"เธอ" ปล่อยมือจากแฮนด์จักรยานคู่ใจให้เป็นอิสระ พร้อมชูทั้งสองมือขึ้นเหนือศีรษะ แล้วฉีกยิ้มด้วยความภาคภูมิใจ ราวกับต้องการประกาศ "ชัยชนะอันยิ่งใหญ่" ให้คนทั้งโลกได้รับรู้

หลัง "เธอ" ได้ใช้พลังที่เก็บกักไว้ปล่อยมันออกมาทั้งหมด ในระยะทางอีกประมาณ 2-3 กิโลเมตรสุดท้าย จนสามารถสปีดหนีเหล่าคู่แข่งที่นำอยู่ ผ่านเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ

แต่แล้ว... เมื่อ "เธอ" ผ่านเข้าเส้นชัยที่สนาม Fuji International Speedway "เธอ" จึงเริ่มสังเกตเห็นถึงความ "ผิดปกติ"

เมื่อ "เธอ" วิ่งโผเข้ากอดทีมงานด้วยความดีใจที่สุดในชีวิต พร้อมคราบน้ำตาแห่งความยินดี แต่ปฏิกิริยาตอบรับจากทีมงาน กลับส่งกลับในมาแบบ "ยากจะมีคำอธิบาย"

นั่นแหละ... มันจึงทำให้ "เธอ" เพิ่งได้รู้ "ความจริง" ว่า ตัวเต็งเหรียญทองโอลิมปิกอย่าง "เธอ" เข้าเส้นชัยเป็นที่ 2 ในการแข่งขันกีฬาจักรยานถนน (Road Race) ประเภทบุคคลหญิง ระยะทางรวม 137 กิโลเมตร จากนั้นน้ำตาแห่งความยินดี ก็แปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาแห่งความเศร้าเสียใจชนิดปรับอารมณ์แทบไม่ทัน

มันจะเป็นไปได้อย่างไรกัน?

ในเมื่อ "เธอ" เพิ่งแซงหน้าเหล่าคนที่เธอคิดว่าอยู่ในกลุ่มนำมาหมดแล้ว ไม่ใช่หรือ?

...


"I was wrong, I thought I had won, but we didn't get it."
"ฉันเข้าใจผิด ฉันคิดว่าฉันชนะ แต่พวกเรา (ทีมชาติเนเธอร์แลนด์) ก็ไม่ได้รับมัน"

นั่นคือ ถ้อยคำของ "แอนเนเมก ฟาน ลูเตน" (Annemiek van Vleuten) อดีตแชมป์เก่าในโอลิมปิก ปี 2016 ซึ่งต้องตกตะลึงกับความพ่ายแพ้ในแบบแทบ "ไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน" ตามคำบรรยายในบรรทัดด้านบนทั้งหมด


"I didn't know there was still a rider ahead, I thought we were riding for gold."
"ฉันไม่รู้เลยว่า มีคนขี่นำหน้าอยู่ ฉันเข้าใจว่า พวกเรา (นักปั่นทีมชาติเนเธอร์แลนด์) กำลังวิ่งไปข้างหน้าเพื่อเหรียญทอง"

"แอนนา แวน เดอ เบรเจ็น" (Anna van der Breggen) เพื่อนร่วมทีมชาติเนเธอร์แลนด์ของ "แอนเนเมก ฟาน ลูเตน" หล่นอุทานแบบไม่อยากจะเชื่อกับเรื่องที่เกิดขึ้นเช่นกัน

พวกเธอ (ทีมชาติเนเธอร์แลนด์) ที่สุดแข็งแกร่ง และเป็นเต็งหามเหรียญทองในกีฬาประเภทนี้ ต้องพ่ายแพ้ให้กับ "คู่แข่งลึกลับเพียงหนึ่งเดียว" ที่พวกเธอ "มองไม่เห็น" ก่อนเข้าเส้นชัยได้อย่างไรกัน?

ก็ใช่น่ะสิ "พวกเธอ" จะไปเห็นคนที่พวกเธอพ่ายแพ้ได้อย่างไร ในเมื่อคนคนนั้นเข้าเส้นชัยไปก่อน "แอนเนเมก ฟาน ลูเตน" ถึง 76 วินาที หรือ 1 นาที 15 วินาที!

แต่ก่อนจะไปกันต่อ "เรา" อยากให้ "คุณ" จดจำชื่อสาวออสเตรีย ผู้สร้างตำนานเซอร์ไพรส์สะท้าน โตเกียว โอลิมปิก 2020 กันให้ดีๆ ก่อน เธอคนนี้ มีชื่อว่า "แอนนา คีเซนโฮเฟอร์" (Anna Kiesenhofer)

แล้ว "แอนนา คีเซนโฮเฟอร์" คือใคร?

ฟังแล้วอย่าตกใจ... "แอนนา คีเซนโฮเฟอร์" คว้า 2 ปริญญาตรี ด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย

จบปริญญาโท ด้านคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

จบปริญญาเอก ด้านคณิตศาสตร์ จาก Universitat Politecnica de Catalunya หรือ UPC

ปัจจุบัน อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิจัยของ Ecole Polytecnique Federale de Lausanne หรือ EPFL

ไม่ต้องตกใจ "คุณ" อ่านไม่ผิด สาวนักปั่นวัย 30 ปี ผู้สร้างเซอร์ไพรส์มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์กีฬาโอลิมปิกผู้นี้ มีอาชีพประจำเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย! และ "เธอ" เล่นกีฬาปั่นจักรยานเป็น "งานอดิเรก"

...

"การปั่นจักรยานเป็นงานอดิเรก เพราะมีงานประจำที่ต้องทำ ดังนั้น ฉันเลยไม่ค่อยชินเท่าไรเวลามีใครมาติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ รวมถึงการที่บรรดาสปอนเซอร์มากมายติดต่อมา หลังประสบความสำเร็จในกีฬาโอลิมปิก" คำยืนยันจากปากของนักปั่นสาวผู้กลายเป็นฮีโร่ของชาวออสเตรียทั้งชาติในเวลานี้ หลังกลายเป็นคนแรกที่สามารถพิชิตเหรียญทองโอลิมปิก จากการแข่งขันจักรยาน นับตั้งแต่ปี 1896 หรือเมื่อเกือบ 124 ก่อน!

แล้วงานอดิเรกเปลี่ยนไปเป็น "เหรียญทองโอลิมปิก" ได้อย่างไร?

"แอนนา" เริ่มต้น "งานอดิเรก" ที่ว่านี้ด้วย การลงแข่งไตรกีฬา (Triathlon) และทวิกีฬา (Duathlon) ในช่วงระหว่างปี 2011-2013 แต่หลังจากได้รับบาดเจ็บ ทำให้เธอโฟกัสไปที่การปั่นจักรยานเพียงอย่างเดียว และเริ่มลงแข่งขันรายการต่างๆ ในช่วงระหว่างปี 2014-2015 และเริ่มติดทีมชาติ รวมถึงได้รับชัยชนะในการแข่งขันรายการต่างๆ บ้างในช่วงปี 2016

แม้เส้นทางใน "งานอดิเรก" กำลังเริ่มสดใส ได้รับข้อเสนอดีๆ หลายต่อหลายฉบับ แต่การประสบปัญหาอาการบาดเจ็บ จนผลงานในการแข่งขันเริ่มไม่ดีอย่างที่คาดหวังเอาไว้ เธอจึงตัดสินใจหันหลังให้กับ "งานอดิเรก" แล้วกลับไปเรียนคณิตศาสตร์ที่ชื่นชอบอีกครั้งในปี 2017 หลังได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาเอก

...

อย่างไรก็ดี ในปี 2019 "แอนนา" ตัดสินใจหวนคืนวงการปั่นจักรยานอีกครั้ง และครั้งนี้ดูจะเอาจริงเอาจังมากขึ้น จนกระทั่งคว้าแชมป์ Austrian Time Trial และ Road Championship ในปีเดียวกัน

และในปี 2021 "แอนนา คีเซนโฮเฟอร์" ได้ติดทีมชาติออสเตรียครั้งแรก แต่มันช่างเป็นการติดทีมชาติในแบบที่เรียกว่า "สุดจะว้าเหว่" เพราะไม่มีทั้งเพื่อนร่วมทีมและแทบไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ ในการลงแข่งขันจักรยานระยะทางไกลถึง 137 กิโลเมตร ในโตเกียว โอลิมปิก 2020 เลยน่ะสิ!

เรียกว่า... เธอเป็นยิ่งกว่า "ม้านอกสายตา" ที่มาลงแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ ในแบบไม้ประดับที่แทบไม่มีใครให้ความสนใจใดเลยก็ว่าได้!

แล้วม้านอกสายตาที่แสนจะจืดจางคนนี้ เอาชนะเหล่านักปั่นคู่แข่งซึ่งเป็นตัวเต็งได้อย่างไร?


"I dare to be different.!"
"ฉันกล้าที่จะแตกต่าง!"

แล้วแตกต่างที่ว่านี้ แตกต่างมากน้อยขนาดไหน?

อาจารย์คณิตศาสตร์มหาวิทยาลัยผู้นี้ ฝึกฝนด้วยตัวเองคนเดียวโดยไม่ต้องอาศัยโค้ชคนไหนมาคอยดูแลการฝึกซ้อม หรือในขณะทำการแข่งขัน และเธอยังเป็นเพียงคนเดียวในการแข่งขันครั้งนี้ ที่ไม่มีเพื่อนร่วมทีมคอยให้ความช่วยเหลือระหว่างการแข่งขัน ในขณะที่คู่แข่ง ซึ่งมีทั้งหมดถึง 67 คน จาก 40 ชาติ โดยในจำนวนนี้ มีถึง 5 ชาติที่มีเพื่อนร่วมทีมครบ 4 คน!

...

"การกล้าที่จะแตกต่างของฉัน และการลงแข่งโดยไม่มีใครสนใจหรือคาดหวัง ทำให้ฉันมีกลยุทธ์ที่ต่างออกไป ซึ่งหมายความว่า ตัวของฉันเองก็คาดเดาไม่ได้เช่นกัน!" เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก กล่าว

"แอนนา" เริ่มตั้งแต่เปลี่ยนวิธีการฝึกซ้อม และหลักการโภชนาการ ที่เคยเรียนรู้มาจากโค้ชคนเก่าในช่วงลงแข่งอาชีพถึงปี 2017 ไปทั้งหมดแล้ว หันไปใช้ "แผนการฝึกซ้อม" รวมถึงการวางแผนการในการแข่งขันที่ "เธอ" เป็นผู้คิดค้นขึ้นเอง

โดยให้เหตุผลว่า เมื่อวิเคราะห์แล้ว การฝึกซ้อมแบบเดิมๆ ไม่เข้ากับบุคลิกรักความเป็นอิสระ และการต้องลงแข่งขันในแบบ "นักสู้ผู้โดดเดี่ยว" ครั้งนี้

และอาจจะเพราะด้วยเหตุนี้ "เธอ" จึงตัดสินใจเลือกเบรกอเวย์ (Breakaway) หรือพุ่งหนีออกจากกลุ่มใหญ่เป็นคนแรก จากนั้นเหล่าสมาชิกของทีมชาตินอกสายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแอฟริกาใต้ นามีเบีย โปแลนด์ และอิสราเอล ต่างก็พยายามปั่นไล่เธอตามมา

ในขณะที่ เหล่าทีมตัวเต็ง ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี อิตาลี สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ ต่างทำตามแท็กติกที่ฝึกฝนกันมา ด้วยการรักษาระยะห่างกับกลุ่มนำเล็กน้อย เพื่อเก็บแรงเอาไว้สำหรับการสปีดในช่วงท้ายของระยะทางอีกกว่า 137 กิโลเมตรที่เหลือ และอีกเหตุหนึ่งที่ทีมตัวเต็งเลือกจะเก็บแรงกันเอาไว้ก่อน คือ อุณหภูมิ ณ วันนั้น ยังสูงถึง 30 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญแน่ๆ ในการแข่งขันระยะทางไกลแบบนี้

หากแต่ใครจะรู้ว่า "การนิ่งนอนใจ" และการทำตามแท็กติกจ๋ามากเกินไปในครั้งนี้ จะทำให้เกิดสิ่งที่เหนือความคาดหมายทั้งปวงของเหล่าทีมเต็ง โดยเฉพาะทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ในบั้นปลายของการแข่งขันได้!

นั่นเป็นเพราะ... เมื่อเหลือระยะทางอีกเพียงประมาณ 41 กิโลเมตรก่อนถึงเส้นชัย นักคณิตศาสตร์ปริญญาเอกผู้นี้ ได้เร่งเครื่องฉีกหนีออกจาก "กลุ่มนำ" อีกครั้ง และคราวนี้ยังเป็นการเร่งเครื่องให้ไกลออกไปชนิดไม่ให้ใคร "ในกลุ่มนำ" สามารถไล่ตามได้ทันอีกด้วย แถมการฉีกหนีคราวนี้ เหล่านักปั่นทีมชาติเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะ "แอนเนเมก ฟาน ลูเตน" แชมป์เก่า ไม่ทันได้สังเกตเห็นอีกด้วย

กระทั่งเมื่อเหลืออีกประมาณ 10 กิโลเมตรสุดท้าย เหล่าทีมชาติเนเธอร์แลนด์ทั้ง 4 คน จึงเริ่มส่งสัญญาณถึงกันให้ค่อยๆ เร่งเครื่องตามแผนการที่วางไว้

และ "แอนเนเมก ฟาน ลูเตน" ได้ใช้แรงที่สู้อุตส่าห์เก็บออมไว้ เร่งสปีดไล่แซงเหล่ากลุ่มนำที่มองเห็นอยู่ตรงหน้า ซึ่งกำลังอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนครบทั้งหมดในช่วงระยะทาง 2-3 กิโลเมตรสุดท้าย

หากแต่... เรื่องที่น่าเศร้า คือ ระยะทางที่เหลือนั้น นอกจากจะเหลือสั้นเกินไป และตัวเธอเองก็เร่งเครื่องช้าเกินไป จนทำให้มองไม่เห็นว่า นอกจากลุ่มนำที่เธอเพิ่งแซงมา ยังเหลือ "ใครอีกคน" ที่นำอยู่ก่อนหน้า จนกระทั่งเข้าเส้นชัยไปก่อนหน้าเธอเสียแล้ว!

และอีกข้อของความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัย สำหรับทีมชาติเนเธอร์แลนด์ผู้แสนเย่อหยิ่งในการแข่งขันครั้งนี้ คือ การปล่อยให้ถูกทิ้งระยะห่างจาก "แอนนา คีเซนโฮเฟอร์" มากเกินไป จนกระทั่งวิเคราะห์สถานการณ์ผิดพลาด

โดยบางช่วงระยะทางของการแข่งขัน พวกเธอ ปล่อยให้ "มีช่องว่าง" ห่างจากแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกคนล่าสุดถึง 10 นาที ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างผิดปกติมากๆ ในความนิ่งนอนใจที่เกิดขึ้น ซึ่งประเด็นนี้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า น่าจะเกิดจากการแข่งขันในครั้งนี้ ไม่อนุญาตให้มีการใช้เครื่องมือสื่อสารในระหว่างการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นชิน สำหรับสมาชิกทีมเนเธอร์แลนด์ที่คว้าแชมป์รายการต่างๆ มาแล้วมากมาย จากการให้ข้อมูลหรือคำเตือนต่างๆ ในระหว่างการแข่งขันจากเหล่าสตาฟฟ์ในทีมมาโดยตลอด

ใช้ความแข็งแกร่งเป็นจุดเด่น ต้องขึ้นนำ และฉีกให้ห่างจากคู่แข่งตั้งแต่กิโลเมตรที่ 0!

"ฉันวางแผนเอาไว้ว่า จะเร่งเครื่องตั้งแต่กิโลเมตรที่ 0 เพราะฉันมีความสุขที่จะได้เป็นผู้นำตั้งแต่เริ่มทำการแข่งขัน และฉันต้องไม่พลาด เพราะฉันไม่ถนัดการขี่แบบเกาะกลุ่มหลัก (Peloton)

ฉันมองว่าจุดเด่นของฉัน คือ เป็นคนที่มีร่างกายแข็งแกร่ง เหมาะสำหรับการแข่งขันระยะทางไกล ดังนั้น ฉันจึงต้องพยายามทิ้งระยะห่างจากคู่แข่งให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด โดยเฉพาะในช่วงระยะทางท้ายๆ ก่อนถึงเส้นชัย"

และนี่คือ แผนการแข่งขันของนักคณิตศาสตร์ที่วางเอาไว้จนกระทั่งได้เหรียญทองโอลิมปิก!

นอกจากนี้... หากใครยังไม่ทราบ ก่อนจะมาแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในแบบฉบับโดดเดี่ยวเพียงลำพังจะเริ่มต้น "แอนนา คีเซนโฮเฟอร์" ได้นำข้อมูลของคู่แข่ง สภาพอากาศ หรือแม้กระทั่งสนามที่ใช้จัดการแข่งขันครั้งนี้ มาทำการวิเคราะห์และสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการปั่นจักรยานที่เหมาะสม และเทคนิคที่จำเป็นต้องใช้ ก่อนที่จะมาแข่งขันครั้งนี้ ล่วงหน้าถึง 1 ปีครึ่งอีกด้วย!

ชีวิตหลังกลายเป็นคนดังระดับโลกในพริบตา?

"ฉันอยากใช้ชีวิตอย่างที่ฉันเป็นแบบนี้ต่อไป และฉันคงดีใจมาก หากครอบครัวของฉันไม่สนใจเหรียญทองโอลิมปิกที่คอของฉัน เพราะฉันอยากให้พวกเขารักฉันที่ฉันเป็นฉัน ไม่ใช่ในฐานะเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก"

และนี่คือทั้งหมดในวันนี้ สำหรับนักวิชาการผู้นำจุดเด่นของตัวเองและหัวใจนักสู้ไปสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองในกีฬาแห่งมวลมนุษย์ชาติได้อย่างน่าทึ่ง!


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Varanya Phae-araya

ข่าวน่าสนใจ: