หลังพบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ได้ไม่นาน แม้แต่ประเทศซึ่งได้ชื่อว่ามีการฉีดวัคซีนในอัตราเร่งที่น่าทึ่ง และยังสามารถครอบคลุมจำนวนประชากรได้ทั่วถึง และแน่นอนวัคซีนจำนวนมากที่ถูกใช้ คือ "วัคซีนไฟเซอร์" อย่างประเทศอิสราเอล ก็ยังพบ "จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน" ที่กระโดดสูงขึ้นอย่างน่าตกตะลึง!


3 ก.ค.64 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 277 คน
4 ก.ค. 64 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 321 คน
5 ก.ค. 64 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 496 คน
6 ก.ค. 64 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 427 คน
7 ก.ค. 64 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 486 คน
8 ก.ค. 64 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 611 คน เสียชีวิต 3 ศพ

และในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หลังการตรวจสอบยังพบด้วยว่า เกือบ 90% ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศอิสราเอล เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา!

*หมายเหตุ : อย่างไรก็ดี โดยรวมแล้วสถานการณ์หลังการระดมปูพรมฉีดวัคซีนอย่างหนักต้องถือว่าดีขึ้นมาก เพราะอิสราเอลเคยมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดในวันที่ 23 ก.ย. 63 ถึง 11,316 คน

แต่ทั้งหมดที่เพิ่งผ่านสายตาไป ยังไม่ได้ทำให้ชาวโลก "เซอร์ไพรส์" ได้เท่ากับการที่ในวันที่ 5 ก.ค. 64 กระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลได้ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาอย่างเป็นทางการที่ว่า วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพ "ลดลง" แม้จะฉีดครบ 2 เข็มต่อการต้านทานการติดเชื้อและอาการเจ็บป่วย
(Preventing Infections and Symptomatic illness) ต่อ ไวรัสสายพันธุ์เดลตา แต่โดยรวมแล้ว วัคซีนไฟเซอร์ยังคงมีประสิทธิภาพสูงสำหรับการต้านทานการเจ็บป่วยรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้

...

แล้วประสิทธิภาพที่ "ลดลง" ของวัคซีนไฟเซอร์ต่อสายพันธ์ุเดลตาที่ว่านี้ มันคืออะไร?

เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 64 กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลเพิ่งออกแถลงการณ์ว่า ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ในการต้านทานการติดเชื้อและการเจ็บป่วยตามอาการสำหรับไวรัสสายพันธุ์เดลตา "ลดลง" อยู่ที่ประมาณ 64% ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันการต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเจ็บป่วยรุนแรงจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ประมาณ 95% (ในกรณีฉีดครบ 2 เข็ม)

หากแต่ในการแถลงล่าสุด เรื่องประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ที่ "ลดลง" ณ วันที่ 5 ก.ค. 64 นี้ ทางการอิสราเอล "กลับไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน" สำหรับความหมาย "ลดลง" ที่ว่านี้ออกมาแต่อย่างใด จนกระทั่ง "ทำให้เกิดคำถาม" ในกลุ่มสื่อชาติตะวันตกออกมาอย่างต่อเนื่อง

*หมายเหตุ : ในช่วงเดือนต้นพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการอิสราเอลเพิ่งแถลงว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ต่อการต้านทานการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ประมาณ 93.4%

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวของอิสราเอลได้รายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล ซึ่งได้แสดงกังวลใจต่อประสิทธิภาพที่ลดลงของวัคซีนไฟเซอร์ต่อการต้านทานการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา พร้อมกับมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งพิจารณาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้คนที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำและคนสูงอายุ

โดยรายงานข่าวดังกล่าวยังสอดคล้องกับผลงานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยฮีบรู (Hebrew University) และมหาวิทยาลัยฮาดาซาห์ (Hadassah University) ที่ระบุว่า ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ในการต้านทานการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา "ลดลง" มาเหลือที่ประมาณ 60-80% อีกด้วย

ส่วนในประเด็นเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ต่อการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (Preventing Hospitalization) นั้น ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮีบรู (Hebrew University) ระบุว่า ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ เนื่องจากปัจจุบันยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ เนื่องจากกว่าจะทราบถึงการเจ็บป่วยที่รุนแรงในครั้งนี้ ต้องใช้เวลาราว 10 วัน อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลล่าสุดที่เพียงพอจะคาดการณ์ถึงการติดเชื้อระลอกใหม่นี้

...

แล้ว...นอกจากงานวิจัยของอิสราเอลแล้ว ยังมีงานวิจัยอื่นๆ อีกหรือไม่ ที่ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพลดลงในการต้านทานการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา?

สำนักงานสาธารณสุขของอังกฤษ (Public Health England) หรือ PHE เปิดเผย รายงานผลงานวิจัย เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งผ่านการศึกษาในห้วงระยะเวลาระหว่าง 5 เม.ย.-16 พ.ค. 64 จากกลุ่มตัวอย่างผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 1,054 คน พบว่า...

...

1. กรณีฉีดเข็มที่ 2 หลังการฉีดเข็มแรกผ่านไป 2 สัปดาห์
วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพในการต้านทานการติดเชื้อ B.1.617.2 หรือสายพันธุ์เดลตา ประมาณ 88%

2. กรณีฉีดเข็มที่ 2 หลังการฉีดเข็มแรกผ่านไป 3 สัปดาห์
วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพในการต้านทานการติดเชื้อ B.1.617.2 หรือสายพันธุ์เดลตา ประมาณ 33%

อย่างไรก็ดี แม้โฆษกของบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNTech) จะปฏิเสธที่จะให้ความคิดเห็น เกี่ยวกับรายงานผลวิจัยล่าสุดของทางการอิสราเอล แต่เบื้องต้นได้ยืนยันว่า...

"บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ยังไม่พบหลักฐานจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการที่สามารถยืนยันได้ว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้ประสิทธิภาพในการต้านทานการติดเชื้อของวัคซีนไฟเซอร์ลดลง

นอกจากนี้ ผลจากการศึกษาในโลกจริง (Real World) ยังพบข้อมูลที่ให้การสนับสนุนมากมายว่า วัคซีนของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการต่อต้านไวรัสกลายพันธุ์ต่างๆ ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้ (Circulating Variants)

ขณะเดียวกัน อีกเหตุผลหนึ่งที่บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค เลือกใช้เทคโนโลยี mRNA ก็เพราะเทคโนโลยีนี้ มีความยืดหยุ่นเมื่อเปรียบกับการใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมในการผลิตวัคซีน และข้อดีของเทคโนโลยี mRNA สามารถปรับเปลี่ยนลำดับของ RNA ให้สอดคล้องกับการกลายพันธุ์ของไวรัสได้อย่างรวดเร็ว โดยการผลิตเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย"

...

ด้าน "แอนโทนี เฟาซี" (Anthony Fauci) ผอ.สถาบันโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติสหรัฐฯ และหัวหน้าที่ปรึกษาด้านการแพทย์ประจำทำเนียบขาว ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า

"ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่มีรายละเอียดชัดเจนมากกว่านี้ ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ลดลงกันแน่...เพราะจากข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมาจากทางการอิสราเอล ยังไม่มีความชัดเจน"

ขณะเดียวกัน รายงานผลการวิจัยของสาธารณสุขสกอตแลนด์ (Public Health Scotland) หรือ PHS ร่วมกับมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ (University of Edinburgh) ซึ่งถูกเผยแพร่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่า จากผลการศึกษาระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 64 ถึงวันที่ 6 มิ.ย. 64 ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้วจำนวน 19,543 คน

พบว่า วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพในการต้านทานการติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ประมาณ 92% ส่วนสายพันธุ์เดลตา วัคซีนไฟเซอร์สามารถต้านทานการติดเชื้อได้ประมาณ 79% เมื่อฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ไปแล้ว 2 สัปดาห์!

แล้วการบริหารจัดการในห้วงวิกฤติจากการต้องเผชิญหน้ากับสายพันธุ์เดลตาและประสิทธิภาพของวัคซีนหลักลดลง รัฐบาลอิสราเอลทำอย่างไร?

จำนวนวัคซีนไฟเซอร์ของอิสราเอลที่มีอยู่ในคลังยากำลังจะหมดอายุลงในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ สิ่งที่นายนาฟตาลี เบนเน็ตต์ นายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนใหม่ "ลงมือทำทันที" คือ ยกหูสายตรงคุยกับ อัลเบิร์ต บูร์ลา (Albert Bourla) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ทันที เพื่อหาทางเร่งจัดหาวัคซีนชุดใหม่เข้ามาเพิ่มเติมให้ได้โดยเร็วที่สุด

รวมถึงยังทำข้อตกลง "แลกเปลี่ยนวัคซีน" กับประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ "โดยการนำวัคซีนที่ใกล้หมดอายุนี้" ไปแลกกับ "วัคซีนไฟเซอร์ที่เกาหลีใต้จะได้รับในอนาคต" (อย่างเร็วที่สุดคือเดือนตุลาคม และอย่างช้าคือเดือนพฤศจิกายนปีนี้)

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมแผนสำรอง คือ การเริ่มนำวัคซีนโมเดอร์นาที่เก็บไว้ในคลัง ทยอยออกมาฉีดให้กับพลเมืองที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (วัคซีนไฟเซอร์ อิสราเอลอนุญาตให้ฉีดกับพลเมืองของตัวเองที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป)

รวมถึงการนำวัคซีนโมเดอร์นาชุดนี้ เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้กับพลเมืองที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 ทันที (เช่นเดียวกับที่รัฐบาลสเปนและเยอรมนีทำมาแล้ว) เมื่อวัคซีนไฟเซอร์ชุดเก่าในคลังหมดอายุลงในปลายเดือนกรกฎาคมนี้.

เรียกว่า "อิสราเอล" มีแผนสำรอง สำหรับการแก้ไขปัญหา "เตรียมไว้อยู่เสมอ" แม้ในยามที่ประเทศชาติต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดโรคของร้ายที่ "เปลี่ยนแปลง" ได้รวดเร็วก็ตาม!"

*หมายเหตุ : อิสราเอลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้กับพลเมืองสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ล่าสุด (สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ค. 64) ฉีดให้กับพลเมืองไปแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึง 65% ของจำนวนประชากร 8.6 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นอย่างน้อย และปัจจุบัน (11ก.ค.64) รัฐบาลอิสราเอลอนุมัติให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินเพียง 2 ชนิด คือ ไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา เท่านั้น


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
รายงาน

กราฟิก: Theerapong Chaiyatep

ข่าวน่าสนใจ: