสุดของ Airfinity ได้ทำการวิเคราะห์ โดยอ้างอิงจากการคำนวณอัตราการฉีดวัคซีนให้กับพลเมือง (รวมกรณีที่อาจมีการตัดสินใจฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และกรณีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหลังฉีดวัคซีนครบสูตร 6 เดือนแล้ว) และข้อมูลเวชภัณฑ์ที่ถูกส่งไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, สหภาพยุโรป, แคนาดา และญี่ปุ่น ที่ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์นานาชาติ หรือพรีมา (IFPMA) พบว่า...

สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร และแคนาดา ได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีวัคซีนรวมกัน 500 ล้านโดส ในช่วงสิ้นเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวจะลดลงเหลือประมาณ 360 ล้านโดส หลังมีการนำไปบริจาคประมาณ 140 ล้านโดส

ในขณะที่ ตัวเลขคาดการณ์ปริมาณวัคซีนต้านโควิด-19 ของสหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร และแคนาดา ในช่วงสิ้นปี 2021 นี้ จะอยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านโดส แต่เมื่อหักจำนวนสำหรับการนำไปบริจาค 140 ล้านโดส จะเหลือปริมาณวัคซีนที่ประมาณ 1,060 ล้านโดส

*หมายเหตุ: การวิเคราะห์นี้ไม่รวมปริมาณการผลิตของวัคซีนสัญชาติจีน

ซึ่งบทวิเคราะห์ล่าสุดนี้ เป็นเครื่องตอกย้ำถึง "ความเหลื่อมล้ำ" ในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระหว่างกลุ่มประเทศร่ำรวย และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงกลุ่มประเทศยากจน ได้อย่างเด่นชัดอีกครั้ง

โดยสิ่งที่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้คือ ณ สิ้นสุดวันที่ 2 กันยายน 2021 จากข้อมูล Our World in Data ที่จัดทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พบว่า สัดส่วนเฉลี่ยของประชากรในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (Low-income) ที่ได้รับการฉีดอย่างน้อย 1 เข็ม อยู่ที่เพียง 1.8% ในขณะที่ สัดส่วนเฉลี่ยของประชากรในกลุ่มประเทศรายได้สูง (High-income) ที่ได้รับการฉีดอย่างน้อย 1 เข็ม อยู่ในสัดส่วนที่สูงถึง 64%!

ปริมาณการบริจาควัคซีนของกลุ่มประเทศร่ำรวย ปัจจุบันอยู่ที่เท่าไร?

...

กลุ่ม G7 และบรรดาชาติในสหภาพยุโรปให้คำมั่นก่อนหน้านี้เอาไว้ว่า จะบริจาควัคซีนโควิด-19 รวม 1,000 ล้านโดส ภายในเดือนมิถุนายน 2565

แต่ในความเป็นจริงจากการประเมินข้อมูลของ Airfinity พบว่า จากปริมาณวัคซีน 1,000 ล้านโดส ที่ให้คำมั่นไว้นั้น กลุ่มประเทศ G7 และชาติสมาชิกอียู เพิ่งส่งมอบวัคซีนสำหรับการบริจาคได้รวมกันเพียงประมาณ 13% เท่านั้น!

เมื่อชาติร่ำรวยเป็นผู้กำหนดว่าประเทศไหนจะได้รับวัคซีนผ่านการตัดสินใจทางการเมือง?

"โลกเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อพูดถึงความพร้อมในการผลิตวัคซีนโควิด-19 นั่นเป็นเพราะสำหรับบรรดาชาติตะวันตกที่ร่ำรวยนั้น ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่อุปทาน (Supply) อีกต่อไป แต่เป็นอุปสงค์ (Demand) ต่างหาก!

ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก (บริษัทวัคซีน) ต่างล้วนแล้วแต่กำลังประสบความสำเร็จในการเร่งจำนวนการผลิต ในขณะที่ ข้อมูลที่เรานำไปวิเคราะห์แสดงให้เห็นได้อย่างเด่นชัดว่า บรรดากลุ่มประเทศร่ำรวยสามารถมั่นใจได้เลยว่า จะมีปริมาณวัคซีนจำนวนมากที่กำลังได้รับการส่งมอบ

นอกจากนี้ วิธีการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือบริจาค ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทางการเมืองในขั้นสุดท้ายทั้งสิ้น

...

ผมเชื่อมั่นว่า มาตรฐานของชาวโลกจะดีขึ้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่ หากมีการจัดสรรวัคซีนโดยตัดสินใจจากลำดับความสำคัญ และหลีกเลี่ยงปริมาณวัคซีนที่ต้องสูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์"

นายราสมุส เบค ฮานเซน ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Airfinity’s co-founder and CEO (Rasmus Bech Hansen) กล่าวในรายงานการวิเคราะห์ล่าสุดของ Airfinity

อะไรคือ สิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19?

ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า ข้อตกลงระหว่างประเทศร่ำรวยกับบรรดาบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ที่ทำให้ประเทศร่ำรวยจะได้วัคซีนที่ผลิตได้จำนวนมากก่อนใครเป็นลำดับแรก ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงวัคซีนสำหรับโครงการ Covax และยังนำไปสู่การปัญหาการกักตุนวัคซีนจนเกินความต้องการ ซึ่งประเด็นนี้ ทำให้ นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ถึงกับต้องหลุดท่าทีอันแข็งกร้าวในที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขของกลุ่ม G20 เมื่อเร็วๆ นี้มาแล้วว่า

"ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19 ณ ปัจจุบัน ถือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้"

...

โดยสิ่งที่สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้ คือ ตัวเลขการฉีดวัคซีนมากกว่า 5,000 ล้านโดสทั่วโลก ณ ปัจจุบันนั้น มากกว่า 75% เป็นการบริหารจัดการฉีดวัคซีนใน 10 ประเทศ (ร่ำรวย) เท่านั้น ในขณะที่ ผู้คนในทวีปแอฟริกาได้รับการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเพียงประมาณ 2% เท่านั้น!

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกยังได้เรียกร้องให้ชาติร่ำรวยปฏิบัติตามคำมั่นเรื่องกำหนดการส่งมอบวัคซีนให้กับโครงการ COVAX อย่างจริงจัง รวมถึงแบ่งปันเทคโนโลยีและสนับสนุนเรื่องการผลิตวัคซีนให้กับภูมิภาคต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ด้าน นายกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษและทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติ กระแทกใส่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำกลุ่ม G7 เร่งปล่อยวัคซีนที่กักตุนไว้ออกมาให้กับบรรดาชาติกำลังพัฒนาและประเทศยากจนที่กำลังขาดแคลนวัคซีนว่า...

"เรากำลังอยู่ในการแข่งขันเพื่อจัดหาอาวุธครั้งใหม่ นั่นก็คือ การนำวัคซีนไปให้กับพลเมืองของตัวเองให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากแต่การแข่งขันเพื่อจัดหาอาวุธครั้งใหม่นี้ ชาติตะวันตกเป็นฝ่ายกุมความได้เปรียบมากกว่าใครๆ ในการเรื่องอุปทานวัคซีน"

ผลของการกักตุนวัคซีนของบรรดาชาติร่ำรวยจะส่งผลอย่างไรต่อการสู้รบกับโควิด-19?

ความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดต่างมองในประเด็นนี้ตรงกันว่า "ความเหลื่อมล้ำ" ในการเข้าถึงวัคซีน จากการกักตุนที่มากเกินพอดีของชาติร่ำรวย นอกจากจะเป็นผลร้ายต่อความพยายามในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว ยังจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการที่ไวรัสจะกลายพันธุ์จากการแพร่ระบาดในประชากรกลุ่มเสี่ยงอีกด้วย

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ "คุณ" คิดเห็นอย่างไร?

ตลาดวัคซีนต้านโควิด-19 ณ ปัจจุบัน เป็นของผู้ขายหรือผู้ซื้อ?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : sathit chuephanngam

ข่าวน่าสนใจ: