หลังกลุ่มประเทศร่ำรวย เช่น อิสราเอล, สหรัฐอเมริกา และอีกหลายๆ ชาติในสหภาพยุโรป หรือ EU เริ่มต้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (วัคซีนเข็มที่ 3) ให้กับพลเมือง โดยเริ่มต้นจากกลุ่มผู้สูงอายุ, กลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ท่ามกลางความเห็นต่างๆ ที่ยังมีอยู่อย่างหลากหลาย จนนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญที่ว่า...

"การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด?"

โดยเฉพาะในยามที่สายพันธุ์เดลตากำลังแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

อะไรคือ เหตุผลในการสนับสนุน และอะไรคือ เหตุผลในการคัดค้าน วันนี้เราลองไปฟังความเห็นจากทั้งสองฝ่าย เพื่อ "สังเคราะห์" คำถามที่ว่านี้กันดู?

ประเด็นแรกที่ควรทำความเข้าใจกันก่อนที่ "เรา" จะไปกันต่อในบรรทัดต่อไปและต่อๆ ไป คือ...

จากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน พบว่าระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันจะ "ลดลง" หลังจากผ่านระยะเวลาไปช่วงหนึ่ง

เพียงแต่...จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงระดับ "แอนติบอดี" หรือภูมิคุ้มกันอื่นๆ ในร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะ "ที-เซลล์" (T-Cell) เซลล์เม็ดเลือดขาวลึกลับ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ ค้นพบว่า มีความสามารถในการค้นหาเซลล์ติดเชื้อหรือเชื้อโรคต่างๆ แล้วกำจัดมันทิ้ง ซึ่งถือเป็น "ความหวังใหม่" ในการกำราบโควิด-19 นั้น จะมีระดับมากน้อยเพียงใดในการป้องกันการเจ็บป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต

ซึ่งหากสามารถวัดระดับภูมิคุ้มกันนั้นได้ และสามารถทำให้ระดับภูมิคุ้มกันนั้นไม่ต่ำกว่าระดับความปลอดภัย ภายหลังการฉีดวัคซีนครบสูตร เพียงเท่านี้ก็จะสามารถบริหารการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ในอนาคตแล้ว

...

แต่ในเมื่อจนถึงทุกวันนี้ "เรา" ยังคงหาคำตอบที่ชัดเจนตามบรรทัดด้านบนที่ว่านั้นไม่ได้ มันจึงนำไปสู่ความเห็นต่างในประเด็นที่ว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น นั่นเอง!

อะไรคือ เหตุผลคัดค้านการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยังคงยืนกรานที่จะ "คัดค้าน" ในประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า...

ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะสนับสนุนงานวิจัยบางชิ้นที่ระบุถึงการเชื่อมโยงประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 กับระดับภูมิคุ้มกันที่ค่อยๆ ลดลง จนกระทั่งทำให้ต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติมในเวลานี้

และคำแนะนำของ WHO จนถึง ณ เวลานี้ ยังคงเดิม คือ ต้องเร่งฉีดวัคซีนครบสูตรให้กับกลุ่มเปราะบาง และบุคลากรด้านสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ก่อนที่ประชากรส่วนใหญ่ หรือประชากรทั้งหมดของบางประเทศ จะได้รับวัคซีนเข็มที่ 3

สอดคล้องกับ ดร.แคทลีน ดูลิงก์ (Dr.Kathleen Dooling) จาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC มองประเด็นนี้ว่า...

"ใครก็ตามที่ได้รับวัคซีนครบสูตรแล้ว ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นใดๆ ณ เวลานี้"

ด้าน สก็อต เฮนสลีย์ (Scott Hensley) ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย (University of Pennsylvania) ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า...

"เมื่อระดับภูมิคุ้มกันเริ่มลดลงหลังได้รับวัคซีนครบสูตร สิ่งที่จะปกป้องเราจากโควิด-19 คือ T-Cell เอาล่ะ แม้ T-Cell จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของมัน แต่สิ่งที่ T-Cell ทำคือ ค้นหาเซลล์ติดเชื้อหรือเชื้อโรคต่าง แล้วกำจัดมันทิ้ง ซึ่งกระบวนการการดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้คุณต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ และนี่คือ สาเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นั่นเป็นเพราะเรามี T-Cell เอาไว้คอยปกป้องอยู่แล้ว"

อะไรคือ เหตุผลสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3?

"คุณยังคงพบกรณีการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา แม้ได้รับวัคซีนครบสูตรได้ โดยเฉพาะในกลุ่มอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (A Booster Dose) สามารถบรรเทาปัญหาเรื่องนี้ได้ เช่นเดียวกับกรณีกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งแนวคิดนี้ควรมีเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นบนพื้นฐานข้อมูลและการติดตามระดับภูมิคุ้มกัน"

...

แดนนี อัลท์แมน (Danny Altmann) ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยา จากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London) กล่าวยืนยัน

นอกจากนี้ ยังไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การพบจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องครั้งใหม่ ยังถือเป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้รัฐบาลหลายประเทศ ที่แม้จะมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนคลอบคลุมจำนวนประชากรในระดับสูงอย่างสหรัฐฯ หรืออิสราเอล จำเป็นต้องออกมาตรการอะไรบางอย่าง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนของตนเอง

โดยล่าสุด ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ออกมาระบุว่า มีแผนการที่จะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับพลเมืองชาวอเมริกันทุกคน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนเป็นต้นไป ส่วนรัฐบาลอิสราเอล ได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีเป็นต้นไปแล้ว

*หมายเหตุ: ณ วันที่ 21 ส.ค. 64 สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อ 83,960 คน เสียชีวิต 522 ศพ ส่วนอิสราเอล ณ วันที่ 22 ส.ค. 64 มีผู้ติดเชื้อ 6,668 คน เสียชีวิต 55 ศพ

วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้หรือไม่?

...

"หากคุณคิดว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 สามารถยุติการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ แสดงว่า คุณกำลังล้อเล่นแน่ๆ นั่นเป็นเพราะการยุติการแพร่ระบาดนี้ได้ คือ การกระจายวัคซีนออกไปทั่วโลกให้ได้มากที่สุดต่างหาก เพราะหากคุณต้องการลดจำนวนผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลก คำตอบ คือ คุณต้องพาผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนไปฉีดวัคซีนเข็มแรก

สิ่งที่สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้ คือ จำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาเวลานี้ส่วนใหญ่ คือ ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือยังได้รับวัคซีนไม่ครบสูตร ฉะนั้น ข้อเสนอเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงยังเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลนัก"

สก็อต เฮนสลีย์ (Scott Hensley) กล่าวยืนยัน

วัคซีนเข็มกระตุ้นควรเป็นวัคซีนชนิดเดียวกัน หรือควรเป็นวัคซีนต่างชนิด?

สนับสนุน

รายงานผลการวิจัยเรื่องการใช้วัคซีนไขว้ (ฉีดวัคซีนต่างชนิด เข็มแรกและเข็มที่สอง) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อทดสอบว่า การใช้วัคซีนไขว้ในกรณีที่เกิดปัญหาการขาดแคลนวัคซีน จะช่วยให้ผลลัพธ์ในการต้านทานการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เท่ากับการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันครบสูตร (2 โดส) หรือไม่? ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่า...

...

การฉีดวัคซีนไขว้ระหว่างวัคซีนแอสตราเซเนกา กับ วัคซีนไฟเซอร์ ภายในระยะเวลาห่างกัน 4 สัปดาห์ ในกลุ่มตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเดียวกัน ภายในระยะเวลาห่างกัน 8-12 สัปดาห์ในสหราชอาณาจักร พบว่า...

การฉีดวัคซีนไขว้ระหว่างวัคซีนแอสตราเซเนกาและวัคซีนไฟเซอร์ ในการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน "แข็งแกร่งกว่า" การฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาครบสูตร

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเซลล์ภูมิต้านทานที่เรียกว่า ที-เซลล์ (T-Cell) ซึ่งมีหน้าที่ในการหาเซลล์ติดเชื้อหรือเชื้อโรคต่างๆ แล้วกำจัดมันทิ้ง ยังพบว่า...

ที-เซลล์จะมีความแข็งแกร่งมากที่สุด ในกรณีฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรก แล้วตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่สอง

แต่กลับกัน หากเปลี่ยนเป็นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มแรก แล้วตามด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่สอง ที-เซลล์จะมีศักยภาพลดลงครึ่งหนึ่ง หากเทียบกับกรณีฉีดแบบแรก

อย่างไรก็ดี ทั้งสองกรณีที่ว่านี้ ที-เซลล์จะมีศักยภาพที่แข็งแกร่งกว่าการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาครบสูตร (2 เข็ม)

คัดค้าน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่นำเสนอต่อคณะกรรมการร่วม ว่าด้วยการฉีดวัคซีน และการสร้างภูมิคุ้มกันโรค (Joint Committee on Vaccination and Immunisation) หรือ JCVI ของ สหราชอาณาจักร ระบุว่า "อาจเกิดผลข้างเคียงที่เลวร้าย" สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนไขว้ นอกจากนี้ WHO ยังเคยระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะสนับสนุนการฉีดวัคซีนไขว้ด้วย

อะไรคือสิ่งจะเกิดขึ้น หากกลุ่มประเทศร่ำรวยเริ่มต้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น?

"การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มประเทศร่ำรวย ไม่แตกต่างอะไรกับการวางแผนแจกเสื้อชูชีพเพิ่มเติมให้กับผู้ที่มีเสื้อชูชีพอยู่แล้ว แล้วปล่อยให้ผู้ที่ไม่มีเสื้อชูชีพสักตัวค่อยๆ จมน้ำตาย"

ดร.ไมเคิล ไรอัน (Dr.Michael Ryan) ผู้อำนวยการโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพของ WHO เปรียบเทียบให้เห็นถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

ด้าน แอนดรูว์ โพลลาร์ด (Andrew Pollard) ผู้บริหารองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน หรือ GAVI ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า...

"การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มประเทศร่ำรวย จะทำให้เกิดการดูดซับวัคซีนออกจากระบบมากยิ่งขึ้น และนั่นเท่ากับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ขาดแคลนวัคซีนในกลุ่มประเทศยากจน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ให้เลวร้ายลงกว่าเก่า และจะทำให้มีผู้คนต้องล้มตายเพิ่มขึ้น โดยที่อาจจะยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว".

ข่าวน่าสนใจ: