"พบความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ระหว่างผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน (ไฟเซอร์) ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา กับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุด อย่างไรก็ดี จากฐานข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน วัคซีน (ไฟเซอร์) ยังคงมีประสิทธิภาพสำหรับการต้านทานการเจ็บป่วยรุนแรงได้"
นายแพทย์อาริก ฮาส (Dr.Arik Haas) แผนกบริการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล (Health Ministry’s Public Health Service division) ให้ข้อมูลกับสื่อในประเทศอิสราเอล หลังสื่อตะวันตกพยายามค้นหา "คำตอบ" ที่ทางการอิสราเอลออกมาเปิดเผยว่า วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพลดลงแม้จะฉีดครบ 2 เข็ม ในการต้านทานการติดเชื้อและอาการเจ็บป่วยต่อสายพันธุ์เดลตา
อย่างไรก็ดี แม้ข้อมูลของนายแพทย์อาริก ฮาส ซึ่งถูกนำเสนอไปยังรัฐบาลอิสราเอล จะยังคงถูกคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญในกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล เนื่องจากมองว่า จำนวนกลุ่มตัวอย่าง (ผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แต่ยังติดเชื้อ) มีจำนวนน้อยเกินไป อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเป็น "กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาตั้งแต่แรกเริ่ม"
แต่นายแพทย์อาริก ฮาส ก็ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า แม้จะมีการควบคุมปัจจัยเรื่องอายุ รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหม่ในประเทศอิสราเอลน่าจะเกิดจาก...
"ผลของภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนจะค่อยๆ ลดลงเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่ง และไม่น่าจะเกิดจากสาเหตุที่สายพันธุ์เดลตาสามารถหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ไปได้"
*หมายเหตุ: ผู้มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป คือ กลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในประเทศอิสราเอลเป็นกลุ่มแรกๆ เนื่องจากถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
...
อะไร คือ ข้อมูล "ความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น" ระหว่างผู้ติดเชื้อรายใหม่กับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์?
ภายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อิสราเอลมียอดผู้ติดเชื้อรายวันสะสมรวมกันถึง 4,130 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการวิกฤติถึง 44 ราย แถมในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ยังมีผู้เสียชีวิตรวมกันถึง 5 ศพ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ อิสราเอลไม่มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มาเป็นเวลานานถึง 2 สัปดาห์แล้ว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกล่าสุดนี้ กระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลยืนยันว่า ยังคงอยู่ในระดับที่น่าจะสามารถควบคุมได้ โดยในการแถลงเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา มีการระบุว่า จากการระดมปูพรมตรวจในพื้นที่เสี่ยงตลอดสัปดาห์ถึง 50,325 คน พบผู้ติดเชื้อใหม่เพียง 0.6% ซึ่งลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 0.7% ทำให้สัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อจำนวนประชากรของอิสราเอล ณ ปัจจุบัน (สิ้นสุดวันที่ 13 ก.ค. 64) อยู่ที่ประมาณ 25 ต่อ 100,000 คนในทุกๆ 7 วัน
ถึงแม้ว่า...สิ่งที่น่าเป็นกังวล คือ ในจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เกือบ 90% เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา และผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยฮีบรู (Hebrew University) คาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่การระบาดระลอกล่าสุดนี้ อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงถึง 1,000 คนต่อวัน ภายในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ หากรัฐบาลไม่ยอมยกระดับมาตรการคุมเข้มทางสังคมในเร็วๆ นี้ก็ตาม
โดยศาสตราจารย์กิลี เรเจฟ โยชาย (Professor Gili Regev-Yochay) ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดของศูนย์การแพทย์ชีบา (Sheba Medical Center) ยืนยันว่า....
"จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของอิสราเอล กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรากำลังเริ่มเข้าสู่การเริ่มต้นของการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อโดยรวมอาจสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ป่วยอาการวิกฤติยังอยู่ในระดับต่ำ และไม่ทำให้เกิดปัญหาระบบสาธารณสุขล่มสลาย เหมือนเช่นการแพร่ระบาดระลอกที่ผ่านๆ มา หากแต่สิ่งสำคัญ ณ เวลานี้ คือ เราต้องมีความตื่นตัว และไม่แตกตื่นเกินกว่าเหตุจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ เวลานี้"
...
*หมายเหตุ: ปัจจุบัน รัฐบาลอิสราเอล เปิดเผยว่า มีพลเมืองได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วประมาณ 5,728,526 คน ส่วนจำนวนพลเมืองที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม อยู่ที่ประมาณ 5,190,709 คน จากจำนวนประชากรประมาณ 8.6 ล้านคน (สิ้นสุดวันที่ 13 ก.ค. 64) โดยรัฐบาลอิสราเอลอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินเพียง 2 ชนิด คือ วัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนโมเดอร์นา
ข้อสรุปล่าสุดของทางการอิสราเอล วัคซีนไฟเซอร์ประสิทธิภาพลดลงแค่ไหนต่อสายพันธุ์เดลตา?
ดร.รัน บาลิเซอร์ (Dr.Ran Balicer) เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำสถาบันเพื่อสุขภาพคาลิท (Clalit Health Organisation) และคณะกรรมการที่ปรึกษาโควิดแห่งชาติของรัฐบาลอิสราเอล เปิดเผยว่า...
"จากข้อมูลล่าสุด แม้วัคซีนไฟเซอร์จะยังมีประสิทธิภาพสูงในการต้านทานการต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเจ็บป่วยรุนแรงจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา แต่ประสิทธิภาพในการต้านทานการติดเชื้อและการเจ็บป่วยตามอาการต่อสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มลดลงจริง"
หากแต่ ดร.รัน บาลิเซอร์ และผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ในอิสราเอล เตือนว่า ข้อมูลทั้งหมดเป็นเพียงการศึกษาในเบื้องต้นและทำในกลุ่มคนติดเชื้อในพื้นที่จำเพาะมากๆ และยังต้องเผชิญกับความท้าทายของวิธีการศึกษาในหลายรูปแบบอีกด้วย
...
ด้าน สำนักข่าว Ynet ประเทศอิสราเอล รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลที่ระบุเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ต่อสายพันธุ์เดลตา ว่า แม้วัคซีนไฟเซอร์จะยังมีประสิทธิภาพสูงในการต้านทานการต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และการเจ็บป่วยรุนแรงที่ประมาณ 93% แต่ประสิทธิภาพในการต้านทานการติดเชื้อและการเจ็บป่วยตามอาการต่อสายพันธุ์เดลตา จากประมาณ 94.3% ในช่วงระหว่างวันที่ 2 พ.ค. 64 - 5 มิ.ย. 64 ลดลงมาเหลือเพียง 64% ในช่วงระหว่างวันที่ 6 มิ.ย. 64 - 3 ก.ค. 64 (กรณีฉีดครบ 2 เข็ม)
เตรียมระดมฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในกลุ่มเสี่ยง
ในเมื่อสถานการณ์โน้มเข้าใกล้ "ความเสี่ยง" มากขึ้นจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ รัฐบาลอิสราเอลจึงมีแนวคิดที่จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้กับพลเมืองทันที!
โดยนายนิตซาน โฮโรวิตซ์ (Nitzan Horowitz) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอล ออกมายืนยันหลังมีรายงานเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ในการต้านทานการติดเชื้อและอาการเจ็บป่วยต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาลดลง ว่า ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีระบบภูมิคุ้มกัน "ลดลง" หลังจากได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม อาจต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นในเร็วๆ นี้ และกระบวนการตัดสินใจว่า จะมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 ให้กับชาวอิสราเอล โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง กำลังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจขั้นสุดท้ายแล้ว!
...
ทำไมต้องฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3?
ดร.มิคาเอล ดอยสเตน (Dr.Mikael Dolsten) หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอพี หลังได้รับข้อมูลล่าสุดจากอิสราเอลว่า...
"หลังระยะเวลาผ่านไป 6 เดือน อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ด้วยเป็นเพราะอาจจะเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันลดลง"
พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้กับชาวอเมริกันภายในระยะเวลา 12 เดือน โดยผู้เชี่ยวชาญของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค อ้างว่า จากข้อมูลการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่า เมื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 3 จะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น 5-10 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดเข็มที่ 2 เมื่อหลายเดือนก่อน
โดยหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค เชื่อมั่นว่า ด้วยวิธีการนี้น่าจะช่วยทำให้สกัดกั้นการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่กำลังแพร่ระบาดระลอกใหม่ในหลายๆ ประเทศ รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา หนำซ้ำยังจะช่วยสกัดกั้นการกลายพันธุ์ของไวรัสได้ด้วย
อย่างไรก็ดี ข้อเสนอดังกล่าวของบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค ได้ถูก "ปฏิเสธ" จากองค์การอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ FDA แทบจะในทันที โดยกล่าวยืนยันว่า...
"การพิจารณาว่าจะตัดสินใจฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลเพียงเฉพาะจากบริษัทยาแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ชาวอเมริกันที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแต่อย่างใด"
หากแต่ในอีกมุมหนึ่ง ดร.วิลเลียม เชฟเนอร์ (Dr.William Schaffner) ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีน ประจำศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ (Vanderbilt University Medical Center) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาเตือน FDA ว่า ควรพิจารณาถึงความจำเป็นเรื่องวัคซีนเข็มที่ 3 อย่างจริงจัง เพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ ปัจจุบันมีชาวอเมริกันเพียง 48% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และในบางพื้นที่ของประเทศยังมีอัตราการสร้าง "ภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับต่ำ"
และอีกหนึ่งปัจจัย คือ "สายพันธุ์เดลตา" ที่กำลังแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ อย่างน่าหนักใจ โดยเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน การติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่ ณ เวลานี้ การติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50% และในบางพื้นที่โดยเฉพาะในแถบมิดเวสต์ (Midwest) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้าให้แล้ว!
*หมายเหตุ: (สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ค. 64) สหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มให้กับพลเมืองไปแล้ว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 54.69% จากจำนวนประชากร 331 ล้านคน ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ณ วันที่ 12 ก.ค. 64 อยู่ที่ 14,715 ราย เสียชีวิต 129 ศพ และสหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉิน 3 ชนิด ประกอบด้วยวัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนโมเดอร์นา และวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เท่านั้น.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Jutaphun Sooksamphun
ข่าวน่าสนใจ:
- เดลตาแผลงฤทธิ์ อิสราเอลระบาดซ้ำ ประสิทธิภาพไฟเซอร์ยังลด แม้ฉีด 2 โดส
- "เดลตา" ระบาด โควิดระลอก 4 จ่อถล่มเกาหลีใต้ เร่งหาวัคซีน ใกล้หมดอายุก็ยอม
- โควิดเดลตา-เดลตาพลัส ภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ เปิดแผนรับมือในอินเดีย
- รีเช็ก "ผลข้างเคียง" หลังฉีดวัคซีน ไขข้อสงสัยแบบไหนยื่นชดเชยได้?
- ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน BIBP ของ "ซิโนฟาร์ม" ประสิทธิภาพ-อัตราไม่พึงประสงค์