คำถามที่ดังระงม ณ เวลานี้ หลังความพยายามดิ้นรนอย่างสุดชีวิตของแต่ละประเทศ เพื่อหาทาง "หลุดพ้น" จากปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 กระทั่งทำให้เกิดคำถามสำคัญ 2 คำถามใหญ่ๆ คือ...
1. จนถึงปัจจุบันชาวโลกมีวัคซีนสำหรับการต้านทานโควิด-19 เพียงพอหรือไม่?
2. ในกรณีที่ปริมาณวัคซีน "ไม่เพียงพอ" การผสมสูตรวัคซีนมีความจำเป็นหรือไม่ หรือมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด?
เช่นนั้นแล้ว ในวันนี้ "เรา" ลองไปพยายามค้นหา "ข้อมูล" เพื่อพยายาม "ค้นหาคำตอบ" จาก "2 คำถาม" ที่ว่านี้กันดู
1. ปัจจุบัน "เรา" มีปริมาณวัคซีนต้านโควิด-19 เพียงพอหรือไม่?
1.1 จากข้อมูลของ Boston Consulting Group หรือ BCG บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก ได้ประเมินปริมาณวัคซีนต้านโควิด-19 จากเฉพาะชาติตะวันตก ที่คาดว่าน่าจะสามารถผลิตได้ภายในปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 4,400 ล้านโดส (ไม่รวมวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีน รัสเซีย และอินเดีย)
...
โดยในจำนวน 4,400 ล้านโดสที่ผลิตได้ภายในปีนี้ จะถูกนำไปจัดสรร "ตามคำสั่งซื้อ" ดังต่อไปนี้
1. ตามข้อตกลง Operation Warp Speed ของสหรัฐฯ จำนวน 800 ล้านโดส
2. ตามคำสั่งซื้อของสหภาพยุโรป จำนวน 1,700 ล้านโดส
3. ตามคำสั่งซื้อของสหราชอาณาจักร จำนวน 300 ล้านโดส
4. ตามคำสั่งซื้อของแคนาดา จำนวน 300 ล้านโดส
5. ตามคำสั่งซื้อของญี่ปุ่น จำนวน 500 ล้านโดส
จำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,600 ล้านโดส
ทำให้เหลือปริมาณวัคซีนจากชาติตะวันตกอีกเพียงประมาณ 800 ล้านโดส สำหรับคำสั่งซื้อของประเทศอื่นๆ ทั่วทั้งโลก
แล้วกรณีที่รวมการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ของจีน รัสเซีย และอินเดีย เข้าไปล่ะ ภายในปี 2021 คาดว่าจะมีปริมาณวัคซีนอยู่ที่ประมาณเท่าไร?
ก่อนจะปรายสายตาไปยังบรรทัดถัดไป... "เรา" อยากให้ "คุณ" ทดตัวเลขนี้เอาไว้ในใจกันก่อน "จำนวนวัคซีนที่ชาติตะวันตกคาดว่าน่าจะสามารถได้ภายในปีนี้อยู่ที่ 4,400 ล้านโดส"
1.2 แล้วจำนวนวัคซีนที่คาดว่า จีน รัสเซีย (รวมฐานการผลิตในประเทศบราซิล) และอินเดีย น่าจะสามารถผลิตได้ภายในปีนี้อยู่ที่ประมาณเท่าไหร่?
คำตอบ 7,780 ล้านโดส!
โดยแยกเป็น 1) ประเทศจีน 4,000 ล้านโดส, 2) ประเทศรัสเซีย 120 ล้านโดส และฐานการผลิตในประเทศบราซิลอีก 64 ล้านโดส, 3) ประเทศอินเดีย 3,600 ล้านโดส
4,400 + 7,780 ผลลัพธ์ที่ได้คือ 12,180 ล้านโดส! และนี่คือ ปริมาณจำนวนรวมวัคซีนทั้งหมดที่คาดว่าน่าจะสามารถผลิตได้ภายในปีนี้!
*หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลจาก Boston Consulting Group
ขณะที่ ข้อมูลของ Airfinity บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ก็ได้มีการคาดการณ์ตัวเลขการผลิตและสั่งซื้อวัคซีนภายในปีนี้ที่ใกล้เคียงกัน
อ่านเพิ่มเติม: ส่องคลังวัคซีนโลก ในวันที่ชาติยากจน เอื้อมมือแทบไม่ถึง
2. จนถึงปัจจุบันมีวัคซีนกี่ชนิดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้สำหรับการต่อต้านไวรัส SARS-CoV-2?
ปัจจุบันมีวัคซีนจำนวนรวมทั้งสิ้น 131 ชนิด แยกเป็นกำลังอยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 รวม 35 ชนิด, ระยะที่ 2 รวม 50 ชนิด และระยะที่ 3 รวม 39 ชนิด ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้แล้ว รวม 19 ชนิด
...
โดยในจำนวน 19 ชนิดนี้ แยกออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. mRNA
ใช้เทคโนโลยีใหม่สังเคราะห์สารพันธุกรรมเอ็มอาร์เอ็นเอ (messenger RNA: mRNA) ที่เฉพาะเจาะจงกับเชื้อไวรัส วัคซีนจะทำหน้าที่พา mRNA เข้าเซลล์ และกํากับให้เซลล์ผลิตสารโปรตีนสไปค์ของเชื้อไวรัส ซึ่งโปรตีนนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อ
2. วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Vector Vaccine)
วัคซีนกลุ่มนี้ใช้ไวรัสที่สามารถตัดแต่งพันธุกรรมให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ และใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-19 ติดไปด้วย เมื่อนํามาฉีดไวรัสพาหะเหล่านี้จะเลียนแบบการติดเชื้อตามธรรมชาติ โดยกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งระบบให้สร้างแอนติบอดีต่อไวรัสโรคโควิด-19 ตามสารพันธุกรรมที่ใส่เข้าไป
3. วัคซีนที่ทําจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccine)
สร้างโปรตีนของเชื้อไวรัส แล้วนํามาผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนตีบอดีต่อต้านโปรตีนสไปค์ของไวรัสโรคโควิด-19
4. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine)
วัคซีนกลุ่มนี้ผลิตโดยนําไวรัสโรคโควิด-19 มาเลี้ยงขยายจํานวนมาก และนํามาทำให้เชื้อตาย การฉีดวัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสทุกส่วน เสมือนได้รับเชื้อไวรัสโดยตรงแต่ไม่ทำให้เกิดโรค เพราะเชื้อตายแล้ว
*หมายเหตุ: อ้างอิงข้อมูลจาก tcoivd19.trackvaccines.org สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ค. 64
3. ปัจจุบันมีกี่ประเทศที่เดินหน้าแผนการผสมสูตรวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วบ้าง?
...
1. ประเทศบาห์เรน
ประเทศบาห์เรนอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 6 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนไฟเซอร์, 2) วัคซีนสปุตนิก-ไลท์, 3) วัคซีนสปุตนิก-วี, 4) วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, 5) วัคซีนโควาซิน, 6) วัคซีนซิโนฟาร์ม
ปัจจุบัน บาห์เรนมีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 64% จากจำนวนประชากร 1.7 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน ใช้วัคซีนไฟเซอร์ หรือวัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3
2.ประเทศภูฏาน
ประเทศภูฏานอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน 1 ชนิด คือ วัคซีนโควาซิน
ปัจจุบัน ภูฏานมีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 62% จากจำนวนประชากร 7.7 แสนคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน ฉีดวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับผู้ได้รับวัคซีนโควิซิน (วัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ผลิตในอินเดีย)
3. ประเทศแคนาดา
ประเทศแคนาดาอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 5 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนไฟเซอร์, 2) วัคซีนโมเดอร์นา, 3) วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, 4) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 5) วัคซีนโควาซิน
ปัจจุบัน แคนาดามีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 69% จากจำนวนประชากร 37 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกไปแล้ว ควรได้รับวัคซีนชนิดอื่น เป็นวัคซีนเข็มที่ 2
...
4. ประเทศจีน
ประเทศจีนอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 6 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนอันฮุย จื้อเฟย หลงเคอ (Anhui Zhifei Longcom), 2) วัคซีนแคนซิโน (CanSino), 3) วัคซีนหมินไห่ ไบโอเทคโนโลยี (Minhai Biotechnology), 4) วัคซีนซิโนฟาร์ม (ปักกิ่ง), 5) วัคซีนซิโนฟาร์ม (อู่ฮั่น), 6) วัคซีนซิโนแวค
ปัจจุบัน จีนมีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 43% จากจำนวนประชากร 1,400 ล้านคน (รายงานล่าสุดที่มีการเปิดเผยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา)
แผนการผสมสูตรวัคซีน จากรายงานล่าสุดในเดือนเมษายน นักวิจัยจีนกำลังเริ่มต้นการทดลองด้วยการใช้วัคซีนแคนซิโนเป็นเข็มที่ 1 จากนั้นใช้วัคซีนอันฮุย จื้อเฟย หลงเคอ เป็นเข็มที่ 2
ส่วนอีกการทดลองในเดือนมิถุนายน คือ การใช้วัคซีนแคนซิโนเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 หรือวัคซีนเข้มกระตุ้น (เข็มที่ 3)
5. ประเทศอินโดนีเซีย
ประเทศอินโดนีเซียอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 4 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนโมเดอร์นา, 2) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 3) วัคซีนซิโนฟาร์ม, 4) วัคซีนซิโนแวค
ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13.31% จากจำนวนประชากร 273 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอ "ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น" ให้กับบุคลากรทางการแพทย์
6. ประเทศอิตาลี
ประเทศอิตาลีอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 4 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนโมเดอร์นา, 2) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 3) วัคซีนไฟเซอร์, 4) วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
ปัจจุบัน อิตาลีมีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 59% จากจำนวนประชากร 60 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน เตรียมให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกไปแล้ว ควรได้รับวัคซีนต่างชนิดในเข็มที่ 2
7. ประเทศรัสเซีย
ประเทศรัสเซียอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 4 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนสปุตนิก-ไลท์, 2) วัคซีนสปุตนิก-วี, 3) วัคซีน FBRI, 4) วัคซีนชูมาคอฟ เซนเตอร์ (Chumakov Center)
ปัจจุบัน รัสเซียมีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20.17% จากจำนวนประชากร 145 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน มีการทดลองนำวัคซีนสปุตนิก-วี ไปใช้ผสมผสานกับวัคซีนจากประเทศจีนหลายชนิด และจากผลการทดลองล่าสุด เมื่อมีการนำวัคซีนสปุตนิก-วี ไปฉีดเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อจากการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ไม่พบว่าเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงใดๆ
8. ประเทศเกาหลีใต้
ประเทศเกาหลีใต้อนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 4 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนโมเดอร์นา, 2) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 3) วัคซีนไฟเซอร์, 4) วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
ปัจจุบัน เกาหลีใต้มีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30.67% จากจำนวนประชากร 51 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน รายงานล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีพลเมืองเกาหลีใต้ประมาณ760,000 คน ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 หลังจากได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรกไปแล้ว หลังรัฐบาลเกาหลีใต้ไม่สามารถทนรอการส่งมอบวัคซีนที่ล่าช้าจากโครงการ Covax ได้
9. ประเทศไทย
ประเทศไทยอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 5 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนโมเดอร์นา, 2) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 3) วัคซีนซิโนแวค, 4) วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, 5) วัคซีนซิโนฟาร์ม (สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ค. 64)
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13.75% จากจำนวนประชากร 70 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน เตรียมใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค เข็มแรก
10. ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 5 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนโมเดอร์นา, 2) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 3) วัคซีนไฟเซอร์, 4) วัคซีนสปุตนิก-วี, 5) วัคซีนซิโนฟาร์ม
ปัจจุบัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 76% จากจำนวนประชากร 9.89 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน เตรียมใช้วัคซีนไฟเซอร์หรือชนิดอื่นเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม
11. ประเทศเวียดนาม
ประเทศเวียดนามอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 5 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนโมเดอร์นา, 2) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 3) วัคซีนไฟเซอร์, 4) วัคซีนสปุตนิก-วี, 5) วัคซีนซิโนฟาร์ม
ปัจจุบัน เวียดนามมีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3.9% จากจำนวนประชากร 97 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน เตรียมแผนใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรก
12. ประเทศเยอรมนี
ประเทศเยอรมนีอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 4 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนโมเดอร์นา, 2) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 3) วัคซีนไฟเซอร์, 4) วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
ปัจจุบัน เยอรมนีมีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 58.49% จากจำนวนประชากร 83 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน เตรียมแผนใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา เป็น เข็มแรก
13. ประเทศสเปน
ประเทศสเปนอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 4 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนโมเดอร์นา, 2) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 3) วัคซีนไฟเซอร์, 4) วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
ปัจจุบัน สเปนมีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60.35% จากจำนวนประชากร 46 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน เตรียมแผนใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา เป็น เข็มแรก
14. ประเทศฝรั่งเศส
ประเทศฝรั่งเศสอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 4 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนโมเดอร์นา, 2) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 3) วัคซีนไฟเซอร์, 4) วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
ปัจจุบัน ฝรั่งเศสมีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 53.20% จากจำนวนประชากร 67 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน เตรียมแผนใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรก
15. ประเทศฟินแลนด์
ประเทศฟินแลนด์อนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน รวมกันทั้งสิ้น 4 ชนิด ประกอบด้วย 1) วัคซีนโมเดอร์นา, 2) วัคซีนแอสตราเซเนกา, 3) วัคซีนไฟเซอร์, 4) วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
ปัจจุบัน ฟินแลนด์มีพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 63.24% จากจำนวนประชากร 5.54 ล้านคน
แผนการผสมสูตรวัคซีน เตรียมแผนใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรก
จากข้อมูลนี้จะเห็นได้ว่า แม้กระทั่งประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองอย่างครอบคลุม หรือประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนเองได้ ก็ยังพยายามค้นหาวิธีการใหม่ๆ ที่เชื่อว่า น่าจะให้ "ผลลัพธ์" ที่ดีมากขึ้นในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19
4. หลากหลายความเห็น "กรณีผสมสูตรวัคซีน" (Mix and Match)?
4.1 คำเตือนยังไม่มีข้อมูลหรือการศึกษาวิจัยรองรับมากพอ?
ความเห็นจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO
"มันเป็นเทรนด์ที่ค่อนข้างอันตรายพอสมควร และอาจนำไปสู่ความสับสนอลหม่านในประเทศ หากประชาชนเริ่มต้องตัดสินใจว่า เมื่อไหร่หรือใครจะได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เข็มที่ 3 หรือเข็มที่ 4 ขณะเดียวกัน การผสมหรือจับคู่วัคซีนต่างชนิดกันกำลังอยู่ในระหว่างรอผลการศึกษาวิจัย และจำเป็นต้องมีการประเมินเรื่องภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย
ขณะที่ บุคคลทั่วไปไม่ควรตัดสินใจเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง แต่หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถทำได้บนพื้นฐานข้อมูลเท่าที่มีอยู่" ดร.ซุมญา สวามินาธาน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยโลก ให้ความเห็น
4.2 มีงานศึกษาวิจัยที่พบว่า การผสมสูตรวัคซีนหรือการฉีดวัคซีนไขว้ ทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นได้?
ดร.ปีแอร์ เมอเลียง (Dr Pierre Meulien) ผู้อำนวยการบริหาร Innovative Medicines Initiative หรือ IMI ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนของยุโรปที่มีเป้าหมายเพื่อเร่งการพัฒนายาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า....
"การผสมสูตรวัคซีนหรือการฉีดวัคซีนไขว้ มีการริเริ่มมาตั้งแต่ปี 1990 โดยนักวิจัยโรค HIV เนื่องจากมองว่า วัคซีนเทคนิคดั้งเดิม (Classical Vaccine) ไม่อาจช่วยกระตุ้นให้เกิดกลไกของระบบภูมิคุ้มกันที่มีความซับซ้อนมากพอสำหรับการป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้
โดยวัคซีนโรคอีโบล่าเป็นวัคซีนแบบผสมตัวแรกที่ใช้ในชั้นคลินิกซึ่งได้รับการอนุมัติในเดือนพฤษภาคม 2020 นอกจากนี้ วัคซีนสปุตนิก-วี ของรัสเซียเองก็เกิดจากเทคนิคนี้ด้วยเช่นกัน"
ด้านรอส เคเดิล (Ross Kedl) นักภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunologist) จากคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยโคโลราโด (University of Colorado Anschutz School of Medicine) ให้ความเห็นว่า...
"วัคซีนแบบผสมมีประวัติมายาวนานในทางภูมิคุ้มกันและมีความสามารถที่เหนือกว่าการใช้วัคซีนแบบชนิดเดียวกันที่ต้องฉีดหลายครั้ง การแพร่หลายของการกำหนดนโยบายการผสมสูตรวัคซีนจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตวัคซีนได้
แต่อย่างไรก็ดี การจะนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ในเชิงยุทธศาสตร์ ควรมีการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม ที่สามารถบ่งชี้ถึงผลลัพธ์ในเชิงบวกจากการทดสอบทางการแพทย์เบื้องต้นรองรับเสียก่อน"
5. ผลจากการศึกษาการผสมสูตรวัคซีนในอดีตให้ข้อมูลอะไรบ้างแล้ว?
ผลงานวิจัย 3 ชิ้น ที่ศึกษาความเป็นไปได้ของการผสมสูตรวัคซีนแอสตราเซเนกาและวัคซีนไฟเซอร์ในปริมาณที่แตกต่างกัน ให้ข้อมูลดังต่อไปนี้...
งานวิจัย Combivac ของประเทศสเปน พบว่า การผสมสูตรของวัคซีนสองชนิดนี้ มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างภูมิคุ้มกันอันแข็งแกร่งให้กับร่างกาย และรายงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำของโลกอย่าง Nature ด้วย
ขณะที่ ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยซาร์ลันด์ (Saarland University) และมหาวิทยาลัยอุล์ม (Ulm University) ประเทศเยอรมนี ก็ได้บทสรุปที่สอดคล้องกับงานวิจัยของ Combivac เช่นกัน เพียงแต่ยังไม่ประเมินแบบครบสมบูรณ์
อย่างไรก็ดีในอีกด้านหนึ่ง ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ประเทศอังกฤษ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Lancet ระบุว่า การผสมสูตรดังกล่าว พบอาการข้างเคียง เช่น หนาวสั่น เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ วิงเวียน และปวดบวมมากขึ้น หากเทียบกับการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันครบ 2 เข็ม
ทั้งนี้ แม้บทสรุปของประเด็นร้อนที่สุด ณ เวลานี้ อาจจะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดลงไปได้ หากแต่สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ รัฐบาลของแต่ละประเทศกำลังถูกบีบรัดเข้าไปเรื่อยๆ จากปัญหาการแพร่ระบาดที่มีอัตราเร่งสำคัญ จากการปรากฏตัวของสายพันธุ์เดลตา และปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้ารอบด้าน
ฉะนั้น การตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง แม้รู้ดีแก่ใจว่า...จะต้องทำให้เกิดผลกระทบในอีกด้านหนึ่งอย่างแน่นอน แต่ในฐานะผู้นำ สำคัญที่สุด คือ ต้องกล้าที่จะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุด และพร้อมจะน้อมรับ ความผิดพลาดต่อการตัดสินนั้นๆ รวมถึงต้องมีการเยียวยาที่เป็นรูปธรรมให้กับผู้ที่จะได้รับผลกระทบ จากการตัดสินใจนั้นไปพร้อมๆ กันด้วย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Theerapong Chaiyatep
อินโฟกราฟิก: sathit chuephanngam
ข่าวน่าสนใจ:
- สถานทูตสหรัฐฯ เคลียร์ทุกคำถาม บริจาควัคซีน mRNA ให้ไทย กับกลยุทธ์พหุภาคี
- อิสราเอลชงฉีดวัคซีนเข็ม 3 กังวลไฟเซอร์ประสิทธิภาพลด จาก 94 เหลือ 64%
- เดลตาแผลงฤทธิ์ อิสราเอลระบาดซ้ำ ประสิทธิภาพไฟเซอร์ยังลด แม้ฉีด 2 โดส
- หายจากโควิดแล้ว...ใช่ว่าสบายดี Long Covid อาการต่อเนื่องที่ต้องจับตา
- "เดลตา" ระบาด โควิดระลอก 4 จ่อถล่มเกาหลีใต้ เร่งหาวัคซีน ใกล้หมดอายุก็ยอม