11 ส.ค. 64 มีผู้ติดเชื้อ 142,685 เสียชีวิต 686 ศพ
12 ส.ค. 64 มีผู้ติดเชื้อ 147,474 เสียชีวิต 710 ศพ
13 ส.ค. 64 มีผู้ติดเชื้อ 155,297 เสียชีวิต 769 ศพ
14 ส.ค. 64 มีผู้ติดเชื้อ 71,135 เสียชีวิต 258 ศพ
ตัวเลขติดเชื้อรวม 37,466,718 คน
ตัวเลขผู้เสียชีวิตรวม 637,561 ศพ (สิ้นสุดวันที่ 14 ส.ค. 64)

ตัวเลขทั้งหมดนั้น คือ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาล่าสุด และนั่น...จึงนำมาสู่คำถามต่างๆ ตามมามากมาย ซึ่งวันนี้เราจะลองมาพยายามค้นหา "คำตอบ" จาก "คำถาม" เหล่านั้นกันดู

1. เหตุใดผู้ได้รับวัคซีนครบสูตรจึงยังสามารถแพร่เชื้อได้?

หลังการปรากฏตัวของสายพันธุ์เดลตา ทำให้เกิด "จุดเปลี่ยน" ในสหรัฐฯ อย่างไม่ต้องสงสัย การค้นพบข้อมูลใหม่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ที่ว่า สายพันธุ์เดลตาสามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมหลายเท่า ทำลายความเชื่อมั่นที่ว่า "ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร" ไม่น่า "แพร่เชื้อต่อไปได้" ให้พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong Provincial Center for Disease Control and Prevention) ที่พบว่า สายพันธุ์เดลตาสามารถเติบโต (แบ่งตัว) ได้อย่างรวดเร็วภายในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมถึง 1,000 เท่า!

ข้อมูลนี้สำคัญและสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างไร?

"เนื่องจากวัคซีนทั้งหมดที่สหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเวลานี้ (วัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน) แม้จะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง แต่ความสามารถของร่างกายในการจดจำไวรัส ซึ่งจะนำไปสู่การป้องกันในอนาคตนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในแอนติบอดีที่ไหลเวียนอยู่ในเลือดเป็นหลัก ในขณะที่ในระบบทางเดินหายใจนั้นมีแอนติบอดีเหล่านี้อยู่น้อยกว่า

...

ซึ่งในทางทฤษฎีนั่นอาจหมายถึงปริมาณไวรัสสายพันธุ์เดลตาสามารถเพิ่มจำนวนมากในระบบทางเดินหายใจในขณะที่ร่างกายยังมีภูมิคุ้มกันในเลือดอยู่ ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้ยังคงสามารถแพร่เชื้อได้ โดยที่ตัวเองอาจไม่มี หรือมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย"

ดร.ปีเตอร์ โฮเทสต์ (Dr.Peter Hotez) ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการพัฒนาวัคซีนโรงพยาบาลเด็กรัฐเทกซัส ให้ความเห็น

2. ควรกังวลกับ "การติดเชื้อ" หลังได้รับวัคซีนครบสูตรมากน้อยแค่ไหน?

เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา Kaiser Family Foundation หรือ KFF องค์การที่เก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องสุขภาพของชาวอเมริกัน ได้เผยแพร่ข้อมูลการตรวจสอบเกี่ยวกับ "การติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนครบสูตรในสหรัฐฯ" จากแหล่งข้อมูลในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของทั้ง 50 รัฐทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา หลังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ได้ยุติการติดตามข้อมูลดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 64 พบว่า...

มีเพียง 25 รัฐ ที่ยังคงมีการรายงานข้อมูลบางส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับ "การติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนครบสูตร" ในจำนวนนี้มี 24 รัฐ ที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนครบสูตร 19 ราย ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงเสียชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีเพียง 15 รัฐ ที่มีการอัปเดตข้อมูลเหล่านี้เป็นประจำทุกสัปดาห์ ส่วนที่เหลือใช้รูปแบบความถี่อื่นในการรายงาน เช่น มีรายงานครั้งเดียว หยุดอัปเดต หรือมีรูปแบบการรายงานที่มีความถี่ไม่ชัดเจน

ทำให้ข้อสรุปจากรายงานของ KFF ในประเด็นนี้ คือ การเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิต "พบได้ยากมากๆ" (Extremely rare) ในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร โดยเบื้องต้นมีสัดส่วนต่ำกว่า 1% ในทุกรัฐที่มีการรายงานประเด็นดังกล่าว

ในขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือยังได้รับวัคซีนไม่ครบสูตร ที่ติดเชื้อโควิด-19 และต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงเสียชีวิตนั้น แยกออกเป็นสัดส่วนดังต่อไปนี้...

สัดส่วนการติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบสูตร เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร ในบางรัฐนั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 94.1%-99.85%

...

สัดส่วนผู้ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบสูตร เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร ในบางรัฐนั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 95.02%-99.93%

สัดส่วนการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบสูตร ในกลุ่มผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบสูตร เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร ในบางรัฐนั้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 96.91%-99.91%

ขณะที่ สำนักข่าว CNN ได้วิเคราะห์ข้อมูลการตรวจสอบการติดเชื้อในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนครบสูตรของ CDC

พบว่า...จากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบสูตรในสหรัฐอเมริกา 164 ล้านคน (สิ้นสุดวันที่ 9 ส.ค. 64) มีเพียง 1,507 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.001% เท่านั้น ที่เสียชีวิต

ในขณะที่อีก 7,101 คน ของผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.005% ที่ต้องไปเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

...

3. สัดส่วนของผู้ได้รับวัคซีนครบสูตรสำคัญอย่างไร?

"ยิ่งสัดส่วนของผู้ได้รับวัคซีนสูงขึ้นมากเท่าใด การป้องกันก็จะยิ่งเพิ่มระดับมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดีเป็นความจริงที่ว่า การติดเชื้อก็ยังอาจจะสูงขึ้นอีก หากแต่นั่นเป็นเพราะ...มีประชาชนฉีดวัคซีนมากขึ้นจริงไหม?

ฉะนั้น หากเทียบเป็นหลักคณิตศาสตร์ให้เข้าใจง่ายๆ คือ หากมีประชาชน 1 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 100% ทุกๆ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ จะเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบสูตร แต่อัตราการตายจะเกิดขึ้นน้อยมาก

เอาล่ะ หากคน 1 ล้านคนที่ว่านี้ เกิดการติดเชื้อโควิด-19 เท่ากับสัดส่วน 1% นั่นก็เท่ากับว่า จะมีผู้ติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตรเพียง 10,000 คน คราวนี้หากเปลี่ยนเป็น มีประชากร 100 ล้านคนที่ได้รับวัคซีนครบสูตร แล้วเกิดมีการติดเชื้อในสัดส่วน 1% เท่ากัน นั่นก็เท่ากับว่ามีคนติดเชื้อ 1 ล้านคน

ซึ่งตัวเลข 1,000,000 คน แม้จะสูงกว่าตัวเลข 10,000 คน แต่มันก็ยังจะอยู่ในสัดส่วนต่อประชากรเพียง 1% เท่านั้น

และฉากทัศน์ (Scenario) ที่จะเกิดขึ้นเมื่อถึงเวลานั้น คือ จะมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น!"

...

นพ.แอนโทนี เฟาซี (Anthony Fauci) ผอ.สถาบันโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติสหรัฐฯ และหัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ประจำทำเนียบขาว สรุปประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ในแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ

4. เหตุใดภูมิคุ้มกันจึง "ลดลง" หลังได้รับวัคซีนครบสูตร?

จากข้อมูลล่าสุดที่มีในปัจจุบัน คือ ระดับภูมิคุ้มหลังได้รับวัคซีนครบสูตร หรือจากการติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติ จะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

นักวิทยาศาสตร์จึงกำลังพยายามศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถระบุระยะเวลาที่แน่ชัดให้ได้ว่า หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้ว ภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะคงอยู่ได้นานเท่าใด

ซึ่งประเด็นนี้ ดร.โมนิกา คานธี (Dr.Monica Gandhi) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ซานฟรานซิสโก (University of California San Francisco (UCSF) ยืนยันว่า...

"นี่ไม่ใช่ความผิดพลาดของวัคซีน แต่เป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ถูกออกแบบเอาไว้อย่างนั้น เพราะปกติแล้วระดับภูมิคุ้มกันมนุษย์จะลดลงตามระยะเวลา ซึ่งในเลือดและเยื่อบุโพรงจมูกของเราไม่ได้มีระดับภูมิคุ้มกันคงที่เท่าที่ร่างกายผลิตไว้ได้ตลอด

ซึ่งหากระดับภูมิคุ้มกันไม่ลดลงแล้วล่ะก็ ป่านนี้เลือดก็คงจะหนืดข้น จากการที่ภูมิคุ้มกันของตัวเราเองผลิตออกมาอย่างไม่หยุดหย่อนไปแล้ว

และในขณะที่ระดับภูมิคุ้มกันในส่วนต่างๆ ของร่างกายเราจะลดลง เช่น จมูก ซึ่งไวรัสอาจเข้าสู่ร่างกายของเราได้ แต่เราจะติดเชื้อที่ไม่รุนแรงมากนัก

ดังนั้นจริงๆ แล้วมันไม่ใช่หน้าที่ของวัคซีน (ในการฆ่าเชื้อโรค) แต่ตัววัคซีนจะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราเองไปทำงานเพื่อป้องกันร่างกาย

อย่างไรก็ดี แม้ภูมิคุ้มกันต่อโรคของเราจะค่อยๆ ลดลงตามธรรมชาติเมื่อเวลาผ่านไป (ไม่ว่าจะเป็นเพราะวัคซีน หรือติดเชื้อเองตามธรรมชาติ) ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะมีเซลล์หน่วยความจำ ที่เรียกว่า B เซลล์ ที่จะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาใหม่ตามธรรมชาติภายในไม่กี่วัน หากได้พบเจอไวรัส หรือแบคทีเรียที่ร่างกายเราเคยติดเชื้อมาก่อน"

5. ยังไม่มีวัคซีนชนิดใดที่ "สมบูรณ์แบบ"

เดวัง สังหวี (Devang Sanghavi) จากสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association) หรือ AMA

ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า...

"เหตุผลหนึ่งที่ผู้ได้รับวัคซีนครบสูตรสามารถติดเชื้อได้ อาจเป็นเพราะเนื่องจากจนถึงปัจจุบันนี้เรายังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ในแบบ 100%

วัคซีน mRNA ทั้ง 2 ชนิด มีประสิทธิภาพในการต้านทานการติดเชื้อโควิด-19 จากการทดสอบครั้งแรกอยู่ที่ประมาณ 94% และ 95%

หากแต่สิ่งที่ต้องคำนึง คือ ในการทดลองที่มีการนำผู้ป่วยที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นอย่างดีนั้น "ย่อมมีความแตกต่าง" เมื่อมีการนำมาใช้ในโลกจริง ซึ่งประสิทธิภาพที่ได้จากโลกจริง หลังจากได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน พบว่า ประสิทธิภาพในการต้านทานการติดเชื้อโควิด-19 ของวัคซีนทั้งสองชนิดนี้อยู่ที่ประมาณต่ำกว่า 90%

นั่นหมายความว่า ตัววัคซีนนั้นมีลักษณะเฉพาะตัวโดยธรรมชาติ เมื่อวัคซีนทำปฏิกิริยากับร่างกายของผู้ป่วย และการมีโรคประจำตัวของผู้ป่วยเอง จะทำให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งพบได้ในประชากรบางกลุ่ม

นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนจะมากหรือน้อย ยังขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลด้วย เช่น ในกรณีผู้ป่วยภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคตับแข็ง ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หรือผู้สูงอายุ ยังคงมีโอกาสสูงมากที่จะติดเชื้อได้ แม้จะได้ฉีดวัคซีนครบสูตรแล้วก็ตาม

ซึ่งปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนอาจมีปฏิกิริยาต่อวัคซีนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจถึงขั้นไม่พบแอนติบอดีเลย หากเปรียบเทียบกับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร ซึ่งประเด็นนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ว่า เพราะเหตุใด หลังได้รับวัคซีนครบสูตรแล้วจึงยังติดเชื้อโควิด-19 ได้".


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: sathit chuephanngam

ข่าวน่าสนใจ: