ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ได้เกิดความ "แตกต่าง" อย่างเห็นได้ชัด ระหว่างกลุ่มประเทศร่ำรวย และประเทศกำลังพัฒนา เรื่อยไปจนถึงประเทศยากจน ในแง่ของอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับพลเมือง
ด้านหนึ่ง "ประเทศร่ำรวย" ที่แม้กำลังเข้าเส้นชัยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยการมีพลเมืองเข้าใกล้เป้าหมายการฉีดวัคซีนครบสูตรเกินกว่า 75-80% ของจำนวนประชากรเต็มที แถมยังมีปริมาณวัคซีนอยู่ในมือจำนวนมหาศาลเกินกว่าจำนวนประชากรในประเทศเสียอีก กำลังมองไปข้างหน้าเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบสูตรเพิ่มเติม
แต่อีกด้านหนึ่ง "ประเทศกำลังพัฒนา" และ "ประเทศยากจน" กำลังดิ้นรนอย่างหนักในการเฟ้นหาวัคซีนมาฉีดให้กับพลเมือง จนส่งผลให้อัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชากรยังคงอยู่ในระดับต่ำ
นี่คือ "ภาพที่ตัดชัด" ระหว่าง "ความแตกต่าง" ที่กำลังอยู่ภายใต้เงื่อนไขวิกฤติเดียวกัน นั่นก็คือ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีอัตราเร่งสำคัญจากสายพันธุ์เดลตา ณ โมงยามนี้
หากแต่...แม้แนวคิดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับคนที่ได้รับวัคซีนครบสูตรในกลุ่มประเทศร่ำรวย จะถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายที่มีแนวคิดว่า ควรเผื่อแผ่ปริมาณวัคซีนที่อาจจะถูกนำไปใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตรแล้ว ไปให้กับพลเมืองในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศยากจน เพื่อที่อย่างน้อยพลเมืองของกลุ่มประเทศดังกล่าวจะได้มีจำนวนของผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกมากพอสำหรับการต่อสู้กับโควิด-19
อย่างไรก็ดี...เสียงคัดค้านที่ว่านี้ น่าจะได้รับการเมินเฉยจากเหล่ากลุ่มประเทศร่ำรวย...เสียแล้ว
...
เยอรมนี เตรียมเดินหน้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับกลุ่มคนสูงอายุ ผู้มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รวมถึงผู้ที่ได้รับวัคซีนครบสูตร (วัคซีนแอสตราเซเนกา และวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน) ในเดือนกันยายนนี้
อิสราเอล เริ่มต้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (วัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3) ให้กับกลุ่มผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปี เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
รัสเซีย ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับพลเมืองทุกคนที่ได้รับวัคซีนครบสูตรนานเกิน 6 เดือนแล้ว เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมเช่นเดียวกัน
ฝรั่งเศส เสนอฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอแล้ว และยังมีแผนที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีอายุเกิน 75 ปี และผู้มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่กำลังจะถึงนี้ด้วย
สหราชอาณาจักร ซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนต่อประชากรสูงที่สุดในสหภาพยุโรป ล่าสุด มีแผนเสนอฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับพลเมืองในเดือนกันยายน กำลังอยู่ระหว่างการหารือในรัฐบาล แต่อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของอังกฤษยืนยันว่า ควรเดินหน้าแผนการดังกล่าว เพื่อเพิ่มการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ขั้นสูงสุดก่อนที่ฤดูหนาวจะคืบคลานมาถึง เพื่อไม่ให้ระบบสาธารณสุขต้องล่มสลาย
ในขณะที่ อิตาลีและสเปน รวมถึงอีกหลายๆ ประเทศในยุโรป ยอมรับว่า มีแผนที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับพลเมืองบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้
ส่วน สหรัฐอเมริกา ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับกลุ่มเปราะบางในเร็วๆ นี้
โดยแนวคิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ มีหลายฝ่ายมองว่า น่าจะเป็นผลมาจากข้อมูลล่าสุดของอิสราเอล บ่งชี้ว่า ประสิทธิภาพการต้านทานการติดเชื้อของวัคซีนไฟเซอร์ค่อยๆ ลดลง หลังผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง แม้ว่าประสิทธิภาพในด้านอื่นๆ เช่น การต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล การเจ็บป่วยหนัก และการเสียชีวิต จะยังคงสูงมากก็ตาม
รวมถึงการที่มีนักวิชาการด้านการแพทย์ส่วนหนึ่งออกมาสนับสนุนแนวคิดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยหยิบยกข้อมูลเดิมที่ว่า ผู้สูงอายุและผู้มีระดับภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจากหลายๆ โรคในอดีต
...
อย่างไรก็ดี แม้จะยังไม่มีข้อมูล หรืองานวิจัยที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน ในประเด็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น แต่ตามข้อมูลจากบรรทัดด้านบน "เรา" ก็คงเห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า เหล่ากลุ่มประเทศร่ำรวย ได้เดินหรือเกือบจะเดินหน้าอย่างเต็มตัวกันแล้ว
ทั้งๆ ที่ประเทศร่ำรวยเหล่านั้น มีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองในสัดส่วนมากกว่า 100 โดส ต่อประชากร 100 คน ในขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และประเทศยากจน โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาที่มีการแพร่ระบาดโควิดอย่างหนักหน่วง กลับมีค่าเฉลี่ยการฉีดวัคซีนต่ำกว่า 5 โดส ต่อประชากร 100 คนเท่านั้น
เหตุใดจึงมีแรงต้านวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มประเทศร่ำรวย?
"ผู้นำรัฐบาลต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมกลุ่มประชากรเปราะบางมากที่สุด จำเป็นต้องหยุดและพิจารณาถึงปัญหาความไม่สมดุลในการเข้าถึงวัคซีนของชาวโลก ก่อนที่จะมีการพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับพลเมืองของตัวเอง
นอกจากนี้ ยังไม่ควรให้บริษัทยาต่างๆ สามารถกำหนดความต้องการในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ก่อนถึงเวลาอันสมควร โดยเฉพาะหากยังไม่มีข้อมูลและหลักฐานที่แน่ชัดมากพอ
...
และประเด็นสำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ ควรมุ่งไปที่การทำให้แน่ใจว่า ปริมาณวัคซีนจะมีมากพอสำหรับการนำไปใช้ปกป้องบุคลากรด้านสาธารณสุขด่านหน้าและกลุ่มผู้เปราะบางในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ที่ยังคงมีความเสี่ยงสูงจากการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19"
ดร.แคร์รี ไทเชอร์ (Dr.Carrie Teicher) ผู้อำนวยการโครงการหมอไร้พรมแดนในสหรัฐอเมริกา (MSF-USA) ซึ่งเป็นองค์กรด้านมนุษยธรรมทางการแพทย์ระหว่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน
ในขณะที่ เคท เอลเดอร์ (Kate Elder) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายวัคซีนของ MSF ใช้คำพูดที่รุนแรงกว่าในการแสดงออกถึงการต่อต้านประเด็นนี้
"รัฐบาลของประเทศที่ร่ำรวยยังไม่ควรให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ในเมื่อยังมีประเทศกำลังพัฒนาอีกมากมายที่ยังไม่มีโอกาสได้รับวัคซีนเข็มแรก
เราอยู่ในจุดที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องวัคซีนอย่างสมบูรณ์แบบ นั่นเป็นเพราะบริษัทยาให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าชีวิตของผู้คน หนำซ้ำ ประเทศที่เป็นฐานการผลิตของบริษัทยาเหล่านี้ก็ยังตัดสินใจที่จะเดินหน้าไปในแนวทางฉันต้องมาก่อนอีกด้วย
...
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของประเทศร่ำรวยควรแจกจ่ายวัคซีนไปยังส่วนอื่นๆ ของโลกโดยเร่งด่วน เพราะยิ่งผู้คนหลายพันล้านคนไม่ได้รับวัคซีนนานเท่าไร ไวรัสก็จะยิ่งกลายพันธุ์มากขึ้น จนกระทั่งคุกคามพวกเราทุกคนได้ในที่สุด
แนวทางที่มุ่งหวังสร้างผลกำไร และยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาด้านศีลธรรม แต่มันยังถือเป็นการไร้ซึ่งวิสัยทัศน์ในระยะยาวอีกด้วย"
อะไรคือ สิ่งยืนยันว่า เหล่าประเทศร่ำรวยและบริษัทยาสร้างความเหลื่อมล้ำเรื่องการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19?
บริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) จัดสรรวัคซีนเพียง 11% ไปยังประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ผ่านโครงการโคแวกซ์ (Covax)
บริษัท โมเดอร์นา (Moderna) จัดสรรวัคซีนให้ประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ผ่านโครงการโคแวกซ์ (Covax) เพียง 0.3%
โดยบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค ประเมินว่า จะสามารถสร้างรายได้จากการขายวัคซีนสิ้นปี 2564 เอาไว้ที่ประมาณ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนบริษัท โมเดอร์นา ประเมินเอาไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 19,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
*หมายเหตุ: MSF อ้างอิงข้อมูลดังกล่าวจากรายงานของ AirFinity บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก สิ้นสุดวันที่ 15 ก.ค. 64
ด้าน นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยังส่งเสียงตอกย้ำในประเด็นนี้เช่นกันว่า
บริษัทยาต่างๆ ควรให้ความสำคัญกับการจัดสรรปริมาณวัคซีนให้กับโครงการโคแวกซ์ มากกว่าที่จะเร่งการส่งมอบวัคซีน สำหรับนำไปใช้เป็นวัคซีนกระตุ้น (ในประเทศร่ำรวย) เพราะปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในทวีปแอฟริกาเพิ่มขึ้นถึง 43% ต่อสัปดาห์
นอกจากนี้ จนถึงปัจจุบันมีประชากรในทวีปแอฟริกาคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.5% เท่านั้น ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบสูตร ในขณะที่ผู้คนในประเทศร่ำรวยบางประเทศ ได้รับการฉีดวัคซีนครบสูตรสูงถึง 50% ของจำนวนประชากร ทั้งๆ ที่การกระจายวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นสู่การขจัดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในแต่ละประเทศทั่วโลก
สิ่งที่ต้องจับตานับจากนี้เป็นต้นไป คือ เมื่อเหล่าประเทศร่ำรวย ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนต้านโควิด-19 โดยเฉพาะวัคซีน mRNA อยู่ในมือมากล้น เดินหน้าแผนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับพลเมืองของตัวเองอย่างจริงจังแล้ว...
วัคซีนต้านโควิด-19 ที่ปัจจุบันก็ว่ากันว่า หาได้ยากได้เย็นแล้ว จะยิ่งหาได้ยากหาได้เย็นมากยิ่งขึ้นอีกหรือไม่?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: sathit chuephanngam
ข่าวน่าสนใจ:
- งานวิจัยอิสราเอล ฉีด mRNA ครบสูตร ติดโควิด-19 ได้ เชื้ออยู่นาน 6 สัปดาห์
- "อเมริกา" อ่วม! โควิดติดเกือบแสน ต้องยกเลิกปลดประจำการแมสก์
- "เผด็จการ" หรือ "เสรีภาพ" ทางเลือก "ผู้นำ" เมื่อฝรั่งเศสเผชิญไวรัสเดลตา
- ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน BIBP ของ "ซิโนฟาร์ม" ประสิทธิภาพ-อัตราไม่พึงประสงค์
- เปิดชื่อชาติหาญกล้า "ผสมสูตรวัคซีน" เผยผลวิจัย-ผลข้างเคียง